Skip to main content
sharethis

คำนิวิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 6/2559 ระบุร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. แก้ไขเรื่องคำถามพ่วง ยังไม่ชอบกับผลประชามติ จึงขอให้แก้มาตรา 272 ใหม่ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเสนอ "ขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ" เป็น "สมาชิกรัฐสภา" คือ ส.ส. และ ส.ว.แต่งตั้ง รวมจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และให้เริ่มนับระยะเวลา 5 ปีที่ใช้ตัวบทนี้ ตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตาม รธน. 

28 ก.ย. 2559 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 6/2559 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ชอบกับผลการออกเสียงประชามติ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ดังนี้

1.ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้”

ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำปรารภให้สอดคล้องกันต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) พุทธศักราช 2558 มาตรา 37/1

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล, ชัช ชลวร, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บุญส่ง กุลบุปผา, ปัญญา อุดชาชน, วรวิทย์ กังศศิเทียม, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ระบุว่า

"มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"

มีชัย พร้อมปรับแก้บทเฉพาะกาล

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เพิ่งเห็นเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาปรับแก้บทเฉพาะกาลเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ พบว่า มีข้อท้วงติงเรื่องการขอยกเว้นใช้ข้อบังคับในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ จากเดิมที่ระบุให้เฉพาะส.ส. จำนวนกึ่งหนึ่งมีสิทธิเป็นผู้เสนอของดใช้ข้อบังคับปรับแก้มาเป็นสมาชิกรัฐสภา จำนวนกึ่งหนึ่ง คือส.ส. และส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวน 750 คน หรือเท่ากับให้ส.ว. มีส่วนในการเสนองดใช้ข้อบังคับได้ด้วย แต่ยังไม่เห็นข้อความไหนที่เปิดให้ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้  จะต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้งก่อนที่จะมีการปรับแก้ ซึ่งจะดำเนินการภายใน 15 วัน และเมื่อเสร็จแล้วจะส่งให้นายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้ส่งกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะหารือเป็นการภายในกับทางศาลรัฐธรรมนูญ หลังปรับแก้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net