Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านบทความของสุรพศ ทวีศักดิ์ เรื่อง “กางคัมภีร์พุทธศาสนาเห็น ‘ความดีมีชนชั้น’" (Tue, 2016-09-20) ทำให้ต้องหวนกลับมานั่งทบทวนอย่างช้าๆ ว่า “เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?” อีกทั้งผู้เขียนก็เชิญชวนให้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวด้วย

ความพยายามของสุรพศ ทวีศักดิ์ ที่ดึงและแบคัมภีร์ออกมานั้นทำให้เห็นภาพที่น่าสนใจหลายภาพ บางภาพชัดเจนในตัวเอง บางภาพต้องใช้จินตนาการทำนองศิลปินที่ต้องผนวกเรื่องสุนทรียะเข้าไปด้วยจึงจะช่วยให้เห็นภาพว่าชัด-ไม่ชัด งาม-ไม่งาม

ภาพที่หนึ่ง คำสอนของพุทธเจ้าไม่ได้เป็นอิสระจากการตีความ คำสอนที่ “ดำรงความถูกต้อง” โดยปราศจากหรือเป็นอิสระจากการตีความ การปรับคำสอนมาสอนคน แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นอิสระจากการตีความแต่อย่างใด แม้กระทั่งการจดจำแบบปากต่อปาก (มุขปาฐะ) การสังคายนา กระทั่งมาถึงยุคการจารจารึกบันทึกเป็นอักษรก็ถือว่านั่นเป็นรูปแบบที่ “ไม่เป็นอิสระ” แบบหนึ่ง เพราะในที่สุดแล้วสิ่งเหล่านั้นหาใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทำด้วยพระองค์เอง (การเขียน การบันทึก) ไว้ตั้งแต่แรก

ภาพนี้ขอขยายเพิ่มเติมว่าการตีความคำสอนเป็นเรื่องปกติในวงวิชาการ แต่การกล่าวอ้างว่าเพราะไม่มี “ต้นฉบับ” (พระพุทธเจ้า) ที่ทรงบันทึกเอาจึงเป็นเรื่องของการตีความล้วนๆ นับตั้งแต่การทรงจำ การสังคายนา สิ่งเหล่านี้หากจะจัดว่าเป็นการ “ตีความ” อาจอาจด่วนเข้าใจไปหน่อย เช่น การทรงจำด้วยวิธีปากต่อปาก เจตนาคือไม่ต้องการให้เกิดความผิดเพี้ยน หรือการสังคายนา หากเรียกว่า “การตีความ” จริงก็คงเกิดความหมายใหม่ หรือใช้วิธีทำให้เข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่การสังคายนาโดยเฉพาะการทำครั้งแรก มติของสงฆ์โดยพระมหากัสสปะนั้นไม่ได้มีการยก เลิก ถอด ถอนสิกขาบทใดๆ เลยจะเรียกว่าเป็นการตีความได้อย่างไร ส่วนสังคายนาที่เรียกในชั้นหลังก็อาจเป็นเพราะวัตถุประสงค์อื่นได้ เช่น เพื่อรวบรวมจัดหมวดหมู่เป็น “พระไตรปิฎก” ดังกล่าวแล้ว

ภาพที่สอง คำสอนของพระพุทธเจ้าหนีไม่พ้นเรื่องดี-ชั่ว สูง-ต่ำ  นี่คือสิ่งที่นำไปสู่วิธีคิดว่า “ความดีมีชนชั้น” ของผู้เขียน ภาพนี้ไม่ต้องขยายเพราะเป็นธรรมชาติของคำสอนในพุทธศาสนาอยู่แล้ว

ภาพที่สาม สืบเนื่องจากภาพที่สอง เมื่อปลูกฝังสั่งสอนมากเข้าจะกลายเป็น “การสร้างสำนึกชนชั้นที่ฝังลึกระดับจิตวิญญาณ”  ภาพนี้ใคร่ชวนให้พิจารณาว่าแม้คำสอนจะชี้ว่าทำดีแล้วจะได้เกิดในภพภูมิที่ดี (สูง) หรือถ้าทำชั่วจะได้เกิดในภพภูมิที่เลว (ต่ำ) แต่คำสอนพุทธศาสนาไม่ได้จบที่การได้เกิดมาเท่านั้น สิ่งสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำคือ “การกระทำปัจจุบัน” แม้คุณจะเกิดมาในชั้นวรรณะที่สูง แต่คุณก็ต้องพัฒนาปรับปรุงตัวตนโดยการปรับลดระดับความสูง-ต่ำด้วยเพื่อให้ตนเข้าถึงมนุษยภาพที่แท้จริง ข้อนี้พิจารณาเทียบเคียงได้จากการที่พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบทแก่นายอุบาลีซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลาประจำราชวงศ์ศากยะ ในคราวที่เจ้าศากยะทั้ง 6 ซึ่งประกอบด้วยภัททิยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ และเทวทัต ขอบวชแต่ด้วยเจ้าศากยะเองรู้ตัวว่าความเป็นกษัตริย์นั้นหนาแน่นไปด้วยมานะ จึงพร้อมใจกันใช้วิธีการอุปสมบทเป็นเครื่องมือขัดเกลาเพื่อลดทิฐิมานะจึงได้ทูลต่อพระพุทธเจ้าเพื่อให้อุบาลีผู้รับใช้ได้บวชเป็นลำดับแรก ทั้งนี้โดยระบบอาวุโสนี้ก็ให้ผู้บวชภายหลังหรือพรรษาอ่อนกว่าได้ทำความเคารพ ลุกรับกราบไหว้พระภิกษุที่มีพรรษามากกว่าหรือในที่นี้หมายรวมเอาตั้งแต่ลำดับก่อนหลังเมื่อบวชในคราวเดียวกัน (ขุ.อป.32/8/4๐; วิ.จู.7/342-344/131-132) ดังนั้นสถานะหรือชั้นทางสังคมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดจึงไม่ได้เป็นตัวกำกับชนชั้นแต่อย่างใด การดูเพียง “ส่งให้เกิด” จึงยังไม่เพียงพอในแง่คำสอนในพระไตรปิฎก จึงต้องดูไปถึง “เกิดแล้วทำอะไรต่อ” ต่างหาก

ภาพที่สุดท้าย การทิ้งโจทย์ให้แก้ โจทย์ที่ตั้งเป็นประเด็นสำคัญคือ ไม่มีชุดความคิดที่แสดงให้เห็นว่าความดีแบบพุทธส่งเสริมให้สังคมมีความเสมอภาค เช่น 1) ความดีแบบพุทธ ที่ปฏิเสธชนชั้นและสนับสนุนความเสมอภาค แท้จริงแล้วยังไม่เห็นชัดแจ้ง (ไม่มีคำสอนพุทธที่ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ความเสมอภาค –การเลิกทาสไม่ได้อ้างหลักพุทธ (เลิกระบบทาสอันเนื่องมาจากคำสอนทางพุทธ) 2) การเทศน์มหาชาติ ที่มีนัยว่าให้พระเวสสันดรต้อง “บริจาคลูกให้เป็นทาส” 3) ถ้ามีคำสอนแบบนั้น (สอนให้เป็นคนดีแล้วสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาค) อยู่จริง ทำไมจึงยังมีเรื่องยศช้างขุนนางพระ และระบบชนชั้นในวงการสงฆ์

หากพูดให้สั้นอาจพูดได้ว่าผู้เขียนใช้เหตุผลเพื่อชวนให้ขบคิดว่าคำสอนพุทธที่สอนความดีนั้นก็เพื่อส่งเสริมให้เห็น “คนมีสถานะต่างกัน” โดยยกหลักฐานในคัมภีร์มาอ้างหลายแห่ง เช่น ในพาลบัณฑิตสูตรที่เสนอข้อมูลให้เห็นว่า “การทำดีทางกาย วาจา และใจ ผลที่ได้คือการมีตระกูล มีสถานะที่สูงส่งทางสังคม มีความมั่งคั่ง” กลายเป็นว่าความดีแบบพุทธนั่นแหละเป็นตัวยืนยันหรือรองรับสถานะของมนุษย์ ผู้เขียนกล่าวรวมไปถึงระบบชนชั้นในวงการสงฆ์ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่ “ติดตัวมาตั้งแต่เกิด”

คำถามคือ “ความดีกับชนชั้น” ทำไมผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน หรือที่ระบุว่าแท้จริงแล้วไม่มีคำสอนใดที่ชัดเจนในพุทธศาสนาที่สอนหรือส่งเสริมให้เห็น “สมภาพ” หรือความ “เสมอภาค” เชิงสังคม พุทธพจน์หลายแห่งชวนให้เห็นตามนั้น และเห็นตามจารีตที่ว่าทำดีได้ดี ดีที่ได้เพราะทำดี ดีที่ได้จึงรวมเอาทั้งตระกูลสูงส่งที่นำพาตัวเองมาเกิด ความมั่งคั่งที่ได้รับ รวมถึงยศถาบรรดาศักดิ์ที่มี หรือแม้ภพภูมิทั้ง 31 ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจาก “ศีลธรรมความดี” ส่วนบุคคลที่ทำไว้ในปัจจุบันภพ

คำถามนี้อาจใคร่ครวญดังนี้ว่า ชั้นของความดีมีอยู่จริง หากพิจารณาจากคำสอนพุทธเชิงแสดงกายภาพคือภพภูมิ แต่ชั้นความดีเหล่านั้นไม่ได้บอกว่าเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับ “สถานะทางสังคม” แต่ความดีที่มีชั้นนั้นเป็น “ความดีที่กำกับชั้น” ต่างหาก หรือพูดให้ง่ายคือ คำสอนพุทธไม่ได้มีเพียงด้านเหตุเท่านั้น แต่ให้คำนึงถึงด้านผลด้วย (ดูหลักอิทัปปัจยจตาประกอบ และพิจารณาทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมคือสืบจากเหตุไปผลและสืบจากผลไปเหตุ) แม้ว่าเราจะเกิดมาสูงส่ง หรือต่ำต้อย ก็ไม่ควร “หยุดอยู่” กับผลนั้นหรือพอใจกับผลลัพธ์นั้น หรือพร้อมที่จะใช้ผลนั้นโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลอื่นๆ เช่น เกิดมามั่งคั่งก็หยามหรือย่ามใจ คอยเหยียดหรือรังแกคนต่ำต้อย นี่จึงควรเรียกว่า “ชนชั้น” ในทางสังคม แต่ชั้นความดีในพุทธศาสนาเป็นการกำกับเพื่อมิให้คนๆ นั้นตกอยู่ในความประมาท เพื่อมิให้คนที่เป็นกษัตริย์มหาศาลก็ดี คหบดีก็ดี คนที่เกิดมาในตระกูลสูงส่งก็ดีเที่ยวหักหาญทำร้ายทำลายคนอื่น นี่จึงควรเรียกว่า “ชนชั้น” ที่พระพุทธองค์ทรงแย้งคำสอนเดิมเรื่องวรรณะ

กล่าวคือแม้จะพิสูจน์ตามหลักฐานได้ว่าคนที่ทำดีแล้วไปเกิดในตระกูลที่สูง ร่ำรวย เป็นการพิจารณาในแง่ของ “เหตุที่ทำให้เกิด” แต่ไม่ได้พิจารณาในแง่ของ “ผลลัพธ์และการสืบต่อ” การชี้ว่าทำอะไรแล้วจะเป็นอะไร หรือจะได้อะไรนั้นเป็นเพียงการชี้เป้าด้านเหตุ แต่กระบวนการแห่งธรรมในพุทธศาสนานั้นเป็นการประสานสัมพันธ์กันทั้งด้านเหตุและผล และคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

ดังนั้น เมื่อพูดถึงชนชั้น สำหรับพระพุทธศาสนาจึงอาจพิจารณาได้มากกว่าหนึ่งเงื่อนไข เงื่อนไขที่เป็นสาเหตุ ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นกระบวนการที่สิ้นสุดมาแล้ว เป็นส่วนของ “อดีตเหตุ” เช่น การเกิดเป็นคน เป็นการเสวยผลไปแล้ว (เป็นปัจจุบัน) และพุทธศาสนาได้บอกว่ามนุษย์ไม่ควรหยุดอยู่แค่ตนได้เกิดมาเป็นคนแล้ว และเป็นใครบ้าง (กษัตริย์ เศรษฐี ยาจกฯลฯ) มิเช่นนั้นจะเข้าทางลัทธินอกศาสนา แต่พุทธศาสนาสนใจต่อว่าเกิดมาแล้วนั่นคือจุดตั้งต้นให้ทำ “ปัจจุบันเหตุ”ทำงานอย่างสำคัญ (ม.อุ.14/527/297) คือการระลึกว่า “อดีตผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตยังไม่มาถึง แต่ปัจจุบันนั่นแหละคือสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริง” อีกทั้งคำสอนเรื่องดี-ชั่วก็หาได้มีเจตนาชี้ว่าเป็นการ “ทำให้คนมีวรรณะติดตัวมาตั้งแต่เกิด” เฉกเช่นศาสนาอื่น ชาวพุทธอาจคิดว่าเพราะทำดีจึงเกิดมาในที่ดีดังกล่าวแล้ว แต่ก็เพียงชั้นกิเลสกามอยู่ คือว่ายวนอยู่ในภพกามาวจร แต่เป้าหมายที่สูงกว่านั้นคือการทำลายกามภพให้ได้เพื่อขึ้นสู่ภพที่สูงและดับภพภูมิ (นิพพาน) ได้ในที่สุด ซึ่งนัยนี้ไม่ได้มุ่งว่าใครสูงใครต่ำ แต่เป็นการเอาชนะภพภูมิในแง่ที่เป็นกิเลสตัณหาต่างหาก


ชื่อบทความเดิม: ความดีกับการมีชนชั้น (วรรณะ) : ควรมองอย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net