Skip to main content
sharethis

"วงเสวนาจากความเงียบ-40 ปี 6 ตุลา" เผยไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากความสูญเสียทางการเมือง ชี้สังคมไทยยังไร้วัฒนธรรมการรับโทษ ญาติเหยื่อตั้งคำถาม ทำไมผู้นำนักศึกษาในอดีตไม่ปรองดอง จะได้ไม่ใครมาปล้นอำนาจอีก

6 ต.ค. 2559 ในการเสวนา "เสียงจากความเงียบ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม 40 ปี 6 ตุลา 2519 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ ชี้แจงว่า วันนี้ไม่มีตัวแทนญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเหตุการณ์ แต่สามารถติดต่อญาติได้เพียงไม่กี่สิบคน และเนื่องจากคนจำนวนมากปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ตลอดจนสภาวะทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถหาญาติของ 6 ตุลา 19 มาขึ้นเวทีได้

ละเมียด บุญมาก ภรรยาของ จีระ บุญมาก ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เล่าว่า ขณะนั้น จีระกำลังเรียนต่อปริญญาโท เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ถนอม ประภาส ครองอำนาจยาวนาน ตนเองและจีระก็ไปร่วมฟังการอภิปรายเวทีต่างๆ มาตลอด เช้าวันที่ 14 ต.ค. จีระมีกำหนดการต้องไปทำงานของไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ต่างจังหวัด แต่ขณะนั้น ข้างบ้านเปิดวิทยุ มีรายงานว่า ผู้ก่อการจะยึดสวนจิต เขาเชื่อว่าไม่จริง จึงเปลี่ยนเสื้อ ออกจากบ้าน หวังจะไปพูดให้ประชาชนเข้าใจ เย็นวันนั้น เขาไม่กลับบ้าน

"ไม่คิดว่าคนเป็นแสนจะโดนแฟนเรา" ละเมียดกล่าว

เธอตามหาเขาอยู่สี่วัน จนวันที่สี่ไปที่โรงพยาบาลศิริราช ร่างของเขาถูกถอดเสื้อเหลือแต่กางเกงในและสภาพขึ้นอืด ตอนแรกเธอจำเขาไม่ได้ จนเมื่อเห็นภาพถ่ายต่างๆ และเล็บเท้าของเขาที่ตัดเล็บขบไว้

หลังจากนั้น ครอบครัวของเธอได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนของจีระ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและค่าเล่าเรียนให้ลูกของเธอจนจบปริญญาตรี

เธอบอกว่า เธอโชคดีที่ตัวเองมีอาชีพ และได้เงินเยียวยาสมัยรัฐบาลทักษิณ และต่อมาเธอได้เรียกร้องดอกเบี้ยและเงินยังชีพ จนเมื่อปี 2557 เรื่องการขออนุมัติเงินกำลังจะเข้า ครม.ในวันที่ 19 พ.ย. ก็ปรากฏว่ามีการยึดกระทรวงการคลัง เรื่องเลยเงียบไป เธอเองพยายามตามเรื่องนี้ตลอด แต่เรื่องก็เงียบไป จนปีที่แล้ว ที่ มล.ปนัดดามาวางพวงหรีด เธอก็เรียกร้องและตั้งคำถามว่า ทำไมผู้นำนักศึกษาจึงมาแตกแยกกัน ทำไมไม่ปรองดองกัน แบ่งเหลืองแดง แล้วเธอจะพึ่งใคร ต่อมา นสพ.รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้เร่งดำเนินการ แต่จนตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ส่วนเรื่องการดำเนินคดีนั้น ตอนแรกทนายบอกเธอให้แจ้งความถนอมกับประภาส แต่มีคนเตือนว่าอย่าเลยเพราะอาจตกในอันตราย แต่ตนก็เชื่อว่ากรรมจะติดจรวด

สุดท้าย ละเมียดเรียกร้องต่อผู้นำคนเดือนตุลาในอดีตให้หันมาปรองดองกันเหมือน 43 ปีก่อน อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เพื่อจะได้ไม่มีการปล้นอำนาจประชาชนเกิดขึ้นอีก

เมธา มาสขาว ญาติผู้เสียชีวิตเหตุการณ์พฤษภา 2535 และเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ระบุว่า ครอบครัวของตัวเองเกี่ยวพันกับการเมืองไทยมาโดยตลอด พี่ชายคนโตของเขาเข้าป่าหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ความหวังของคนลดน้อยลงและไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องออกไปต่อสู้ด้วยความอดทนในเขตป่าเขา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย แต่ถึงที่สุดสภาพการเมืองไทยตอนนี้ก็ยังไม่มีบรรทัดฐาน  หลังจากนั้นไม่นานครอบครัวก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 พี่ชายคนกลางได้ออกไปร่วมชุมนุมด้วย และเสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยเข้าไปเพียงร่วมชุมนุม ช่วยเขียนป้ายผ้า ตอนนั้นเขาอยู่ ป.6 ออกไปตามพี่แต่ก็ไม่เจอ จนมาเห็นหนังสือพิมพ์ลงชื่อผู้เสียชีวิต เมื่อตามไปดูศพที่โรงพยาบาลพบว่าสภาพศพแขนซ้ายฉีกเพราะถูกระเบิด และหัวใจถูก M16 ยิงสองนัด

เขากล่าวต่อว่าเมื่อมาถึงปัจจุบันพี่น้องหลายๆ คนที่เป็นศิษย์เก่าราชดำเนิน หลายคนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอีกครั้งทั้งฝั่งเหลือง และฝั่งแดง ซึ่งในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ยังเป็นเรื่องที่ยังต่อคิดกันต่อไปอีกครั้ง

สำหรับตัวเขาเองนอกจากจะเป็นญาติวีรชนแล้วก็ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้เข้าไปเป็นเลขาธิการ สนนท. ในปี 2544 ทำเรื่องประเด็นปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ทำกินในช่วงเวลานั้น โดยที่บ้านเข้าใจและไม่มีปัญหาอะไรกับการทำกิจกรรมทางการเมือง เพียงแต่เป็นห่วงเพราะเสียลูกชายไปแล้วหนึ่งคน แต่เขาเห็นว่าหากหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่เมืองไทยเองก็ยังประสบปัญหาอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและกำลังเกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับการสะสาง

สำหรับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาอธิบายว่า มีคนเสียชีวิต 34 คน และมีผู้สูญหายไปอีก 48 คน โดยที่ตอนแรกมีการหาข้อมูลได้ว่ามีผู้สูญหายหลายร้อยคน แต่กระทรวงมหาดไทยยอมรับว่ามีผู้สูญหายเพียงเท่านี้

“สมัยนั้นเข้าใจว่าทหารครองเมือง มีคำกล่าวด้วยซ้ำว่า จปร. ครองอำนาจ ตาข่ายฟ้าไม่มีวันทะลุ ไม่มีใครที่จะทำลายลงได้ แต่บทเรียนที่เราเห็นก็คือ พลังประชาชนโค่นล้มลงได้ในที่สุด” เมธา กล่าว

เขาให้ความเห็นต่อไปว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2534 มีความคล้ายคลึงกับการรัฐประหารในปี 2557 โดยมีการอ้างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ผู้มีอำนาจให้คำสัญญาว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนในเวลา 6 เดือน หรือภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น กลับมีความพยายามสืบทอดอำนาจต่อไปในร่างรัฐธรรมนูญ โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นก็เป็นคนเดียวกันกับที่ร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน โดยร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และให้อำนาจกับ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งอย่างมาก และเมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" เพื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น

เขาระบุว่า บทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ทำให้เกิดมติกระทรวงกลาโหมว่า ต่อไปการใช้กำลังทหารเพื่อออกมาปราบปรามการชุมนุมจะทำไม่ได้ เว้นแต่ผ่านมติจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น กล่าวคือก่อนหน้านั้นไม่จำเป็นต้องใช้มติคณะรัฐมนตรี ทหารก็สามารถออกมาปราบปรามการชุมนุมได้ แต่ถึงที่สุดเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาปี 53 ก็มีการขอกำลังทหารออกมาใช้ปราบปรามการชุมนุมอีกโดยรัฐบาลในเวลานั้น ซึ่งโดยบรรทัดฐานไม่ควรจะใช้ทหารในการปราบปรามการชุมนุม หรือเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย ทหารเป็นทหารการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทหารอาชีพ และมากไปกว่านั้นผู้มีอำนาจก็ประกาศใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้ผู้ต้องเป็นเหยื่อไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำได้

สำหรับกรณีพฤษภา 35 เขาระบุว่า ได้มีการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาโดยตลอด และได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่ามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมการกระทำดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีบรรทัดฐานการรับโทษจากการกระทำความผิด

เมธาเสนอด้วยว่า ต้องยกเลิกกฎหมายที่อำนาจพิเศษเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดกับการกระทำ พร้อมเรียกร้องอีกประการหนึ่งคือ ต้องการให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม โดยเฉพาะศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อที่จะเป็นสิ่งประกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิของประชาชนอีก สำหรับการให้ความเป็นธรรม เยียวยาเหยือผู้ได้รับผลกระทบ รัฐควรที่จะให้ความจริงใจกับกรณีดังกล่าว ทั้งเรื่องการเยียวยาค่าเสียหายที่เป็นบรรทัดฐานสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องคิด ไม่ใช่เพียงบอกว่าไม่มีกฎหมายรองรับ

พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ พ.ค.53 ที่วัดปทุมฯ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจการเมือง มีแต่ทำมาหากิน ไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำ และไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง

พะเยาว์เล่าว่า วันที่ไปรับศพลูกที่โรงพยาบาล ถามหมอว่าถูกยิงกี่นัด คุณหมอก็เงียบและก้มหน้า พอเงยหน้ามาตอบว่า สองนัด ช่วงนั้น พันเอกสรรเสริญ โฆษก ศอฉ. (ขณะนั้น) และพญ.คุณหญิงพรทิพย์ ก็นั่งแถลงว่าศพพยาบาลอาสาถูกยิงสองนัด พองานฌาปนกิจศพวันที่สอง มีเจ้าหน้าที่อาสาซึ่งเป็นคนเอาศพน้องออกมา เข้ามาหาที่งานศพ บอกว่าน้องไม่ได้ถูกยิงสองนัด พอเรียกสัปเหร่อมาเปิดดูศพถึงเห็นว่า เขาถูกยิงหลายนัดตั้งแต่เข่าขวาไล่ขึ้นมาถึงหลัง นั่นแปลว่าพันเอกสรรเสริญและพย.คุณหญิงพรทิพย์โกหก และเมื่อดีเอสไอเอาคดีไปทำ ก็รายงานว่า กมนเกดถูกยิง 5 นัด ใน 6 ศพที่วัดปทุมฯ กมนเกดถูกยิงมากกว่าเพื่อน

พะเยาว์กล่าวว่า เหตุที่ต้องออกมาต่อสู้ เพราะถูกกระทำโดยความไม่ยุติธรรม สู้ตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์ยังเป็นรัฐบาล เธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่

"ถ้าเราไม่สู้เลย จะเงียบไปใหญ่ ต่อให้ตายก็ไม่ขอเงียบ" เธอกล่าวและว่า จากที่เห็นวันนี้มั่นใจว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนจะไม่เงียบอีกต่อไปและต้องมีการเปิดเผยผู้กระทำผิดมาเรื่อยๆ

เธอตั้งคำถามด้วยว่า ถ้ามีชายชุดดำจริง รัฐบาลนี้ที่นำโดยทหาร ทำไมไม่เร่งคดี "ดิฉันก็อยากรู้ใครฆ่าทหาร ใครฆ่าประชาชน"

นอกจากนี้ พะเยาว์ กล่าวถึงกรณีการใช้ "ผังล้มเจ้า" เป็นหนึ่งในความชอบธรรมของการล้อมปราบของ ศอฉ. ซึ่งต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ออกมาแถลงว่า ผังล้มเจ้าไม่มีจริง แต่มีคนตายจริงแล้วเป็นร้อย ตั้งคำถามว่าใครจะรับผิดชอบ ตัวของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกองทัพที่เป็นผู้ปฏิบัติการต้องรับผิดชอบ

ด้าน รอมือละห์ แซเยะ ภรรยา มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ อดีตคนทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองเป็นคนทั่วไปๆ คนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันเพียงแค่การมีชีวิตในครอบครัวเล็กๆ ที่มีความสุข ซึ่งห่างไกลจากเรื่องการเมืองมาก แต่แล้วเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสามีของเธอกลับทำให้เธอมองเห็นความฝันของตัวเปลี่ยนแปลงไป

