สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ก ข ค เลือกตั้งอเมริกา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะตัดสินว่า ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจสูงสุดของโลกในระยะ 4 ปีข้างหน้า โดยประธานาธิบดีที่ชนะเลือกตั้งจะรับตำแหน่งเข้าบริหารประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมของปี พ.ศ.2460 เป็นต้นไป

ตามรัฐธรรมนูญอเมริการะบุไว้ว่า ผู้ที่จะสมัครประธานาธิบดีมีคุณสมบัติเพียงเป็นพลเมืองอเมริกาโดยกำเนิด มีอายุอย่างน้อย 35 ปี แต่ในทางปฏิบัติผู้สมัครสำคัญมักจะต้องเคยเป็นวุฒิสมาชิก ผู้ว่าการรัฐ หรือตำแหน่งทางการเมืองอื่นมาก่อน อันที่จริงการเลือกตั้งทุกครั้ง มีพรรคการเมืองจำนวนมากส่งผู้สมัครชิงตำแหน่ง และยังมีผู้สมัครอิสระอีกจำนวนหนึ่ง แต่ผู้สมัครที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งมาจากพรรครีพับลิกกันหรือเดโมแครตเพียงสองพรรคเท่านั้น

ถึงกระนั้นต้องเข้าใจว่า พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคของสหรัฐไม่ใช่องค์กรทางการเมืองที่มีระดับชั้นการนำที่เป็นเอกภาพและรวมศูนย์ แต่เป็นพรรคที่มีองค์กรกระจัดกระจายทุกมลรัฐ ผู้สมัครที่จะได้เป็นตัวแทนของสองพรรคในการลงสมัครประธานาธิบดี จะต้องหาเสียงสะสมคะแนนสนับสนุนให้ได้มากที่สุดในระดับมลรัฐ การหาเสียงรวบรวมคะแนนของสองพรรคใหญ่ เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตมีผู้สมัคร คือ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และคู่แข่งสำคัญ คือ เบอร์นี ซอนเดอร์ วุฒิสภาจากเวอร์มอนต์ ส่วนพรรครีพับลิกกัน ผู้นำสมัครสำคัญคือ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทนางงามจักรวาล เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากเท็กซัส จอร์น คาซิช ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ และ เจฟ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา น้องคนเล็กของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับบริว บุช เป็นต้น จนถึงการประชุมใหญ่ของสองพรรคในเดือนกรกฎาคม ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้ชนะจากทั้งสองพรรค คือ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับริกัน

ต่อมา ผู้สมัครทั้งสองก็เลือกผู้สมัครรองประธานาธิบดี ฮิลลารีเลือก วุฒิสมาชิกทิม เคน จากเวอร์จิเนีย และ ทรัมป์ เลือก ไมค์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียนา

มีการประเมินกันว่า ผู้สมัครทั้งสองคนกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่มีปัญหาที่สุดในประวัติศาสตร์ เริ่มจากเรื่องสูงอายุ เพราะทรัมป์มีอายุถึง 70 ปี ส่วนฮิลลารีอายุ 69 ปี ยิ่งกว่านั้น ทั้งคู่ต่างมีจุดอ่อนมาก ปัญหาของฝ่ายโดนัลด์ ทรัมป์ แรกสุดมาจากการแสดงแนวความคิดอนุรักษ์นิยมจัด ต่อต้านผู้อพยพต่างชาติ ที่เป็นที่ฮือฮา คือ ทรัพป์หาเสียงโดยโจมตีชาวเม็กซิกันอพยพว่า “พวกเขานำมาซึ่งยาเสพติด, อาชญากรรม และยังเป็นพวกจอมข่มขืน” และยังบอกว่า สหรัฐอเมริกา ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาตลอด ในการค้าขายกับเม็กซิโก ต่อมา ก็ยังยืนยันความเป็นจริงตามนโยบายนี้ โดยเสนอให้สร้างกำแพงกั้นพรมแดนอเมริกา-เม็กซิโก และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงงบประมาณที่จะใช้สร้าง ทรัมป์ยืนยันว่า จะให้รัฐบาลเม็กซิโกช่วยจ่าย การหาเสียงลักษณะนี้ ทำให้ทรัมป์กลายเป็นที่เกลียดชังอย่างมากในเม็กซิโก และลาตินอเมริกา

ที่เป็นปัญหาต่อมา คือการที่ทรัมป์โจมตีชาวมุสลิมว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และเสนอให้อเมริกาห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ สำหรับชาวมุสลิมในอเมริกาก็จะให้ใช้บัตรประจำตัวชนิดพิเศษ กรณีนี้ ทำให้ทรัมป์ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากกาซาลา ข่าน หญิงชาวอเมริกันมุสลิม ที่ลูกของเธอไปเป็นทหารรบแล้วเสียชีวิตในอิรัก

นอกจากนี้ การปราศรัยแบบปากไม่ดีของทรัมป์ก็จะนำไปสู่การทะเลาะกับคนอื่นเสมอ และยังมีข่าวเสียหายเกี่ยวกับเรื่องการเลี่ยงภาษีทางธุรกิจของเขา จนกระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีการแฉหลักฐานที่ทรัมป์เคยพูดดูถูกผู้หญิงเมื่อ 11 ปีก่อน และยังมีเรื่องที่นินนี ลาคโซเนน อดีตนางงามฟินแลนด์ ออกมากล่าวหาว่า ถูกทรัมป์จับสะโพกก่อนออกรายการโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ.2549 จนกระทั่งเมลาเนีย ผู้เป็นภรรยาของทรัมป์ต้องมาช่วยแก้ต่างว่า สามีของเธอเป็นสุภาพบุรุษ

สำหรับฮิลลารี ประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตี คือ เรื่องระหว่างรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ใช้อีเมล์ส่วนตัวส่งเรื่องราวราชการ และเรื่องพฤติกรรมเกี่ยวกับสตรีของบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีผู้เป็นสามี และยังมีความหวางระแวงว่า ฮิลลารีนั้นเป็นฝ่าย”กระแสหลัก”ที่สืบเนื่องจากรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา และจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ชัดเจน ประเด็นต่อมาคือปัญหาเรื่องสุขภาพ หลังจากที่เธอล้มป่วยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

ก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะได้รับเชิญให้มาออกรายการดีเบทออกโทรทัศน์ทั่วประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ การดีเบทในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามี 3 ครั้ง ผลสำรวจปรากฏว่าฮิลลารีแสดงการตอบโต้และอธิบายชนะใจผู้ชมได้ดีกว่า และจากการสำรวจล่าสุด ฮิลลารียังมีคะแนนนิยมนำอยู่ราว 47% ต่อ 41 %

ระบบเลือกตั้งของอเมริกาตัดสินกันที่การเลือกตั้งทางอ้อม เพราะแม้ว่าจะมีการลงคะแนนจากประชาชนโดยตรงที่เรียกว่า “ป็อปปูลารโหวต” แต่ชัยชนะแท้จริงอยู่ที่ระบบเลือกทางอ้อมที่เรียกว่า “อีเล็กตอรัลโหวต” หรือคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งมาจากจำนวนเสียงทางอ้อมที่จัดให้แต่ละมลรัฐตามสัดส่วนประชากร เช่น รัฐนิวยอร์คจะมีเสียงผู้เลือกตั้ง 29 คะแนน รัฐคาลิฟอร์เนียมี 55 คะแนน รัฐเล็กเช่น โรดไอร์แลนด์มี 4 คะแนน เป็นต้น ผู้ชนะในแต่ละรัฐจะได้คะแนนเสียงผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ซึ่งทั่วทั้งประเทศจะมีคะแนนผู้เลือกตั้ง 538 คะแนน ผู้ชนะจะต้องได้เกินครึ่ง คือ ราว 270 คะแนนขึ้นไป ตัวอย่างจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2555 โอบามาจากพรรคเดโมแครตได้เสียงผู้เลือกตั้ง 332 คะแนน มิต รอมนีย์จากพรรครีพับลิกันได้ 209 คะแนน

สรุปจนถึงวันนี้ ฮิลลารีน่าจะมีโอกาสชนะ ซึ่งถ้าเป็นดังนี้ สหรัฐจะมีประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่กระนั้น แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ในสหรัฐก็ยังเห็นว่า ทรัมป์ยังมีโอกาสจากการสนับสนุนของกระแสอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาและฝ่ายล้าหลังในอเมริกา ที่ยังเชื่อว่า ทรัมป์เป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าสำหรับประเทศ เพราะฮิลลารีเป็นพวกสร้างภาพหลอกลวง แต่ทรัมป์เป็นคนจริงใจ ซึ่งถ้าเป็นดังนี้ สหรัฐก็จะมีประธานาธิบดีที่ขวาที่สุดในประวัติศาสตร์

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 589 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท