Skip to main content
sharethis

แจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา นำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอด ACD ซึ่งจัดที่กรุงเทพฯ โดยเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากโลกาภิวัฒน์ แต่เป็นเพราะโลกาภิวัฒน์ยังไม่สมบูรณ์พอ จึงต้องทำให้โลกาภิวัฒน์นับรวมทุกคนมากกว่านี้ และต้องช่วยเหลือคนรุ่นใหม่และธุรกิจขนาดเล็ก ชี้อินเทอร์เน็ตจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตอีกขนานใหญ่

นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายแจ็ค หม่า ประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อ 10 ตุลาคม 2559 (เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ได้นำเสนอผลการประชุม ACD Connect Business Forum 2016 ของภาคเอกชนที่เพิ่งจบลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ต่อที่ประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่วิดีโอผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

การนำเสนอผลการประชุม ACD ภาคธุรกิจโดยแจ็ค หม่า ในที่ประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 (เฟซบุ๊ก/วิทยุสราญรมย์)

 

แจ็ค หม่า เริ่มต้นกล่าวว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม ACD และโดยจะขอแสดงแนวคิดที่เกี่ยวกับธุรกิจเอสเอ็มอี และคนรุ่นใหม่

"เมื่อเรามองมาที่เศรษฐกิจของเอเชีย ทุกคนพูดว่าภาคเศรษฐกิจของโลกกำลังมีปัญหาใหญ่ แต่ผมคิดว่าประเทศที่ร่วมประชุม ACD มีประชากรเป็นร้อยละ 60 ของประชากรโลก ในปีที่ผ่านมาประเทศจำนวนมากในเอเชียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 7 จนถึงร้อยละ 8 แสดงว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก กำลังเผชิญกับความท้าทาย และไม่เคยหยุดที่จะหาทางแก้ปัญหา

โดยส่วนตัวผมค่อนข้างมั่นใจในอนาคตของเศรษฐกิจโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ ผู้คนมักกล่าวโทษไปที่โลกาภิวัฒน์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับพวกเขา ไม่ได้เป็นเพราะโลกาภิวัฒน์ แต่เป็นเพราะว่าขณะนี้โลกาภิวัฒน์ยังไม่สมบูรณ์ เราต้องทำให้โลกาภิวัฒน์เป็นไปอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อธุรกิจขนาดเล็กและคนรุ่นใหม่ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา โลกาภิวัฒน์เกิดขึ้นเพื่อเหลือธุรกิจขนาดใหญ่และประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น

 
และเราควรทำให้โลกาภิวัฒน์นับรวมทุกคนมากกว่านี้ ทำให้ช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เราจึงมีโอกาสมากมายที่จะได้เผชิญหน้ากับความท้าทาย
 
เมื่อหลายพันปีก่อน หรือหลายร้อยปีก่อน การค้าโลกอยู่กับกษัตริย์และจักรพรรดิไม่กี่ราย แต่ในรอบ 30 ปีมานี้ การค้าโลกอยู่ในการควบคุมของบริษัทขนาดใหญ่ 6 หมื่นบริษัท จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำให้บริษัทขนาดเล็กอีก 1 แสนบริษัทเข้ามาร่วมได้ และถ้าเราทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่า หลังปี ค.ศ. 2020 "จิ๋วแต่แจ๋ว" "จิ๋วคืออำนาจ" เราต้องให้ธุรกิจขนาดเล็กได้รับโอกาสมากกว่านี้ เราต้องให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับโอกาสมากกว่านี้ เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับโอกาสมากกว่านี้
 
มีธุรกิจขนาดใหญ่ 20% มีประเทศพัฒนาแล้ว 20% ได้รับประโยชน์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำให้ธุรกิจอีก 80% และประเทศอีก 80% ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้โอกาสมากกว่านี้ ในสิ่งที่ผมเรียกว่าเส้นทางสายไหม (Silk road) เมื่อหนึ่งพันปีก่อน ซึ่งจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสร้างเส้นทางสายอิเล็กทรอนิกส์ (E-road) ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก ค้าขายง่ายขึ้น ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทำให้พวกเขาได้งานทำง่ายขึ้น
 
สำหรับในอนาคต ผมคิดว่าการปฏิวัติของทุกๆ เทคโนโลยีเกิดขึ้นใช้เวลา 50 ปี โดย 20 ปีแรกเป็นเรื่องความรู้เชิงเทคโนโลยี (Tech-Knowledge) และ 30 ปีหลังเป็นการแปลงผลจากความรู้เชิงเทคโนโลยีนั้น
 
อย่างการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตเพิ่งผ่านไป 20 ปีแรก และในช่วง 30 ปี หลังจากนี้จะยิ่งเป็นช่วงที่สำคัญ จะมีการค้าปลีกแบบใหม่ที่ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมโยงกัน เราจะมีระบบประกอบการแบบใหม่ ที่เรียกว่า IoT หรือ internet of things มีระบบการเงินแบบใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐานซึ่งจะครอบคลุมมากขึ้น เราจะมีเรื่องความรู้เชิงเทคโนโลยีใหม่ๆ และทรัพยากรรูปแบบใหม่ๆ อีก
 
ในรอบ 30 ปีหลังถือว่ามีความสำคัญกับทุกประเทศในกลุ่มประเทศ ACD ในยุคไอที เดิมทีเราอาจจะตามหลังประเทศตะวันตก แต่ปัจจุบันนี้ อย่างเช่น ประเทศจีน เราใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น เราได้รับโอกาสที่ดีที่จะเป็นอย่างก้าวกระโดด อย่างธุรกิจ "อี คอมเมิร์ช" เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ไม่มีใครเชื่อว่าประเทศจีนจะทำได้ดี ปัจจัยหนึ่งก็คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อให้กับการค้านั้นแย่มาก ในสหรัฐอเมริกา "อี คอมเมิร์ช" นั้นเหมือนขนมหวาน แต่ของจีน "อี คอมเมิร์ช" กลายเป็นอาหารจานหลัก
 
เหตุผลคือ สหรัฐอเมริกามีห้างอย่างวอลมาร์ท หรือ kmart เกือบทุกเมือง แต่เมืองจีนไม่มีห้างแบบนี้ ในอดีตทั้งชาวนาและร้านค้าก็หาอินเทอร์เน็ตใช้ยาก แต่ปัจจุบันเราใช้อินเทอร์เน็ตจากมือถือ เมื่อเราใช้มือถือเราสามารถเชื่อมต่อกับคนได้ 4 พันล้านคน และพวกเขาสามารถทำการค้าได้ทุกที่ ทำธุรกิจได้ทุกที่
 
ไฟฟ้าถูกประดิษฐ์ในยุโรป และได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ส่วนอินเทอร์เน็ตประดิษฐ์ในสหรัฐอเมริกา แต่ผมเชื่อว่าเอเชียสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ และในอีก 30 ปีข้างหน้า ถ้าเราสามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง สิ่งนี้จะช่วยทำให้เอเชียดีขึ้น
 
เราจะทำอย่างไรให้เอเชียเชื่อมโยงกับอนาคต เราเชื่อเรื่อง "จิ๋วแต่แจ๋ว" "จิ๋วคืออำนาจ" และ "จิ๋วนั้นยอดไปเลย" ในยุคอุตสาหกรรม ทุกคนพูดถึงการมีทักษะ การทำให้เป็นมาตรฐาน
 
แต่ในยุคไอที ในยุคของข้อมูลข่าวสาร เราพูดถึงการตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะตัว ในยุคนี้เราพูดว่าเราจะตอบสนองประโยชน์ของผู้อื่นได้อย่างไร เราสามารถทำให้ความต้องการของผู้อื่นเป็นไปได้ ได้อย่างไร ดังนั้นในยุคของข้อมูลข่าวสารเราไม่ได้แข่งกันด้วยกล้ามเนื้อ เราแข่งกันด้วยภูมิปัญญาและหัวสมอง
 
ดังนั้นในยุคข้อมูลข่าวสาร สิ่งเล็กๆ ก็สามารถมีอำนาจได้เช่นกัน ถ้าเราสามารถไขว่คว้าหาโอกาสได้
 
ดังนั้นในอนาคต จะไม่สำคัญอีกแล้วว่าประเทศของเราจะเล็กแค่ไหน ไม่สำคัญอีกแล้วว่าธุรกิจของเราจะเล็กขนาดไหน ถ้าคุณมีหัวใจที่ใหญ่ จิตใจเปิดกว้าง ถ้าคุณสมาทานความรู้เชิงเทคโนโลยี และโลกาภิวัฒน์ที่เข้าถึงทุกคน คุณก็สามารถทรงอำนาจได้
 
เรื่องของการมีงานทำ เรามักได้ยินว่า ความรู้เชิงเทคโนโลยีจะทำให้คนตกงาน แต่ผมไม่เห็นด้วยเลย ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดแหล่งงานเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่าความรู้เชิงเทคโนโลยีจะมาทำลายการจ้างงาน คิดแบบนี้นั้นล้าหลัง เป็นความคิดในอดีต
 
อย่างบริษัท อาลีบาบา สามารถสร้างงานได้ 13 ล้านตำแหน่งในประเทศจีน และเราเชื่อว่าถ้าเราทำเช่นนั้นได้ในประเทศจีน ทำไมเราจะไม่สามารถทำได้ในพื้นที่อื่นของโลกล่ะ หรือทำในพื้นที่อื่นของเอเชีย
 
ผลงานหนึ่งของเอเชียก็คือ การต่อสู้กับความยากจน และสู้เพื่อความเท่าเทียม ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเอเชียไม่เพียงแต่เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเท่านั้น แต่เอเชียยังเป็นทวีปที่แก้ไขปัญหาความยากจนได้ดีที่สุดอีกด้วย
 
ตัวอย่างเช่น เมืองไทย และเมืองจีน ใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี ทำให้ประชากรเกินครึ่งพ้นฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจน ปัจจุบันอัตราว่างงานของไทยต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
 
ผมเองยังเคารพ มูฮัมหมัด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ที่ใช้เวลา 40 ปีเพื่อทำให้คนจนสามารถเข้าถึงสินเชื่อ
 
และสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและคนรุ่นใหม่ ทุกรัฐบาลพูดว่าเราให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็กและคนรุ่นใหม่ แต่ทุกรัฐบาลไม่ได้รู้ว่าจะต้องช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและคนรุ่นใหม่อย่างไร และเราเชื่อว่าต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ทำเหมือนกับเราสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่เมื่อ 30 ปีก่อน และเราควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับระบบธุรกรรมการเงินด้วย เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็ก และช่วยคนรุ่นใหม่ ทำเหมือนกับสิ่งที่เราทำเมื่อ 30 ปีก่อนให้กับบริษัทขนาดใหญ่
 
เรื่องของธุรกรรมการเงิน ในทวีปเอเชียเรามีหลายประเทศที่เป็นหมู่เกาะ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือบางประเทศก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นี่จึงเป็นโอกาสอันดี สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ความรู้เชิงเทคโนโลยีแบบเคลื่อนที่ (Mobile Tech-knowledge) ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ เราสามารถเชื่อมต่อกับคน 4 พันล้านคน ด้วยการใช้อภิมหาข้อมูล (Big Data) เราสามารถใช้สิ่งนี้แก้ไขปัญหาที่เราไม่เคยจินตนาการได้มาก่อน
 

สำหรับเทคโนโลยีกับเรื่องธุรกรรม ในกรณีของบริษัทเรา เราช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับบริษัทขนาดเล็กกว่า 3 ล้านแห่ง คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และสิ่งที่มีอำนาจกว่านั้นคือเราใช้อินเทอร์เน็ต เราใช้ Big Data เราให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดเล็กใช้เวลา 3 นาทีเท่านั้นในการขออนุมัติสินเชื่อ แล้วเราก็ใช้เวลาตัดสินใจว่าจะให้สินเชื่อคุณหรือไม่ ใช้เวลาเพียง 1 วินาที เงินก็เข้าบัญชีคุณแล้ว นี่คือสิ่งที่ความรู้เชิงเทคโนโลยีทำได้

และเมื่อ 20 ปีก่อน เราทำให้คนเป็นเหมือนเครื่องจักร และอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะทำให้เครื่องจักรเป็นเหมือนคน เครื่องจักรจะฉลาดขึ้น เครื่องจักรจะไม่ใช่อุปกรณ์ เครื่องจักรจะเป็นเพื่อนร่วมงานของมนุษย์ ถ้าเราสามารถใช้งานมันได้ดีขึ้น

และผมยังมีข้อเสนอต่อทุกรัฐบาลที่ควรจะมีนโยบายสำหรับ 30 ปีข้างหน้านี้ เพราะความรู้เชิงเทคโนโลยีกำลังจะทำให้งานจำนวนมากหายไป และจะทำให้งานจำนวนมากเกิดขึ้นเช่นกัน ผมเสนออย่างแข็งขัน ที่ทุกรัฐบาลควรจะมีนโนบายเพื่อคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้อายุน้อยกว่า 20 ปี ผมเสนออย่างแข็งขัน ที่ทุกรัฐบาลควรมีนโยบายเพื่อธุรกิจที่มีขนาดเล็ก ที่มีพนักงานน้อยกว่า 30 คน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เพื่อให้บริษัทขนาดเล็กเหล่านั้น เราควรมีนโยบายเฉพาะเจาะจงเพื่อพวกเขา แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะสร้างอนาคตที่สวยงามให้กับพวกเรา

ผมเชื่อว่าในอนาคต ความรู้เชิงเทคโนโลยีใหม่ๆ จะกลายเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาว เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และเราก็ควรจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของพวกเรา เราต้องคิดว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความรู้เท่านั้น การศึกษาจะเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรม และจินตนาการ เราต้องการให้คนรุ่นใหม่ สอนพวกเขา ทำอย่างไรให้มีจินตาการมากกว่านี้ สร้างสรรค์กว่านี้ ซึ่งจะทำให้ทวีปเอเชียไม่เพียงแต่จะมีบทบาทนำทางเศรษฐกิจ แต่จะมีบทบาทนำให้กับโลกทางวัฒนธรรมด้วย

โลกตะวันตกขับเคลื่อนด้วยความรู้ ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ สำหรับโลกตะวันออกเราขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญา เราขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ เราเชื่อว่าโลกตะวันตกขับเคลื่อนด้วยการแข่งขัน คุณมีความสุขไหมที่จะต่อสู้กันเอง แต่สำหรับโลกตะวันออก เรามีวัฒนธรรมความอดทนอดกลั้น และมีวัฒนธรรมที่นับรวมทุกคน เราหวังว่าโลกจะมีความอดทนอดกลั้นมากกว่านี้ นับรวมทุกคนมากกว่านี้

ในเรื่องของการพัฒนา เดิมโลกตะวันออกก็เรียนรู้การพัฒนาจากตะวันตกฝ่ายเดียว แต่เราเชื่อว่าสำหรับวัฒนธรรมของเอเชีย เราไม่เพียงเรียนรู้อย่างมากจากตะวันตก ตะวันตกก็สามารถเรียนรู้อย่างมากจากเราได้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากประเทศไทย ที่มีวัฒนธรรมแบบพุทธ

ทวีปเอเชียไม่ใช่เพียงแค่ทวีปที่มีการเจริญเติบโตดีที่สุดในโลก แต่เป็นทวีปที่มีการแก้ปัญหาทางการเมืองได้ดีที่สุดในโลก เราพบว่าชาวตะวันตกที่ทำงานในเอเชียยาวนานพวกเขาจะยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้น

กรุงเทพมหานครมีองค์ประกอบที่สวยงามระหว่างตะวันตก กับตะวันออก ผมเชื่อว่าในอนาคตจะไม่ใช่เรื่องของ "ปีกตะวันตก" หรือ "ปีกตะวันออก" จะไม่ใช่เรื่องของ "ฝ่ายเทคโนโลยีไฮเทค" หรือ "ฝ่ายเทคโนโลยีโลเทค" แต่จะเป็นคนที่มีองค์ประกอบของความรู้เชิงเทคโนโลยี กับสิ่งที่ไม่ใช่เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่สามารถรวมทั้งตะวันตกและตะวันออกจะเป็นผู้ชนะ ผมมีความมั่นใจอยู่ว่าจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องใครทำเรื่องนี้ได้ก่อน แต่เป็นคนที่ทำเรื่องนี้ด้วยความรู้เชิงเทคโนโลยี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน" แจ็ค หม่า กล่าวในที่สุด

โดยหลังจบการนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวขอบคุณที่นายแจ็ค หม่า ที่ได้บอกเล่าประสบการณ์การทำงานกว่า 30 ปีภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ถือเป็นโอกาสของ ACD ที่จะนำประสบการณ์ดังกล่าวไปขับเคลื่อนด้วยแนวคิดและวิสัยทัศน์ ซึ่งสิ่งที่แจ็ค หม่าสร้างขึ้นมานั้นมาจากจินตนาการในอดีตจนเกิดเป็นประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งเป็นถือเป็นประโยชน์ที่ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อมวลมนุษยชาติของคนทุกประเทศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net