Skip to main content
sharethis

สนทนากับกนกรัตน์เจ้าของผลงาน ‘การเติบโตของคนเดือนตุลาฯ’ วิเคราะห์ว่าพวกเขาเป็นใคร เหตุใดจึงมีบทบาทในสังคมการเมืองไทย พวกเขาสร้างพื้นที่ของตนขึ้นมาอย่างไร กับมายาคติที่ทำให้สังคมไทยเชื่อว่าพวกเขาเป็นเนื้อเดียวกัน และต้องเกิดคำถามเมื่อคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งหนุนรัฐประหาร

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ทำไม ‘คนเดือนตุลา’ จึงอยู่ในทุกวงการ ทำไมพวกเขาจึงเป็นผู้ขีดเขียนความหมายของคำว่าประชาธิปไตยของไทยมาเนิ่นนาน แล้วทำไมเมื่อการเมืองไทยเดินทางมาถึงปัจจุบัน เราจึงเห็นคนเดือนตุลาที่สังคมเชื่อว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตย กลับให้การสนับสนุนรัฐประหารและ คสช. ปรากฏการณ์เหล่านี้สร้างความงุนงงสงสัยอยู่ไม่น้อย

แต่นั่นอาจเป็นเพราะเราเข้าใจว่าความเป็นคนเดือนตุลาผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น (?) เราถูกทำให้เข้าใจว่าคนเดือนตุลามีความเป็นเอกภาพ คิดและเชื่อเหมือนกัน ผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของพวกเขา ผ่านการ Romanticize และการสร้างวีรบุรุษ ทั้งที่ความจริงแล้ว ‘คนเดือนตุลา’ แตกต่าง-แตกแยกทางความคิดมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน มีฐานความคิดที่นำมาสู่การเลือกฝักฝ่ายเช่นในปัจจุบัน นี่เป็นคำตอบที่ได้จากงานศึกษา ‘การเติบโตของคนเดือนตุลา: อำนาจและความขัดแย้งของอดีตนักกิจกรรมปีกซ้ายในการเมืองไทยสมัยใหม่’ (The Rise of the Octobrists: Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics) ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานศึกษาที่นักวิชาการคนเดือนตุลาจำนวนหยิบขึ้นมากล่าวถึง โต้เถียง และคัดค้าน

ประชาไทสนทนายาวๆ กับกนกรัตน์ถึงคำอธิบายประเด็นการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และตกต่ำของคนเดือนตุลาในสังคมไทยปัจจุบัน

คนเดือนตุลาคือใคร?

แม้ว่าตัวกนกรัตน์จะไม่ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนเดือนตุลามาก่อน แต่จากคำบอกเล่าของคนในครอบครัวที่ร่วมเหตุการณ์ จากการได้เห็นการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงทศวรรษ 90 ที่ทำให้เธอค้นพบว่ามีคนเดือนตุลาอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะในเอ็นจีโอ นักการเมือง นักธุรกิจ แม้กระทั่งในธนาคารแห่งประเทศไทย

“เราจะทำความเข้าใจยังไงว่า คนเดือนตุลามีบทบาทอย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ตอนเริ่มต้นโปรเจ็กต์นี้เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ เพราะรู้สึกว่าคนเดือนตุลาเป็นพลังแห่งความหวังของสังคมไทย ในการนำสังคมไทยให้มันเปลี่ยนแปลง”

ทว่า ระหว่างที่กนกรัตน์เก็บข้อมูล การเมืองไทยก็เริ่มเข้าสู่ความขัดแย้ง ทักษิณ ชินวัตร สามารถสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องราวก็ดำเนินมาอย่างที่สังคมรับทราบกันดี ซึ่งในฝั่งรัฐบาลทักษิณและฟากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่างก็มีคนเดือนตุลาอยู่ด้วยกันทั้งคู่ และต่างก็ชี้นิ้วด่าทอกันว่าทรยศต่ออุดมการณ์ แรงบันดาลใจในช่วงต้นของกนกรัตน์จึงสูญเสียไป เกิดคำถามว่าเป็นการตั้งคำถามผิดตั้งแต่แรกหรือไม่ และเกิดข้อกังขาใหม่ขึ้นมาว่า หรือจริงๆ แล้วคนเดือนตุลาไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้จักและเคยคิด

"ขณะที่สังคมไทย ระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองเพิ่งเริ่มช่วงทศวรรษ 90 คือคนเหล่านี้มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด มาถึงปุ๊บเขากำลังเปิดรับสมัครทุกพรรค ...พรรคการเมืองในเมืองไทยเป็นพรรคส่วนบุคคล ไม่มีใครมีฐานเสียงในชนบท ไม่มีใครทำงานรณรงค์เป็น ...เพราะฉะนั้นคนพวกนี้มาแบบมีทักษะพร้อมแล้ว มาถึงปุ๊บ ทุกพรรคเอาหมด แล้วก็ shortcut เลย เพราะมีทักษะพิเศษ เป็น Unique Asset ที่เขามี”

คนเดือนตุลาคือใคร? กนกรัตน์ตอบคำถามนี้ว่า คนเดือนตุลาคือคนที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นก็มีส่วนร่วมในกิจกรรม 14 ตุลา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ชัยชนะของขบวนการนิสิตนักศึกษาในการล้มระบอบเผด็จการทหารสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส หลังจากชัยชนะ ขบวนการนิสิตนักศึกษาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง มีการตั้งองค์กรมากมาย ลงไปทำงานทั้งกับแรงงาน ชาวนาในชนบท และคนจนเมือง ขบวนการนักศึกษามีการจัดองค์กรที่เป็นเอกภาพมากขึ้นเรื่อยๆ พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคที่ได้รับชัยชนะในสภานักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยถูกครอบงำโดยขบวนการนักศึกษา แม้แต่ในระดับประถม มัธยม ก็มีการจัดตั้ง

“ขบวนการนักศึกษามีสายสัมพันธ์ที่เป็นแบบความสัมพันธ์ระยะห่างกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เราโต้เถียงไม่ได้ว่า พคท. มีบทบาทโดยตรงในการนำ การจัดองค์กรนักศึกษาในช่วง 14-6 ตุลา เพราะ พคท. ไม่ได้สนใจขบวนการนักศึกษาจริงๆ จังๆ มากนัก ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ พคท. เองยุทธศาสตร์ในการจัดตั้งนักศึกษาในเมือง ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับ พคท. เพราะ พคท. อยู่ใต้แนวคิดแบบเหมาอิสต์ มันต้องขบวนการป่าล้อมเมือง ต้องไปจัดตั้งชาวนา ชนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยู่ในชนบท เพื่อที่จะทำการปฏิวัติปลดแอกแต่ละเขตงานของตัวเอง แล้วเข้ามายึดในเมือง แต่ว่าขบวนการนักศึกษาไม่ได้มีจิตสำนึกทางชนชั้น”

กนกรัตน์อธิบายว่า ในช่วง 14-6 ตุลา มีการนิยามคนออกเป็น 2 แบบ คือตัวปิดและตัวเปิด ตัวปิดคือคนที่เชื่อว่าตนเองมีสายสัมพันธ์กับ พคท. โดยตรงผ่านการจัดตั้ง ซึ่งจริงหรือไม่จริง แต่ละคนก็ไม่สามารถบอกได้ ส่วนตัวเปิดคือคนที่ไม่มีใครมาบอกตรงๆ ว่ามีความสัมพันธ์กับ พคท. แต่คนเหล่านี้ทำงานอย่างเปิดเผยว่าตนเองเป็นผู้นำนักศึกษา ซึ่งคนจำนวนน้อยที่เป็นแกนนำนักศึกษาทำงานออกหน้าจะไม่มีใครบอกว่ามีความสัมพันธ์กับ พคท.

“คนพวกนี้เป็นตัวปิดที่เชื่อว่าตนเองมีสัมพันธ์กับ พคท. แล้วก็ทำงานจัดตั้งโดยไม่บอกว่าเป็น และทุกคนต้องไม่บอกกันนะ เพราะเป็นงานปิดลับ ความสัมพันธ์จะเป็นแบบแนวตั้ง ห้ามปฏิสัมพันธ์แนวขวาง ทุกคนก็จะมีจินตนาการว่าฉันต่อสายตรงกับลุงคนนี้ ผ่านพี่คนนี้ ซึ่งไปสัมภาษณ์ทุกคน ทุกคนจะคิดอย่างนั้น นี่คือตัวปิด แต่ถ้าคุณไปสัมภาษณ์นักศึกษาที่เป็นตัวปิด เขาจะบอกว่าพวกนี้ไม่รู้หรอก มันก็ถูกพวกเราจัดตั้ง คนที่ทำงานอยู่แล้วรอบแกนนำนักศึกษาเป็นใคร ทุกคนเป็นตัวปิดหมด ประเด็นที่เขียนชงให้ก็คือตัวปิดบอกทั้งนั้น นี่คือภาพที่คุณจะเห็นช่วง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา”

ในช่วงเวลานั้นที่ฝ่ายขวาเริ่มคุกคามมากขึ้น ทำให้นักศึกษาเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยและมุ่งไปยัง พคท. มากขึ้น เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย ยิ่งใกล้ 6 ตุลา ขบวนการนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เป็นตัวปิดเริ่มเตรียมตัวเข้าป่า พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา นักศึกษาจึงเข้าป่าร่วมกับ พคท. ซึ่งก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาหันหลังให้ พคท. ในที่สุด

จังหวะการเมืองที่ลงตัว-ทักษะเฉพาะ หนุนคนเดือนตุลากลับมาสร้างที่ยืนในสังคม

นั่นคือภูมิหลังที่นำมาสู่โจทย์สำคัญในงานศึกษาของกนกรัตน์ที่ว่า หลังการล่มสลายลงของขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี กลับไม่เห็นบทบาทของอดีตนักศึกษายุค 60 หรือ 70 ทั้งในยุโรปและอเมริกา ที่จะเติบโตขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเมืองในสภา แม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ค่อยเห็นบทบาท เว้นก็แต่ในสังคมไทย

สังคมไทยไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าสังคมอื่น เพียงแค่บริบททางการเมืองไทยเอื้อกับคนตุลามากกว่า กนกรัตน์อธิบายว่า โครงสร้างจังหวะทางการเมืองของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในสังคมอเมริกา โครงสร้างพรรคการเมืองและระบบรัฐสภาลงหลักปักฐาน การที่ขบวนการฝ่ายซ้ายสักคนเมื่อเลิกเป็นซ้าย แล้วคิดจะเข้าพรรคเดโมแครต หรือรีพับลิกัน คุณต้องไปต่อแถวตั้งแต่ท้ายสุดมา

“คือการเข้าสู่ระบบการเมืองในอเมริกามันยากมาก แล้วคุณเป็น Lost Generation คุณหายไปทำอะไรไม่รู้ 10 กว่าปี ในขณะที่ถ้าคุณจะเข้าเป็นนักการเมืองในอเมริกาหรือยุโรป ต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่แรก ทำงานแคมเปญอย่างต่อเนื่อง มันมี Hierarchical Structure ของระบบที่ลงหลักปักฐาน ขณะที่สังคมไทย ระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองเพิ่งเริ่มช่วงทศวรรษ 90 คือคนเหล่านี้มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด มาถึงปุ๊บเขากำลังเปิดรับสมัครทุกพรรค ไม่มีใครทำงานแคมเปญเป็น ไม่มีใครรู้จักชาวบ้าน พรรคการเมืองในเมืองไทยเป็นพรรคส่วนบุคคล ไม่มีใครมีฐานเสียงในชนบท ไม่มีใครทำงานรณรงค์เป็น ไม่มีใครมี Research Unit แบบไทยรักไทย เพราะฉะนั้นคนพวกนี้มาแบบมีทักษะพร้อมแล้ว มาถึงปุ๊บ ทุกพรรคเอาหมด แล้วก็ shortcut เลย เพราะมีทักษะพิเศษ เป็น Unique Asset ที่เขามี”

กล่าวโดยสรุปคือ คนเดือนตุลากลับมาประสบความสำเร็จในการฉกฉวยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงทศวรรษ 80-90 และการเปิดเสรีทางการเมืองในช่วง 1990 ที่เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนพวกนี้เข้ามามีบทบาททางการเมืองและทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นชนชั้นกลางที่มีพลังในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ กนกรัตน์ขยายความว่า

“ในช่วง 14 ตุลาถึง 6 ตุลาและการเข้าป่า มันพัฒนาทักษะพิเศษ มันทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มเฉพาะในรุ่นของพวกเขาที่มีทักษะในการเข้าใจปัญหาในชนบทที่ชนชั้นกลางคนอื่นไม่มี และมีทักษะในการแปลงปัญหาเหล่านั้นเป็นนโยบาย ทั้งในการสื่อสารกับชนชั้นกลาง ทั้งในการแปลงข้อเรียกร้องให้กลายเป็นข้อเสนอทางนโยบายในการทำงานกับคอนเน็กชั่นที่มีและพัฒนามาตั้งแต่ทศวรรษ 70 นอกจากนั้น เครือข่ายทางการเมืองของคนพวกนี้ก็เป็นเครือข่ายแบบเข้มข้นที่ไม่เคยมีเจเนอเรชั่นไหนของชนชั้นกลางไทยเคยมีมาก่อน ตั้งแต่ 14 ตุลา คนพวกนี้มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ จำนวนมาก แม้แต่พรรคที่เป็นพรรคฝ่ายขวาก็ตาม เพราะบางช่วง บางคนถูกจับติดคุก ในงานเราก็เขียนไว้ว่าช่วงถูกจับติดคุกก็จะไปเจอทหารหลายกลุ่ม แล้วก็พัฒนาความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับคนพวกนี้

“นอกจากนั้น ตอนทำงานรณรงค์ช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา คนพวกนี้มีทักษะและเครือข่ายกับนักการเมืองที่มีเครือข่ายอย่างมากมายในระยะต่อมาและความสัมพันธ์นี้ก็ยังอยู่กับพวกเขา นี่ยังไม่พูดถึงเครือข่ายความสัมพันธ์กับพวกเขาเองที่เป็นแบบเครือข่ายเด็กนักเรียนที่กินนอนด้วยกันมา ทำให้พวกเขามีทักษะในการกลับมาทั้งในการเป็นคนทำงานในภาคธุรกิจ ในบริษัทโฆษณาเกือบทั้งหมดในยุคหนึ่งเป็นคนเดือนตุลาจำนวนมาก คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ คนเหล่านี้ได้รับชุดประสบการณ์ในการทำงานประชาสัมพันธ์ให้พรรค ทั้งตอนอยู่ในเมืองและตอนเข้าไปในป่า งานวัฒนธรรมในเขตงานของ พคท. ละคร สโลแกน คำขวัญ บทละคร ทุกอย่างเป็นการปูพื้นฐานให้คนเหล่านี้กลับเข้ามามีทักษะที่พิเศษมาก

“ทักษะในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ไม่ต้องพูด พวกเขากลับมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ในทุกสำนักพิมพ์ คนอย่างรุ่นพวกเราๆ ไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้นได้ คือพวกเขาลงเรียนคอร์สแบบเข้มข้น 7 ปี ในป่า 4 ปี ในเมือง 3 ปี ต้องวิเคราะห์การเมืองทุกวัน ประเมินสถานการณ์ จังหวะการเมืองจะถอย จะก้าว คนพวกนี้พัฒนาทักษะการเมืองตลอดเวลา นี่ยังไม่พูดถึงทักษะการเขียน การวิเคราะห์อื่นๆ ในการพัฒนาแผนนโยบายในแต่ละช่วงที่ทำให้คนพวกนี้กลายเป็นนักรณรงค์ทางการเมือง เป็นผู้ช่วย ส.ส. คนหาเสียงให้ ส.ส. ทุกพรรคการเมือง ในการช่วยเขียนคำปราศรัย ทำข้อเสนอ คุณจะรู้สึกว่าเดินไปที่ไหนก็มีคนเดือนตุลา เพราะทักษะที่เขามี เด็ก 17-18 ที่ไหนทำงานพรรคการเมืองตั้งแต่เด็ก ไม่มีหรอก เจเนอเรชั่นพวกเราไม่มีวันที่จะทำอย่างพวกเขาได้

“เป็นทักษะที่ไม่มีคนรุ่นไหน ในชนชั้นไหน ที่มีความสามารถเท่ากับคนเดือนตุลา เพราะเป็นคนที่เข้าใจภาษาของชนชั้นกลาง เขาเป็นชนชั้นกลาง การศึกษาดี มีสถานะทางสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นชนชั้นกลางกลุ่มเดียวที่มีประสบการณ์การอยู่ในชนบท เข้าใจปัญหาสังคมในชนบท และเข้าใจผ่านกระบวนการ Advocate ทั้งกับคนในชนบทและสื่อสารกับคนในเมือง ทักษะในช่วงนั้นมันเป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะ

“ถ้าดูเส้นทางการเข้ามาของคนเดือนตุลาในพรรคการเมืองจะมีประมาณ 2-3 ระลอก คลื่นลูกแรกส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีคอนเน็กชันกับนักการเมือง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา เพราะคนรุ่นนี้ก็จะไปช่วยพรรคสังคมนิยม พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงอยู่แล้ว รวมทั้งพรรคใหม่ๆ อื่นๆ เช่น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, พินิจ จารุสมบัติ, จาตุรนต์ ฉายแสง พวกนี้้เป็นแกนนำนักศึกษาตั้งแต่แรก เป็นที่รู้จักของนักการเมืองอยู่แล้ว

“คลื่นลูกที่สอง จะเป็นคนที่มีคอนเน็กชันกับคนพวกนี้ เช่น ชำนิ ดึงสุธรรม แสงประทุม วิทยา แก้วภราดัย เข้ามาเล่นการเมือง ทั้งในพรรคก้าวหน้าและประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมากในการแคมเปญของพรรค เขามีคนเดือนตุลาจะเข้ามาร่วม นักการเมืองทุกพรรครู้ว่า พวกนี้ทำงานเป็น ความเป็นคนเดือนตุลามันขายได้ เพราะคนรู้ว่านี่คือยี่ห้อฉลากสินค้า ฉลากนี้บอกเลยว่า รณรงค์การเมืองเป็น ไฮปาร์กโคตรเก่ง คอนเน็กกับชาวบ้าน เครือข่ายชนบท หรือแม้แต่วงการเอ็นจีโอเอง ความเป็นคนเดือนตุลา ใครออกจากป่ามา ช่วงแรกไปเป็นเอ็นจีโอคือไม่มีที่ไปนะ คือไม่อยากรับราชการ ไม่เอารัฐ แต่ก็ไม่อยากทำเอกชน ยังอยากสานต่อสิ่งที่ตัวเองเคยทำตอน 14 ตุลา 6 ตุลา  มอส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) นี่คือที่หลบภัย เป็นแคมป์ผู้อพยพให้กับเอ็นจีโอที่ออกมาจากป่า ครูประทีป อ.สุลักษณ์ เป็นฮับแรกๆ ในการที่ทุกคนกลับเข้ามา”

ไม่เพียงทักษะเฉพาะที่คนกลุ่มนี้มีติดตัว ในมิติเศรษฐกิจ คนเดือนตุลากลับมาในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูมและเป็น Mass Middle Class ที่มาพร้อมกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษากลุ่มแรกในสังคมไทย เพราะมหาวิทยาลัยเพิ่งเริ่มขยายช่วงทศวรรษ 1970 กล่าวคือคนกลุ่มนี้กลับมาในจังหวะที่เปิดรับให้เป็น Established Middle Class และนี่เป็นที่มาที่ทำให้กลายเป็น Established Middle Class ในขบวนการเสื้อเหลือง

“เป็นทักษะที่ไม่มีคนรุ่นไหน ในชนชั้นไหน ที่มีความสามารถเท่ากับคนเดือนตุลา เพราะเป็นคนที่เข้าใจภาษาของชนชั้นกลาง เขาเป็นชนชั้นกลาง การศึกษาดี มีสถานะทางสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นชนชั้นกลางกลุ่มเดียวที่มีประสบการณ์การอยู่ในชนบท เข้าใจปัญหาสังคมในชนบท และเข้าใจผ่านกระบวนการ Advocate ทั้งกับคนในชนบทและสื่อสารกับคนในเมือง ทักษะในช่วงนั้นมันเป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะ"

Rewrite ประวัติศาสตร์, Romanticize และการสร้างวีรบุรุษ สร้างที่ยืนคนเดือนตุลา

ข้อถกเถียงสุดท้ายที่ว่า เหตุใดคนเดือนตุลาจึงกลับมาได้ ซึ่งกนกรัตน์บอกว่าเป็นข้อที่คนเดือนตุลาหลายคนไม่ค่อยพอใจ นั่นก็คือคนเดือนตุลาประสบความสำเร็จในการเขียนประวัติศาสตร์ของตนขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือ 1.การทำให้ 14 ตุลา เป็นเพียงเรื่องของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ทั้งที่จริงๆ มีความหลากหลายมากกว่านั้น และ 2.ทำให้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา กลายเป็นประวัติศาสตร์ของนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ที่ต่อสู้กับความรุนแรงของรัฐ เพื่อความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมในสังคม โดยไม่พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายที่พ่ายแพ้

“พวกเขา rewrite ประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ที่คนรุ่นใหม่จำประวัติศาสตร์ 6 ตุลาไม่ได้ เราจะชี้นิ้วด่าเขาไม่ได้ งานนี้พยายามอธิบายว่ามันไม่ใช่ความผิดของคนรุ่นใหม่ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเดือนตุลาเองไม่อยากพูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายของพวกเขาในการ Rewrite ประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น เราเลยอธิบายไม่ค่อยได้ว่า 6 ตุลามันคือประวัติศาสตร์อะไร เพราะในสังคมไทยไม่มีที่ยืนสำหรับฝ่ายซ้าย คือถ้าอยากจะรื้อฟื้นตัวเองกลับมา คุณต้องไม่พูดว่าตัวเองเป็นซ้าย ถ้าคุณต้องการกลับมามีที่ยืนในสังคม ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว คุณต้องไม่บอกว่าคุณเป็นฝ่ายซ้าย”

นอกเหนือจากการ Rewrite ประวัติศาสตร์แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนเดือนตุลากลับมามีที่ยืนในสังคม กนกรัตน์อธิบายว่าคือการ Romanticize และ Heroinize ความเป็นซ้าย

“คุณจะเห็นว่ามีงานฉลองเขตงานมากมาย งานจัดคอนเสิร์ตซีรีส์เยอะแยะไปหมด แต่ทุกงานเป็นงานวัฒนธรรม คนพูดถึง พคท. ราวกับเป็นชนเผ่ากลุ่มหนึ่งที่มีการเดินขบวนริ้วธง ร้องเพลงปฏิวัติ ราวกับว่ามันเป็นเพลงป๊อป แต่ไม่มีใครพูดถึงว่าปัญหาอะไรที่ทำให้ พคท. หายไปแล้ว ไม่มีการดีเบตเรื่องนี้ งานรำลึกเขตงานมีทุกปีทุกเขต แต่มันกลายเป็นซูเปอร์คาร์แรลลี่ ถ้าคุณไปเขตงาน คุณจะพบกับรถหรูเกือบทุกยี่ห้อ ไปเขตน่าน กว่าจะไปถึงต้องเอาโซ่พันล้อ นั่งไปแล้วทุกคนสนุกมาก เอาครอบครัวไปปิกนิก กลับไปแจกทุนการศึกษาในเขตงาน แล้วก็มีกิจกรรมตอนกลางคืน กินเหล้า เล่าเรื่องในอดีต มันเป็นการ romanticize ประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายโดยไม่พูดถึงปัญหาทางการเมืองของ พคท. คนพวกนี้เขาก็ repeat message แต่ถามว่า ทำไมเขาถึงต้องทำแบบนี้ สำหรับเรา นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขากลับมาประสบความสำเร็จ”

กนกรัตน์ อธิบายต่อว่า ในช่วงครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา ปี 2539 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธงชัย วินิจจะกูลกลับมาและเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อขอที่ยืนเล็กๆ ให้กับคน 6 ตุลา ซึ่งเธอวิจารณ์ว่าเป็นการเขียนถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลา โดยไม่กล่าวถึงความเป็นซ้ายเลย นั่นทำให้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตอบโต้ว่าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาที่แท้จริง เพราะประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคือประวัติศาสตร์แห่งความเป็นซ้าย ซึ่งเกษียร เตชะพีระ ก็เขียนบทความภายหลังว่า ทั้งสองคนต่างก็สุดขั้วเกินไป โดยระบุว่า 6 ตุลาคือประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายแบบไทย เป็นประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายที่เชื่อมโยงกัน คน 14 ตุลา 6 ตุลา

แต่จะถกเถียงกันอย่างไร ประวัติศาสตร์แบบธงชัยก็ประสบความสำเร็จ เนื่องจากย่อยง่าย ประเด็นก็คือการเขียนประวัติศาสตร์แบบธงชัยเป็น Inclusive History ของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นซ้าย เหมาอิสต์ หรือเสรีนิยม ทุกคนอยู่ภายใต้ร่มของ 6 ตุลาได้หมด เป็นการสร้างกรอบใหม่ในการอธิบาย 6 ตุลา ทำให้กระบวนการสร้างประวัติศาสตร์เดือนตุลาเป็นการสร้าง Inclusive Identity

‘คนเดือนตุลา’ ปกปิดความขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลา กับ 6 ตุลา

ข้างต้นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเดือนตุลากระจายตัวอยู่ในแวดวงต่างๆ ของสังคมภายหลังจากการล่มสลายของ พคท. นักศึกษากลับออกจากป่า ต่อมาเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตแกนนำนักศึกษาในยุคนั้นได้สร้างคำว่า ‘คนเดือนตุลา’ ส่วนหนึ่งเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลาและ 6 ตุลา จนทำให้ภาพของนักศึกษาที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่าง แตกแยกทางความคิดอยู่มากระหว่างคนสองเหตุการณ์

"คือมันสอดรับกับความสำเร็จในการ Rewrite ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทำให้ 14 ตุลากับ 6 ตุลา เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันอย่างแนบสนิท คือถ้าเราไม่ได้เป็นพวกเขา เราจะรู้สึกว่ามันคล้ายๆ กัน เหมือนกับนักศึกษาต่อสู้ล้มเผด็จการ แล้วก็ยังต่อสู้ต่อไป แต่รัฐไทยกลัวนักศึกษา ก็เลยปราบ เด็กเลยต้องหนีเข้าป่า ทั้งสองเหตุการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันเป็นการเติบโตขึ้นของการเคลื่อนไหวคนละอุดมการณ์”

กนกรัตน์อธิบายว่า ขบวนการนักศึกษาที่เติบโตในช่วงก่อน 14 ตุลา หรือเจเนอเรชั่น 14 ตุลา ผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมที่หลากหลาย ตั้งแต่เสรีนิยม ประชาธิปไตยสังคมนิยม ไปจนถึงคอมมิวนิสต์ แต่ภายหลัง 14 ตุลา เมื่อขบวนการฝ่ายขวาเติบโต ความหวังเดียวที่ขบวนการนักศึกษาจะมีได้คือ พคท. ซึ่งเป็นหลังพิงเดียวที่มีพลังมากที่สุดที่พอจะสู้กับฝ่ายขวาในสังคมไทยได้ เหตุนี้นิสิตนักศึกษาที่โตหลัง 14 ตุลาจึงมีความเป็นซ้ายแบบเหมาอิสต์มากกว่า อีกด้านหนึ่ง คน 14 ตุลามีประวัติศาสตร์ชัยชนะเป็นหมุดหมายสำคัญ ขณะที่คน 6 ตุลากลับมีประวัติศาสตร์แบบลูกผีลูกคนและพ่ายแพ้

“คุณดูการแต่งตัว พวก 14 ตุลาจะเป็น 5 ย. (เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สะพายย่าม ผมยาว รองเท้ายาง) แต่ถ้าเป็นเหมาอิสต์จะไม่ใช่ คุณต้องมีระเบียบวินัย ผ่านการจัดตั้งอย่างเป็นระบบของพรรค คุณต้องมีวินัยในการทำงาน ไม่ใช่เสรีชน นี่ก็คือความขัดแย้งเบื้องต้นของคน 14 ตุลากับ 6 ตุลา ที่ไปด่าพวก 14 ตุลาแทบตายว่าเพราะพวกนี้ไม่มีวินัย การทำงานคุณไม่ยอมทำตามพรรค คุณไม่ยอมเปลี่ยน”

ในเขตป่าเขา ความขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลากับ 6 ตุลาค่อนข้างรุนแรงมาก อีกทั้งในเชิงอุดมการณ์ การวิเคราะห์ปัญหา ทางออกและทางเลือกในสังคมไทย ทั้งสายที่เป็นเสรีนิยมแบบคน 14 ตุลากับคน 6 ตุลาก็มองไม่เหมือนกัน เช่น คน 6 ตุลาซึ่งเชื่อแบบเหมาอิสต์จะมองว่าพลังสำคัญในการปฏิวัติคือกรรมกรชาวนา ขณะที่คน 14 ตุลาเชื่อว่าต้องประสานทุกชนชั้น เป็นต้น

“นี่คือการตีความของเรานะ คุณจะเถียงก็ได้ คือมันสอดรับกับความสำเร็จในการ Rewrite ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทำให้ 14 ตุลากับ 6 ตุลา เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันอย่างแนบสนิท คือถ้าเราไม่ได้เป็นพวกเขา เราจะรู้สึกว่ามันคล้ายๆ กัน เหมือนกับนักศึกษาต่อสู้ล้มเผด็จการ แล้วก็ยังต่อสู้ต่อไป แต่รัฐไทยกลัวนักศึกษา ก็เลยปราบ เด็กเลยต้องหนีเข้าป่า ทั้งสองเหตุการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันเป็นการเติบโตขึ้นของการเคลื่อนไหวคนละอุดมการณ์”

ความแตกต่างนี้คือสิ่งที่กนกรัตน์ใช้อธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 10 ปีนี้ที่ ‘คนเดือนตุลา’ ต่างอยู่ในทั้งสองฟากฝั่งความคิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net