วิษณุชี้แจงขั้นตอนสืบราชสันตติวงศ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นองค์รัชทายาท

รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ชี้แจงขั้นตอนสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญ มีการสถาปนาพระรัชทายาทแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รัฐบาลยึดถือพระราชปรารภขอทำพระทัยร่วมกับประชาชน รอเวลาเหมาะสม จึงดำเนินการเรื่องสืบราชสันตติวงศ์ พร้อมชี้แจง ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน เป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ

14 ต.ค. 2559 เวลาประมาณ 21.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ชี้แจงขั้นตอนการสืบราชสันตติวงศ์ โดยกล่าวว่า เมื่อสิ้นรัชกาลหรือราชบัลลังก์ว่างลง สิ่งที่ตามมาทุกครั้งมี 2 เรื่อง หนึ่ง เรื่องการเตรียมการเกี่ยวกับพระบรมศพ ซึ่งมีกำหนด มีขั้นตอนต่างๆ ยาวเรื่อยไป จนถึงการสร้างพระเมรุ และการถวายพระเพลิง อีกเรื่องหนึ่งคือการสืบราชสันตติวงศ์ หรือการสืบราชสมบัติ ถ้าจะเอาเรื่องการสืบราชสมบัติมาชี้แจงก็เป็นการดี เพราะว่าความจริงเรื่องนี้ไม่มีอะไรปิดบังอำพราง หากเปิดกฎหมาย เปิดรัฐธรรมนูญ เปิดกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ก็จะได้คำตอบทั้งหมด ในเวลาที่ผ่านมา วันสองวันมานี้ ทางราชการติดงานบ้านงานเมืองหลายอย่าง ก็ขออภัยที่ไม่มีใครออกมาชี้แจง จึงเป็นเหตุให้มีข่าวลือข่าวลวงจินตาการไปต่างๆ นานา ทั้งประสงค์ดีประสงค์ร้ายก็ตาม ก็จับแพะชนแกะ ยืดยาวออกไป จึงขออนุญาตชี้แจงเมื่อได้สอบถาม

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ที่มา: โทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

การสืบราชสันตติวงศ์หรือการสืบราชสมบัติเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการสิ้นแผ่นดิน เรื่องอย่างนี้ต้องดูในกฎหมาย 2 ฉบับ หนึ่ง คือรัฐธรรมนูญ สองคือ กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ที่ตราไว้ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก็นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญเรื่อยมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงทุกวันนี้ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติที่จะใช้ต่อไปนี้ เป็นกฎเกณฑ์เดียวกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ผ่านรัฐธรรมนูญต่างๆ มาแล้วจนถึง 3 ฉบับ ผ่านระยะเวลามาแล้ว 25 ปี อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ก่อนนั้นอาจจะเป็นอย่างอื่น และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็ววันนี้ ก็มีข้อความเหมือนกับที่เขียนไว้เมื่อ 25 ปีก่อนทุกประการ จึงเป็นแบบอย่างเดียวกันทั้งหมด

และเมื่อนำเอากฎเกณฑ์นี้ไปเทียบกับกฎมณเฑียรบาล ก็จะปรากฏหลักดังต่อไปนี้ ประการแรก เมื่อรัชบัลลังก์ว่างลง สิ่งที่จะต้องดูก็คือ ได้เคยมีการสถาปนาพระรัชทายาทเอาไว้ก่อนหรือไม่ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Crown Prince ภาษาโบราณเคยเรียกสมเด็จหน่อพุทธเจ้า เคยเรียกสมเด็จพระยุพราช แต่ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า พระรัชทายาท รัฐธรรมนูญก็บอกว่าให้ดูว่ามีการสถาปนาหรือแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ก่อนแล้วหรือไม่ ถ้าไม่เคยมีการตั้งพระรัชทายาทไว้ก่อน จะมีวิธีปฏิบัติในการสืบราชสมบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องพูดให้สับสน เพราะมาถึงบัดนี้ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระรัชทายาทไว้แล้ว และไม่ได้เพิ่งมาสถาปนาใน 5 วัน 10 วัน หรือว่า 5 ปี 10 ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาไว้ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งครั้งนั้นก็ได้มีพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หากแม้ไม่มีการสถาปนา ท่านก็เป็นรัชทายาทอยู่แล้วตามกฎมณเฑียรบาล แต่เพื่อให้เกิดความถนัดชัดเจนขึ้นดังนั้นในปี พ.ศ. 2515 จึงโปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาตามโบราณประเพณี ประกอบพิธีที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทูตานุทูตมากมายมาเป็นประจักษ์พยาน และมีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร และในประกาศระบุชัดว่าทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล ก็เป็นอันว่ามีการสถาปนาไว้แล้ว

รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดเอาไว้ว่า เมื่อสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้วดังนี้ หากราชบังลังก์ว่างลงให้คณะรัฐมนตรีแจ้งไปยังรัฐสภา ว่าได้มีการสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้วหรือไม่ นั่นเป็นขั้นตอนที่ 1

เมื่อประธานรัฐสภาได้รับแจ้งจากรัฐบาล ก็ต้องเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อแจ้งให้ทราบว่าได้มีการสถาปนาพระรัชทายาทเอาไว้แล้ว รัฐสภาคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติรับทราบว่ามีการสถาปนาพระรัชทายาทไว้อย่างนั้น เมื่อมีมติรับทราบแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา คือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะต้องขอประธานอัญเชิญให้สมเด็จพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงรับก็จะมีการออกประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่าบัดนี้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว ซึ่งก็จะเรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาษาอังกฤษอาจจะเรียกเต็มว่า His Majesty the King แต่จะยังไม่ออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น ท่านก็ทรงรับราชสมบัติอย่างนี้เมื่อปี พ.ศ. 2489 เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2493 จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บัดนั้นจึงทรงเปลี่ยนเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเต็มตามพระราชอิสริยยศ กระบวนการก็มีแค่นี้ แต่อาจจะทำให้เกิดปัญหาว่าแล้วเราได้ดำเนินการอะไรกันอย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่มีเงื่อนเวลา ว่าจะต้องทำเร็วหรือช้าประการใด แต่ทำเร็วได้ก็เป็นการดี ซึ่งก็ไม่มีอะไรจะอึมครึง หรือความลังเลสงสัยใดๆ อีกเป็นอย่างอื่น

นายกรัฐมนตรีมีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อคืนวันที่ 13 ตุลาคม ดังที่นายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระราชปรารภมาแจ้งคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้เปิดประชุมเมื่อเวลา 20.00 น. ในคืนเดียวกันนั้นเอง และนายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมทราบ และแจ้งให้ประชาชนทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้น มีพระราชปรารภว่า ขณะนี้ทรงทราบว่า ประชาชนชาวไทยอยู่ระหว่างการวิปโยค ทุกข์โศก พระองค์เองก็ทรงสลดพระราชหฤทัยเช่นกัน และทรงมีความรู้สึก ความผูกพัน ร่วมกับประชาชนทั้งหลาย เวลานี้เป็นช่วงที่คนไทยทั้งชาติร่วมกันทำใจ พระองค์ท่านเองก็ทำใจร่วมกับประชาชน เพราะฉะนั้นกิจบ้านการเมืองอย่างอื่นนั้น ถ้าหากว่ายังไม่จำเป็นเร่งด่วน รอได้ ก็ขอให้รอไว้ก่อน วันนี้ทำเรื่องการพระบรมศพให้ลุล่วงไปสักระดับหนึ่งก่อน เพราะว่าในขณะที่ได้มีพระราชปรารภนั้น อย่าลืมว่ายังเป็นเวลาที่พระบรมศพอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ยังไม่ได้มีการเชิญพระบรมศพมายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ยังไม่ได้มีการสรงน้ำพระบรมศพ ยังไม่ได้มีการประกอบพระบรมโกศ ยังไม่ได้มีการกระทำพิธีใดๆ ที่จำเป็นในเบื้องต้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีพระราชปรารถนาที่จะดำเนินการในเรื่องอย่างนี้ หากรัฐบาลรอไว้ก่อนได้สักระยะหนึ่ง ก็จะเหมาะสมกับบรรยากาศ กับสภาพ กับบ้านเมือง กับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนและพระองค์ท่านเอง ซึ่งรัฐบาลก็รับเรื่องนี้สนองใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลยังไม่เสนอเรื่อง หรือแจ้งไปยังท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อไม่ได้มีเรื่องแจ้งไป ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ยังไม่มีเหตุต้องประชุมเพื่อมีมติรับทราบ การที่จะอัญเชิญขึ้นครองราชย์ หรือการที่จะประกาศการมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่ขอรอระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จะได้มีการดำเนินการต่อไป โดยไม่มีข้อลังเลสงสัยอย่างใดว่าจะมีการปฏิบัติเป็นอย่างอื่นใดๆ ทั้งสิ้น

วิษณุ ยังกล่าวด้วยว่า ประธานองคมนตรีได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน และจะต้องมีการคัดเลือกประธานองคมนตรีคนใหม่ เนื่องจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีไปพร้อมกันไม่ได้

ในการออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ นายวิษณุอธิบายขั้นตอนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่าเกิดได้ 2 กรณี คือโดยการแต่งตั้ง และโดยการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งในกรณีนี้จะไม่มีการแต่งตั้ง ไม่มีการประกาศ ไม่มีการประกาศสถาปนา เพราะเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วว่าให้เป็นโดยตำแหน่ง

“เวลานี้ ที่จริงก็อาจไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เนื่องจากว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมีพระมหากรุณาทรงพระราชปรารภมาอย่างนั้น รัฐบาลก็ต้องรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ต้องเกิดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทรกเข้ามา เพื่อที่จะไม่ให้ทุกอย่างว่างเว้นลง เพราะอาจมีกิจบ้านการเมืองที่ต้องมีการปฏิบัติในช่วงเวลานั้น ถ้าไม่มีก็แล้วไป แต่เผื่อจะต้องมี รัฐธรรมนูญนั้นรอบคอบเพราะเขียนหลักเกณฑ์นี้ไว้ตั้งแต่ปี 2534 และใช้จนบัดนี้ 25 ปี และจะใช้ต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับหน้า ซึ่งเขียนเหมือนกันทุกถ้อยกระทงความว่า ในกรณีที่ยังไม่มีการสถาปนาหรือตั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน โปรดสังเกตว่าเขาใช้คำติดกันว่า “เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน”

ที่ต้องใช้อย่างนี้เพราะว่า อาจจะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกอย่างหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้ง อย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น เมื่อคราวเสด็จออกทรงผนวช ก็สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือในช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ บางครั้งก็ทรงตั้งสมเด็จพระราชชนนีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บางครั้งก็เป็นประธานองมนตรี กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (หมายถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ในครั้งนั้นก็ไม่มีการเรียกว่า “เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน” และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างนั้นต้องไปปฏิญาณตนในรัฐสภา

แต่ในกรณีที่จะต้องมี “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน” นั้นเป็นความตั้งใจของรัฐธรรมนูญว่า เพื่อไม่ให้เกิดการว่างเว้น และบางทีอาจเกิดเหตุที่ไม่สามารถตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ หรือยังไม่อาจมีกรณีที่จะมีการประกาศพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ ก็จำเป็นเพื่อไม่ให้ว่างเว้นลงแม้แต่นาทีเดียว จึงได้กำหนดเอาไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่ได้มีการประกาศว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่นั้นเป็นใครอย่างไร ซึ่งที่จริงปัญหาและคำตอบมีชัดอยู่แล้ว แต่จังหวะอย่างนี้จะกี่วันก็ตามที เพื่อไม่ให้ขาดตอนลง ประธานองคมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน” ซึ่งรัฐธรรมนูญก็รอบคอบเขียนต่อไปว่า ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้ จะไปปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีพร้อมกันไม่ได้ คณะองคมนตรีต้องมีการเลือกองคมนตรีท่านใดท่านหนึ่งขึ้นปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี เพื่อให้งานขององคมนตรีแยกจากงานของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะไม่ใช้เวลายาวนานหรอกครับ ไปถึงจังหวะหนึ่งก็จะกลับมาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ (หมายถึง รัฐธรรมนูญ 2550) มาตรา 23 และ 24 ต่อไป

เมื่อถามว่าต้องประกาศต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ วิษณุตอบว่า ไม่ต้องประกาศ เพราะเหตุว่า การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ไม่ได้เกิดจากการแต่งตั้ง ไม่ได้เกิดจากการสถาปนา ไม่ได้เกิดจากการที่ว่ายอมเป็นหรือไม่ยอมเป็น รับหรือไม่รับ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญกำหนดโดยตำแหน่ง ใครเป็นประธานองคมนตรีก็จะต้องเป็นอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมีการประกาศสถาปนา ไม่ต้องมีการแต่งตั้ง ไม่ต้องแม้แต่ไปปฏิญาณตนต่อรัฐสภา สามารถปฏิบัติทันที เผื่อจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน ที่จะต้องทำในระหว่างเวลาที่ยังไม่มีการประกาศการมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ต้องเกิดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ต่อคำถามว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองในอนาคตอย่างไร วิษณุ ตอบว่านายกรัฐมนตรีได้ประกาศสิ่งที่เรียกว่าโรดแมป หรือแผนและขั้นตอนไว้ชัดเจน หากมีอะไรเกิดขึ้น จะไม่มีการกระทบโรดแมป ทุกอย่างดำเนินไปตามแผน และมีการมองไปล่วงหน้าแล้ว ไม่มีอะไรจะสะดุดหรือขาดตอน อาจจะมีปัญหาเล็กน้อยแต่สามารถแก้ไขได้ ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก เมื่อนายกรัฐมนตรียังไม่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามแผนและขั้นตอนทุกประการ

ทั้งนี้นายวิษณุยังได้ขอให้ประชาชนอย่ารับฟังข่าวลือต่าง ๆ และขอให้ฟังประกาศและแถลงของทางราชการเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท