ผิดหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม ศาลสั่งจำคุก'นักสิทธิแรงงานข้ามชาติ' 3 ปี ปรับแสนห้า รอลงอาญา 2 ปี

คดีโรงงานสับปะรดกระป๋องฟ้องนักสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษ หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯม.14(1) ศาลสั่งจำคุก 3 ปี ปรับ 150,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี


อานดี้ ฮอลล์ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษา โดยมีแรงงานข้ามชาติร่วมให้กำลังใจ

20 ก.ย. 2559 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้อง 405 มีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีที่บริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด ซึ่งส่งออกสับปะรดกระป๋อง ฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานข้ามชาติ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ 14(1) จากการจัดทำวิจัยและนำเข้าสู่เว็บไซต์ฟินวอชท์ และแจกเอกสารในการแถลงข่าวงานวิจัย ซึ่งกล่าวหาว่าโจทก์ละเมิดสิทธิแรงงาน ละเมิดกฎหมายแรงงานและมีการค้ามนุษย์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง

กรณีการเผยแพร่บทความจากงานวิจัยในเว็บไซต์ฟินวอชท์ ซึ่งเป็นองค์กรจดทะเบียนในฟินแลนด์และทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกประเทศฟินแลนด์ ศาลเห็นว่า แม้จำเลยจะเบิกความว่าได้รับว่าจ้างให้ทำวิจัยและหมดหน้าที่หลังจากส่งรายงานแล้ว แต่การที่บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ลงในเว็บไซต์ฟินวอชท์ มีชื่อและช่องทางติดต่อของจำเลยให้ติดต่อสอบถามได้ เท่ากับยินยอมให้ใช้ข้อมูลของจำเลย หมายความว่าจำเลยร่วมกับฟินวอชท์ ในการนำเอกสารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว

ส่วนกรณีที่มีการระบุในบทความว่า โจทก์ค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก มีการทำงานเกินเวลา หรือมีการทำร้ายร่างกาย ศาลระบุว่า โจทก์มีพยานคือ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเคยเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการละเมิดสิทธิด้วยตัวเอง 2 ครั้งจากทั้งหมด 4 ครั้งในปี 2556 โดยในครั้งแรก พบว่าไม่มีกรณีที่ต้องดำเนินคดีใดๆ โดยมีข้อบกพร่องเล็กน้อย เช่น ห้องน้ำไม่เพียงพอ มีการปัดเศษทศนิยมค่าทำงานล่วงเวลาทำให้คนงานเสียประโยชน์ ซึ่งหลังจากพยานได้ให้คำแนะนำ พบว่าโจทก์ก็ได้แก้ไขกรณีดังกล่าว ขณะที่ในการตรวจครั้งที่ 4 มีการสุ่มสัมภาษณ์แรงงานพม่า 3 คน ก็ไม่ปรากฏข้อมูลตามที่มีการกล่าวหา นอกจากนี้ยังมีพยานจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบฯ เบิกความว่าโจทก์ไม่เคยถูกร้องเรียนว่ากระทำผิดกฎหมายประกันสังคม  รวมถึงมีพยานเป็นแรงงานที่ระบุว่าเคยให้สัมภาษณ์จำเลยว่า ไม่มีการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ค่าจ้างวันละ 240 บาทต่อวัน และไม่มีการทำร้ายร่างกาย โดยหลังให้สัมภาษณ์จำเลยได้จ่ายเงิน 300 บาท ดังนั้น บทความที่เผยแพร่จึงไม่ตรงกับที่พยานเบิกความ

ศาลระบุด้วยว่า เมื่ออ้างว่าได้ข้อมูลการละเมิดสิทธิจากการสัมภาษณ์คนงาน 12 คน ก็ควรนำพยานมาเบิกความต่อศาลและส่งหลักฐานเสียงสัมภาษณ์ที่บันทึกไว้ แต่จำเลยกลับส่งเพียงโน้ตย่อสั้น ที่ไม่สื่อความหมาย และภาพถ่ายที่ไม่เห็นหน้าและสถานที่ชัดเจน และไม่ครบ 12 คนตามที่อ้าง พยานที่นำสืบจึงไม่พร้อมให้เชื่อได้ว่าข้อมูลที่ได้เป็นความจริง 

นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังระบุว่า ตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว มีลูกค้าที่ยกเลิกการสั่งซื้อ โดยตั้งแต่ปี 2556 ยอดสั่งซื้อลดลง 30% และมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่กลับมาซื้อสินค้าอีก ดังนั้น เว็บไซต์ฟินวอชท์ซึ่งเป็นเว็บสาธารณะที่เปิดให้บุคคลดูข้อความได้ เมื่อมีผู้อ่านบทความแล้วเข้าใจว่ามีการค้ามนุษย์และละเมิดกฎหมาย จึงเกิดความรังเกียจและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การนำเข้าข้อมูลเท็จจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 ด้วยการโฆษณา ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 

ส่วนการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานที่อาคารมณียา เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2556 ซึ่งจำเลยแถลงคนเดียว และมีการแจกเอกสาร 2 ฉบับคือ บทความและบทสรุปผู้บริหาร ซึ่งกล่าวหาบริษัทโจทก์ว่าค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีนี้ แม้จำเลยจะนำสืบว่าตนเองบรรยายสรุปและไม่ได้ใช้เอกสารดังกล่าว แต่พฤติกรรมการแถลงข่าวโดยทราบว่ามีการแจกเอกสารดังกล่าว เท่ากับมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328

คำตัดสินระบุด้วยว่า การตรวจสอบสิทธิมนุษยชน ต้องทำใต้กรอบกฎหมายแต่ละประเทศและต้องไม่กระทบต่อสิทธิผู้ถูกตรวจสอบ มีการสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติเพียง 12 คน และไม่ฟังคำอธิบายจากบริษัท และอานดี้ ฮอลล์อ้างว่าได้ติดต่อบริษัทแล้วแต่ไม่รอบริษัทตอบกลับแต่ส่งงานวิจัยให้ฟินวอชท์ เท่ากับไม่ใส่ใจได้รับคำอธิบาย จึงไม่ใช่การติชมด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ศาลตัดสินว่าอานดี้ ฮอลล์มีความผิดตามฟ้อง จากการกระทำสองกรรมดังกล่าว โดยกรณีนำเข้าสู่เว็บไซต์ เป็นความผิดกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท (อาญา มาตรา 328 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(1)) จึงให้ลงโทษด้วยบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 14(1) จำคุก 2 ปีปรับ 100,000 บาท และกรณีเผยแพร่เอกสารในการแถลงข่าว ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 200,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษ 1 ใน 4 เป็นจำคุก 3 ปี ปรับ 150,000 บาท นอกจากนี้ จำเลยยังทำงานด้านสิทธิ เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติ เป็นประโยชน์อยู่บ้างและไม่เคยจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อให้เว็บฟินวอชท์ เว็บไซต์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เว็บไซต์ประชาไท เป็นเวลา 30 วัน และในนสพ.ไทยรัฐ บางกอกโพสต์และนสพ.ท้องถิ่น ขนาด 4*5นิ้ว ติดต่อกัน 7 วันนับแต่มีคำพิพากษา โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด

ในการอ่านคำพิพากษา มีผู้เข้าฟังราว 50 คนจนต้องมีการเสริมเก้าอี้ โดยมีแรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่จากสถานทูตฟินแลนด์และสหภาพยุโรป องค์กรสิทธิฯ สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์ด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า มีคนงานข้ามชาติกว่า 20 คน มามอบดอกไม้ให้กำลังอานดี้ ฮอลล์

ด้านอานดี้ ฮอลล์ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังการฟังคำตัดสินว่า เขารู้สึกตกใจอย่างมากกับคำพิพากษา พร้อมระบุว่าเขาเคารพคำตัดสินของศาล แต่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม

"นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของอานดี้ ฮอลล์ คนที่ทำวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นเรื่องของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำวิจัยในประเด็นประโยชน์สาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและพัฒนาสังคมไทย" เขากล่าวพร้อมระบุว่าจะอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวต่อไป

ซอนญา วาร์เทียร์ลา ผู้อำนวยการบริหาร องค์กรฟินน์วอทช์กล่าวว่า ”เรารู้สึกตกใจมากที่ศาลพิพากษาให้ฮอลล์มีความผิด องค์กรฟินน์วอทช์เป็นผู้เขียนและตีพิมพ์รายงานฉบับนี้ ดังนั้นองค์กรจึงเป็นผู้ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อรายงานฉบับนี้ อานดี้ ฮอลล์เป็นเพียงแพะรับบาป เพื่อปิดปากผู้ที่พยายามออกมาเปล่งเสียงโดยชอบธรรมเพื่อสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ

วาร์เทียร์ลากล่าวว่า ”เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย เราเกรงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ และเหยื่อการละเมิดของบรรษัทจะหวาดกลัวจนไม่กล้าเปล่งเสียงเพราะคำพิพากษานี้”

”กฎหมายไทยที่อนุญาตให้มีการลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยโทษทางอาญาและแม้กระทั่งการโทษจำคุกเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยอย่างชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้บรรษัทฟ้องคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาในศาล ประเทศไทยติดตามข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างละเอียดรอบคอบ”

ด้านสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงผ่านเฟซบุ๊กว่าทางสำนักงานกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าคำพิพากษาดังกล่าวนับว่าน่าผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพิพากษาเพียงหนึ่งวันหลังจากบรรดาผู้นำโลกยอมรับปฏิญญาฉบับประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติที่จะสนับสนุนแรงงานย้ายถิ่น

แชมพา พาเทล ที่ปรึกษาอาวุโสด้านงานวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “คำพิพากษาในวันนี้เป็นจุดจบอันน่าตกใจของคดีที่ในความจริงแล้วไม่ควรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองผู้ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน มากกว่าที่จะปล่อยให้กฎหมายถูกปล้นใช้โดยบริษัทเอกชนที่ต้องการปิดปากผู้เปิดโปงการละเมิดสิทธิ”

"น่าเสียใจที่คดีอานดี้ ฮอลล์เป็นเพียงหนึ่งในคดีหมิ่นประมาททางอาญาหลายคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญจากการทำงานอันสำคัญเพื่อช่วยเหลือบุคคลและชุมชนที่เสี่ยงอันตราย ปัจจุบัน มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาปิดปากผู้ที่ทำงานเปิดโปงความอยุติธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทางการไทยจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อทำลายมากกว่าเพื่อส่งเสริมความยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง” แชมพา พาเทล กล่าว

อนึ่ง นอกจากคดีนี้ ฮอลล์ยังถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุท ฟ้องหมิ่นประมาท (คดีอาญา) จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีรา โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เนเชอรัล ฟรุต และอัยการสูงสุดได้รับอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา หลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไป และถูกฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกสองคดี รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท