Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมชื่นชมคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร ปี 2557

แต่ผมคิดว่า การฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่อย่างเดียวมันคงไม่เพียงพอ นั่นเพราะคนรุ่นใหม่มันเป็นคำแปรผัน

สมมติว่าคนรุ่นใหม่คือเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี คนรุ่นใหม่ของพ.ศ.นี้ก็คือคนที่เกิดหลังปี 2534

แล้วถ้าเราย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หรือ ปี 2519 คนรุ่นใหม่สมัยนั้นก็คือคนที่เกิดหลังปี 2496

ฉะนั้นใครๆ ก็เป็นคนรุ่นใหม่ได้สักข่วงเวลาหนึ่งถ้าวัดจากปีเกิด

แล้วคนรุ่นใหม่สมัย ปี 2519 ทำให้ความหวังของสังคมเป็นจริงได้หรือไม่ ผมคิดว่า ทำได้แต่ไม่สำเร็จสมบูรณ์ เนื่องจากแม้จะมีการตระหนักถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่เข้าใกล้ยุคประชาธิปไตยสมบูรณ์มากกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

สิ่งที่พิสูจน์ว่าสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มีหลายอย่าง อาทิ การรัฐประหาร การเข่นฆ่าประชาชน การไม่รับฟังคนเห็นต่าง ฯลฯ เมื่อปี 2519 เป็นอย่างไร ผ่านมาแล้ว 40 ปีก็ยังเป็นก็อย่างนั้น เรายังพร้อมมอบความตายให้คนเห็นต่างเสมอหนำซ้ำการกระชับวงล้อมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ปี 2519 เสียอีก

นั่นหมายความว่า การเมืองไทยมันเคลื่อนเป็นวงกลม มีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพ มีการเข่นฆ่า มีการรัฐประหาร และ มีการปฏิรูป สลับกันไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะแสดงถึงฉันทามติของประชาชนเพียงใด (ไทยรักไทยได้ส.ส. 377 จาก 500 คน เมื่อปี 2548) แต่มันจะมีการรัฐประหารตามมาทำลายทุกครั้ง

ถ้ามองในแง่ของคุณภาพ ในส่วนของความต้องการสร้างสังคมใหม่ คนรุ่นใหม่เมื่อ 40 ปีที่แล้วคงมีความก้าวหน้าไม่น้อยไปกว่าคนรุ่นใหม่ในสมัยนี้เพราะคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยจากสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ต้องเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าอย่างยิ่ง

อีกทั้งถ้าพิจารณาจากการลงประชามติร่างรธน. ระหว่างปี 2550 กับปี 2559 พบว่า ในปี 2559 มีผู้มาลงมติรับร่างรธน. ร้อยละ 61 ไม่รับร้อยละ 38 ส่วนปี 2559 มีผู้รับร้อยละ 57 ไม่รับร้อยละ 42 นั่นเท่ากับว่า ในเวลาต่างกัน 9 ปีมีผู้รับร่างรธน.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 และ ทั้งสองครั้งมีผู้รับมากกว่าไม่รับ

จริงอยู่แม้การรณรงค์ทั้งสองครั้งจะถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐที่ต้องการให้รธน.ผ่าน แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะไม่ว่าการรณรงค์จะเอนเอียงเพียงใด ถ้าประชาชนมีจิตสำนึกประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นในช่วง 7 ปีที่มีการเลือกตั้ง ( 2550-2557) พวกเค้าก็จะต้องออกไปคว่ำร่างรธน.ที่มาจากการรัฐประหารโดยอัตโนมัติ

ฉะนั้นมันจึงต้องมีปัจจัยสู่ความสำเร็จมากกว่าความเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มคนสาว ซึ่งต้องช่วยกันคิดว่าอะไรคือปัจจัยนั้น และ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่มันคงไม่ใช่การมอบหมายภารกิจให้คนที่อายุไม่เกิน 25 ปีในปี 2559 ไปสานต่อเองเป็นแน่

อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีเฉพาะคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่คนที่อยู่ในฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน  เช่น ทหารที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ก็ต้องเป็นคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2519 เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั่นคือนักเรียนนายร้อยจปร.รุ่น 23 ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ นักเรียนนายร้อยในปีนี้ก็มีโอกาสรัฐประหารในอีก 30 ปีข้างหน้า

การปล่อยให้คนรุ่นใหม่ไปขับเคลื่อนสังคมในอีกมุมหนึ่งก็คือการปล่อยให้พวกเค้าไปเผชิญกับนักอนุรักษ์นิยมรุ่นใหม่ด้วย

แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าคนรุ่นใหม่รุ่นไหนที่จะทำให้ภารกิจสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ประสบความสำเร็จ แต่ทุกอย่างก็หยุดนิ่งไม่ได้ ถ้าคนพ.ศ.นี้ยังทำไม่สำเร็จคนพ.ศ.ต่อไปก็ต้องเข้ามารับไม้ต่อ

จนกว่าคนไทยจะเท่าเทียมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net