Skip to main content
sharethis

รายงานของสมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN America) ระบุถึงความซบเซาของวงการหนังสือฮ่องกง อันเป็นผลจากการเซ็นเซอร์และปราบปรามจากรัฐบาลจีน แทนที่ฮ่องกงจะได้เป็นศูนย์ธุรกิจการพิมพ์ในภูมิภาค โดย PEN ยังเรียกร้องให้ทางการฮ่องกงปกป้องหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เอาไว้เพื่อคุ้มครองเสรีภาพ


รายงานของ PEN America (คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม)

7 พ.ย. 2559 สมาคมนักเขียนสากล สหรัฐอเมริกา (PEN America) เผยแพร่รายงานระบุว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ของฮ่องกงกำลังเผชิญกับการกดดันจากทางการจีนแผ่นดินใหญ่ให้เซ็นเซอร์ในสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวจนทำให้เกิดความซบเซาในวงการสิ่งพิมพ์จากการที่ร้านหนังสือต้องปิดตัวลงและมีจำนวนผู้จัดพิมพ์ลดลง

รายงานของ PEN อเมริกาออกมาหนึ่งปีภายหลังเกิดกรณีที่ทางการจีนจับกุมตัวคนพิมพ์หนังสือชาวฮ่องกง 5 ราย มีบางรายที่ถูกลักพาตัวและนำตัวข้ามเขตแดน รวมถึงมีการกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นเป็นเวลาหลายเดือน ผู้คนเหล่านี้ทำหนังสือเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเหล่าผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการสมคบคิดทางการเมืองในหมู่ชนชั้นนำจีนแผ่นดินใหญ่

กรณีลักพาตัวคนขาย-จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว หนึ่งในผู้ถูกลักพาตัวคือ กุ้ยหมินไห่ ถูกทำให้หายตัวไปในช่วงที่พักอยู่ในประเทศไทยยังคงอยู่ ขณะที่อีก 4 คนที่เหลืออาจจะถูกจับกุมตัวอีกถ้าหากกลับไปและอาจจะยังอยู่ภายใต้การสอดส่องโดยรัฐบาลจีน หนึ่งในคนขายหนังสือที่ถูกจับชื่อ ลีปอ เป็นพลเมืองอังกฤษ

เดอะการ์เดียนระบุว่าผู้คนทั้งในและนอกฮ่องกงกำลังกังวลว่าแนวทาง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งกำหนดให้ฮ่องกงมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่กำลังถูกทำลายลงเนื่องจากการลิดรอนเสรีภาพโดยรัฐบาลจีน

ซูซานน์ นอสเซล ผู้อำนวยการบริหารของ PEN อเมริกากล่าวว่าในขณะที่ประชาชนชาวฮ่องกงตกอยู่ภายใต้การบีบเค้นของจีนแผ่นดินใหญ่ สถานะด้านเสรีภาพสื่อและสถานะการเป็นศูนย์ธุรกิจการพิมพ์ในภูมิภาคก็ได้รับผลกระทบ นอสเซลจึงเรียกร้องให้ทางการฮ่องกงปกป้องหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เอาไว้เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการสร้างสรรค์และทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่รุ่งเรือง

ฮ่องกงมีร้านหนังสือ 16 ร้านที่สนามบินฮ่องกงซึ่งขายหนังสือที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เป็นแหล่งที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่สามารถซื้อหาสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ได้ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาร้านหนังสือเหล่านี้ถูกปิดไปถึง 11 ร้าน นอกจากนี้ยังมีการปิดร้านหนังสือที่เน้นขายหนังสือการเมืองในฮ่องกงด้วย

การที่ร้านหนังสือเหล่านี้ถูกปิดตัวลงยังทำให้เกิดบรรยากาศเซ็นเซอร์ตัวเอง ยู่เจี๋ยนักเขียนชาวจีนและกิจกรรมการเมืองที่อยู่นอกประเทศเปิดเผยว่าหลังจากมีกรณีการลักพาตัวคนพิมพ์หนังสือในฮ่องกงผลงานของเขาก็ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ที่เคยตีพิมพ์งานให้เขาโดยบอกกับเขาตรงๆ ว่ากลัวถูกลักพาตัวแบบกรณีของลีปอ

เดอะการ์เดียนระบุอีกว่างานเทศกาลหนังสือประจำปีของฮ่องกงที่จัดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีคนมาออกบูธที่ขายหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและผลงานที่ "ต้องห้าม" น้อยลง อย่างไรก็ตามรายงานของ PEN ระบุว่าผลงานที่สำนักพิมพ์ฮ่องกงไม่ยอมตีพิมพ์ให้จะยังคงมีการเผยแพร่ในไต้หวัน สำนักพิมพ์ฮ่องกงเองก็ตัดพ้อว่ามีอยู่น้อยรายที่จะเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือให้พวกเขา

รายงานของ PEN อเมริกายังวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง อังกฤษ และสวีเดน ที่ไม่ยอมทำอะไรเพื่อปกป้องพลเมืองของตนเอง และยังวิจารณ์ประชาคมโลกที่เอาเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่เหนือสิทธิมนุษยชนทำให้ไม่ยอมประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน

 

เรียบเรียงจาก

Hong Kong publishing industry shrinking under pressure from China – report, The Guardian, 07-11-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/nov/07/hong-kong-publishing-industry-shrinking-under-pressure-china

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net