Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

บทนำ

ความเศร้าสาธารณะ (Public Grief) [1] เกิดขึ้นเมื่อสังคมสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักไป ความเศร้าที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ (Normal grief) ในบริบทของประเทศที่นับถือพุทธศาสนายังสอดคล้องกับคำอธิบายในสังเวคปริกิตตนปาฐะที่ว่า “การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์” (ปิเยหิ วิปปโยโค ทุกโข) และก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเช่นกันที่แต่ละบุคคลจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์เนื่องจากความสูญเสียแตกต่างกันและแสดงออกในหลายรูปแบบ หากอธิบายในเชิงจิตวิทยา  หลายคนอาจใช้กลไกการปฏิเสธความจริง (Denial) ซึ่งหมายถึง การที่จิตใจยังไม่พร้อมรับกับความสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้น แต่หลายคนอาจหันไปสู่ความรู้สึกโกรธ (Anger) รวมถึงการแสดงออกอย่างก้าวร้าว (Aggressive) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแปรปรวนทางอารมณ์ที่กำลังถ่ายเทจากความเศร้าเป็นความโกรธ น่ากังวลที่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นแบบรวมหมู่ หรือมีการฉวยโอกาสจัดให้เกิดอารมณ์โกรธแบบรวมหมู่ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นตาม มากไปกว่านั้นหากกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยแล้ว คลื่นอารมณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ทำนองล่าแม่มดตามมา (หมายถึง การใช้ความรุนแรงกับบุคคลที่แสดงออกแตกต่าง)

ความสูญเสียของรัฐบุคคลหรือผู้นำทางจิตวิญญาณย่อมเป็นปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงของอารมณ์เศร้า และความเครียดที่ระคนกับความเศร้าคลุกเคล้ากับความรักมักก่อให้เกิดความคิดมุ่งทำลาย (Thanatos ; θάνατος) ซึ่งจะล้นข้ามออกมาเป็นการทำร้ายผู้อื่น หรือพลิกกลับมาเป็นทำร้ายตนเองก็ล้วนแต่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การฆ่าตัวตายตามบุคคลอันเป็นที่รัก หรือ การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเศร้าให้กลายเป็นความโกรธ ทั้งหมดไม่เป็นผลทางบวกทั้งสิ้น โดยทั่วไป ความเศร้าจะคลี่คลายลงไปเองภายใน 2-4 สัปดาห์และไม่ควรเกิน 24 สัปดาห์ (6 เดือน) กรณีที่อาการเศร้าไม่ทุเลาลงหรือมีอาการหมกมุ่นมากขึ้น จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอารมณ์เศร้าผิดปกติที่เกิดจากการสูญเสียได้ (CGD-Complicated Grief Disorder) ปัญหาคือ สังคมที่ขาดวุฒิภาวะในการจัดการความเศร้าสาธารณะมีแนวโน้มที่จะผลิตซ้ำปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเศร้าที่ล้นเกิน [2] หรืออีกนัยหนึ่งคือเสี่ยงต่อการถูกฉกฉวยโอกาสใช้ความเศร้าสาธารณะเป็นเครื่องมือทางการเมือง แน่นอน ความก้าวร้าวที่เกิดจากอารมณ์เศร้าที่ล้นเกินก่อให้เกิดผลร้ายอย่างคาดไม่ถึงจึงจำเป็นต้องไม่ให้ความเศร้ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในแง่หนึ่งรัฐอาจต้องเข้ามาจัดการด้วยถ้าจำเป็น


1. ความเศร้าอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในที่สุดแต่ไม่ควรอย่างฉับพลันทันที

หากเริ่มต้นด้วยความเห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ทุกกิจกรรมของมนุษย์ย่อมถูกทำให้เป็นเรื่องของการเมืองได้ทั้งหมด ความเศร้าสาธารณะในฐานะอารมณ์ความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นในสังคมก็จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ในที่สุด ทว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลับกลายจะช้าหรือจะเร็วนั้น  ขึ้นอยู่กับการถูกผลิตซ้ำอย่างไรในสังคม หากมีการผลิตซ้ำเหตุกระตุ้นความเศร้าอย่างจงใจโดยแฝงนัยทางการเมืองไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความเศร้าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในที่สุด และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายตามมาได้ไม่ยาก เช่น การดูหมิ่น ยั่วยุ การทะเลาะวิวาท การตั้งศาลเตี้ย เพราะเมื่อเกิดการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  กลไกการทำงานของความเศร้าในระยะต่อจากกลไกการปฏิเสธความจริงเมื่อแรกรับรู้ความสูญเสียแล้ว จะเป็นความโกรธ [3] โดยทั่วไปบุคคลที่ยังไม่เคยหรือไม่มีการจัดการความโกรธหรือขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มักแสดงความโกรธออกมาในรูปความก้าวร้าว การตัดสินใจโดยขาดความยั้งคิดและหุนหันพลันแล่น ตามทฤษฎีสัญญาณแห่งความก้าวร้าว (Aggressive cues theory) [4]  บุคคลจะแสดงความก้าวร้าวก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว เช่น การพูดยุยงปลุกปั่น หรือการทำให้เกิดอุปาทานหมู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ ความรู้สึกโกรธจะค่อยๆจางหายไปเองและก้าวไปสู่การยอมรับความจริงต่อไป แต่หากว่าความรู้สึกแปรปรวนไม่จางหายไป เช่นนี้ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพจิต

เฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียบุคคลที่จิตใจรู้สึกว่ามีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตและเป็นความสูญเสียในระดับสาธารณะ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าความเป็นสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เศร้ารุนแรงและพัฒนาไปสู่ความเศร้าที่ล้นเกินได้ไม่ยาก ประเด็นคือท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ บุคคลที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์จะตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงได้โดยง่าย หากรัฐหรือสังคมยังเพิกเฉยต่อการสร้างวาทกรรมที่กระตุ้นความรุนแรงในทำนองที่จะทำให้เกิดมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคมตามอำเภอใจแล้ว ควรถือเป็นความเพิกเฉยที่ผิดกาลเทศะและบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะความรุนแรงจะเข้ามาแทนที่บรรยากาศแห่งความโศกเศร้า ซึ่งผิดธรรมเนียมการให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ และขัดต่อกติกาของสังคมเรื่องการไว้ทุกข์ เพราะไม่มีใครที่อยากเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นในบรรยากาศพิธีศพของบุคคลอันเป็นที่รัก แต่เมื่อความเศร้าล้นเกินได้ถูกปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย สังคมต้องช่วยกันหยุดยั้งและห้ามปราม ใครก็ตามที่ทำการปลุกระดมหรือตั้งตัวเป็นแกนนำซึ่งกระทำการที่ไม่เหมาะสมต่อบริบทของความเศร้าสาธารณะ เพราะการกระทำความรุนแรงในนามของความรักเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สังคมมีความเศร้าร่วมกัน


2. อารมณ์โกรธเนื่องจากความเศร้าสาธารณะไม่ควรกลายเป็นการล่าแม่มดในที่สุด

แม้จะขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างไรและถึงแม้จะไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าการจัดการความโกรธเลยก็ตาม [5] การก่อรูปของอำนาจที่นำไปสู่ยุคล่าแม่มด [6] ก็ยังมิได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์อย่างที่เข้าใจกัน เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญคือ “อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็น อำนาจรัฐหรือเทวอำนาจ เพราะความโกรธเนื่องจากความเศร้าสาธารณะอาจทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงร่วมกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และเมื่ออารมณ์ดังกล่าวล้นข้ามขอบเขตของกฎหมาย ก็เป็นรัฐที่มีหน้าที่ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการในฐานะผู้มีอำนาจ โดยการแสดงออกของตัวแทนแห่งอำนาจรัฐ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีต่อกรณีข้อความในโซเชียลมีเดียซึ่งต้องสงสัยว่าจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้แสดงให้เห็นว่า รัฐตระหนักดีถึงบริบทแห่งความเศร้าสาธารณะ ซึ่งระมัดระวังอย่างยิ่งมิให้รัฐเองต้องพลั้งเผลอกระทำเรื่องไม่บังควรกับกาลเทศะ เช่น คำกล่าวที่ว่าไม่อยากใช้กฎหมายในช่วงนี้ หรือท่าทีที่อ่อนลงเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเป็นความเข้าใจผิดและไม่ได้เจตนา [7] ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนในสังคมที่จะช่วยกันทำให้การกระทำที่คิดว่าผิดเป็นเรื่องของกฎหมาย และต้องไม่ถืออำนาจที่ตนเองมิได้มีแต่งตั้งศาลเตี้ยขึ้นสถิตความยุติธรรมเองจนกลายเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายและกาลเทศะ


หน้าที่ในการยุติความรุนแรงดังกล่าวเป็นของทุกคนที่อ้างว่า มีความรักความปรารถนาดีต่อผู้วายชนม์ และขอให้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ผู้ที่ไม่อาจหยุดยั้งที่จะกระทำความรุนแรงโดยอ้างถึงความรักที่ตนมีต่อผู้วายชนม์ ไม่ว่าจะโดยการแสดงความก้าวร้าวทางวาจา หรือพฤติกรรมทางกาย เป็นพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่าบุคคลผู้นั้นหากสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ได้กระทำผิดต่อผู้วายชนม์และบุคคลที่มีความรักต่อผู้วายชนม์เสียแล้วด้วยความดึงดันที่จะประพฤติตนขัดกับกาลเทศะ จึงสมควรที่จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยควบคุมสถานการณ์โดยเร่งด่วน เพราะรัฐมิได้ให้หลักการในดำเนินการตัดสินโทษใครตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทุกความสนควรมุ่งไปสู่ความสงบเรียบร้อยในบรรยากาศของการไว้อาลัย และในส่วนของผู้ถูกคุกคามด้วยจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย ตลอดจนกรณีที่ผู้ถูกคุกคามต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเภท [8] จำเป็นต้องอาศัยพลเมืองดีช่วยกันปกป้องคุ้มครองบุคคลนั้นจนกว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาไกล่เกลี่ย

ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศที่ด้อยการศึกษาด้านสุขภาวะทางจิตเช่นประเทศไทยขาดความรู้ความเข้าใจอย่างรุนแรงเกี่ยวกับโรคจิตเภท จนไม่สามารถแยกออกได้ว่าลักษณะใดเป็นอาการหรือไม่ใช่อาการป่วย ตลอดจนสังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตที่ซ้อนทับอยู่ในสำนึก [9]  ทำให้หลายๆครั้งความรุนแรงเริ่มขึ้นมาโดยไม่จำเป็นจากคำพูดที่ฟังดูน่าเชื่อถือของผู้ป่วยทางจิต หรือความโกรธจนนำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อผู้ป่วยทางจิตโดยมิได้เข้าใจว่าเป็นผู้ป่วย ทางออกเดียวคือยังจำเป็นต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยความผิดปกติอารมณ์ที่อาจกลายเป็นชนวนความรุนแรงดังกล่าว  และคอยระมัดระวังมิให้ใครผลิตซ้ำสิ่งที่จะกระตุ้นความรุนแรงของเหตุการณ์ เช่น ถ้อยคำปลุกระดมให้เกิดการทำร้ายเพื่อนผู้เห็นต่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (หรือที่เรียกกันอย่างลำลองและไม่ถูกนักว่า นักล่าแม่มด) หรือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ต้องการตอบโต้กลับ (หรือที่เรียกว่า นักล่านักล่าแม่มด) ซึ่งเป็นขบวนการที่ตั้งขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความเสี่ยงและไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสวัสดิภาพของผู้ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ป่วยทางจิต คนหาเช้ากินค่ำ หรือบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากนักที่ไม่จงใจหรือเจตนาที่จะกระทำพฤติกรรมเสี่ยง เมื่อวาทกรรมทั้งสองขั้วทำงานขับเคี่ยวกัน (จึงจำเป็นต้องแสวงหาหรือสถาปนาวาทกรรมขึ้นอีกชุดเพื่อเบียดแทรกหรือหยุดการขับเคี่ยวกันของวาทกรรมทั้งสอง หวังเพื่อที่จะลดผลกระทบที่จะมีไปถึงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ก่อการเอง)


3. ความเศร้าสาธารณะที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของการระบายอารมณ์ที่มีนัยทางการเมืองควรชะลอไว้

หากการระบายอารมณ์ที่มีนัยทางการเมืองนำไปสู่การสร้างวาทกรรมตอบโต้จนเกิดผลกระทบกับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยทางจิต คนหาเช้ากินค่ำ หรือบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากนัก ทั้งที่ผู้สร้างหรือผลิตซ้ำวาทกรรมดังกล่าวก็มิอาจทำอะไรได้มากไปกว่า การแสดงความไม่รับผิดชอบหรือการโยนความรับผิดชอบให้รัฐต้องรับภาระฝ่ายเดียวเรื่องนี้ควรเป็นข้อสังเกตสำคัญ เพราะเป็นเสรีภาพของผู้สถาปนาวาทกรรมอยู่แล้วที่จะกระทำสิ่งใดหรืออะไรก็ได้ด้วยเนื้อหาอย่างไรก็ได้ หากแต่ผลระหว่างทางของการสถาปนาดังกล่าวนั้นเมื่อก่อให้เกิดภัยกับบุคคลที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกดึงหรือโยงเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุผลเรื่องความเศร้าที่ล้นเกินทำให้ขาดสติ หรือการถูกปลุกปั่นยุยงของอีกขั้วตรงข้ามของวาทกรรมอย่างไรก็ตามแต่ การดำเนินการที่ว่านั้นคงจำเป็นต้องมีการทบทวนโดยพิจารณาถึงการแสดงออกอย่างคำนึงถึงมนุษยธรรม เพราะการชิงแสดงออกถึงความมีมนุษยธรรมนั้นเป็นความสง่างามและช่วยให้ได้รับความรู้สึกดีจากมวลชนมากกว่าการยืนยันกระทำสิ่งใดด้วยคิดถึงแต่เสรีภาพฝ่ายเดียว เพราะเสรีภาพแง่หนึ่งเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการแสดงอารมณ์อย่างมีมนุษยธรรม ด้วยว่าฝ่ายที่กดบังคับหรือไม่เห็นด้วยกับเสรีภาพมักจะมีความเข้าใจเรื่องมนุษยธรรมน้อยยิ่งกว่า น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะแสดงออกอย่างมีมนุษยธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างในเรื่องของความพยายามที่จะหยัดยืนต่อสู้อย่างถูกต้องชอบธรรม อย่างน้อยก็เห็นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่ได้อยู่ในขบวนการ

ในอดีต การแสดงความเคารพต่อนักรบผู้วายชนม์ในสงครามแม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ยังเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันมาตามหลักของการทำศึกสงครามที่ดีและแม้ว่าหลักการดังกล่าวจะโบราณและเก่าแก่คร่ำครึไปสักหน่อย แต่ควรยิ่งที่ผู้วายชนม์ไปแล้วทุกคนควรจะได้รับความเคารพ ไม่ใช่แต่เพียงในแง่ของการควรละเว้นการระบายอารมณ์อย่างป่าเถื่อนต่อผู้วายชนม์เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ บรรดาผู้ที่มีความอาลัยรักต่อผู้วายชนม์เองด้วยที่จะต้องละเว้นการสวนโต้ด้วยอารมณ์กับผู้ที่ยั่วยุเหล่านั้น เหตุว่า หากผู้วายชนม์เป็นรัฐบุคคลผู้ยิ่งใหญ่สำคัญซึ่งยังผลให้เกิดความเศร้าสาธารณะแล้ว สิ่งดีที่สุด หากแต่ละคนคิดจะปฏิบัติเพื่อตอบแทนผู้วายชนม์ได้ก็คือ การช่วยกันทำให้รัฐเกิดความสงบเรียบร้อยอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัย และควรเข้าใจเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้วว่า โลกนี้ย่อมมีผู้เห็นแตกต่าง แต่การยืนยันที่จะกระทำตามเหตุผลและหลักการเป็นสิ่งที่จะช่วยให้วาทกรรมที่บุคคลนั้นเป็นส่วนหนึ่งและผลิตซ้ำน่าเชื่อถือมากกว่าการแสดงออกด้วยอารมณ์อย่างล้นเกินจนกลายเป็นส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของวาทกรรมเอง ทั้งยังผิดต่อกาลเทศะ ตลอดจนผิดต่อผู้วายชนม์เองด้วย เพราะน่าจะไม่ใช่ความปรารถนาดีที่จะมีต่อบุคคลที่รักและเคารพกัน และในอีกด้านหนึ่งในโลกของผู้ที่อาจเห็นต่างหรือแย้ง “การใช้เหตุผลอาจไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราวแต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวพันกับสวัสดิภาพของชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่เราไม่รู้จัก และสำคัญที่สุดสำหรับการขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ระดับชาติ คือ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ของตนเอง

0000
 

 

 


เชิงอรรถ

[1] โปรดดูเรื่องความเศร้าสาธารณะเพิ่มเติมจาก กรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า เป็นต้น  Chapter 3: Shock, Public Gried, and Spaces of Belonging ใน Seidler, Victor. (2013). Remembering Diana: Cultural Memory and the Reinvention of Authority. Hamshire: Palgrave MacMillan. pp. 43-56

[2] ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเศร้า ดูเพิ่มเติมที่  Canine, J.D. (1983). The Challenge of Living. Birmingham,MI: Ball Publishers. และ Rando, T. (1991). How to go on living when someone You love dies. New York: Bantam.

[3] มีการแบ่งระยะความโศกเศร้าเป็น  5 ระยะ คือ  (1) ปฏิเสธความจริงและแยกตัว (2) โกรธ (3) การต่อรอง (4) ภาวะซึมเศร้า(ที่ไม่ใช่โรค) (5) ยอมรับความจริง ดูเพิ่มเติมในกรณีความสูญเสียที่เปรียบเหมือนสูญเสียอวัยวะในร่างกายที่ Spiess, KE et al. (2014). Application of the five stages of grief to diabetic limb loss and amputation. J Foot Ankle Surg. Nov-Dec;53(6). pp.735-739

[4] โปรดดูเพิ่มเติมใน Anderson, C.A. and Bushman, Brad J. (2002). Human Aggression. Annual Review of psychology Vol.53. pp.27-51 Retrieved Oct 18, 2016 from http://public.psych.iastate.edu/caa/abstracts/2000-2004/02AB.pdf

[5] โปรดดู Info graphic แนะนำการจัดการความโกรธเบื้องต้นของสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข http://www.sorporsor.com/images/age/age-15-59/3_resize.jpg หรือโปรดดูรายการสุขภาพจิตเพื่อชุมชนตอนการจัดการความโกรธ https://www.youtube.com/watch?v=A5bYXxC_oUs

[6] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์.การก่อรูปของอำนาจที่นำไปสู่ยุคล่าแม่มด. ประชาไทออนไลน์ (วันที่ 23 กรกฎาคม 2014) Retrieved Oct 18, 2016 from http://prachatai.com/journal/2014/07/54706

[7] ประยุทธ์กวดขันการส่งต่อโพสต์หมิ่นฯ ย้ำมีกฏหมาย แนะใช้ความเข้าใจ พร้อมแจงปมสืบสันตติวงศ์, ประชาไทออนไลน์ (18 ตุลาคม 2016) Retrieved Oct 18, 2016 from http://prachatai.com/journal/2016/10/68413

[8] ตร.ยันป้าถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯบนรถเมล์ มีบัตรผู้ป่วยจริง หลายคนยันพูดถึงเจ้าเมืองบาดาล, ประชาไทออนไลน์ (18 ตุลาคม 2016) Retrieved Oct 18, 2016 from  http://prachatai.com/journal/2016/10/68412

[9] อ่านประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมที่ รัฐพล แสงพลสิทธิ์, ทลาย “มายาคติ” สังคมไทย พบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า “บ้า”,มติชนรายวัน (23 สิงหาคม 2559) Retrieved Oct 18, 2016 from http://www.matichon.co.th/news/259583 และ ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์และคณะ. (2547). ความชุกของโรคทางจิตในประเทศไทย: การสำรวจระดับชาติ. (การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, 19 -21 พฤษภาคม 2547) หน้า 35-36
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net