Skip to main content
sharethis
 
รวบผัวเมียแสบอ้างเป็นนายหน้าส่งคนไปทำงานดูไบ หลอกเหยื่อโอนเงินก่อนเชิดเงินหนี
 
ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น.พล.ต.ต.ชาญ วิมลศรี รักษาการ ผบก.ป.สั่งการ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.อนรรฆ ประสงค์สุข รอง ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.กรกช ยงยืน สว.กก.2 บก.ป. นำกำลังจับกุม นายวสุ ธนณัฐบุตรดี อายุ 58 ปี และ น.ส.ธนทร มานะพาณิชย์ อายุ 51 ปี สามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 154 ม.9 ต.เจาทอง อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ ตามหมายจับศาลจังหวัดชัยภูมิ ที่ 356/2552 และ 350/2552 ตามลำดับ ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2552 ในข้อหาร่วมกันจัดหางานให้คนงานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตและหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานที่ต่างประเทศได้ โดยจับกุมได้ที่หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนายวสุ และ น.ส.ธนทร มีพฤติกรรมหลอกลวงว่าสามารถจัดหาหรือส่งแรงงานไปทำงานที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ แต่ต้องมีค่าดำเนินการตั้งแต่ 2 หมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ทำให้มีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ต้องหารวม 35 ราย มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
 
สอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าได้เป็นนายหน้าจัดส่งแรงงานคนไทยไปทำงานที่ต่างประเทศจริง แต่ในช่วงหลังเกิดมีปัญหาติดขัดจึงทำให้ไม่สามารถพาผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศได้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ยืนยันว่าไม่ได้คิดที่จะโกงเงินของผู้เสียหาย เพียงแต่ว่าไม่มีเงินมาคืนให้เท่านั้นเอง
 
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหาทั้งสองคนพบว่า นายวสุนั้นมีหมายจับในคดีลักษณะดังกล่าวติดตัวอยู่ถึง 18 คดี ส่วน น.ส.ธนทรนั้นมีหมายจับติดตัว 6 คดี โดยคดีส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน จึงคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านค่าย จ.ชัยภูมิ ดำเนินคดีต่อไป
 
 
เร่งแก้ กม. รื้อที่มาบอร์ดประกันสังคม ใช้ "สรรหา" แทนเลือกตั้งพันล้าน ตั้งหน่วยงานลงทุนหาเงินโปะกองทุนชราภาพ
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการ สปส. แถลงข่าวถึงเรื่องนี้ว่า สปส.เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเมื่อปี 2557 มีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีตามกำหนดยื่นขอรับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 20,000 ราย รวมเป็นเงิน 370 ล้านบาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 67,000 ราย รวมเป็นเงินกว่า 1,450 ล้านบาท และปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 200,000 ราย และภายในปี 2570 หรือ 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 246,524 ล้านบาท เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มมากขึ้น อายุยืนขึ้น และต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพนี้ไปจนกว่าผู้ประกันตนจะเสียชีวิต สะท้อนว่า สปส.ต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนชราภาพพบว่า หากไม่มีการปรับปรุงเลย จะใช้เงินกองทุนหมดภายใน 38 ปีข้างหน้า
 
นายโกวิท กล่าวว่า การปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพให้เกิดความยั่งยืน ยังคงยืนยันตามแนวทางเดิมคือ 1.การปรับฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวนเงินสมทบ จากเดิมขั้นต่ำคือ 1,650 บาท ปรับเป็น 3,600 บาท และเพดานสูงสุดคือ 15,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 20,000 บาท 2.ขยายอายุเกษียณ จากเดิมที่กำหนดไว้ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยจะขยายในปี 2565 เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่อายุใกล้ 55 ปีแล้ว ที่ต้องปรับอายุเพิ่มขึ้นเพราะคนอายุยืนขึ้นและยังทำงานอยู่ ซึ่งในต่างประเทศก็กำหนดอายุเกษียณอยู่ที่ประมาณ 60-65 ปี ที่สำคัญเมื่อขยายอายุเกษียณออกไปแล้วหากถูกเลิกจ้างหรือลาออกหลังอายุ 55 ปี ก็ยังรับเงินตามสิทธิว่างงานได้ด้วย 3.การปรับสูตรคำนวนเงินบำนาญ จากเดิมใช้ค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย ทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญน้อยไม่เป็นธรรม ก็เสนอไว้ 2-3 แนวทางคือ ใช้เงินสมทบทั้งหมดที่ส่งมาเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หารด้วยอายุการทำงานทั้งหมด หรือกำหนดที่ค่าจ้าง 15 ปี หรือ 20 ปีมาคำนวนเงินบำนาญแทน
 
และ 4.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ จากการศึกษาพบว่าเงินบำนาญที่จะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพได้เมื่อมีอัตราการออมเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของรายได้ แต่ปัจจุบัน สปส.เก็บอัตราเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างเพียงฝ่ายละร้อยละ 3 รวมร้อยละ 6 ทำให้มีการออมเงินต่ำ จึงมีการปรับการเก็บอัตราเงินสมทบเพิ่มฝ่ายละไม่เกินร้อยละ 5 แต่เพิ่มเฉพาะส่วนของเงินบำนาญเท่านั้น ส่วนที่จะมีการปรับเพิ่มคือ การปรับนโยบายการลงทุน ซึ่งกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่ที่สุด มีเงินกว่า 1.46 ล้านล้านบาท และกฎหมายก็เปิดช่องให้ทำการลงทุนได้ จึงจะมีการตั้งหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของ สปส.ขึ้นมา เพื่อดึงตัวผู้เชี่ยวชาญมาทำงาน และกระจายการลงทุนสู่ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงทำให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น มีเงินเข้ากองทุนชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการหลายมาตรการเช่นนี้จะช่วยยืดอายุกองทุนออกไปอีกอย่างน้อย 30 ปี ทั้งนี้ จากการประชุมวิชาการประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างเห็นด้วยกับแนวทางในการเพิ่มความยั่งยืนของกองทุนบำนาญชราภาพ
 
"ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งจะเสนอกระทรวงแรงงานภายใน ก.ย.นี้ โดยปรับกฎหมายในเรื่องของอัตราเงินสมทบชราภาพไม่เกินร้อยละ 5 การขยายอายุเกษียณ โดยจะออกเป็นกฎกระทรวง รวมถึงปรับแก้ในเรื่องของการตั้งหน่วยงานอิสระในการลงทุน และปรับแก้เรื่องของที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) โดยจะใช้การสรรหาแทนการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งใช้เงินไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการสรรหาจะช่วยให้ได้ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างที่ครอบคลุมเป็นธรรมมากกว่า โดยอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงแรงงาน และต้องผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย ซึ่งหากเห็นชอบก็สามารถปรับปรุงได้ แต่หากไม่เห็นชอบก็จะใช้วิธีเลือกตั้งเหมือนเดิม"
 
 
ก.เกษตรฯ เผยใช้คำสั่ง ม.44 แก้ปัญหาประมงผิดกม.เพื่อจัดระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้น
 
สืบเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ที่ 53/2559 ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินการบริหารจัดการกับเรือประมงพาณิชย์ ที่มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับกรณีที่ คสช.ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกับเรือประมงพาณิชย์ ที่มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยจัดระเบียบการทำประมงของไทย ให้อยู่ในระดับสากลมากขึ้น
 
เนื่องจากที่ผ่านมา มีเรือประมงที่ผิดกฎหมาย อาทิ เรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง เรือที่ไม่ติด VMS ซึ่งเรือกลุ่มนี้อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะลักลอบออกไปทำประมง เนื่องจากเป็นเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง แต่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการควบคุมเรือประมงพาณิชย์กลุ่มดังกล่าวอย่างชัดเจน
 
คสช.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงได้ออกคำสั่งเพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมเรือประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือ หรือมีทะเบียนเรือแต่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง จะต้องแจ้งจุดจอดเรือที่ชัดเจนและให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าในการล๊อคพังงา (เครื่องมือบังคับเรือ) เพื่อมิให้เรือเคลื่อนย้าย เว้นแต่เป็นการฉุกเฉิน จำเป็น และเจ้าของเรือเหล่านั้นจะต้องแจ้งการงดใช้เรือ หรือขอเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ มิฉะนั้นจะเป็นเหตุให้นายทะเบียนเรือจำหน่ายทะเบียนเรือออกจากระบบได้ โดยเจ้าของเรือที่ดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ซี่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปได้ จากเดิมที่เรือประมงถูกกฎหมายบังคับให้ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ทุกกรณี แม้ไม่ได้ออกทำการประมงก็ตาม แนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีเรือที่ไม่มีทะเบียนเรือหรือไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง ออกมาทำการประมงได้อีกต่อไป
 
คำสั่ง หัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการเพื่อดูแลสวัสดิภาพของแรงงานประมง โดยกำหนดห้ามการขนถ่ายลูกเรือกลางทะเล เว้นแต่กรณีเพื่อความปลอดภัย ข้อพิพาทในเรือ และเหตุสุดวิสัยต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงที่แรงงานประมงจะต้องถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงในทะเลนานเกินไป ซึ่งเป็นมาตรการเสริมจากการควบคุมการทำการประมงในปัจจุบันที่เรือประมงแต่ละลำจะทำการประมงได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีการแจ้งออกไปทำการประมงจากศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่างยังได้เพิ่มมาตรการในการให้อำนาจแก่กรมประมง และกรมเจ้าท่าในการเปรียบเทียบปรับ สำหรับ
 
กรณีผู้กระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ อันจะช่วยให้ผู้ต้องหาที่ยินยอมรับผิดตามกฎหมายสามารถยุติคดีโดยการเปรียบเทียบปรับได้ มีผลทำให้การดำเนินคดีอาญายุติลง ช่วยให้คดีต่างๆ สามารถเสร็จลุล่วงไปได้โดยเร็ว สำหรับกลุ่มเรือประมงนอกน่านน้ำที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตออกไปทำการประมงได้ตามคำสั่งฯ นี้ ก็สามารถใช้วิธีการเปรียบเทียบปรับที่กำหนดไว้นี้เพื่อยุติการดำเนินคดี และสามารถขอรับใบอนุญาตออกไปทำการประมงได้ต่อไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมประมง เร่งดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเข้มงวด และให้รีบปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายไปให้เกิดความรวดเร็ว และเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใส ตรวจสอบได้… ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
 
 
เลื่อนเคาะขึ้น "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ปี 60 อ้างปรับสูตรคำนวณใหม่
 
ที่กระทรวงแรงงาน ก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ซึ่งมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเป็นประธาน ได้มีกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธาน คสรท. พร้อมผู้แทนเข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 360 บาท โดยมี นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแทน โดยนายชาลี กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างใน 13 จังหวัด จำนวน 4-60 บาท ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ จึงเสนอขอให้มีการปรับขึ้นเท่ากันในทุกจังหวัด ส่วนมติบอร์ดค่าจ้างจะเป็นอย่างไร จะมีการหารือกันในกลุ่มกันต่อไป
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ซึ่งจะมีการปรับแน่นอนภายในวันที่ 1 ม.ค. 2560 แต่วันนี้ยังไม่มีการสรุปว่าจะมีการปรับขึ้นเท่าไรและอย่างไร เพราะต้องพิจารณาก่อนว่าการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดเสนอมานั้น ซึ่งมีทั้งจังหวัดที่ขอปรับขึ้นค่าจ้างและไม่ปรับนั้น มีการคำนวณถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมาจะอาศัย 3 ปัจจัยในการคิดคำนวณคือ ภาวะเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง โดยใช้มาแล้วกว่า 10 ปี บอร์ดฯ จึงหารือว่ายังมีปัจจัยอะไรในการนำมาคำนวณเพิ่มอีกหรือไม่เพื่อสะท้อนค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไปศึกษาปัจจัยเพิ่มเติม ซึ่งมีกำหนดอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว
 
"ปัจจัยที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จะนำมาเป็นสูตรคำนวณเพิ่มเติมมีอยู่ประมาณ 10 ปัจจัย คือ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาการผลิต ความสามารถในการผลิต มาตรฐานการครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม และให้ศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเขานั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง และปรับให้เหมาะสมกับสภาวการณ์และความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้างมากขึ้น โดยให้เวลาประมาณ 1 เดือน แล้วให้นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างในเดือน ต.ค." ปลัดแรงงาน กล่าว
 
นายอรรธยุทธ ลียะวณิช ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เมื่อได้สูตรในการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แล้ว ก็จะนำเอาข้อมูลจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทุกจังหวัดมาใส่ในสูตรคำนวณใหม่นี้ เพื่อให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นจริง ซึ่งบางจังหวัดที่ไม่ได้เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อาจมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้ ซึ่งคงไม่ได้ปรับเท่ากันทั่วทั้งประเทศ แต่จะพิจารณาแบบเป็นกลุ่มจังหวัด
 
นายสมบัติ น้อยหว้า ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ยืนยันว่าการหาปัจจัยเพิ่มเติมเพื่อทำสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นั้น ไม่ใช่การประวิงเวลา แต่เพื่อให้ได้สูตรคำนวณใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้างและนายจ้างให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ และที่เสนอมาก็มีเพียง 10 กว่าจังหวัด ซึ่งประเด็นสำคัญคือต้องดูด้วยว่านายจ้างมีกำลังจ่ายได้หรือไม่ เพราะหากปรับไปแล้วนายจ้างจ่ายไม่ได้ สุดท้ายลูกจ้างก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี
 
เมื่อถามว่าข้อเรียกร้องของ คสรท.ที่ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วทั้งประเทศ 360 บาท ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า ที่ประชุมก็รับฟังข้อเรียกร้อง แต่อย่างที่บอกว่าการจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยการคำนวณที่เป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นจริงในแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีการหาปัจจัยเพิ่มเติมที่ละเอียดขึ้นในการนำมาทำสูตรคำนวณ จึงขอเวลา 1 เดือนให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกจฯ ได้ไปศึกษาและนำมาเสนอต่อบอร์ดค่าจ้าง
 
 
สระแก้วเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพื่อคัดกรองป้องกันค้ามนุษย์
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าตลาดอินโดจีน บ้านดงงู ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง ขึ้นบริเวณชายแดนฝั่งไทย ด้านประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ประกอบจังหวัดตาก หนองคาย และสระแก้ว เพื่อเป็นศูนย์อบรมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศให้แก่แรงงานเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับภาษา กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อให้แรงงานเพื่อนบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมสังคมอย่างปกติสุขตลอดระยะเวลาที่ทำงานในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ตรวจสอบ คัดดกรองก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในการถูกหลอกลวง และลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงเป็นศูนย์พักรอกรณีนายจ้างมารับเพื่อเดินทางไปทำงาน และเดินทางกลับกรณีสิ้นสุดการจ้าง
 
สำหรับศูนย์ฯ จังหวัดสระแก้ว มีหน้าที่ให้บริการแก่แรงงานกัมพูชาทั้งหมดที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยนายจ้างนำเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างรัฐ (MOU) แรงงานกัมพูชา จะได้รับการตรวจลงตรา หรือวีซ่าเพื่อการทำงาน ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว
 
ในปี 2558 พบว่า แรงงานกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักร ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทแรงงาน จำนวน 67,279 คน เฉลี่ยเดือนละ 5,600 คน และในปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม มีแรงงานกัมพูชากลุ่มนี้เข้ามาแล้วกว่า 42,900 คน อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จังหวัดสระแก้ว เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบ คัดดกรอง และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย
 
 
ลูกจ้างเทศบาลร้องขอความเป็นธรรมนายกเทศบาลตำบลปะโคไม่ต่อสัญญา
 
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 กันยายน 2559 นายยุคล กาญจนศิริพงศ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองหนองคาย,พ.ต.อ.อภิศักดิ์ กรองทิพย์ ผกก.สภ.เวียงคุก,พร้อมด้วยปลัดผู้รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองหนองคายและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ร่วมกันดูแลความสงบเรียบร้อย บริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลปะโค หลังจากที่มีชาวบ้านกว่า 200 คน เดินทางมาพบ นายสมเกียรติ แก้วพิลา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปะโค เพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้ชี้แจงกรณีไม่ต่อสัญญาจ้างให้กับลูกจ้างตามภารกิจและลูกจ้างทั่วไป รวม 11 คน
 
ทางด้าน นางสาวภาวิณี จันทเวทย์หนึ่งในผู้ถูกเลิกจ้างเล่าให้ฟังว่าตนและเพื่อนๆ ถูกเลิกจ้าง ทั้ง 11 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ นายสมเกียรติ แก้วพิลา นายกเทศมตรีเทศบาลตำบลปะโค จะไม่ต่อสัญญาจ้าง ตามบันทึกข้อความ ที่ นค.53401/พิเศษ ลงวันที่ 1 กันยายน 2559 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2559 นี้ โดยพวกตนอยากทราบเหตุผล ว่าทำไม นายกเทศมนตรีตำบลปะโค ไม่พิจารณาตามขั้นตอนและระเบียบที่เป็นธรรม ซึ่งหากมีเหตุผลในการที่จะไม่ต่อสัญญาจ้างก็ควรพิจารณาจากการประเมินผลการปฏิบัติงานของพวกตนตามขั้นตอน หากทำงานไม่ได้หรือปฏิบัติงานไม่ดี ทำให้เทศบาลตำบลปะโคเสียหาย พวกตนก็ยินดีและยอมรับการที่จะไม่ต่อสัญญาจ้าง แต่การทำงานที่ผ่านมาพวกตนตั้งใจทำงานและปฏิบัติหน้าที่ไม่เคยบกพร่อง ในวันนี้พวกตนพร้อมด้วยชาวบ้านจึงอยากมาร้องขอความเป็นธรรมและความเห็นใจจากนายกเทศมนตรีตำบลปะโค ให้พิจารณาอีกครั้ง
 
ทางด้านนายยุคล กาญจนศิริพงศ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองหนองคาย กล่าวว่าในส่วนของทางอำเภอเมืองหนองคาย,ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองและจังหวัดฯ รวมทั้งท้องถิ่นอำเภอเมืองหนองคาย ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากลูกจ้างทั้ง 11 คน ไว้แล้ว และจะได้ดำเนินการตามกระบวนการ โดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ตลอดช่วงเช้าวันนี้ หลายฝ่ายได้พยายามติดต่อกับนายสมเกียรติ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปะโค ให้มาชี้แจงกับชาวบ้านแต่ไม่สามารถติดต่อได้ จากนั้น กลุ่มลูกจ้างที่ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างได้มอบหนังสือร้องเรียนให้กับนายยุคล กาญจนศิริพงศ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองหนองคาย ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ
 
 
กระทรวงแรงงานหารือ IOM พัฒนาวิดีโอสิทธิแรงงานบนเรือประมง
 
หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) พร้อมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาวิดีโอ ความคาดหวังแรงงานประมงในอุตสาหกรรมประมง โดยความต้องการที่จะผลิตวิดีโอสั้น ที่มุ่งให้ความรู้แก่แรงงานชายทุกคนที่มาจากพื้นที่ชนบท ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ให้ทราบถึงสภาพการทำงานและสิทธิแรงงานเมื่อทำงานอยู่บนเรือประมง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อบังคับสำคัญ ที่ประเทศไทยได้กำหนดไว้ ซึ่งวิดีโอนี้จะมีประโยชน์กับศูนย์ประสานแรงงานในประเทศไทย ศูนย์การอบรมก่อนการเดินทาง และศูนย์ข้อมูลการโยกย้ายถิ่นฐานในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมและบอกกล่าวถึงการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย
 
โดยเนื้อหาหลักที่จะนำเสนอ ประกอบด้วย การจ้างแรงงานอายุน้อยกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สิทธิพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ของการทำงาน 24 ชั่วโมง หรือ ไม่น้อยกว่า 77 ชั่วโมงต่อการทำงาน 7 วัน ค่าแรงในวันหยุดและค่าทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน สิทธิได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับอาชีพอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด มีสิทธิการลาป่วยสูงสุด 30 วันต่อปี โดยไม่หักค่าแรง นายจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างกลับบ้าน นายจ้างต้องเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ห้องน้ำ และชุดปฐมพยาบาลสำหรับการออกเรือ แรงงานควรได้รับการอบรมและข้อมูลเกี่ยวกับการยังชีพ สภาพการทำงาน การดำเนินงานของเรือประมงและอุปกรณ์ประมง ก่อนเริ่มงานบนเรือประมง การจ้างงานเพื่อล้างหนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายสำหรับนายจ้างหรือนายหน้า และการเตรียมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานการทำงานบนเรือประมง ซึ่งวิดีโอจะนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่น มีเสียงบรรยายในหลายภาษา ทั้ง ไทย พม่า เขมร และเวียดนาม พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ โดยกำหนดการออกอากาศภายในสิ้นปี 2559 นี้
 
 
แนะค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไม่เกิน 20 บาทหวั่นเอกชนช็อก
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กรณีที่กลุ่มเครือข่ายแรงงานขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท/วัน เป็น 360 บาท/วันทั่วประเทศนั้น มองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างคงไม่พร้อมที่จะปรับขึ้นให้ได้ตามที่ขอ เพราะไม่มีสภาพคล่องพอ และถ้าปรับขึ้นก็อาจจะเป็นการช็อกได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี
 
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากจะปรับขึ้นในระดับที่พอรับได้ตามภาวะเงินเฟ้อ ไม่น่าจะปรับขึ้นเกิน 15-20 บาท ซึ่งเท่ากับปรับขึ้น 5% แต่เห็นว่าไม่ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ และดูตามระดับฝีมือแรงงานด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงาน
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาสูตรคำนวณใหม่ โดยใช้เวลา 1 เดือน โดยคาดว่าในเดือน ต.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปอัตราใหม่ โดย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น จะต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามความเป็นจริงด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ม.ค. 2560
 
 
กรมการจัดหางานเผยตัวเลขขาดแคลนแรงงานเดือน ส.ค. 3 หมื่น อัตรา ภาคผลิตต้องการมากสุด 1.26 หมื่นคน
 
กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขตำแหน่งงานที่ขาดแคลนแรงงาน จำแนกตามหมวดอุตสาหกรรม ประจำเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า โดยภาพรวมมีตำแหน่งงานขาดแคลน 3.09 หมื่นอัตรา โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานมาก ที่สุดในเดือน ส.ค. คือ การผลิต 1.26 หมื่นอัตรา รองลงมาคือ การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 7,759 อัตรา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 1,922 อัตรา และการก่อสร้าง 1,891 อัตรา
 
สำหรับหมวดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน ประกอบด้วย ธุรกิจข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 1,158 อัตรา กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน อื่นๆ 1,124 อัตรา กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 748 อัตรา กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 519 อัตรา กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 438 อัตรา
 
ธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 365 อัตรา การศึกษา 345 อัตรา กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 301 อัตรา การบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 268 อัตรา
 
ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง 215 อัตรา ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบการปรับอากาศ 169 อัตรา การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน 122 อัตรา การจ้างงานในครัวเรือน ผลิตสินค้าและบริการที่ทำขึ้นเองเพื่อใช้ในครัวเรือน 31 อัตรา และการจัดหาน้ำ การจัดการน้ำเสียและของเสีย รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง 27 อัตรา
 
 
แก้ปมค้ามนุษย์ ทำงานเช้าเย็นกลับ
 
การแก้ไขปัญหานายหน้าเถื่อนถือเป็นตัวกลางสำคัญในการจัดหาแรงงานต่างด้าวส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงและขยายไปสู่การค้ามนุษย์ที่บรรดาชาติอาเซียนไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ล่าสุด ทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พร้อมด้วยคณะกรรมการและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากกว่า 100 คน ได้ประชุมหารือที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ถนนร่วมแรง เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเบื้องต้นจะร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในมาตรการการใช้แรงงานอย่างถูกต้อง ระบบเช้ามา เย็นกลับ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของนักธุรกิจผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด
 
ทวีกิจ บอกว่า ผู้ประกอบการทั้งหมดเห็นด้วยกับแนวทางที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา คือ เดินทางมาทำงานช่วงเช้าและกลับในช่วงเย็น ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้อีกทางหนึ่งที่ดีที่สุด โดยจะร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการดังกล่าว หรือตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551
 
ขณะเดียวกันยังจะร่วมกันกวดขันการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การต่อต้านปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ในเรื่องการต่อบัตรอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว และปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยในขณะนี้
 
ด้าน พ.อ.โสภณ นันทสุวรรณ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา ระดับท้องถิ่น หรือ ทีบีซี อ.แม่สอด จ.ตาก กับจังหวัดเมียวดี ของเมียนมา กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับ พ.ต.ตาน วิน ไหน่ ผู้บังคับกองพันเคลื่อนที่เร็ว ที่ 310 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น เมียนมา-ไทย จังหวัดเมียวดี เห็นพ้องร่วมกันเดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดน ด้านจ.ตาก และจังหวัดเมียวดี ที่กำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในขณะนี้
 
พ.อ.โสภณ กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีมติเห็นด้วยที่จะปฏิบัติร่วมกันในการประสานงานการปราบปรามยาเสพติดบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา (บีแอลโอ) ในพื้นที่ อ.แม่สอด กับอำเภอเมียวดี คณะกรรมการบีแอลโอ แม่สอด กับ เมียวดี ได้มีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจัดการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ อ.พบพระ กับอำเภอวาเล่ย์ใหม่ จังหวัดเมียวดี ซึ่งสถานการณ์ยาเสพติดยังแพร่ระบาดอยู่
 
ด้านนักธุรกิจการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ยืนยันว่า การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอที่จังหวัดแลงบอย ตรงข้ามบ้านแม่ตะวอ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมาแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่อยู่ห่างไกลกันมาก การขนส่งสินค้ายังคงไปมาได้ตามปกติ
 
 
รัฐบาลงัด ม.44 ช่วยคนพิการ ให้สิทธิเบิกค่าพยาบาลประกันสังคม
 
ประกาศราชกิจจานุเบกษาโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
 
โดยที่รัฐบาลได้ตระหนักถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพของคนพิการในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของประเทศ ซึ่งรัฐสมควรจัดให้คนพิการได้รับการอํานวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ โดยเฉพาะการรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพเพื่อคนพิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้
 
โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งดังนี้
ข้อ 1 นอกจากประโยชน์ทดแทนในฐานะผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมแล้ว ให้คนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่เป็นผู้ประกันตน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย
 
ข้อ 2 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จ่ายให้แก่คนพิการตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง ให้จ่ายจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงการคลังกําหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ มิให้นํามาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคม มาใช้บังคับกับการจ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง
 
ข้อ 3 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการในส่วนของตน หรือร่วมกันดําเนินการเพื่อให้คนพิการได้รับบริการสาธารณสุขตามคําสั่งนี้ หน้า 17 เล่ม 133 ตอนพิเศษ 207 ง ราชกิจจานุเบกษา 15 กันยายน 2559
 
ข้อ 4 ในกรณีเห็นสมควร ให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
 
ข้อ 5 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
 
พนักงานกว่า 600 คน ปิดโรงงานประท้วง ถูกนายจ้างหมกเม็ดบีบให้ออก และไม่ยอมจ่ายโบนัส
 
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2559 พ.ต.ท.กตัญญู พวงเกาะ สารวัตร (สอบสวน) สภ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ได้รับแจ้งจากผู้จัดการบริษัทยาโน่ อีเล็กโทนิค หมู่ 1 ต. ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ว่าได้มีพนักงานของบริษัท จำนวน 650 คน รวมตัวกันชุมนุมไม่ยอมให้ผู้บริหารออกจากโรงงาน หลังรับแจ้งจึงนำกำลังรุดไปตรวจสอบ
 
ที่หน้าประตูโรงงานพบพนักงานกว่า 600 คน ถือป้ายชุมนุมเรียกร้อง และมีการปราศรัยโจมตีผู้บริหารของบริษัท ว่ามีการหมกเม็ดเพื่อที่จะบีบพนักงานออกและจะไม่ยอมจ่ายโบนัสของปีนี้ โดยได้ทำแบบสอบถามหลอกให้พนังงานเซ็นต์ ซึ่งในแบบสอบถามมีการบอกให้พนักงานย้ายไปอยู่ที่บริษัทใหญ่ ที่ถนน 304 กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยจะจัดรถรับส่ง แต่ทางพนักงานบอกว่า จู่ๆ ก็มาบอกกันโดยกะทันหัน ไม่ยอมให้ตั้งตัว เหมือนบีบให้ลาออกโดยทางอ้อม พนักงานทั้ง 650 คน จึงรวมตัวกันเรียกร้องตั้งแต่ช่วงเย็น ขอให้ทางบริษัทจ่ายเงินโบนัส 2 เดือนครึ่ง ที่พนักงานมีสิทธิ์ที่จะได้ และเงินค่าทดแทนอีกคนละ 2 เดือน เนื่องจากพนักงานในโรงงานแห่งนี้เป็นคนในจังหวัดสระแก้วแทบทั้งสิ้น จึงไม่มีใครที่จะย้ายไปอยู่ที่กบินทร์บุรี
 
ขณะที่พนักงานรายหนึ่งบอกว่า พวกตนไม่มีใครรู้ระแคระระคายเลยว่าบริษัทกำลังมีปัญหา แต่มาระยะหลังมีการให้คนงานหยุดงานหนึ่งเป็นอาทิตย์ โดยบอกว่าอะไหล่มาไม่ทัน ส่วนในบริษัทมีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 800 คน คงต้องตกงานกันทั้งหมด ที่พวกเราชุมนุมเรียกร้องมานี้ก็ไม่ได้เรียกร้องมากมายอะไร ขอเพียงได้มีเงินติดตัวไว้กินไว้ใช้ในระหว่างหางานทำใหม่ ซึ่งก็ยังไม่รู้เลยว่า จะไปทำอะไรกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจนกระทั่งเวลา 21.00 น. ก็ยังไม่มีทีท่าว่าผู้จัดการโรงงาน จะออกมาเจรจาแต่อย่างใด ส่วนคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ ได้เดินทางเข้าไปเจรจา แต่พนักงานไม่ยอมรับ พนักงานต้องการเจรจากับผู้จัดการโรงงานเพื่อขอทราบผลในการเรียกร้อง คาดว่าคงชุมนุมกันจนถึงช่วงเช้าอย่างแน่นอน เนื่องจากยังไม่มีวี่แววว่า ทางเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นจะเข้าไปเจรจากับพนักงานแต่ประการใด
 
 
เพลิงไหม้โรงงานผลิตสี ย่านบางพลี เสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
 
17 ก.ย. 2559 เมื่อเวลา 06.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจาก อบต.บางปลาและพื้นที่ใกล้เคียงพร้อมรถดับเพลิงกว่า 20 คันต้องระดมกำลังเข้าใช้น้ำและสารเคมีโฟมฉีดสกัดเพลิงที่กำลังโหมลุกไหม้อย่างรุนแรงภายในบริษัทยูอาร์ เคมีคอล จำกัด และบริษัทอุไรพานิชย์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 81 หมู่ที่ 11 ซอยธนสิทธิ์ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานและโกดังผลิตและเก็บสีจำนวนมาก โดยปลูกเป็นโรงงานชั้นเดียวบนเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ ทำให้กลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
 
ทั้งนี้เพลิงได้ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการระเบิดเกิดขึ้นจำนวนมากทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึงตัวอาคารได้ โดยต้องใช้น้ำฉีดหล่อเลี้ยงจากด้านนอกเท่านั้น ขณะที่ภายในบริษัทดังกล่าวยังพบว่า มีถังน้ำมันขนาดไม่ต่ำกว่า 800 ลิตรอยู่ภายในโรงงานซึ่งเกิดการระเบิดทำให้ทั้งแสงเพลิงและกลุ่มควันสีดำจำนวนมากโพยพุ่งสู่ท้องฟ้าสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนที่พักอาศัยอยู่โดยรอบ
 
โดยเพลิงได้ลุกไหม้ไปแล้วทั้งสองโกดังซึ่งขนาดนี้ผ่านมาแล้วกว่า 4 ชั่วโมง ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้เนื่องจากมีรายงานว่า เพลิงได้ลุกไหม้มาตั้งแต่ช่วงเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทพยามทำการดับเองโดยยังไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจนไม่สามารถควบคุมเพลิงได้จึงร้องขอหน่วยงานจากเจ้าหน้าที่เข้าทำการช่วยเหลือ
 
ผู้สื่อข่าารายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผ่านมากว่า 5 ชั่วโมงในการระดมดับเพลิงที่ลุกไหม้ภายในโกดังเก็บสารเคมี น้ำมัน และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตสี แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เนื่องจากข้างในเป็นที่เก็บน้ำมันเตา น้ำมันเรซิ่น ถังละ 200 ลิตร รวมกว่า 300,000 ลิตร จึงไม่สามารถใช้น้ำในการดับเพลิงได้ ทำได้เพียงฉีดน้ำให้เพลิงอยู่ในวงจำกัด ด้านโครงสร้างอาคารดังกล่าวที่ถูกไฟลุกไหม้นานกว่า 3 ชั่วโมง ขณะนี้เกิดการถล่มลงมาบางส่วนแล้ว
 
ด้านนายอุทัย กันทะวงศ์ หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ ได้ประสานไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางปู กรุงเทพมหานคร จังหวัดใกล้เคียง และหน่วยงานเอกชนที่มีรถโฟมขนาดใหญ่ เข้าช่วยเหลือในการดับเพลิง
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างฉีดน้ำยาโฟมในการดับเพลิง ส่วน บ.นำดีวัฒน์ จำกัด ที่อยู่ข้างเคียงเริ่มได้รับความเสียหายจากเปลวไฟที่ลุกลามติดกำแพงที่คั้นระหว่างโรงงาน ทำให้คนงานภายในโรงงานต้องขนย้ายถังน้ำยาบอยเลอร์กว่า 20 ถังออกจากพื้นที่ และใช้น้ำยาเคมีโฟมในการสกัดไม่ให้ลุกลาม
 
ขณะที่จากการตรวจสอบผลกระทบของประชาชนในชุมชนโดยรอบพบว่ายังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดยังไม่มีการสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่ เบื้องต้นความเสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
 
 
สอบครูผู้ช่วยทั่วประเทศคึกคัก 1.3 แสนคนชิง 2,561 อัตรา จนท.คุมเข้ม พิมพ์ลายนิ้วมือ-ตัดสัญญาณมือถือ
 
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 17 ก.ย. ที่ ร.ร.สันติราษฎร์วิทยาลัย เขตราชเทวี กทม. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งจัดสอบระหว่างวันที่ 17-19 ก.ย. มีตำแหน่งว่างทั้งสิ้น 2,561 อัตราใน 55 กลุ่มวิชา โดยปีนี้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) 60 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จัดสอบ
 
นายการุณ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมว่า ปีนี้มีผู้มีผู้สิทธิ์สอบ 134,546 คน จากจำนวนผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 134,818 คน เพราะถูกตัดสินเนื่องจากไม่มีอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 272 คนซึ่งในจำนวนนี้สมัครสอบ 2 แห่ง 11 คน ซึ่งภาพรวมการจัดสอบในทุกพื้นที่เป็นไปอย่างเรียบร้อย สำหรับวันแรกนี้เป็นการสอบภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ความเป็นครูมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง จัดสอบวันที่ 18 ก.ย. จากนั้นจัดสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ในวันที่ 19 ก.ย. ก่อนประกาศผลสอบแข่งขันวันที่ 29 ก.ย.
 
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่กทม. มีสนามสอบทั้งสิ้น 4 แห่ง แบ่งเป็น ร.ร.สันติราษฎร์วิทยาลัย ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา และร.ร.สตรีวิทยา 2 มีตำแหน่งว่าง 264 ตำแหน่งใน 16 กลุ่มวิชาเอก มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 4,580 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เข้าสอบที่บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น 4 คน ซึ่งสนามสอบได้จัดสถานที่และคณะกรรมการดูแลอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี และสนามสอบ ร.ร.พิบูลประชาสรรค์ มีตำแหน่งว่าง 104 ตำแหน่งใน 22 วิชาเอก มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 812 คน สำหรับวิชาเอกที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.ปฐมวัย/อนุบาลศึกษา 2.คอมพิวเตอร์ 3.สังคมศึกษา 4.ภาษาอังกฤษ และ 5.คณิตศาสตร์ โดยข้อสอบที่ใช้จัดสอบในครั้งนี้ กศจ.55 จังหวัด ได้มอบให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ส่วน 5 จังหวัดที่เหลือทาง กศจ.เป็นผู้ออกข้อสอบเอง
 
นายการุณ กล่าวอีกว่า สพฐ.เน้นย้ำว่าการสอบครั้งนี้ต้องโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่ง สพฐ.จะกำกับการดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนและเพิ่มความระมัดระวังพิเศษเกี่ยวกับป้องกันทุจริต โดยเฉพาะการให้ผู้เข้าสอบปั๊มลายนิ้วมือบนกระดาษคำตอบหลังจากเข้าสอบแล้ว 15 นาที และ 30 นาที เพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันกรณีเกิดเหตุที่จำเป็นต้องตรวจสอบ ตลอดจนห้ามผู้เข้าสอบนำกระเป๋า เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าห้องสอบ ที่สำคัญคือจะมีรถโมบายวิ่งรอบสนามสอบทุกแห่งเพื่อตรวจจับสัญญาณและตัดการสื่อสารทุกชนิด พร้อมทั้งกำชับให้ผู้คุมสอบตรวจนับกระดาษคำตอบ และข้อสอบให้ตรงตามจำนวนผู้เข้าสอบก่อน จึงอนุญาตให้ผู้เข้าสอบออกจากห้องสอบได้
 
“ได้รับรายงานว่าที่สนามสอบร.ร.เชิงชุมราษฎร์นุกูล อ.เมืองสกลนคร มีผู้เข้าสอบแจ้งว่าจะครบกำหนดคลอดในวันที่ 18 ก.ย. จึงกำชับให้สนามสอบเตรียมความพร้อมในการดูแลอย่างเต็มที่ตั้งแต่ห้องพยาบาล รถพยาบาล โดยให้ถือเป็นแนวปฏิบัติทุกสนามสอบ หากมีผู้เข้าสอบคลอดระหว่างการสอบ ให้สนามสอบจัดกรรมการไปดูแลที่โรงพยาบาล และจัดสอบให้เป็นกรณีพิเศษจนเสร็จเรียบร้อย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
 
วันเดียวกัน ที่ โรงเรียนอนุบาลสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสตูลดำเนินการจัดสอบ แข่งขันตำแหน่งครูผู้ช่วย ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล(สพป.สตูล) และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 จังหวัดสตูล(สพม.เขต16) ผู้มีสิทธิ์สอบจำนวน 706 คน เพื่อบรรจุ 10 ตำแหน่ง จาก 10 วิชาเอก โดยมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย พร้อมกันนี้นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสตูล เข้ามาตรวจการจัดสอบและเยี่ยมสนามสอบ พร้อมให้กำลังใจแก้ผู้เข้าสอบในครั้งนี้ด้วย
 
สำหรับการสอบก็ดำเนินไปตามกฎระเบียบของการสอบอย่างเคร่งครัด มีการรับฝากสัมภาระผู้เข้าสอบจะสามารถนำเข้าไปได้เฉพาะอุปกรณ์ในการสอบเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 436(ตชด.436) นำเครื่องสแกนแบบมือถือ สแกนเพื่อรักษาความปลอดภัยในการสอบอีกด้วย และจะมีการปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อความปลอดภัยในการเข้าสอบอย่างสูงสุดและมีการบันทึกภาพผู้เข้าสอบทุกคนแล้วก็มีการให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อป้องกันการเข้าสอบแทนด้วย
 
ส่วนที่จ.ขอนแก่น นายประเสริฐ หอมดี รองเลขาธิการ กศน.ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการ ภาค 12 พร้อมด้วยนายเชิดศักดิ์ ศรีสง่าชัย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น นายสายัณห์ ผาน้อย ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 2 และคณะเจ้าหน้าดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2559 ได้ไปตรวจสอบสถานแข่งขันสอบครูผู้ช่วยที่โรงเรียนขามแก่นนคร ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีผู้สมัครสอบ 1,596 คน (ไม่มาสอบ 95 คน) โดยแยกเป็นวิชาเอกต่างๆ ได้ดังนี้ 1.การประถมศึกษา 98 คน 2.จิตวิทยาและการแนะแนว 15 คน 3.ภาษาไทย 139 คน 4.ฟิสิกส์ 48 คน 5.นาฏศิลป์ 11 คน 6.เคมี 47 คน 7.เกษตรกรรม 124 คน 8.ดนตรี 41 คน 9.พลศึกษา 372 คน 10.ภาษาญี่ปุ่น 11 คน 11.ภาษาจีน 18 คน 12.อนุบาล/ปฐมวัย 436 คน 13.คณิตศาสตร์ 114 คน 14.ภาษาอังกฤษ 122 คนจำนวน 14 กลุ่มวิชาเอก 31 อัตรา
 
โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการครู และไปรษณีย์ขอนแก่น ที่ได้ส่งรถมาตัดสัญญาณโทรศัพท์ ที่คาดว่าอาจมีการนำไอทีเพื่อการสื่อสารเข้ามาใช้ในการทำข้อสอบอยู่ในห้องสอบ โดยเจ้าหน้าที่ได้มาตรวจเข้มผู้สมัครครูผู้ช่วยและเตรียมตัวเข้าห้องสอบวันแรก ประมาณ 300 – 350 คน มีการแสกนตัวผู้เข้าสอบ พร้อมให้เข้าห้องสอบเพียงดินสอปากกาเท่านั้น ถ้าไม่มีบัตรอนุญาตจากคณะกรรมการฯห้ามเข้าห้องสอบ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสอบห้ามนั่งหน้าห้องสอบเด็ดขาด เพื่อให้การสอบคัดเลือกเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมทุกขั้นตอน เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใส
 
นายประเสริฐ กล่าวว่า การสอบครั้งนี้คณะกรรมการคุมสอบให้ผู้สมัครสอบครูผู้ช่วย ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบเด็ดขาด นอกจากดินสอปากกาเท่านั้น โดยข้อสอบมาจากส่วนกลางเท่านั้น สอบเสร็จส่งให้ส่วนกลางตรวจข้อสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีมหาวิทยาลัยที่ส่วนกลางประสานขอความช่วยเหลือดำเนินการตรวจสอบผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยทุกขั้นตอน ภาพรวมของการสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่พบทุจริตหรือการทำผิดกฎระเบียบการสอบแต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นได้ว่าการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ จะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อสอบ กระบวนการจัดส่งข้อสอบ เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรัดกุมที่สุด
 
“นอกจากนี้ ในการสอบครูผู้ช่วยที่ จ.ขอนแก่น ได้ดูแลผู้สมัครเข้าสอบครูผู้ช่วยที่มีปัญหาด้านสายตา จำนวน 3 คน โดยให้สอบในห้องที่เตรียมไว้ต่างหาก มีอาจารย์คุมผู้สอบ 2 คน ต่อผู้สมัครสอบ 1 คน คือคนหนึ่งอ่าน และอีกคนหนึ่งช่วยกากบาทตามที่ผู้สมัครสอบบอกมา เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกับผู้สมัครสอบปกติ” นายประเสริฐกล่าว
 
ที่โรงเรียนอนุบาลหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย นายอัมพร พินะสา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 / ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดหนองคาย พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกตรวจความเรียบร้อยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2559 ซึ่งได้มีการรับสมัครในวันที่ 15-21 ส.ค. ที่ผ่านมา และได้ดำเนินการสอบ 3 วันคือวันที่ 17-19 ก.ย. มีและประกาศผลการสอบแข่งขันในวันที่ 29 ก.ย. ผู้ที่มีสิทธิ์สอบแข่งขัน จำนวน 3,645 คน มีสนามสอบแข่งขัน 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนอนุบาลหนองคาย, โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร, โรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา, โรงเรียนหนองคายวิทยาคาร และวิทยาลัยอาชีวศึกษาหนองคาย มีตำแหน่งรองรับรอบแรก 77 ตำแหน่ง และตำแหน่งรองรับในรอบต่อไปจากการเกษียณอายุราชการ ในเดือนตุลาคมนี้
 
การสอบครั้งนี้ผู้เข้าสอบทุกคนต้องใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขายาวสีดำ ถอดรองเท้าหน้าห้องสอบ งดใส่เข็มขัดหัวเหล็ก โดยมีเจ้าหน้าทหารจากกองกำลังรักษาความสงบประจำจังหวัดหนองคายและเจ้าหน้าที่ ตชด.24 สแกนตัวผู้เข้าสอบทุกคน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบทั้งปากกา ดินสอและยางลบ ก็มีการจัดเตรียมไว้ให้ และมีรถโมบายเครื่องที่ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
 
นายอัมพร พินะสา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 / ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่าการสอบฯครั้งนี้ ได้มีการเน้นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ เน้นความเป็นธรรม เน้นความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังได้มีการบริหารความเสี่ยงให้เป็นศูนย์ (0) คือการดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องไม่ให้มีข้อผิดพลาดเลย ส่วนมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการสอบนั้นมีความเข้มงวดทุกขั้นตอน
 
ตั้งแต่การรับสมัครที่สมัครเรียงตามลำดับ แต่ตอนประกาศรายชื่อนั้นเรียงตามตัวอักษร การจัดผังห้องสอบก็จัดให้สลับที่นั่ง การแต่งกายในวันสอบให้ใส่เสื้อยืดสีขาวกางเกงขายาวสีดำ ก่อนเข้าห้องสอบก็มีการสแกนตัวผู้เข้าสอบทุกคน ห้ามผู้เข้านำอุปกรณ์ใดๆเข้าในห้องสอบโดยเด็ดขาดแม้แต่ดินสอ ยางลบและปากกา และเพื่อเป็นการป้องกันการส่งสัญญาณระหว่างผู้เข้าสอบกับบุคคลภายนอก ก็มีการนำเครื่องสัญญาณโทรศัพท์มาดำเนินการตัดสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง 5 สนามสอบหมุนเวียนกันไป ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
 
บ.ยาโน อิเลคทรอนิค ยอมทำตามข้อเรียกร้อง พนง. เลิก "ลอยแพ" ผิดเงื่อนไข จ่ายชดเชย
 
กรณีที่พนักงานของบริษัท ยาโน อิเลคทรอนิค ผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยโจด ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ได้แจ้งกับพนักงานจ้างของบริษัทฯ จะย้ายออกไปอยู่ที่บริษัทแม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี และยุบบริษัท และใหัพนักงานลาออก ทำให้พนักงานบริษัทไม่พอใจ ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 16 กันยายน 2559 พนักงานบริษัทยาโน กว่า 600 คนได้ออกมาประท้วง ที่บริเวณหน้าโรงงาน และเรียกร้องให้โรงงานเปิดอยู่ต่อ หากตกลงไม่ได้จะประท้วงต่อไปโดยไม่มีกำหนด
 
ขณะที่นายสุเทพ วงศ์พานิช ปลัดจังหวัดสระแก้ว ได้รับคำสั่งจากนายภัครธร เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้นำคณะแรงงานและสวัสดิการจังหวัดสระแก้ว เข้าเจรจากับผู้บริหารของบริษัท ยาโน่ อิเล็คทรอนิคส์ หลังเดินทางมาถึงท่านปลัดจังหวัดได้นำคณะเข้าเจรจา กับทางผู้บริหารบริษัท ยาโน่ ทันที โดยไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปรับฟังด้วย ส่วนพนักงานที่เฝ้ารออยู่ที่หน้าบริษัทฯ ต่างปักหลักเพื่อรอผลเจรจา กันอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมไปไหน ทางปลัดจังหวัดสระแก้ว ได้พยายามพูดจาไกล่เกลี่ยกับผู้บริหารโรงงานอยู่เป็นเวลานาน ต่อมาเมื่อเวลา 24.00 น. นายวิชิต เอื้อสมานจิต แรงงานและสวัสดิการสระแก้ว พร้อมด้วยพนักงานที่เข้าเจรจากับโรงงานได้ออกมาจากห้องประชุม
 
ทางด้านนางวิลาวัลย์ ศรีสะอาด ตัวแทนของพนักงาน ที่ได้เข้าไปเจรจา ต่อรองกับทางผู้บริหารของบริษัท ยาโน่ ได้ออกมาอ่านรายละเอียด ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงกัน ทำให้พนักงานที่ปักหลักรอฟังผล ต่างเฮลั่นด้วยความดีใจ โดยทางบริษัทฯ ได้ยอมรับเงื่อนไข ที่พนักงานเรียกร้องว่าจะไม่มีการปลดพนักงานหรือย้ายในระยะนี้ หากมีการกระทำดังกล่าว ถือว่า ทางบริษัทฯ ได้ให้คนงานออก จะต้องจ่ายค่าชดเชย ตามมาตรา 18 ของกฎหมายแรงงาน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทางบริษัทยาโน่ฯ จะไม่เอาผิดกับพนักงาน โดยถือว่าวันนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และห้ามมีการกลั่นแกล้งพนักงานที่มาเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องโดยเด็ดขาด หลังอ่านบันทึกแล้ว พนักงานต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน
 
