Skip to main content
sharethis
เครือข่าย Thai-PAN ยื่นรายงานผลตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ถึงกรมวิชาการเกษตร-อย.-มกอช.-กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) หลังพบผักผลไม้เกินครึ่งหนึ่งในท้องตลาดมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งแบรนด์เกษตรอินทรีย์-อาหารปลอดภัย จี้ตรวจสอบที่มาสารพิษต้องห้าม 4 ชนิด ยังถูกใช้ทางการเกษตร
 
 
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ประกอบด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เข้ายื่นรายงานผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ฉบับสมบูรณ์ ถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันปัญหาผักผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างในท้องตลาดเกินค่ามาตรฐาน
 
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เข้ายื่นหนังสือยังสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) “ยังมีการลักลอบใช้สารเคมีที่ไม่ได้รับการอนุญาตมาใช้ในการเกษตรทำให้เกิดสารพิษตกค้างในผักผลไม้ในท้องตลาดรวมถึงสินค้าที่ใช้ตราสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์หรือกลุ่มอาหารปลอดภัย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรตรวจสอบโดยการสืบค้นย้อนกลับเพื่อให้ทราบผู้ครอบครองหรือจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้แนบรายละเอียดของตัวอย่างสินค้า สำเนาฉลากสินค้า สำเนาใบสำคัญรับเงิน และสำเนาใบรายงานผลวิเคราะห์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยทางเครือข่ายจะร่วมกันติดตามเพื่อร่วมแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าว
 
ผอ.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร อย.ได้กล่าวหลังจากได้รับรายงานฉบับสมบูรณ์ว่า เรามีการตรวจสอบ ตาม พรบ.อาหารอย่างสม่ำเสมอหลายตัวอย่าง และทางสำนักอาหารจะดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน
 
ข้อมูลรายงานการตรวจได้ถูกส่งไปยัง พ.ต.อ.ทรงโปรด สิริสุขะ ผู้กำกับการภาค 4 บก.ปคบ. ด้วยเช่นกัน ได้กล่าวว่า เราติดตามข้อมูลปัญหาเรื่องนี้มาตลอด และยินดีนำข้อมูลรายละเอียดมาวิเคราะห์และสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการตกค้างต่อไป
 
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รอง ผอ.มูลนิธิชีววิถี ได้ยื่นหนังสือยังอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และกล่าวว่า ควรปฏิรูปการควบคุม การรับรองและการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อตรวจสอบไปแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง และสิ่งที่น่ากังวล คือ ผลการตรวจเราพบว่า พบวัตถุอันตราย  4 ชนิด ที่ถูกยกเลิกการใช้ และ 2 ชนิดยังไม่ให้ขึ้นทะเบียนในกลุ่มตัวอย่างด้วยเช่นกัน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net