Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ นบข. ถกปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เผยหลักการของรัฐบาลคำนึงถึงต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ในพืชทุกชนิด คุยหากแก้ตามแนวนี้รับรองไม่เกิน 5 ปี ชาวนากับชาวไร่รวยขึ้นเยอะแยะ ยันเห็นใจทุกคน ถามกลับจะต้องอุดหนุนไปถึงเมื่อไหร่

 

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล 7 พ.ย. 2559 (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

7 พ.ย. 259 เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 8/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมหารือการบริหารจัดการข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากการแก้ปัญหาให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวปทุมธานี ซึ่งหลักการให้ดำเนินการในลักษณะใกล้เคียงกับกรณีข้าวหอมมะลิโดยไม่ให้เกิดความแตกต่างกัน

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ โดยกล่าวแสดงความห่วงใยประชาชนทุกคน และยืนยันรัฐบาลไม่ทอดทิ้งเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ซึ่งรัฐบาลดำเนินการโดยรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกรชาวนา โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าว ข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ การดำเนินการในปัจจุบันและที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการแก้ปัญหาปลายทางมาโดยตลอด แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องทำให้ถูกกฎหมายและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกมาตรการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิไปแล้ว โดยวันนี้ที่ประชุมจึงได้มีการพิจารณาเรื่องของโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2559/60 นาปี หรือ รอบที่1 โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกปทุมธานี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม รวมทั้ง รัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการรองรับในส่วนของข้าวประเภทอื่น ๆ ด้วย หากราคามีปัญหา

"รัฐบาลต้องคิดล่วงหน้าแบบนี้ นี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายทางทั้งสิ้น แล้วก็แก้อย่างนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งประชาชนคุ้นเคยเกษตรกรคุ้นเคย มันก็เลยทำให้วงจรการแก้ปัญหานี้ทำได้ยาก เพราะรัฐบาลนี้มุ่งย้อนไปที่ต้นทาง ผู้ผลิต ซึ่งมีหลายกิจกรรมด้วยกันที่ต้องทำ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ ของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนว่า ต้องสร้างมาตรการให้เกิดความเข้มแข็งโดยดำเนินการให้ครบวงจรทั้งระบบตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ให้กับเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ที่เน้นการดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง คือผู้ผลิต โดยให้พิจารณาในเรื่องของการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวลงและปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยไม่ใช่พืชเชิงเดียว โดยใช้แผนที่ Agri Map เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของนาแปลงใหญ่  ลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการใช้น้ำอย่างเป็นระบบลดการใช้น้ำ จัดรอบการผลิต การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกข้าว และพิจารณาอุปสงค์และอุปทาน ( Demand and Supply) ประกอบการดำเนินการด้วย ส่วนกลางทาง เช่น โรงสี พ่อค้าคนกลาง สหกรณ์ การแปรรูป สร้างนวัตกรรม วิจัยพัฒนา เพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการหนี้เกษตรกรชาวนา และปลายทาง เช่น ตลาดในประเทศ ต่างประเทศ โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ธ.ก.ส. กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ) ขับเคลื่อนโดยบริษัทประชารัฐ ดำเนินการขายปลีก การจำหน่ายให้โรงสีและพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกชุมชน (ตลาดกลาง) โดยสีข้าวด้วยเครื่องสีข้าวขนาดเล็กหรือสหกรณ์เป็นผู้สี เพื่อนำมาแบ่งใส่ถุงจำหน่ายในตลาดชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในเรื่องของการสีข้าวและการผลิตข้าวด้วยตนเอง รวมทั้งเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีสถานที่จำหน่ายและได้รับความเป็นธรรม เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดความชื้น ตรวจสอบคุณภาพข้าว เป็นต้น พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ รวมถึงแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
 
"ประชาชนมีความคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาปลายทาง สนใจอยู่แค่นี้ จนกระทั่งลืมไปว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ ต้นทางมีอะไรบ้าง"
 
"หลักการของรัฐบาลที่จะต้องคำนึงถึงต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ในพืชทุกชนิด พืชทุกชนิด การเกษตรทุกชนิด ต้องเป็นแบบนี้ ท่านทำอะไรที่มากเกินไปไม่มีคุณภาพมันก็ขายไม่ได้อยู่ดี แล้วจะต้องอุดหนุนไปถึงเมื่อไหร่ ใช่ไหมล่ะ วันนี้ผมเห็นใจเห็นใจทุกคนนั่นล่ะ  ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน มันต้องอุดหนุนตรงปลายมาตลอด ก็ต้องไปดูว่าต้นทางมันเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนไม่เข้าใจตรงนี้ มันก็วกกลับไปกลับมา ก็เดือดร้อนหมด"  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบอย่างกว้างขวางและเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและประชาชนทุกกลุ่ม

"เดี๋ยวก็ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโพดในประเทศข้าวโพดนำเข้าพันกันไปหมดล่ะ รัฐบาลก็กำลังเตรียมอยู่ ยังไม่ต้องรีบเรียกร้องอะไรขนาดนี้หรอก ตอนนี้เขากำลังแก้อยู่ แต่มันแก้สิ่งที่มันเกิดมา 20 ปี 30 ปี มันแก้ได้ภายในวันเดียวได้ไหม ไม่ได้หรอกครับ มันต้องแก้ระบบทั้งระบบ ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ถ้าแก้อย่างนี้ได้ผมรับรองไม่เกิน 5 ปี ชาวนากับชาวไร่รวยขึ้นเยอะแยะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 

มาตรการช่วยเหลือ ข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวเปลือกปทุม

ขณะที่ อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 เพิ่มเติม โดยที่ประชุมเห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2559/60 นาปี หรือ รอบที่ 1 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บข้าวไว้ก่อนโดยไม่ต้องรีบขายข้าวทันทีในช่วงที่ราคายังต่ำอยู่ ซึ่งเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายได้ สำหรับการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2559/60 นาปี หรือ รอบที่ 1 มีดังนี้

1) ข้าวเปลือกเจ้า กำหนดราคาเป้าหมายต่อตัน 7,000 บาท ค่าเตรียมข้าวขึ้นยุ้งและค่าฝากเก็บ 1,500บาท/ตัน  ค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพ 2,000 บาท/ตัน (รายละไม่เกิน 10 ไร่ )  โดยชาวนาได้รับเงิน 10,500 บาท/ตัน กรณีขึ้นยุ้ง ส่วนกรณีไม่ขึ้นยุ้ง ชาวนาจะได้รับเงิน 9,000 บาท/ตัน  2) ข้าวเปลือกปทุม กำหนดราคาเป้าหมายต่อตัน 7,800 บาท ค่าเตรียมข้าวขึ้นยุ้งและค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพ 2,000 บาท/ตัน (รายละไม่เกิน 10 ไร่ ) โดยชาวนาได้รับเงิน 11,300 บาท/ตัน กรณีขึ้นยุ้ง ส่วนกรณีไม่ขึ้นยุ้ง ชาวนาจะได้รับเงิน 9,800 บาท/ตัน ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรชาวนามาขึ้นทะเบียนโดยเร็ว เพื่อจะรับความช่วยเหลือตามมาตรการโครงการดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกมาจำนวนมากนั้น กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ จะเชิญผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศทั่วโลก 15 ประเทศ จำนวน 150 กว่าราย เพื่อซื้อข้าวจากเกษตรกรชาวนาโดยตรง รวมถึงกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มผู้ส่งออกด้วย โดยตลาดการซื้อขายข้าวดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2559 ณ เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net