ปมส่งผู้ร้ายข้ามแดน 'บก.ต่างประเทศ เดอะเนชั่น' เตือนผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่าเพิ่งวางใจ

28 ต.ค. 2559 จากกรณีมีกระแสเรียกร้องให้มีการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 หรือการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ที่ลี้ภัยหรืออาศัยอยู่ต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้น โดยที่รัฐบาลมีปฏิกิริยา เช่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิด ม.112 กล่าวถึงการติดตามตัวผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 ว่า ตอนนี้ได้รับความร่วมมือจากประเทศที่กระทรวงยุติธรรมได้ประสานไปแล้ว โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหว และแต่ละประเทศได้โทรศัพท์มาหาตน มีการตื่นตัวและให้ความร่วมมือมากขึ้นกว่าเดิมนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (28 ต.ค.59) สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ "เดอะ เนชั่น" ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 'Supalak Ganjanakhundee' ถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยระบุว่า เห็นดรามากันมากเรื่องการล่าตัวผู้ต้องคดีหมิ่นฯที่ลี้ภัยในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกันคือ ลาวและกัมพูชาซึ่งเคยพัวพันกันด้วยเรื่องแบบนี้มามากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เลยใคร่อยากแสดงความเห็นเล็กน้อยพอให้มีความรู้พื้นฐานในการถกเถียงกัน

ในอดีตนั้นมักมีคนหนีการลงทัณฑ์จากประเทศทั้งสองข้ามมาอยู่ฝั่งไทยและรัฐบาลเพื่อนบ้านก็มาขอตัวไป เช่นกรณีด่านวังเต่าของลาวและกรณีซกเยือนของกัมพูชา แต่ในระยะหลังการเมืองไทยแตกแยกกันมากเรื่องก็กลับกัน ไทยเป็นฝ่ายต้องขอตัวคนหนีคดีไปฝั่งเพื่อนบ้านบ้างแล้ว ไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับลาว(1999)และกัมพูชา(2001—ความจริงลงนามกันปี 98 แต่มีให้มีผลในตอนหลัง) หากปรากฏว่าประเทศทั้งสองมีกฎหมายว่าด้วยความผิดนั้นๆ ต้องตรงกันกับไทยก็ขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมาลงโทษในไทยได้
 
สุภลักษณ์ ระบุอีกว่า ในกรณีนี้ต้องทราบเป็นพื้นฐานไว้ก่อนว่า ลาวไม่มีกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์เพราะเป็นสาธารณรัฐ ส่วนกัมพูชาเป็นราชอาณาจักรก็จริง แต่กฎหมายอาญากัมพูชาไม่มีหมวดว่าด้วยความผิดในการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่ต่อให้นำหลักว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาเทียบเคียง การบังคับใช้สนธิสัญญานี้ไม่ง่ายนักด้วยเหตุผลของความยุ่งยากซับซ้อนทางกฎหมายและที่สำคัญคนที่ถูกขอตัวภายใต้สนธิสัญญานี้มักต้องคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นหลักยกเว้นสำคัญของสนธิสัญญานี้ และแม้แต่ในกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทยเองก็ยกเว้นเรื่องการเมืองเอาไว้
 
สนธิสัญญาที่ไทยทำกับลาวและกัมพูชา สุภลักษณ์ ระบุว่า มีข้อความคล้ายๆ กันว่าด้วยเหตุแห่งการปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ 5 ประการด้วยคือ 1. เป็นคดีทางการเมือง หมายความว่าถ้าเป็นคดีการเมืองไม่ต้องมาขอตัวถูกปฏิเสธแน่นอน แต่ก็ยกเว้นกรณีการลอบสังหารหรือประทุษร้ายประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลและสมาชิกในครอบครัว
 
2. ต่อให้คำขอนั้นแอบแฝงคดีอื่นมาไม่ระบุโดยชัดแจ้งว่าเป็นคดีการเมือง แต่หากมีเหตุผลอันหนักแน่นที่เชื่อได้ว่า บุคคลที่ถูกขอตัวไปนั้นจะถูกดำเนินคดีเพียงเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติหรือความเห็นทางการเมือง หรือ สถานะของบุคคลที่จะถูกขอตัวไปดำเนินคดีทางศาลจะได้รับความกระทบกระเทือนเพราะเหตุปัจจัยดังกล่าว ก็เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธได้ 3. ความผิดที่ขอตัวนั้นเป็นเรื่องเฉพาะกฎหมายทางทหารของภาคีที่ร้องขอและไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของคู่ภาคีในสนธิสัญญา 4. เป็นคดีอื่นใดที่ห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือขัดกับหลักเรื่องอายุความแห่งคดี และ 5. ภาคีที่ได้รับการร้องนั้นได้มีคำพิพากษาต่อบุคคลที่ถูกขอตัวไปในความผิดฐานเดียวกันไปแล้ว เช่นนั้นก็ขอตัวไปไม่ได้
 
สุภลักษณ์ ระบุอีกว่า ไทยเคยใช้สนธิสัญญานี้ขอตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรในปี 2009 แต่ถูกรัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธมาแล้วด้วยเหตุผลว่าอดีตนายกต้องคดีที่มีลักษณะทางการเมือง 
 
"อย่างไรก็ตาม หลักทั่วไปว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเป็นหลักต่างตอบแทนและยืนอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศค่อนข้างจะมาก ตัวสนธิสัญญาก็มีข้อที่ให้ใช้ดุลยพินิจได้มาก" สุภลักษณ์ ระบุ
 
นอกจากนี้รัฐบาลไทยเคยใช้วิธีการอื่นที่สนธิสัญญาและกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ครอบคลุมไปถึงทำการส่งผู้ตัวชาวลาวในคดีวังเต่ากลับไปลาวมาแล้วเมื่อปี 2004 เมื่อศาลไทยปฏิเสธการส่งตัวคน 16 คนกลับลาวที่ทำการลุกฮือที่ด่านวังเต่าจำปาสักด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีการเมือง แต่รัฐบาลไทยในเวลานั้นใช้ข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายผลักดันพวกเขาออกไปทางช่องเม็กและบอกให้ทางการลาวมารับตัวไป นานาชาติพากันวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของไทยอย่างอึงมี่ แต่รัฐบาลก็เพิกเฉยเสีย ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เรื่องระหว่างประเทศก็มักมีช่องว่างแบบนี้เสมอ
 
สุภลักษณ์ สรุปด้วยว่า ดังนั้นผู้ที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไม่ควรนิ่งนอนใจรัฐบาลลาวและกัมพูชา อาจจะกำลังพิจารณาใช้ดุลยพินิจดูทิศทางและอำนาจทางการเมืองที่เป็นจริงในประเทศไทยอยู่ก็เป็นได้ รัฐบาลกัมพูชาออกมาแสดงท่าทีว่า กำลังพิจารณา ส่วนลาวยังทำเฉยๆ อยู่ตามสไตล์ อาจจะกำลังคิดต่อรองอะไรอยู่ก็ได้หรือถ้าเฉยมากก็อาจจะโดนรัฐบาลไทยทวงบุญคุณเอาตามหลักต่างตอบแทนก็ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท