ศาลแพ่งยกฟ้อง ภรรยา 'อากง' เรียกค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตในรพ.เรือนจำ

ศาลแพ่งยกฟ้อ ระบุข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าแพทย์พยาบาลบกพร่องในหน้าที่ เพียงวิธีการรักษาต่างกัน รพ.เรือนจำย่อมมีกฎระเบียบมากกว่าเป็นธรรมดา ด้านรสมาลิน ภรรยานายอำพล หรืออากง ระบุ ยื่นฟ้องเพียงต้องการให้หน่วยงานตื่นตัวปรับปรุงคุณภาพรักษานักโทษ 

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษากรณีที่นางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของนายอำพล ตั้งนพกุล อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555 ได้ฟ้องกรมราชทัณฑ์เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง เนื่องจากโจทก์เห็นว่านายอำพลเสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์และเห็นว่าการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังรวมถึงระบบการกู้คืนชีพของโรงพยาบาลไม่ได้มาตรฐานทำให้นายอำพลถึงแก่ชีวิต

ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์

รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของผู้ตายให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบผลคำพิพากษาว่า เธอไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะคดีนี้ หรือต้องการเงินชดเชย หรือต้องการให้ลงโทษเอาผิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงแต่หวังว่าการฟ้องคดีจะกระตุ้นให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษานักโทษที่เจ็บป่วยปรับปรุงและพัฒนาการทำงานของพวกเขาให้ดีขึ้น เพราะเธอเองเห็นว่านักโทษก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการการดูแลรักษาเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ เธอเห็นว่านักโทษกระทำความผิดควรได้รับการลงโทษโดยการจำกัดอิสรภาพในชีวิต แต่ไม่ควรถูกทำให้มีคุณภาพชีวิตทั้งในเรือนจำและการรักษาพยาบาลย่ำแย่ไปด้วย

“นักโทษก็เป็นคน ไม่อยากให้คนอื่นๆ ต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับอากง อยากให้ระบบมันดีขึ้น” รสมาลินกล่าว

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความโจทก์ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลแพ่งพิพากษาให้ยกฟ้องในคดีนี้ โดยประเด็นที่ต่อสู่ในคดีมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นที่จำเลยมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ แต่ไม่มีการตรวจคลื่นหัวใจ มีเพียงการให้ยาลดการเต้นของชีพจร แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่าความจริงแล้วควรมีการตรวจคลื่นหัวใจเพื่อให้ทราบว่าอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอหรือไม่และจะได้ให้การรักษาที่ถูกจุด แต่ศาลเห็นตามที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ที่ว่าการเต้นของหัวใจของบุคคลนั้นแตกต่างกันขึ้นกับหลายปัจจัยและเมื่อตรวจพบความผิดปกติก็ได้มีการจ่ายยาให้ผู้ตายแล้ว

2.การที่ผู้ตายมีอาการปวดท้อง ท้องบวมโตนั้น แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่าควรเจาะน้ำในช่องท้องเพื่อให้ผู้ป่วยลดอาการแน่นท้อง และจะมีส่วนช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย ขณะที่ศาลเห็นตามพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าแพทย์ที่ตรวจรักษาได้ให้ยาขับปัสสาวะแล้ว และการเจาะน้ำในช่องท้องนั้นมีความเสี่ยง แพทย์ย่อมวินิจฉัยวิธีที่เหมาะสมในการรักษาได้แตกต่างกัน

3.การฟื้นคืนชีพ แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่า การฟื้นคืนชีพตามที่พยานจำเลยได้เบิกความนั้นเป็นเพียงการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น แต่เมื่อเหตุเกิดในโรงพยาบาลจึงควรช่วยฟื้นคืนชีพในขั้นสูงได้โดยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าและต้องกระทำโดยแพทย์เท่านั้น เพราะแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัยว่าเมื่อใดที่ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ซึ่งโดยมาตรฐานทั่วไปจะต้องปฏิบัติการภายใน 4 นาทีเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้ทันเวลา หากแต่การช่วยฟื้นคืนชีพในครั้งนี้ดำเนินการโดยพยาบาลและเครื่องกระตุ้นหัวใจก็อยู่อีกชั้นหนึ่งของโรงพยาบาลและไม่ถูกนำมาใช้ ขณะที่แพทย์ซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า มีการตรวจคนไข้ทุกวันพบว่า คนไข้เดินได้ พูดคุยได้ เริ่มรับประทานอาหารได้ และกำลังอยู่ระหว่างเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจสอบสาเหตุความเจ็บป่วยแต่ติดวันหยุดราชการ ขณะเกิดเหตุแพทย์เจ้าของไข้กำลังประชุม พยาบาลที่ช่วยฟื้นคืนชีพได้โทรเพื่อรายงานสถานการณ์และแพทย์ได้แจ้งให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ทางโทรศัพท์ โดยพยาบาลระบุว่าเมื่อมาถึงก็พบว่าผู้ตายไม่สามารถแทงเข็มน้ำเกลือได้แล้ว แพทย์ได้รับรายงานเมื่อไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพได้แล้ว แต่ก็ยังให้ช่วยต่อไปอีก 20 นาที รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 40 นาที

ศาลวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “แพทย์และพยาบาลให้การดูแลรักษาผู้ตายมาตลอด ต่างใช้วิจารณญาณและความรู้ความสามารถตามหลักวิชาอย่างเต็มความสามารถ แม้ไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพผู้ตายได้สำเร็จ การที่แพทย์พยาบาลใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าในการช่วยฟื้นคืนชีพ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และพยาบาลอย่างดีแล้วว่าจะสามารถอุปกรณ์การแพทย์ชนิดใดได้หรือไม่ในช่วงวิกฤต แม้แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์จะเห็นต่างก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว”

นอกจากนี้โจทก์ยังระบุว่าผู้ตายได้รับการเลือกปฏิบัติทั้งที่มาตรา 51 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข พูนสุขระบุว่า โจทก์หมายถึงความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำไม่เท่าเทียมกันเมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ได้รับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลภายนอก อย่างเช่นกรณีนี้แม้แพทย์จะสั่งให้เจาะเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติต่างๆ แต่ปรากฏว่าติดวันหยุดราชการ 3 วันจึงยังไม่มีการดำเนินการในส่วนดังกล่าว หรือกรณีการช่วยเหลือระหว่างการฟื้นคืนชีพซึ่งผู้ตายอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลขนาดกลางแต่กลับไม่มีแพทย์ร่วมปฏิบัติการเพราะติดประชุม อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นทุกคนมีเท่าเทียมกันแต่ต้องดูสถานะของจำเลยด้วยว่าอยู่ในสถานะใด ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ย่อมต้องมีกฎระเบียบเคร่งครัดกว่าที่อื่นและทุกคนอยู่ภายใต้ระเบียบนั้นไม่ว่าแพทย์พยาบาลก็ตาม

“ส่วนประเด็นว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นการขัดรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่รับฟังจากพยานหลักฐานของจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง.... การจำกัดปริมาณผู้เยี่ยม เวลาเยี่ยม การส่งผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ แม้แต่การติดต่อสื่อสารที่จำเลยไม่อาจใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เหล่านี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงสถานะตัวบุคคลของคนนั้นๆ ด้วยว่าตนเองอยู่ในสถานะเช่นใดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานเหล่านั้น เพียงแต่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาลยังคงมีอยู่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิแต่อย่างใด” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

“วินิจฉัยแล้วว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายของผู้ตายไม่พอให้รับฟังได้ว่าสืบเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ดังที่ญาติผู้ตายกล่าวอ้าง.... ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ” คำพิพากษาระบุ 

อำพล อายุ 61 ปีขณะเสียชีวิต เป็นอดีตพนักงานขับรถที่ปลดระวางมาเลี้ยงหลานอยู่บ้าน เขาถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้น (SMS) มีข้อความดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นไปให้นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จากนั้นสมเกียรติจึงแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ อำพลถูกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดสมุทรปราการ ถูกขังอยู่ราวสองเดือนจึงได้รับการประกันตัว ต่อมาเมื่ออัยการสั่งฟ้อง เขาถูกคุมขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลยระหว่างต่อสู้คดี 23 พ.ย.2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเขามีความผิดจริง พิพากษาจำคุก 20 ปี (ข้อความ/กรรมละ 5 ปี 4 ข้อความ) ต่อมาวันที่ 8 พ.ค.2555 อำพลเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังป่วยมานานและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่กี่วัน 

30 ต.ค.2556 ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ อช. 10/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องไต่สวนการเสียชีวิตของนายอำพล ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยศาลสั่งว่าสาเหตุและพฤติการการตายคือระบบไหลเวียนโลหิตและทางเดินหายใจล้มเหลว จากมะเร็งตับระยะลุกลาม เป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยศาลยังฟังไม่เพียงพอว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษา (อ่านที่นี่)

ก่อนหน้านั้นวันที่ 7 พ.ค.2556 นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังป่วย แต่เจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดของผู้ฟ้องคดีได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นายอำพลถึงแก่ความตาย ให้กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะชำระเสร็จสิ้น 

25 ธ.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของ นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล โดยก่อนหน้านี้รสมาลินขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 44,505 บาทเนื่องจากการไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระ ดังนั้นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงเปิดขายเสื้อเพื่อระดมทุนเป็นค่าธรรมเนียมดังกล่าว (อ่านที่นี่)

23 เม.ย.2558 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2558 ว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม (อ่านที่นี่) คดีจึงถูกโอนไปยังศาลแพ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท