Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2559  กลุ่มพลเรียน ร่วมกับ กลุ่มลานยิ้ม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาชุดการศึกษา : ประชาธิปไตย การกดขี่ และการวิพากษ์ ครั้งที่ 3 หัวข้อ “กรัมชี่กับการศึกษาเชิงวิพากษ์” ณ ห้อง EB4210 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อ.ดร.วัชรพล พุทธรักษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นองปาฐก และร่วมเสวนาโดย ดร.วัฒนา อัครพาณิช นักวิชาการอิสระ มัจฉา พรอินทร์ นักศึกษาปริญญาโทสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ธนากร สร้อยเสบ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย อภิสิทธิ์ บุตรวงษ์ นักศึกษากลุ่มพลเรียน

กรัมชี่กับการศึกษาเชิงวิพากษ์

วัชรพล พุทธรักษา

วัชรพล พุทธรักษา ปาฐกถา ในหัวข้อ “กรัมชี่กับการศึกษาเชิงวิพากษ์” โดยเริ่มกล่าวถึงภูมิหลังของกรัมชี่ในยุคก่อนเข้าคุกและยุคหลังเข้าคุก โดยในช่วงที่เข้าคุกกรัมชี่ได้เขียนสมุดบันทึกไว้จำนวนหนึ่ง ความคิดทางการศึกษาก็เป็นสิ่งที่อยู่ในสมุดบันทึกดังกล่าว  

สำหรับ การศึกษาเชิงวิพากษ์ของกรัมชี่ วัชรพล มองว่า การศึกษาเชิงวิพากษ์คือการทำให้ก้าวพ้นความเชื่อแบบเดิม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หลักการทางการศึกษาของกรัมชี ที่สำคัญมี 5 ประการ ไก้แก่ 1. การศึกษาต้องทำให้คนก้าวพ้นการมองโลกแบบเดิม 2. การศึกษาต้องไม่ใช่สำนวนโวหารที่พูดกันซ้ำซาก 3. การศึกษาต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบวิภาษวิธี  4. การศึกษาต้องไม่มองผู้เรียนเป็นเครื่องรับสัญญาณ  และ 5. การศึกษาต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ควรทำให้เสวนาเป็นองค์กรวัฒนธรรม คือ การรวมตัวกันทางความคิด ผลักดันความเชื่อตนไปสู่ความเชื่อใหม่ได้ ส่วนเรื่อง ปัญญาชนและการศึกษา สำหรับกรัมชี่ปัญญาชนเป็นใครก็ได้ แต่ต้องมีหน้าที่ทางสังคม (social function) ต้องพาหรือผลักประเด็น รวบรวมความคิดจากผู้คน แล้วเปลี่ยนมัน พาไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม สำหรับกรัมชี่การศึกษาคือเรื่องชนชั้น การมีอยู่ของโรงเรียนสองแบบ ได้แก่ โรงเรียนแบบคลาสสิค (Classical school) เป็นโรงเรียนของชนชั้นปกครองและของปัญญาชนชั้นนำ และแบบที่สอง ได้แก่ โรงเรียนเพื่อการอาชีพ (Vocational school) ซึ่งกรัมชี่มองว่าโรงเรียนเพื่อการอาชีพนั้น มีไว้สำหรับชนชั้นแรงงาน หรือเปรียบได้กับการเป็นกลไกในการผลิต และได้เสนอแนวทางว่ารัฐจะต้องจัดองค์กรการศึกษาให้เป็นของทุกคน หรือของสาธารณะ หรือที่เรียกว่า ‘Common school’ และทุกๆ ความสำพันธ์ของการ ‘ครองอำนาจนำ’ (Hegemony) คือ ความสัมพันธ์ของการศึกษา และในทางกลับกันความสัมพันธ์ของการศึกษา คือ การครองอำนาจนำ

10 ปี สังคมไทยสะท้อนถึงสภาพการศึกษาไทยอย่างไร

อภิสิทธิ์ เปิดประเด็นเสวนา โดยถามว่า “คิดว่าสถานการณ์สังคมไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนถึงสภาพการศึกษาไทยหรือไม่อย่างไร ?”

มัจฉา กล่าวว่า มันต้องย้อนไปมากกว่าสิบปี มันมีความสืบเนื่องของประวัติศาสตร์อยู่ และบางอย่างก็ไม่สืบเนื่องกันเลยนี่คือสิ่งที่เราต้องยอมรับ สิ่งที่ไม่พูดภายในสิบปีนี้ก็คือว่าข้อเสนอแนะของกรัมชี่ที่อาจารย์ได้ยกมาว่า ‘การศึกษาควรจะเป็นอย่างไร’ มันเป็นไอเดียมากๆ และมันควรจะเป็นแบบนั้น เราก็เรียนหนังสือ พอมองย้อนไปที่ประสบการณ์ของเรา พี่เรียนโรงเรียนบ้านนอกที่ครูไม่สอนหนังสือ ไม่มีหนังสือ ไม่มีห้องสมุด ไม่มีอะไรเลย พอครูไม่ค่อยสอน ประวัติศาสตร์เราก็ไม่ค่อยรู้ หรือประวัติศาสตร์ที่เรารู้มันก็ไม่สนุก เราเรียนซ้ำๆ ว่าพม่าตีกรุง เราเกลียดพม่ามาก ฟังอาจารย์สอนเสร็จเราก็บอกฆ่ามัน ซึ่งพอเรามาเห็นเพื่อนพม่ามันทำลายภาพมายาคติที่เราได้เรียนมาตลอดชีวิตว่า พม่าเป็นคนไม่ดี พม่าเป็นปัญหาสังคมอะไรแบบนี้ พม่าเป็นปัญหาของประเทศไทย พม่ามาแย่งงานคนไทยทำ ซึ่งเราก็เห็นว่าเขาทำงานในส่วนที่คนไทยแทบจะไม่ทำกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้เราเชื่อมโยงกับประสบการณ์ก็คือว่า เราถูกครอบงำในระบบการศึกษาอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีพื้นที่ให้เราได้หายใจหายคออยู่บ้าง ในบางพื้นที่

เราตั้งข้อสังเกตว่า ‘ทำไมเราถึงตั้งคำถามในห้องเรียนไม่ได้’ เรารู้เลยว่าระบบการศึกษาสร้างความเป็นไทย พยามให้เราเป็นพลเมือง และด้วยวัฒนธรรม ด้วยภาษาต่างๆ มันไม่ลงล่องปล่องชิ้นกับความเป็นไทยเสียทีเดียว เด็กจำนวนมากถูกกดขี่โดยระบบการศึกษาทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณด้วย กว่า 16 ปีที่การศึกษาปฏิเสธเขาตลอดเวลา และตั้งคำถามไม่ได้ว่าเราจะได้พลเมืองแบบไหน ซึ่งตอนนั้นพี่อยู่ประถมและมันทำให้เรามีความรู้สึกว่า ‘ต่อไปนี้ฉันจะไม่ถามอะไรอีกแล้ว’ เพราะถ้าถามก็อาจจะเจ็บ หรือไม่สามารถเรียนอย่างมีความสุขได้อีกต่อไป แต่มันโชคดีที่ว่า มนุษย์เราไม่ได้ยอมถูกกดขี่เสียทีเดียว เพราะฉะนั้นเราก็จะยังตั้งคำถามอยู่ แม้บางครั้งเรารู้ว่าถ้าถามด้วยคำพูดนี้ อาจจะโดนแบบนั้น เราก็มีวิธีตั้งคำถามของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่การศึกษาทำกับเด็กหรือเยาวชนในขณะนี้ คือไม่เอื้อให้น้องๆ รวมทั้งพี่ ไม่เอื้อให้ตั้งคำถามมากนักแม้กระทั่งผิวเผินแล้วมันจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร

มัจฉา กล่าวอีกว่า สิบปีที่ผ่านมาเราเห็นเลยว่าความรุนแรงมันมีมากขึ้น และเมื่อความรุนแรงมันมีมากขึ้น ซึ่งในสถาบันครอบครัวก็ได้รับผลกระทบ นักเรียน ถูกทำให้กลัวมากขึ้นในรอบสิบปีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เครียดกับการเรียนการสอนมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีคำตอบต่ออนาคตของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาเป็นสถาบันอย่างหนึ่งในสังคมที่สะท้อนยุคสมัยนั้นๆ และแน่นอนว่าเมื่อมันเกิดสถานการณ์แบบนี้แล้วมันส่งผลกระทบต่อน้องๆ อย่างน้อยที่สุดก็คือถ้าระบบเศรษฐกิจไม่ดี เราเรียนจบไปเราจะมีงานทำได้อย่างไร ถ้าเราตั้งคำถามไม่ได้หรือว่าเราไม่สามารถเอาความรู้ที่เราเรียนไปใช้ในชีวิตได้ เราถูกกำหนดโดยคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะพาเราไปสู่ยุคไหนก็ไม่รู้

วัฒนา กล่าวว่า ตนเป็นคนที่ช่างถามมาก แต่ตนไม่กล้าถาม เลยสะสมคำถามไว้มาก อันที่จริงตนรู้สึกว่าระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามเท่าไหร่ แล้วก็กลัวเด็กถามด้วย จริงๆ คนที่เป็นครูถ้าตอบคำถามไม่ได้ไม่เห็นต้องกลัวเลย ตอบไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่มีใครตอบคำถามทุกอย่างในโลกนี้ได้หรอก ถ้ามีคำถามแล้วตอบไม่ได้ก็ไปหาความรู้มาสิ ตนบอกนักเรียนของตนว่าคุณสามารถถามได้ทุกคำถาม แต่ตนไม่สามารถตอบได้ทุกคำถามของคุณ ถ้าคำถามไหนตอบไม่ได้ตนก็จะไปหาความรู้มาให้

วัฒนา กล่าวด้วยว่า ที่น่าห่วงคือการศึกษาไทยมีลักษณะเป็นทุนนิยมมากขึ้น มันเป็นเรื่องของการตลาด มองว่าการศึกษาคือการลงทุนมากขึ้น อันนี้มันคือสิ่งที่อันตรายมาก พอมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยต้องหาเลี้ยงตัวเองมากขึ้น ตอนเหตุการณ์ตุลาเราเรียกร้องอยากออกจากระบบ เราอยากเป็นอิสระจากระบบราชการ อยากบริหารจัดการวิชาการของตัวเอง พอมาปัจจุบันเขาให้ autonomy จริง แต่ต้องแรกมาด้วยการหาเลี้ยงตัวเองด้วย ซึ่งมันส่งผลหลายอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่ร้ายแรงที่สุดและตนรับไม่ได้ คือ ความไม่เสมอภาคของโอกาสทางการศึกษา ลูกคนจนไม่มีโอกาสเท่าลูกคนรวย แม้แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม   ซึ่งเงินของมหาวิทยาลัยมีด้วยกัน 2 ระบบ 1.เงินงบประมาณแผ่นดิน 2.เงินงอกงบประมาณ ก็คือค่าหน่วยกิต ค่าเทอมที่พวกเราจ่ายนั่นเอง ถ้ามหาวิทยาลัยของรัฐต้องเลี้ยงตัวเองมากขึ้นก็ต้องพึ่งเงินจากนักศึกษา  สำหรับตนการศึกษามันต้องฟรีด้วยซ้ำไป จะไม่มีคนจนแล้วไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องไม่มีนักศึกษาที่สอบเข้าแพทย์ได้แต่ไม่มีเงินเรียน ทุกคนที่มีความสามารถที่จะเรียนหนังสือ แล้วอยากจะเรียนต้องได้เรียนทุกคนนี่คือสิ่งที่รัฐต้องทำให้ แต่พอมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมันทำให้เราห่างจากตรงนี้มากขึ้น ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ พอเงินเดือนของอาจารย์ต้องได้มาจากค่าหน่วยกิต ค่าเทอมของนักศึกษา ก็ทำให้อาจารย์ต้องทบทวนแล้วเวลาจะให้นักศึกษาตกเยอะๆ อาจารย์ไม่ได้แกล้ง แต่ถ้าคุณภาพไม่ดีจริงเราก็ให้ผ่านไม่ได้ พอนักศึกษาออกเยอะก็ทำให้อาจารย์ถูกเลิกจ้างด้วย ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่อาจารย์ถูกเลิกจ้างเพราะนักศึกษาน้อยลง อธิการบดีบางแห่งพูดเลยว่า ‘นักศึกษาออกหนึ่งคนกระทบต่อเงินเดือนของพวกคุณทุกคน’ ซึ่งมันเป็นคำพูดที่น่าตกใจมาก คิดถึงระบบคุณค่า คุณธรรมก็ได้ คิดว่าอาชีพครูคืออาชีพที่สูงส่งมาก ตนเคารพครูบาอาจารย์ ตนมีวันนี้ได้เพราะครูทุกคน แต่ถ้าครูต้องเลี้ยงชีพด้วยน้ำพักน้ำแรงของนักศึกษา หรือที่มาจากพ่อแม่นักศึกษา ตนไม่รู้ว่าอาชีพครูมันจะมีคุณค่ายังไง เราเป็นครูซึ่งต่างจากติวเตอร์โรงเรียนกวดวิชาเพราะนั่นไม่ได้มีความผูกพันอะไรเพราะเขาขายความรู้ขายวิชา แต่ครูในโรงเรียนเขาไม่ได้เอาเงินเรา เรารู้สึกผูกพันและเคารพนับถือ แต่ถ้าเกิดว่าครูใช้ระบบเก็บค่าเรียนจากนักศึกษา วันข้างหน้ากลัวความสัมพันธ์อันนี้ที่เรามีมาช้านานมันจะสูญสลายไป แล้ววันหนึ่งเด็กจะมองว่าครูเป็นลูกจ้าง เงินเดือนครูทุกบาทมาจากกูทั้งนั้น ถ้าเด็กคิดแบบนี้นี่คือความเสื่อมที่ร้ายแรงของสังคม

ขระที่ ธนากร ได้เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างตอนเขาอยู่มัธยมว่า ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์เรื่องสีเสื้อ ซึ่งมันเป็นความขัดแย้ง มองว่าถ้าเรามีส่วนร่วมหรือแสดงออก ครอบครัวหรือสังคมก็อาจจะมองว่ามันทำให้เกิดความขัดแย้งอาจทำให้เกิดความเดือดร้อน และตอนนั้นตนเลือกที่จะอยู่เฉยๆ จากประสบการณ์ทางการศึกษารู้สึกว่าการศึกษาพยายามแยกตัวออกจากการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันแทบไม่ได้แยกกันเลย อย่างที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนคณะรัฐบาล เกิดรัฐประหาร เกิดสีเสื้อขึ้น เหล่านี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนนโยบายรวมถึงโครงสร้างรัฐ มีการปฏิรูปการศึกษา ยกตัวอย่างแนวความคิด hegemony ของกรัมชี่ เป็นการครอบครองทางอำนาจ ครอบงำทางความคิด เช่น เราเรียนประวัติศาสตร์ สอน 6 ตุลา 14 ตุลา เรารู้อยู่แค่นั้น จำไปสอบแค่นั้น ตนมองว่ามันเป็นการศึกษาสำเร็จรูป แกะออกมากินได้เลย ครูสอนมา จำ แล้วก็ไปสอบมันไม่ได้ใช้วิธีคิด ไม่ได้ผ่านกระบวนการการคิด วิจารณ์ หรือวิพากษ์ ตนมองว่าครูมีส่วนสำคัญที่จะลงไปเป็นคนจัดการ หรือเสียงของผู้เรียน หรือเสียงของประชาชน ควรมีส่วนร่วมเพื่อนำไปพัฒนาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การสลายระบบคุณค่าเดิมและสร้างใหม่ กับการสร้างครูที่เป็นปัญญาชน

ประเด็นที่สองและสาม “คิดว่าการจะสลายระบบคุณค่า(วัฒนธรรม)เดิมในสังคม เพื่อสร้างระบบคุณค่าใหม่ขึ้นมาจะทำอย่างไรได้บ้างและจะเริ่มรื้อหรือปรับแก้จากจุดใดก่อน  และในทัศนะของท่าน ท่านคิดว่าครูที่เป็นปัญญาชนขององค์กรครูหรือวิชาชีพครู (organic intellectuals) มีลักษณะอย่างไร และเราจะสร้างครูที่เป็นปัญญาชนดังกล่าวได้อย่างไร”

มัจฉา กล่าวว่า ระบบการศึกษามันเป็นไปไม่รอด ก็คือสิ่งที่เราเรียน หรือแม้กระทั่งไปทำงานโรงงานก็ยังต้องไปเรียนรู้ใหม่เลย แม้จะรับมาแบบสำเร็จรูปแล้ว แต่ก็เอาไปใช้ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ นั่นแปลว่าที่เราเรียนกันอยู่มันแทบจะเอาไปใช้ไม่ได้เลย แล้วเราจะสลายมันอย่างไร ในเมื่อมันใช้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ ระบบการศึกษากลายเป็นประทับตรา เป็นการไปสร้างคุณค่าแบบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขา เช่น ลูกแรงงานข้ามชาติ อย่างเช่น LGBT ในหนังสือเรียนยังบอกอยู่เลยว่า ถ้าเรามีเพื่อนเป็น LGBT ให้เราอย่าไปยุ่งกับเขาอะไรแบบนี้ ไม่แน่ใจว่ามันพัฒนาไปขนาดไหนแล้ว หรือเด็กที่ไม่มีสัญชาติที่เกิดในประเทศไทย แต่ด้วยกระบวนการได้มาซึ่งสัญชาติมันก็ยังไม่ได้ ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นใคร ทั้งๆ ที่บางคนเรียนจบที่ประเทศไทย หรือบางคนเป็นครูแล้วด้วย พอจบออกมาก็ไม่สามารถเข้าสู่การทำงานได้ เพราะฉะนั้นนอกจากการศึกษาจะเอาไปใช้อะไรไม่ได้แล้วในขณะเดียวกันมันสร้างริ้วรอยหรือว่าสร้างภาพประทับตรากับคนจำนวนมาก และไม่นำไปสู่ความเข้าใจในชีวิตและสังคม ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ผู้หญิง ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือแล้วมันก็ไม่สามารถที่จะมีอาชีพอะไรได้มากนัก และก็จะถูกบังคับให้แต่งงาน มีลูก ต้องวนอยู่ในวงจรแบบนั้นแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย แต่การศึกษาก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ไม่ใช่ว่าเราเรียนไปแล้วก็จะมีงานทำ มีชีวิตที่ดีได้ แต่อย่างน้อยที่สุดผู้หญิงต้องได้เรียน เราเลยต้องทำทุกอย่างเพื่อจะมาเรียนตรงนี้ให้ได้ เราจำเป็นต้องเรียนให้จบ แม้จะรู้ว่าเราเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เราก็สามารถสร้างความรู้ขึ้นเองได้ด้วยการนั่งรวมกลุ่มกัน แล้วก็จดจำว่าระบบการศึกษามันสร้างอะไรบ้าง เราเป็นคนอีสาน เป็นลาว ถูกเพื่อนหัวเราะในห้องเรียนไม่มีใครช่วยอะไรเราได้เลย ไม่มีเพื่อนคนไหนลุกขึ้นมาบอกว่าอย่าไปหัวเราะกัน ทำแบบนี้ไม่ถูกไม่ดี รวมทั้งอาจารย์ก็ไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องคนที่ถูกรังแกในห้องเรียน เพราะฉะนั้นเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ก็ลุกขึ้นมา ไปขอเงินยูนิเซฟ ( Unicef ) บอกว่านักศึกษาไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เราถูกละเมิดและไม่สามารถที่จะปกป้องตัวเองได้ เราอยากได้เงิน อยากอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน ตอนอยู่ปี 3 นั่นเป็นก้าวแรกที่ทำให้เราต้องจัดการศึกษาเอง พื้นฐานของการที่จะทำให้เกิดการสร้างคุณค่าใหม่

มัจฉา เสนอว่า เราต้องรื้อถอนความคิดความเชื่อฝังหัวเหล่านี้ เช่น เรื่องเพศ เรื่องอำนาจ เราต้องตั้งคำถามเพื่อที่จะรื้อ รื้อมันออกมาว่ามันทำงานกับเราอย่างไร มันส่งผลกับเราอย่างไร แล้วถามต่อว่าเราจะสร้างคุณค่าความหมายใหม่ได้อย่างไร คือมันมีโลกในอุดมคติอยู่แล้วว่ามนุษย์เราต้องเท่ากัน คำถามก็คือเราจะทำอย่างไรให้คนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นมา ตั้งคำถามแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นไปได้ไหมว่าตั้งคำถามกับมันแม้จะถูกบังคับ  ‘อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้เห็นว่าเราไม่ยอมรับ’ และสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็คือว่า เมื่อคนที่คิดว่ามันไม่ยุติธรรมมารวมกันเป็นกลุ่ม คิดทำอะไรอย่างสร้างสรรค์และสื่อสาร เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมภาพกว้าง ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชน หรือคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมได้มาเจอกัน  ต้องสามารถสื่อสารได้  สนับสนุนซึ่งกันและกัน และจะต้องเอื้อให้คนที่มีอำนาจน้อยได้พูดด้วย พอมารวมกันแล้วก็มาวางแผนกันว่าเราจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร แล้วก็ลุกไปต่อสู้ต่อรองกับคนที่มีอำนาจมากกว่า อันนี้จะอยู่ในรูปธรรมที่ว่า สิ่งที่เรียนมันใช้ไม่ได้  จับมือกัน ใช้ความสร้างสรรค์ ใช้สำนึกที่ดี ใช้การสื่อสาร แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับปัจเจก ตัวเราจะรับรู้ก่อนเลยว่านี่คือการเปลี่ยนแปลง แล้วกลุ่มเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม แล้วก็จะเห็นสังคมที่ขยับจากจุดที่มันกดทับแล้วไม่เห็นพื้นที่ ให้มันมีพื้นที่แล้วหายใจหายคอได้

วัฒนา กล่าววาตนอ่านกรัมชี่เมื่อประมาณปี 2527 อ่านมาสามสิบกว่าปีแล้ว ขอถามน้องๆ ก่อนว่าเคยเห็นขอทานไหม เคยให้เงินขอทานไหม เป็นไงชีวิตเขาดีขึ้นไหม เคยไปออกค่ายไหม ไปพัฒนาชนบทเคยไหม ชนบทดีขึ้นไหม ก็น้องๆ ไปกันสามวัน ชนบทจะดีขึ้นได้อย่างไร จริงๆ คนไทยเป็นคนมีจิตใจดีมาก อยากช่วยคนอื่น อยากทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เราต้องตั้งคำถามว่า ‘ที่เราช่วยไปมันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นจริงๆ รึเปล่า’ กรัมชี่เป็นคนหนึ่งที่ต้องการให้กรรมกรในอิตาลีมีชีวิตดีขึ้นจริงๆ  กรัมชี่ได้ปฏิเสธเรื่องโครงสร้างส่วนล่างและมาให้ความสำคัญกับโครงสร้างส่วนบน ซึ่ง Marxism รุ่นเก่าๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับโครงร่างส่วนบน เรื่องแรกเรื่องอุดมการณ์ เรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนธรรม เรื่องค่านิยม อะไรต่างๆ ที่มันครอบครองความคิดคนอยู่  ตนชื่นชมอย่างหนึ่งว่า ‘คนเก่งแม้ติดคุกก็ใช้เวลาในคุกอย่างมีความหมายได้’ คนเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ทำประโยชน์ให้กับโลก ให้สังคมได้ทั้งนั้น ตนเชื่อว่าสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตก็คือสมอง ความคิด ยินดีพิการทุกอย่างแต่ขอไม่พิการสมอง ถ้าไม่พิ­การสมองเราทำอะไรได้ทุกอย่างเลย อย่าคิดว่าเราแขนขาดีแล้วจะไม่พิการสมอง ถ้าเราไม่รู้จักฝึกคิดที่ดีคือคิดแบบ critical thinking หรือการคิดแบบมีวิจารณญาณ หรือคิดแบบเชิงวิพากษ์ คิดว่าเป็นสิ่งที่โดยเฉพาะการศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย ควรสอนให้นักศึกษาคิดเป็น คิดอย่างมีวิจารณญาณ  กรัมชี่บอกว่า ต่อให้คุณยึด political system ระบบการเมืองได้ก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่สามารถยึด civil society สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของคนในสังคม เป็นวัฒนธรรม ประเพณี เป็นอุดมการณ์เป็นความคิดของคนในสังคม คุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นได้

วัฒนา ได้เปิดวิดีโอ Plato allegory of the cave - Alex gender ให้ดู นิทานเรื่องนี้สอนอะไร คำถามคือทุกวันนี้เราเป็นคนที่ถูกล็อกคออยู่ในถ้ำรึเปล่า คำถามที่สอง น้องๆ ที่กำลังจะจบไปเป็นครู กำลังเป็นคนฉายภาพให้คนที่ถูกล็อกคอเห็นภาพ ในแบบที่เราอยากให้เห็นรึเปล่า ภาพที่เราฉายเป็นของจริงหรือของปลอม เป็นคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียมนี่ ตนชวนคิด ทุกคนต้องคิดหาคำตอบเอง ตอนนี้หลายคนคิดแล้วว่าได้ออกจากถ้ำแล้ว ลูกศิษย์หลายคนคิดแบบนั้นออกจากถ้ำดีใจกันใหญ่ น่าเสียดายไปอยู่ถ้ำใหม่ นี่คือการศึกษาเชิงวิพากษ์ที่อยากให้พวกเราคิดว่า เราควรจะตั้งคำถามกับระบบคุณค่าทางสังคมกันใหม่ ว่าระบบคุณค่าทางสังคมมันเป็นของจริงแท้แค่ไหนอย่างไร ‘การเหวี่ยงไปด้านตรงข้ามของสิ่งที่ผิด อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกเสมอไป – to swing to the opposite side of the wrong thing may not be the right thing’

ในส่วนของการเรียนการสอน วัฒนา กล่าวว่า วิธีการสอนแต่ละรูปแบบมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและเวลา สถานการณ์ เนื้อหาสาระที่เราสอน สามารถใช้วิธีการหลายวิธีมาปะปนกันได้ ไม่อยากให้คิดแบบสุดโต่งว่าถ้าไม่ใช้วิธีนั้น ต้องใช้วิธีนี้เท่านั้น ‘การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ ปิศาจตัวจริงที่หลอกหลอนสิ่งไร้เหตุผลทุกชนิด’

ธนากร กล่าวว่า ถ้าจะสลายระบบคุณค่าเดิมก็ต้องเริ่มจากระดับปัจเจกก่อน เราควรตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ความเชื่อ วัฒนธรรม ถามตัวเองก่อนว่า ที่ดำเนินไปมันเป็นแบบนี้จริงไหม เราต้องทำแบบนี้ไหม ต้องมองว่าทำไมเกิดเหตุการณ์นี้ หรือผลที่ตามมามันเป็นอย่างไร ซึ่งค่านิยมเดิมของการศึกษามันไปกดทับผู้เรียน อย่างเรื่องของอายุ ครูใช้ความรุนแรง หรือการยกเอาอำนาจของความเป็นครู ที่มองว่าตัวเองสูง หรือผู้เรียนตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ผิด เหล่านี้คิดว่ามันจะไปปิดกั้นความคิดและอิสรภาพของผู้เรียน ตนมองว่า การตั้งคำถามถึงแม้คนอื่นจะมองว่าผิดแต่มันดีกว่าการอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้มันดำเนินต่อไป’

ขณะที่เรื่องของครูที่เป็นปัญญาชนนั้น  ธนากร มองว่า ครูไม่ใช่ครู การยกตัวเองด้วยคำว่าครูมาเป็นอำนาจในการกดทับ ซึ่งมันมีอำนาจนิยมเป็นเส้นกั้นในการกดับระหว่างครูและนักเรียน เช่น ขอยกตัวอย่างการสร้างกรอบความคิดของคนที่จะออกไปเป็นครู ในคณะศึกษาศาสตร์ การผลิตครูออกไปโดยใช้ระบบรับน้องแบบ sotus  มองว่ามันเป็นการสร้างความรู้สึก หรือการสร้างคิดแบบอำนาจนิยมที่ส่งผลต่อการไปเป็นครูในอนาคต เราจึงควรตั้งคำถามและมองย้อนไปว่าทำเพื่ออะไร รู้สึกอย่างไร หรือมันได้อะไร ครูหลายๆ คน ใช้อำนาจให้เกิดความกลัวเป็นตัวจัดการในชั้นเรียน ซึ่งมันเป็นการไปปิดกั้นความคิด ความรู้สึก หรือการแสดงออกของนักเรียน ดังนั้นครูในลักษณะปัญญาชน ควรเป็นผู้ที่สนใจการเมืองเพราะการเมืองแยกออกจากการศึกษาไม่ได้ และต้องให้ความเท่าเทียมหรือมองเห็นนักเรียนมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน  ไม่ยกตัวเองสูง และตามการวิพากษ์ของกรัมชี่ ครูควรเป็นผู้ไปจี้จุดหรือไปเขย่า common sense หรือการมองโลกของผู้เรียน  การมองวัฒนธรรม หรือความคิดคติแบบเดิมว่ามันดีไหม หรือควรปรับเปลี่ยนในด้านไหน

โดยในตอนท้าย อภิสิทธิ์ ได้สรุปจากการเสวนาในวันนี้ ว่า ประเด็นหลักๆ ก็จะเป็นในเรื่องความเสมอภาค การใช้อำนาจในแนวราบ ในโรงเรียนหรือระบบการศึกษา หรือในสังคมในปัจจุบันนี้ ใช้อำนาจในแนวดิ่งตลอด และส่งผลให้เกิดการกดขี่ กดทับทางความคิด ครอบงำ จนเราไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ได้เลย และการศึกษาที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ต้องเริ่มจากตัวเรา แต่ตัวเราเองก็ต้องคิด พิจารณา วิพากษ์ตัวเองด้วยว่า ความคิดที่เราจะหลุดออกไป เป็นความคิดที่ถูกต้องแล้วหรือเปล่า ไม่เพียงแต่วิพากษ์คนอื่น แต่ต้องวิพากษ์ตัวเองด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net