เธอเล่าว่า การต่อสู้เรียกร้องของคนมลายูต่อรัฐไทยมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพกับคนมลายู ให้คนใน 3 จังหวัดมีสิทธิเท่าเทียมกับคนในพื้นที่อื่นๆ

“เมื่อเข้ามาในธรรมศาสตร์ได้เห็นภาพต่างๆ จากนิทรรศการ มันไม่ได้ต่างจากบ้านเรา มันมีความเหมือนในความต่าง และก็มีความต่างในความเหมือน เราเห็นภาพสะท้อนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะภาพที่มีคนนอนราบอยู่ ภาพนั้นคล้ายตากใบมาก” รอมือละห์กล่าว และอธิบายต่อไปว่า เธอเติบโตมาในพื้นที่ 3 จังหวัด และเห็นเหตุการณ์มาโดยตลอดในช่วงที่เป็นนักศึกษาตั้งแต่ปี 2547 จนกระทั่งเหตุการณ์มาเกิดขึ้นกับสามีของเธอเอง ซึ่งตอนนั้นเขายังเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยตกเป็นผู้ต้องสงสัยอั้งยี่ซ่องโจร และก่อการร้าย

เธอเห็นว่าในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่าการทดลอง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากรัฐสงสัยใครก็มีอำนาจในการจับกุมทันที ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีการสร้างวาทกรรมโจรกระจอกขึ้นมา

“ปัญหามันอยู่ที่รากแก้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขมันที่รากได้ จนลามมาถึงยุคของเรา เราเองตอนนั้นยังเป็นนักศึกษา ปี 47 ก็เห็นคนถูกจับกุมไปมาก ทั้งคนที่เป็นพี่ เป็นลุง มีการอุ้มหาย มีการถูกยิง มีความสูญเสียมากมายที่เราไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งเราเองได้ไปเยี่ยมไปรับฟังปัญหา แต่ไปฟังทีไรก็ร้องไห้ทุกที จนกระทั่งโตมาและแต่งงาน ก็มาเกิดเรื่องขึ้นกับครอบครัวเราอีก มันทำให้รู้สึกว่า เสียงที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราตะโกนไปดังๆ พวกเขาไม่ได้ยินอะไรเลย” รอมือละห์ กล่าว

เธอกล่าวต่อว่า สามีเธอถูกซัดทอดว่าเป็นหนึ่งในขบวนการฯ ซึ่งพยานที่ซัดทอดไม่ได้มาขึ้นศาล และอันวา(สามี) ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษา ต่อมาได้ประกันตัวออกมาต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ โดยในที่สุดศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง แต่เมื่อมาถึงในชั้นศาลฎีกา อันวากลับถูกตัดสินจำคุกอีกครั้ง 

“วันที่ 1 พ.ค. 2556 เป็นวันที่ฝนตกหนักมากที่ศาลปัตตานี ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการพูดคุยเจรจาสันติภาพกัน และอันวาถูกซัดทอดว่าเป็นหนึ่งในขบวนการ BRN โดยมีพยานหลักฐานซัดทอดในชั้นตำรวจแต่ไม่มีพยานในชั้นศาล มีแต่เพียงการระบุว่ามีพยานเห็นอันวาพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ร้านน้ำชา จับต้องไม่ได้ เป็นการบอกเล่าแค่นั้น” รอมือละห์ กล่าว

สำหรับเรื่องมุมมองทางประวัติศาสตร์ เธอเห็นว่ารัฐควรจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด และไม่ควรเดินกลับมาหลุ่มเดิมเพื่อทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซ้อน ประวัติศาสตร์คือบทเรียน 6 ตุลา หรือเหตุการณ์อื่นๆ ไม่ควรที่จะกลับไปเดินในวังวนเดิมๆ อีก

“เราขอรำลึกถึงทุกการสูญเสีย และให้กำลังใจ พวกเราพร้อมตะโกนมานานแล้ว ได้ทดลอง พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว ได้ทดลองกฎอัยการศึกแล้ว แต่เราก็รู้สึกได้ว่าตะโกนอย่างไรก็เหมือนตะโกนในโอ่ง ดังนั้นเราต้องมีเพื่อน และเราไม่อยากให้เพื่อนต้องมาสัมผัสบรรยากาศเหมือน 12 ปีที่ผ่านมาของพวกเรา มันทรมาน” รอมือละห์ กล่าว พร้อมระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากการอ้างว่ารักชาติ รักสถาบัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำให้สิ่งเหล่านี้ล่มสลายไป โดยที่รากแก้วที่หยั่งลึกกำลังถูกกัดกร่อน และสิ่งเหล่านี้กำลังจะล่มในไม่นาน โดยที่คนมีอำนาจไม่รู้ตัวว่า มันเกิดขึ้นจากฝีมือของตัวเอง

“เมื่อสักครู่เดินมาจากสนาม สะดุดคำหนึ่งว่าไทยฆ่าไทย เราเห็นความเหมือนกัน มนุษยชาติฆ่ามนุษยชาติ ในพื้นที่เดียว เหมือนกับไทยฆ่ามลายู และมลายูฆ่าไทย มีมนุษยที่ไม่ได้มองเพื่อนอีกคนเป็นมนุษย์ เราเห็นศักดิ์ศรีมันหายไป อ๋อเธอเป็นมลายู เธอเป็นคนอื่นที่ไม่เหมือนตัวเอง ความเหมือนกันของกรุงเทพฯ กับในพื้นที่คือ การมองเห็นความเป็นมนุษย์มันหายไปจากจิตใจคนที่มีอำนาจ เราเชื่อว่าถูกคนมีความรัก มีความดี แต่เมื่อมีอำนาจครอบอยู่สิ่งเหล่านั้นมันหายไป”

พนสุข พูนสุขเจริญ ผู้จัดการฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งหลังรัฐประหาร 2557 สองวัน คนที่ถูกจับ เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ ทรมาน สูญหาย และไม่สามารถติดต่อญาติได้ จึงก่อตั้งศูนย์ขึ้น เพื่อรับประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

พูนสุข กล่าวว่า คสช.มีอำนาจตั้งแต่ออกกฎหมายผ่าน มาตรา 44 และ สนช. มีการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป มีคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 และกฎอัยการศึก เป็นเครื่องมือให้คนไม่กล้าแสดงออก ในชั้นตำรวจ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ทำให้ทหารเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนได้ ในชั้นอัยการ ส่วนหนึ่งเป็นอัยการทหาร และในชั้นศาลก็เป็นศาลทหาร แม้ก่อนหน้านี้จะมีการยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร แต่ยังมีอย่างน้อย 517 คดีในศาลทหาร

พูนสุข กล่าวว่า ศูนยทนายฯ เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "กระบวนการยุติธรรมลายพราง" เราเห็นความรุนแรงของรัฐมาตลอด และคิดว่าจะต้องไม่เงียบ ช่วยเหลือคดี บันทึกข้อมูล และให้ข้อมูลองค์กรสิทธิ เพื่อรับรู้สถานการณ์ในประเทศ

"สิ่งที่ประยุทธ์เคลมว่าไม่มีความรุนแรง ถ้ายังจำได้ หมอหยอง ปรากรม เสียชีวิตในเรือนจำชั่วคราวในค่ายทหาร แม้จะอ้างว่าตายจากการผูกคอ หรือติดเชื้อ แต่กระบวนการชันสูตรศพไม่โปร่งใส ญาติไม่ได้เข้าร่วม ไม่มีพิธีศพ" พูนสุขกล่าวและว่า สาเหตุการเสียชีวิตอาจจะจริงตามที่ว่าก็ได้ แต่อย่างไรกระบวนการต่างๆ ต้องโปร่งใส

"หนึ่งปีจากนี้จะไม่มีอะไรต่างจากเดิม ต่อให้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารยังรับรองโดยรัฐธรรมนูญที่เขาออกเอง นี่เป็นปัญหา" พูนสุขกล่าวและว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 6 ต.ค. พ.ค. 35 และ พ.ค. 53 ไม่เคยมีการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก หากมีการรับผิดจะยุติวงจรความรุนแรงเหล่านี้

หากจะทำให้การรับผิดชอบเกิดขึ้น เธอมองว่า ต้องมีการเรียกร้องทางการเมือง ทำข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจนและมีข้อเรียกร้อง ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้สังคมไม่เงียบ ที่เขาเงียบอาจเพราะไม่มีข้อมูลพอและหวาดหลัว ถ้าเรารับรู้เท่ากัน เห็นความทุกข์ร้อน การเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net