 
จี้พัฒนาฐานข้อมูลคนพิการรัฐโวหนุนทำงานกว่า 3 หมื่น
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้พิการได้รับ การจ้างงานแล้ว 34,601 ราย ทั้งในหน่วย งานภาครัฐและสถานประกอบการเอกชน รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นาย จ้างในการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยมีสถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว 11,443 แห่ง คิด เป็นร้อยละ 97.07 ของสถานประกอบการทั้ง หมดที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปจะต้องจ้างลูก จ้างในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน เศษของลูกจ้าง 100 คน หากเกิน 50 คนจะต้องรับผู้พิการเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งนายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้พิการและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของสถานประกอบการ
 
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ส่วนสถานประกอบการที่ไม่รับผู้พิการเข้าทำงานตามเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องส่งเงินเข้ากอง ทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 120 กลุ่ม กลุ่มละ 50,000 บาท โดยจะต้องมี สมาชิก 20 คนขึ้นไป ประกอบอาชีพในพื้นที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน มีแผนการดำ เนินงานต่อไปเป็นรูปธรรมชัดเจน และได้รับการคัดเลือกจาก พม.จังหวัด ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์แล้ว 3,015 คน
 
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ พม.พัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการให้ครบถ้วนและเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกในการจัดสวัสดิการและการพัฒนาอาชีพแก่คนพิการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
 
"นายกฯ ฝากถึงผู้ประกอบการให้เปิดใจค้นหาศักยภาพของลูกจ้างพิการ ซึ่งไม่แตกต่างจากคนทั่วไปที่มีข้อจำกัดจะช่วยให้ได้กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานของสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดระบบให้ความช่วยเหลือทั้งนายจ้างที่ประสบปัญหาในการจ้างงานคนพิการ และคนพิการที่ประสบปัญหาการทำงานในทุกกรณี". พล.ต.สรรเสริญกล่าว
 
 
ไฟเขียวร่างระเบียบวาระแห่งชาติแรงงานปลอดภัยฯในการทำงาน
 
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ครั้งที่ 1/2559 โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะฝ่ายเลขาฯ เสนอ (ร่าง) ระเบียบวาระแห่งชาติแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี ระยะที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2569) และ(ร่าง) แผนแม่บทความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2564) พร้อมทั้งให้กระทรวงแรงงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
“สมเด็จพระเทพฯ ทรงรับสั่งให้ดูแลความปลอดภัยของแรงงานอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และกระทรวงแรงงานกำลังวางแผนงานปฏิรูปและปรับโครงสร้างหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของแรงงานให้สามารถปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว
 
ด้านพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดทำ Action Plan เพื่อให้ระเบียบวาระแห่งชาติแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดีระยะที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2569) และแผนแม่บทความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2564) มีการปฏิบัติและเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปในปี 2560 นั้น จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย ตามที่ได้ลงนามความร่วมมือไปแล้ว 6 กระทรวง และจะเพิ่มเป็น 10 กระทรวง โดยมีจุดมุ่งหมายเรื่องความปลอดภัย ซึ่งทุกกรณีต้องเป็นศูนย์ทั้งกรณีเสียชีวิต บาดเจ็บ และอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่วนความคืบหน้าการยกระดับหน่วยงานด้านความปลอดภัยขึ้นเป็นกรมนั้น ขณะนี้ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะอยู่ในกระบวนการปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงแรงงานเพื่อจัดตั้งเป็นกรมความปลอดภัยในการทำงานต่อไป
 
 
สธ. จ้างคนพิการกว่า 2,000 คน ทำงานภายในปี 2561
 
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สสส. ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจ้างงานคนพิการทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คาดภายในปี 2561 จะมีการจ้างงานคนพิการกว่า 2,000 คน เข้าทำงานในหน่วยงาน สธ.ในชุมชน ใกล้บ้าน
 
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้อำนวยการกองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในชุมชน ได้ทำงานใกล้บ้าน ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย
 
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 1 : 100 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้หน่วยงานภาครัฐ จ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานภายในปี 2561 โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 มีบุคลากรที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ รวม 229,884 คน การจ้างงานคนพิการค่อนข้างน้อย ดังนั้นคาดว่าจะมีการจ้างงานคนพิการรวมประมาณ 2,298 คน เข้าทำงานตามคุณลักษณะของงานและศักยภาพที่สามารถปฏิบัติได้ในหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประมาณ 10,700 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ได้จัดทำแนวทางการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการเป็นแนวทางเดียวกัน
 
ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 3 กรณี คือ1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง ในอัตราส่วนคนพิการ 1 คนต่อจำนวนข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานราชการ 100 คน สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี 2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยสถานประกอบการภาคเอกชน ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อให้คนพิการเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เป็นผู้ประสานงาน
 
 
สบส. เผย ส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยประชาชน ร่วมมือท้งถิ่นมากขึ้น
 
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรม สบส. ได้เน้นการสร้างความเข้มแข็งชุมชนในการร่วมจัดการสุขภาพ โดยพัฒนาตำบลที่มีทั้งหมด 7,255 ตำบล เป็นตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ มี อสม. เป็นแกนนำร่วมดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ ส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยประชาชน 5 กลุ่มวัย ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก กลุ่มวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยแรงงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้พิการ รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ชุมชน และมีนโยบายจัดเวทีประชุมวิชาการในภาคของประชาชน โดยคัดเลือกพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกับพื้นที่อื่น ๆ ให้เกิดมุมมองแนวคิดใหม่ นำไปประยุกต์ขยายผลในพื้นที่ต่อไป
 
อธิบดี กรม สบส. กล่าวต่อว่า พื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานจัดการสุขภาพไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน หรือ ตำบล ล้วนเกิดมาจากการที่ทุกคนเห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องตัวเอง ต้องร่วมรับผิดชอบ อย่างเช่นที่ ต.ช้างตะลูด อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีประชากร 7,500 กว่าคน นายก อบต. และผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพของตำบล เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพ เรื่องที่โดดเด่นของตำบลแห่งนี้ คือ การออกมาตรการสังคมคือข้อบัญญัติของ อบต. ด้านสุขภาพ 3 ฉบับ เป็นตำบลแรกของประเทศ โดยมีการแยกขยะและจำหน่ายเป็นเงินออมทรัพย์ครอบครัวและเป็นกองทุนฌาปนกิจชุมชน เริ่มดำเนินการในปี 2558 เดือนแรกสามารถเก็บขยะได้ 30 ตัน ส่วนใหญ่เป็นขวดเหล้า ขวดเบียร์ แนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ในระยะหลังนี้เหลือเดือนละประมาณ 17-18 ตัน ส่วนใหญ่เป็นขวดเครื่องดื่มบรรจุขวด เช่น น้ำผลไม้ ผลจากความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ ชุมชน ประชาชนในชุมชน ทำให้ทั้งตำบลไม่มีถังขยะตั้งหน้าบ้าน เป็นตัวอย่างการดำเนินงานของพื้นที่ที่น่าชื่นชมมาก
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net