นักสิ่งแวดล้อมเขียนข่าว 'มรณกรรม' เชิงเสียดสี สะท้อนความย่ำแย่ของแนวปะการังระดับโลก

โรแวน จาคอบเซน นักเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเขียน "ข่าวมรณกรรม" ของ "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" (Great Barrier Reef) แนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดและจัดว่าสวยงามที่สุดในโลกลงในนิตยสารเอาท์ไซด์ (Outside) เผยปรากฏการณ์โลกร้อนและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีส่วนทำลายแนวปะการังที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพถึงตอนนี้ยังไม่ได้ถูกทำลายไปหมด แต่ก็มีโอกาสเสื่อมสลาย

17 ต.ค. 2559 สื่อดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่ามีคนเขียน "ข่าวมรณกรรม" ของ "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดและจัดว่าสวยงามที่สุดในโลกลงในนิตยสารเอาท์ไซด์ (Outside) เพื่อแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียแนวปะการังนี้โดยระบุว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟเป็น "สมาชิกในชุมชนที่มีความกระตือรือร้นอย่างมาก"

ถึงแม้ว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟจะยังไม่ได้ถูกทำลายไปจนหมด แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวบ่อยครั้งขึ้นซึ่งมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น รวมถึงการที่น้ำมีก๊าซคาร์บอนเพิ่มสูงขึ้นทำให้ทะเลเป็นกรดและหลอมละลายผิวปะการัง โดยก๊าซคาร์บอนที่สูงขึ้นนี้ส่วนมากมาจากการที่น้ำดูดซับเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ที่ปล่อยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ปะการังสามารถฟื้นฟูตัวเองจากการฟอกขาวได้ถ้าหากเกิดในระยะเวลาไม่นานเกินไป แต่ในบทมรณกรรมดังกล่าวเปิดเผยว่าการฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปีนี้เสียหายร้ายแรงที่สุดในระดับที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้

"ข่าวมรณกรรม" ดังกล่าวเขียนโดยโรแวน จาคอบเซน นักเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเขาระบุว่า "เกรตแบร์ริเออร์รีฟแห่งออสเตรเลียเสียชีวิตแล้วในปี 2559 หลังจากป่วยมาเป็นเวลายาวนาน มันมีชีวิตอยู่มา 25 ล้านปีแล้ว" ในบทความระบุอีกว่า "ปะการังแห่งนี้เป็นโครงสร้างสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาแทบจะโดยตลอดชีวิตของมันและเป็นสิ่งเดียวที่สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ"

จาคอบเซนระบุว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟมีความยาว 1,400 ไมล์ (ราว 2,300 กม.) มีจำนวนปะการังแยกเป็นตัวๆ ได้ 2,900 ตัว และเกาะ 1,050 เกาะ เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดแล้วใหญ่ยิ่งกว่าสหราชอาณาจักรและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าทั้งยุโรปรวมกัน โดยมีพันธุ์ปลา 1,625 สายพันธุ์, สัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก 6,000 สายพันธุ์, ปะการัง 450 สายพันธุ์, นก 220 สายพันธุ์ และวาฬกับโลมา 30 สายพันธุ์ นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในแง่เป็นหนึ่งในแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่สุดของพะยูนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเต่าตนุ

เกรตแบร์ริเออร์รีฟถือกำเนิดในแถบชายฝั่งของออสเตรเลียมาตั้งแต่สมัยไมโอซีน (Miocene ราว 23.03 - 5.33 ล้านปีที่แล้วตามการแบ่งยุคธรณีกาล) ซึ่งจาคอบเซนกล่าวว่าในช่วง 24.99 ล้านปีแรกของแนวปะการังนี้เป็นช่วงที่พวกมันดูมีความเป็นอยู่ที่ดี การบอกว่ามันเป็นสมาชิกในชุมชนที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากยังถือว่าน้อยเกินไปเพราะชุมชนทางนิเวศวิทยาที่อยู่ล้อมรอบต้องอาศัยเกรตแบร์ริเออร์รีฟในการดำรงอยู่ มีหลักฐานว่าเมื่อราว 60,000 ปีที่แล้วมีมนุษย์คนแรกเดินทางจากเอเชียเข้าไปถึงออสเตรเลีย ชาวอะบอริจินใช้พื้นที่นี้หาปลามาเป็นเวลาเป็นพันปีแล้วและยังคงดำรงชีวิตโดยต้องพึ่งพาแหล่งธรรมชาตินี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเสื่อมสลายไป

แนวปะการังนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 2524 ปีเดียวกับตอนที่เริ่มมีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจำนวนมากเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จาคอบเซนระบุว่าพอถึงช่วงยุคมิลเลนเนียมก็เริ่มมีปรากฏการณ์ฟอกขาวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในช่วงฤดูหนาวของปี 2540-2541 ก็เกิดขึ้นครั้งใหญ่ และมีปรากฏการณ์นี้หนักๆ อีกในปี 2544-2545 และ 2548-2549 โดยในปี 2559 นี้เกรตแบร์ริเออร์รีฟเผชิญปรากฏการณ์ฟอกขาวอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ในระดับที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้อีก โดยมีปะการังในเขตพื้นน้ำที่อุ่นกว่าทางตอนเหนือตายไปแล้วร้อยละ 50

บทมรณกรรมยังระบุโจมตีรัฐบาลออสเตรเลียที่อนุมัติโครงการเหมืองแร่ถ่านหินขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อแนวปะการังมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลียยังชักจูงให้สหประชาชาติยกเลิกรายงานเกี่ยวกับเกรตแบร์ริเออร์รีฟในรายงานเรื่องโลกร้อนด้วย

ท้ายบทมรณกรรมระบุว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟจะตายก่อนแนวปะการังอื่นๆ อย่างสามเหลี่ยมปะการังของแปซิฟิกใต้ กับฟลอริดารีฟ แต่ก็อาจจะตายทีหลังเบลีซแบร์ริเออร์รีฟ ผู้เขียนบทมรณกรรมระบุอีกว่าผู้ที่ต้องการช่วยเหลือแนวปะการังสามารถบริจาคให้กับหน่วยงานโอเชียนอาร์คอะไลอันซ์ได้

ฝ่ายรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวว่าการกอบกู้แนวปะการังกำลังมี "ความก้าวหน้าอย่างดี" แต่ก็แถลงเพิ่มเติมว่าพวกเขาไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยฟื้นแนวปะการังได้อย่างเกิดผลและพวกเขาต้องการเครื่องมือที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีการวางเป้าและประสานงานได้ดีขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Great Barrier Reef declared dead 'after a long illness' in obituary, The Independent, 17-10-2016
http://www.independent.co.uk/environment/great-barrier-reef-dead-obituary-coral-bleaching-climate-change-a7361266.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท