Skip to main content
sharethis
สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ชี้ข้อเสนอ ม.44 ยุบสภาสามารถทำได้ ระบุจะคุ้มหรือไม่กับเงิน 3 พันล้านหากต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส่วนตัวไม่กังวลเพราะในฐานะผู้ปฏิบัติยินดีที่จะจัดการเลือกตั้งกี่ครั้งก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะคุ้มหรือไม่หรือเป็นประโยชน์หรือไม่ก็ต้องกลับไปคิดกันเอาเอง
 
 
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Srisutthiyakorn Somchai)
 
2 ต.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อยุบสภา หากรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ ก็เปิดทางให้เลือกนายกฯจากคนนอกได้ เพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง หรือเกิดปัญหาที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ส่วนการยุบสภาถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งทางกฎหมายสามารถทำได้ เพราะถ้าหากส.ส.ตกลงกันไม่ได้ ที่จะให้มีนายกฯ มาจากส.ส.และไม่อยากได้นายกฯ ที่เป็นคนนอก การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็สามารถทำได้
 
“การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งสูงถึง 3,000 ล้านบาทและไม่แน่ใจว่าการยุบสภาจะได้นายกฯที่มาจากส.ส.ทันทีเลยหรือไม่ แต่หากพรรคการเมืองไปตกลงกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวได้เสียงข้างมากในสภาฯ แล้วเลือกนายกฯ ที่เป็นส.ส.ก็จะได้ไม่ต้องยุบสภา ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม  กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติเรายินดีที่จะจัดการเลือกตั้ง จะเลือกตั้งกี่ครั้งเราทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะคุ้มหรือไม่หรือเป็นประโยชน์หรือไม่ก็ต้องกลับไปคิดเอา” นายสมชัย กล่าว
 
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอการเซ็ตซีโร่ กกต.นั้น ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไร เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ 2559 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระไว้ต่างกัน โดยรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระ ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ แต่รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ 2559 กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระตามบทบัญญัติของกฎหมายลูก ซึ่งต้องดูว่ากฎหมายลูกว่าจะเขียนให้กรรมการองค์กรอิสระอยู่จนครบวาระ หรือจะเขียนให้กรรมการที่มีอยู่เดิมเริ่มต้นนับวาระการดำรงตำแหน่งใหม่ หรือเขียนให้สรรหาหรือรีเซ็ตกรรมการใหม่ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่ว่ากรธ.จะเขียนกฎหมายลูกออกมาแบบใด อย่างไรก็ตาม การยกร่างกฎหมายลูกควรคำนึงถึงเหตุและผลการอยู่หรือไปว่าจะมีผลดีผลเสียมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากจะเซ็ตซีโร่ก็ต้องให้ความเสมอภาคกับทุกองค์กรและคำนึงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายหรือไม่
 
นายสมชัย ยังกล่าวถึงทิศทางการเมืองภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ว่า กกต.เราเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหลังจากนี้กกต.จะดำเนินการออกระเบียบและโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งมั่นใจว่าช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ระบบการทำงานทุกอย่างจะสมบูรณ์พร้อมจัดการเลือกตั้งได้ทุกเวลา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net