Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเร็วๆ นี้ คนในโลกโซเชียลในสหรัฐอเมริกาไม่พอใจกับคำตัดสินของศาลแคลิฟอร์เนีย ที่ตัดสินให้นายบร็อค เทอร์เนอร์ นักกีฬาว่ายน้ำที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จำคุก 6 เดือน ในข้อหาข่มขืนผู้หญิงที่หมดสติ นายเทอร์เนอร์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากติดคุกเพียงครึ่งหนึ่งของโทษทั้งหมด เป็นเวลาสามเดือนเท่านั้น

เนื่องจากมีความประพฤติดี ผู้คนไม่พอใจผู้พิพากษาคนนี้ที่ตัดสินคดีที่ให้โทษเบามาก ถึงกับมีการเรียกร้องให้ถอดผู้พิพากษาจากการตัดสินคดีข่มขืนในคดีอื่นหลังจากนั้น

เนื่องจากดิฉันได้เริ่มทำงานในบทบาทอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในภาคการศึกษาใหม่ในปีนี้ และในวันปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ได้มีการอบรมในเรื่องกฎระเบียบและกฎหมาย ของรัฐและของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนักศึกษาในเรื่องความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย ที่นอกเหนือไปจากกฎหมายกลาง บังคับใช้ทั่วประเทศ เช่นในเรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัวของนักศึกษา กรณีคะแนนและผลการเรียน ที่ผู้สอนไม่สามารถเปิดเผยกับบุคคลอื่นใด โดยที่นักศึกษาไม่ได้เซ็นยินยอม แม้แต่พ่อแม่ของนักศึกษาก็ไม่สามารถโทรมาคุยหรือถามเรื่องนี้กับผู้สอนได้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากนักศึกษา

แต่ในการทำงานในครั้งนี้มีกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ต้องปฏิบัติตาม ในการคุ้มครองนักศึกษา ผู้สอนจะต้องรายงาน ผู้บังคับบัญชาและ/หรือตำรวจ ในกรณีที่ได้รับทราบเรื่องหากนักศึกษาโดนคุกคาม ความรุนแรงทางเพศ หรือข่มขืน ที่แคลิฟอร์เนียเรียกว่ากฎหมาย Title IX

มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีปัญหาในเรื่อง นักศึกษาหญิงโดนข่มขืน ระหว่างศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึงหนึ่งในห้าของผู้หญิงที่เรียนมหาวิทยาลัย และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากคนที่นักศึกษารู้จัก แต่มีการรายงานหรือแจ้งความน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การอบรมในเรื่องนี้เริ่มจากการสร้างความเข้าใจว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร เช่น การที่โดนกระทำแล้วไม่ปฏิเสธ หรือการเงียบเฉย หรือไม่ต่อสู้นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยินยอม เนื่องจากเหยื่ออาจมีอาการที่เรียกว่า Tonic Immobility ซึ่งเป็นอาการตอบสนองจากร่างกายแบบอัตโนมัติ ร่างกายจะไม่ตอบสนองหรือขัดขืน เมื่อเกิดความกลัวขั้นรุนแรง ร่างกายจะแข็ง กล้ามเนื้อจะไม่ขยับ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้หรือวิ่งหนีเพราะร่างกายตอบสนองต่อความกลัวด้วยการนิ่งเฉยหรือแกล้งตาย เพื่อเป็นการรักษาชีวิต

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์จำลอง ในฐานะผู้สอนที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่น กรณีที่เราเป็นนักศึกษาปริญญาโท แล้วกำลังทำงานในห้องแล็บ แต่มีนักเรียนมัธยมต้นมาทัศนศึกษาดูงานที่แล็บ บังเอิญ นักเรียนมัธยมที่เป็นเด็กชายคนนึง ล้อเด็กหญิงเรื่องหน้าอก หลังจากที่เด็กหญิงบอกให้หยุดล้อ เด็กชายไม่หยุดและยังจับหน้าอกของเด็กหญิง เด็กหญิงจึงต่อยเด็กผู้ชาย อาจารย์ของเด็กมัธยมที่มาด้วยเห็นแต่ตอนที่เด็กหญิงต่อยเด็กชาย จึงสั่งให้เด็กผู้หญิงกลับบ้าน ในฐานะของผู้ที่เห็นเหตุการณ์แม้ว่าจะไม่ใช่นักเรียนหรือนักศึกษาของเราหรือมหาวิทยาลัย ก็ควรจะรายงานเรื่องนี้และพูดเรื่องนี้เพื่อปกป้องเด็กหญิง

ที่น่าสนใจคือในการอบรมนี้มีวิดีโอที่อดีตนักศึกษาชายได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาชวนนักศึกษาหญิงปีหนึ่งมาปาร์ตี้ที่หอพัก และให้ชวนเพื่อนผู้หญิงคนอื่นๆ มาด้วย แน่นอนว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นก็กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ และทำซ้ำๆ หลายครั้ง กับหลายคน จนมีนักศึกษาหญิงสองคนที่โดนกระทำได้คุยกันและรู้ว่าเป็นเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน ได้แจ้งความและหลังจากนั้นก็มีนักศึกษาหญิงอีกหลายคนออกมาแจ้งความ นักศึกษาชายคนนี้ไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักล่า จนกระทั่งหนึ่งปีผ่านไป และได้ยอมรับว่าหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ไปนั้นไม่มีใครจะมีสติ หรือยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นได้ นักศึกษาชายคนนี้พ้นจากสภาพการเป็นนักศึกษา (เหมือนกับในกรณีล่าสุด ที่นักว่ายน้ำมหาวิทยลัยสแตนฟอร์ด บร็อค เทอร์เนอร์ที่ข่มขืนผู้หญิงที่เมาหมดสติในปาร์ตี้ ตามกฎหมายแคลิฟอร์เนียโทษสูงสุดจำคุก 8 ปี)

นอกจากนี้ยังมีกรณีนักศึกษาชายที่เพิ่งเริ่มคบกับแฟนหนุ่ม แต่แฟนรบเร้าให้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งหลังจากคบกันสองเดือน เมื่อไม่ยอม แฟนหนุ่มได้ผลักนักศึกษาชายกระแทกกับผนังห้อง กรณีแบบนี้ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ Abusive ไม่ปลอดภัย และหากนักศึกษาโดนแฟนเก่าขู่จะเอาชีวิตหรือคุกคามด้วยการโทรตาม หรือเฝ้าติดตาม ก็สามารถขอหมายศาลเพื่อไม่ให้แฟนเก่าเข้าใกล้ในระยะประชิดได้

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่เป็นกรณีของนักศึกษากับคนสอนก็มีหลายกรณี มีทั้งนักศึกษาขู่คนสอน คนสอนยุให้นักศึกษาไปฆ่าลูกและเมีย เพื่อนดิฉันเคยมีนักศึกษาเขียนอีเมลในเชิงพรรณนาความรัก ซ้ำๆ จนต้องขอหมายศาล ห้ามนักศึกษาเข้าใกล้ หรือเข้าตึกเรียนที่คณะ แต่มีการฝ่าฝืน นักศึกษาคนนั้นจึงต้องหยุดเรียนไปหนึ่งเทอมและสุดท้ายศาลสั่งห้ามเข้าเขตมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าฝ่าฝืนอีกอาจจะต้องติดคุก

สาระสำคัญของกฎหมาย Title IX ของแคลิฟอร์เนียคือการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและรับรองความเท่าเทียมกันของทุกคนที่มีสิทธิที่จะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาโดยไม่มีการกีดกันทางเพศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศสภาพใด และยังห้ามการแก้แค้นบุคคลที่แจ้งเรื่องการกีดกันทางเพศหรือสอบสวนกรณีนี้

นักศึกษาที่มีบุตรหรือท้องก็จะได้รับการคุ้มครอง อาจารย์ผู้สอนจะต้องไม่ปฏิเสธหากนักศึกษาขอสอบทีหลังเนื่องจากต้องไปตรวจครรภ์ทำให้ไม่สามารถมาเข้าสอบตามวันเวลา

กฎหมายนี้ยังบังคับให้ผู้สอนต้องรายงานกรณีที่คิดว่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดทางเพศ ถ้าได้รับฟังเรื่องราวจากนักศึกษา โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าการรายงานยิ่งเร็วเท่าไร จะทำให้เกิดการสอบสวนและสามารถช่วยเหลือได้ทันเวลา ก่อนที่คนเหล่านั้นจะเสียโอกาสในการเรียนหรือการทำงาน โดยผู้สอนจะต้องรับฟัง ไม่ตัดสิน หรือกล่าวโทษใครเมื่อได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเหยื่อหรือผู้ที่รอดชีวิตจากการความรุนแรงทางเพศ ได้สูญเสียอำนาจเหนือร่างกายตัวเอง ดังนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเคารพการตัดสินใจของเหยื่อที่จะดำเนินการทางด้านการรักษาทางร่างกาย หรือจิตใจ แต่ผู้สอนต้องรายงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบข้อกฎหมาย Title IX อย่างไรก็ตามนักศึกษามีสิทธิที่จะติดต่อหรือไม่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ หรือสามารถใช้สิทธิที่จะไม่เปิดเผยชื่อในการดำเนินคดี

ดิฉันไม่ได้ต้องการจะเขียนบทความนี้เพื่อบอกว่าแคลิฟอร์เนียมีกฎหมายเลิศเลอ คุ้มครองคนและประกันสิทธิพลเมือง ที่เราไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ประเด็นคือกฎหมายได้ระบุว่ามหาวิทยาลัยควรมีบทบาทอย่างไรกับนักศึกษาในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือผู้ที่ถูกกระทำในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการคุกคามและความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่สหรัฐฯ ก็พยายามที่จะแก้ไขในทุกปี เมื่อเปิดเทอม

บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้รับรู้เรื่องราว หรือเห็นเหตุการณ์มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศหรือโดนข่มขืน โดยเปิดทางเลือกให้บุคคลเหล่านั้นได้มีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ และการอบรมนี้คือการรับมือกับปัญหาที่ปลายเหตุ

การแก้ไขปัญหานี้จริงๆ คือการแก้ไขวัฒนธรรมของชีวิตมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะความคิดในผู้ชายที่เชื่อว่าสามารถจะกระทำการใดๆ กับผู้หญิงที่เมาเหล้าในปาร์ตี้ การผู้หญิงที่อยู่ใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์นั้น ไม่ใช่เหตุผลที่ใครจะข่มขืนเธอได้ 72 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาโดนข่มขืนขณะมึนเมา มีนักศึกษาหญิงอายุ 18-24 ปีถึง 97,000 คน ที่โดนข่มขืนในแต่ละปี การซ้ำเติมหรือความคิดที่ว่าจะทำอะไรกับผู้หญิงที่กำลังเมาก็ได้เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ผู้ที่ข่มขืนต่างหากที่กระทำความผิดและอาชญากรรม

ในบางครั้งเมื่อเราอยู่ในปาร์ตี้เห็นผู้ชายจูงมือผู้หญิงที่มีอาการมึนเมา ก็คิดไปว่าเขาอาจจะรู้จักกัน เป็นแฟนกัน หรือไม่ใช่เรื่องของตัวเองไม่ควรไปยุ่ง และเมื่อเห็นเหตุการณ์ข่มขืน หรือการขัดขืน ผู้ที่เห็นเหตุการณ์มักจะคิดว่า ตัวเองไม่ใช่คนที่จะยืนอยู่เฉยๆ แล้วมองดูเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่จริงๆ แล้ว ดร.มารีแอนน์ ลาฟรองส์ อาจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ยิ่งมีคนยืนมุงดูอยู่มากเท่าไร คนยิ่งจะไม่ทำอะไร เนื่องจากคิดว่ามีคนอยู่เยอะแล้ว คนอื่นคงจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่กลายเป็นว่าไม่มีใครทำอะไรเลย

สังคมคงจะไม่ได้รับรู้เรื่องราวของนายบร็อค เทอร์เนอร์ นักว่ายน้ำที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หากนักเรียนปริญญาโทชาวสวีเดนสองคนที่ขี่จักรยานมาเห็นเหตุการณ์ ขณะที่นายบร็อคกำลังขึ้นคร่อมผู้หญิงที่หมดสติอยู่ข้างถังขยะ แล้วขี่เลยผ่านไป แต่สองคนนั้นหยุดและถามว่ากำลังทำอะไรและได้รวบตัวไว้ ก่อนที่จะแจ้งตำรวจ

การที่เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความรุนแรง ความไม่ยุติธรรม แล้วนิ่งเฉย จะมักจะอ้างว่าเป็นคนถืออุเบกขานั้น ไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเปิดภาคการศึกษาใหม่อีกครั้ง มีนักศึกษาตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ในกรณีประเทศไทยคือการรับน้องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคม มหาวิทยาลัย ผู้สอน นักศึกษา ผู้เห็นเหตุการณ์ ควรมีส่วนในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญคือตระหนักว่าสิ่งนี้คือปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง และควรจะเริ่มพยายามที่จะยุติปัญหานี้ อาจจะเป็นการออกกฎหมาย นโยบายหรือพูดคุยในประเด็นนี้ในวงกว้าง หรือรณรงค์ให้นักศึกษาเองมองเห็นผู้อื่นเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา โดยไม่มีอุปสรรคที่สร้างความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ อาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่แก้ไขปัญหาและดำเนินการที่เป็นรูปธรรม มีมาตรการในการป้องกันปัญหา ไม่ใช่ออกมาแถลงเบี่ยงเบนประเด็น โดยไม่ยอมรับว่ามีการใช้ความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ใต้ความคิดความเชื่อที่กระทำกันต่อๆ มา เป็นสิ่งที่เรียกว่าประเพณี หรือ “ความหวังดีต่อน้องใหม่”




* ผศ. ดร. เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ California State University, Fullerton สหรัฐอเมริกา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net