กัญชาถูกกฎหมาย: เป็นไปได้หรือแค่ฝันลำเอียง

สำรวจแนวคิด 'เสรีกัญชา' จากยาเสพติดที่ต้องปราบสู่ยารักษาโรค พูดคุยกับตัวแทนภาครัฐและภาคประชาสังคมถึงความเป็นไปได้ของ 'เสรีกัญชาในประเทศไทย' ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ พร้อมฟังเสียงของคนที่กัญชาไม่ได้มีเอาไว้เมา หากแต่สำคัญถึงชีวิต

 

สงครามที่มนุษยชาติพ่ายแพ้ร่วมกัน

“ผู้ใช้ยาเสพติดคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของรัฐ” คำพูดดังกล่าวเป็นของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสันในปี 1971 ซึ่งนับเป็นคำประกาศที่นำโลกเข้าสู่สงครามยาเสพติดที่กินเวลานานกว่า 4 ทศวรรษ ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐฯ ได้อัดฉีดเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลให้ชาติต่างๆ นำไปปราบปรามยาเสพติดในประเทศตัวเอง สงครามดังกล่าวตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ายาเสพติดคือแหล่งทุนจำนวนมหาศาลของเหล่างองค์กรอาชญากรข้ามชาติและเป็นภัยคุกคามของทุกประเทศในโลก

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (ภาพจาก US News)

ในปี 2546 ประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมในสงครามนี้เช่นกัน ภายใต้การนำของนายกทักษิณ ชินวัตร ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2,873 ศพภายในปีเดียว หลังจากนั้น การฆ่าตัดตอนคดียาเสพติดก็พุ่งสูงขึ้นนับแสนคดีต่อปี แต่ที่น่าเศร้าคือคนเหล่านั้นเป็นเพียงพ่อค้ารายย่อย เด็กส่งยา หรือแรงงานรับจ้างที่ใช้ยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการทำงานของพวกเขา น้อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นพ่อค้ายารายใหญ่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สงครามดังกล่าวได้ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ในปี 2558 มีผู้ต้องขังในคดียาเสพติดมากถึง 214,144 คนจากผู้ต้องขังทั้งหมด 310,399 คน และยังส่งผลให้ประเทศไทยครองอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดในโลก ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคดียาเสพติด

อย่างไรก็ตาม โลกได้ประกาศยกธงขาวกับยาเสพติดอย่างเป็นทางการในปี 2016 เมื่อนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติผู้ผลักดันสงครามต่อต้านยาเสพติดในเวทีโลก ออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า “โลกที่ปราศจากยาเสพติดเป็นเพียงภาพลวงตา” และยังกล่าวอีกด้วยว่า “สงครามต่อต้านยาเสพติดคือสงครามต่อต้านประชาชน” และในการประชุมพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยนโยบายยาเสพติดปี 2016 (UNGASS 2016) มนุษยชาติก็มีความเห็นร่วมกันว่าแนวทางการปราบปรามยาเสพติดนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิงและหันมาเน้นนโยบายเชิงควบคุมดูแลแทน

ในประเทศตะวันตก สารเสพติดที่ได้รับการลดหย่อนโทษทางอาญา (Decriminalization) เป็นอันดับต้นๆ คือกัญชา เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย ทำให้พืชชนิดนี้กระจายอยู่ในทั่วทุกพื้นที่และเป็นพืชเสพติดที่คนนิยมใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 อีกทั้งยังให้ผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ หรือแม้แต่แอลกอฮอล์ นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา หลายประเทศได้รุดหน้าในการลดหย่อนโทษทางอาญาของกัญชาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐฯ แม็กซิโก อุรุกวัย และสเปน โดยล่าสุด นายกรัฐมณตรีจัสติน ทรูเดอร์ของแคนนาดาได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า กัญชาในแคนนาดาจะเป็นสิ่งถูกกฎหมายในปี 2017

ประเทศไทยเองก็ได้รับเอาแนวทางของ UNGASS 2016 มาปรับใช้เช่นกัน โดยหลังจากการประชุมดังกล่าว พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ประกาศว่าจะผลักดันให้ยาบ้า กัญชา และกระท่อมออกจากยาบัญชียาเสพติดของไทย ซึ่งหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และภาคประชาสังคมต่างออกมาขานรับแนวทางดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลง ซึ่งดูจะเป็นการมุ่งลดภาระของรัฐมากกว่าพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม

ฐานคิดดังกล่าวทำให้รัฐไทยให้ความสำคัญกับ ‘ยาบ้า’ หรือเมทแอมเฟตตามีน เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่นๆ โดยมองว่าหากเอายาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดได้ การลดหย่อนโทษของสารเสพติดอื่นๆ ก็จะตามมาในไม่ช้า ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะทำให้เหล่าบรรดาสหาย ‘กัญชาชน’ ต้องรอต่อไปอย่างไม่มีจุดหมายแล้ว ความยากลำบากในชีวิตของคนจำนวนมากก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขต่อไป ความยากลำบากดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการสูบกัญชาแล้วถูกตำรวจจับ แต่มันหมายความถึงชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องพึ่งพิงประโยชน์ทางการแพทย์จากกัญชา

โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติผู้ผลักดันสงครามต่อต้านยาเสพติดในเวทีโลก ออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า “โลกที่ปราศจากยาเสพติดเป็นเพียงภาพลวงตา” และยังกล่าวอีกด้วยว่า “สงครามต่อต้านยาเสพติดคือสงครามต่อต้านประชาชน”

เมื่อกฎหมายสำคัญกว่าชีวิตคน

บัญฑูร นิยมาภา หรือ ‘น้าตู้’ อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ย่านพุทธมณฑล หากมองจากภายนอก คงไม่มีใครรู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นสถานที่ที่น้าตู้ทำน้ำมันสกัดจากสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อรักษาชีวิตคนเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันมันยังเป็นแหล่งผลิตกัญชา ยาเสพติดประเภท 5 ตามบัญชียาเสพติดแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2522 อีกด้วย

น้าตู้ผลิตน้ำมันสกัดจากกัญชามานานกว่าสองปีโดยอาศัยความรู้จักหนังสือ ‘กัญชาคือยารักษามะเร็ง’ ของคุณหมอสมยศ กิตติมั่นคง เมื่อเข้าไปในตัวบ้านจะเห็นโถนับสิบใบที่บรรจุกัญชาอยู่ในน้ำสีดำสนิทวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ น้าตู้บอกกับเราว่ามันคือกัญชาแช่ในเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หลังจากแช่ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง เราก็จะได้สารสกัด Tetrahydrocannabinol (THC) ความเข้มข้น 60 เปอร์เซ็นต์ ที่นอกจากจะมีฤทธิ์ทำให้ชาวกัญชาชนหลงไหลเคลิบเคลิ้มแล้ว ยังมีสรรพคุณรักษาโรคนานาชนิดทั้งพากินสัน มะเร็ง และโรคลมชัก เป็นต้น

น้าตู้กล่าวกับประชาไทว่า มีผู้มาขอรับน้ำมันสกัดจากเขาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยมะเร็งกับโรคลมชัก โดยน้าตู้จะสอนวิธีการสกัดน้ำมัน พร้อมกับยกต้นอ่อนกัญชาที่อยู่ในกระถางหลังบ้านของเขาให้ผู้ป่วยสามารถสกัดใช้เองได้ที่บ้าน หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านการเงิน น้าตู้ก็ยินดียกน้ำมันกัญชาให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีข้อแลกเปลี่ยนข้อเดียวคือต้องหมั่นรายงานผลการรักษาให้น้าตู้รู้ผ่านทางกลุ่มไลน์เพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อไป

น้าตู้สาธิตวิธีการทำน้ำมันสกัดกัญชา

“หลอกลวงประชาชน?” อาจะเป็นคำที่ผุดขึ้นมาในหัว เมื่อเราได้ยินเรื่องราวและสรรพคุณของน้ำมันกัญชาของน้าตู้ เพราะมันอาจฟังดูเหมือนน้ำหมักครอบจักรวาลหรือครีมบำรุงความงามสารพัดประโยชน์ที่เรามักเห็นผู้บริโภคออกมาร้องเรียนตามหน้าสื่อ เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้ให้ผู้บริโภคพูดเองจะดีกว่า

ปิยะมาศ เหล็กแดง แม่ค้าวัย 40 แม่ของน้องนาโนผู้ป่วยสมองพิการวัย 8 ขวบ น้องนาโนป่วยเป็นโรคดังกล่าวตั้งแต่อายุเพียง 29 วัน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โรคสมองพิการยังทำให้ระบบประสาทด้านการรับรู้ของนาโนไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ น้องนาโนจึงมีปัญหาด้านการมองเห็น อีกทั้งยังต้องเจอกับโรคลมชักรุมเร้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำกายภาพบำบัด

ปิยะมาศได้พาน้องนาโนไปรักษาอย่างต่อเนื่องทั้งจากโรงพยาบาล การฝังเข็ม การทำกายภาพบำบัด แต่ก็ยังไม่ให้ผลที่ดีเท่าที่ควร จนกระทั่งเธอกดเข้าไปในเพจ 420 Thailand ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางการแพทย์ของกัญชา จึงเกิดความสนใจและตัดสินใจพาน้องนาโนเข้ารับการรักษาจากน้าตู้ในที่สุด

น้องนาโนใช้น้ำมันสกัดจากกัญชามาได้ 7 เดือน โดยใช้วิธีการหยดใต้ลิ้น วันละสองครั้งก่อนอาหารเช้า-เย็น ปิยะมาศเปิดเผยว่าอาการของนาโนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาการชักเกร็งลดน้อยลงทำให้ทำกายภาพบำบัดได้ง่ายขึ้น แต่ผลที่ดีที่สุดคือน้องนาโน ‘อารมณ์ดีขึ้น’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยสมองพิการ เพราะความเครียดจะทำให้เกิดอาการเกร็งและชักได้ง่าย จากที่นาโนไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากนอนเฉยๆ ก็เริ่มพยายามลุกขึ้นนั่งและเริ่มสังเกตุเห็นแม่ของเธอมากขึ้น

“เวลาเดินผ่านเขา จากที่น้องมองไม่เห็นเลย ตอนนี้ดูเขาเริ่มมองเห็นแม่ เลยคิดว่าถ้าใช้น้ำมันกัญชาไปเรื่อยๆ สมองน้องเขาน่าจะดีขึ้น ถ้าสมองน้องดีขึ้นอะไรๆ ก็น่าจะตามมา ทุกวันนี้น้องต้องการจะลุกจะนั่ง ถึงแม้เขาจะทำไม่ได้ก็ตาม ต่างจากเมื่อก่อนที่เขานอนอย่างเดียว ตอนนี้เขายิ้มเขาหัวเราะอารมรณ์ดี” ปิยะมาศกล่าว

เช่นเดียวกับน้องแก้มหอม ผู้ป่วยโรคสมองพิการตั้งแต่กำเนิดอันเนื่องมาจากครรภ์เป็นพิษ ทำให้เธอมีเนื้อสมองน้อย และชักอยู่บ่อยครั้ง ศศินันท์ สีทอง แม้ค้าขายข้าวแกงวัย 32 ปี ผู้เป็นแม่ของน้องแก้มหอมบอกว่า น้องแก้มหอมเคยชักจนทำให้สะโพกหลุดและต้องได้รับการผ่าตัดมาแล้วถึงเจ็ดครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะต้องเสียค่าใช้จำนวนมากไปกับค่ามอร์ฟีนที่ราคาสูงถึงเข็มละ 500 บาท เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด และตามมาด้วยอาการติดมอร์ฟีน ซึ่งก็ไม่ต่างจากอาการลงแดงของผู้ใช้ยาเสพติด น้ำมันกัญชาทำให้ศศินันท์ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไปได้ เพราะสาร THC มีสารออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดที่สามารถใช้แทนมอร์ฟีนได้ แต่ให้ผลข้างเคียงที่น้อยกว่ามาก

อาการของน้องนาโนนับว่าเบากว่าน้องแก้มหอมอยู่มาก นอกจากแก้มหอมจะมีปัญหาด้านการมองเห็นเหมือนนาโนแล้ว เธอต้องเจอกับโรคแทรกซ้อนจำนวนมาก ทั้งกรดไหลย้อน แพ้อากาศ ปอดบวม และเมื่อเกิดอาการเครียดน้องแก้มหอมจะมีอาการเกร็งและเริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการจิกผมหรือชกตัวเอง ปัญหาเหล่านี้ทำให้ศศินันท์ไม่สามารถทำงานของเธอได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเธอจำเป็นต้องกลับมาดูอาการของแก้มหอมทุกครึ่งชั่วโมง

“ถ้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับการรักษา มันจะดีมากๆ แค่สกัดให้เราหรือสอนให้เราสกัด ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ก็พอแล้ว มันดีกว่ายาของแพทย์แผนปัจจุบันที่มีผลต่อตับหรือการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาบางตัวเราต้องจ่ายเองแปดหมื่น รัฐบาลไม่เคยสนับสนุนเลย เราต้องดูแลตัวเอง”

หลังการใช้น้ำมันกัญชา น้องแก้มหอมไม่เป็นโรคปอดบวมอีกเลย อาการชักเกร็งและทำร้ายตัวเองจากความเครียดลดน้อยลง กล้ามเนื้อผ่อนคลายขึ้น และเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว สามารถดูทีวีได้ ทำให้ศศินันท์สามารถทำงานได้ติดต่อกัน 2-3 ชั่วโมงโดยไม่มีความกังวล อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ไปกับเครื่องพ่นยา เครื่องผลิตออกซิเจน และเครื่องดูดเสมหะของน้องแก้มหอมลงไปได้จำนวนมาก

“จากที่แก้มเขาขยับขาไม่ได้ ต้องเหยียดตรง และก็ไขว้เป็นตัวเอ็กซ์ ตอนนี้เขาขยับตัวเองได้ เหมือนปั่นจักรยานอากาศ เริ่มคุยกับเรา จากที่ตาทั้งสองข้างเขามองไม่เห็น ตอนนี้เขาเริ่มมองทีวี เริ่มมีปฏิกิริยากับสิ่งรอบตัว น้ำมันกัญชามันมีผลต่อสมองทำให้สมองผ่อนคลาย เขาก็เลยไม่เกร็ง ไม่มีอาการแทรกซ้อน ยอมรับในสิ่งที่เราบอก และสิ่งที่เราสอน มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

“เราคนเป็นแม่เราเจ็บปวดนะ เราทุกข์ที่เห็นลูกเราเป็นแบบนี้ กลัวเขาจะเป็นอะไร ถ้ามีน้ำมันกัญชามันก็จะดีกว่าทั้งกับตัวเด็กดีและแม่ เรารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่มีสิทธิ์หาย แต่เราก็อยากให้เขาอยู่กับเราอย่างมีความสุขและนานเท่าที่จะนานได้ ถ้าเขาจะไปเราก็อยากให้เขาไปอย่างมีความสุข” ศศินันท์กล่าว

เรียกได้ว่าน้ำมันกัญชาของน้าตู้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อชีวิตของผู้ดูแลอีกด้วย หากพูดในภาษาชาวกัญชาอาจจะกล่าวได้ว่า ‘ของโคตรดี’ อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่ากัญชาที่น้าตู้นำมาสกัดน้ำมันนั้นเป็นกัญชาอัดแท่ง แบบที่เรามักเห็นกำนันผู้ใหญ่บ้านในต่างจังหวัดเอามากองเผากลางสนามหญ้าอยู่บ่อยๆ ซึ่งกัญชาเหล่านี้ไม่ได้รับการปลูกเพื่อประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์และปะปนสารเคมีที่เป็นอัตรายต่อผู้ใช้ เช่น ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทั้งศศินันท์ และปิยะมาศเห็นว่ารัฐควรจะเข้ามาจัดการปลดล็อคให้กัญชาเป็นพืชที่สามารถปลูกได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถผลิตน้ำมันสกัดจากกัญชาใช้เองได้ในครัวเรือน อีกทั้งยังเรียกร้องให้คนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกัญชาด้วย

“ถ้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับการรักษา มันจะดีมากๆ แค่สกัดให้เราหรือสอนให้เราสกัด ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ก็พอแล้ว มันดีกว่ายาของแพทย์แผนปัจจุบันที่มีผลต่อตับหรือการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาบางตัวเราต้องจ่ายเองแปดหมื่น รัฐบาลไม่เคยสนับสนุนเลย เราต้องดูแลตัวเอง” ศศินันท์กล่าว

“อยากให้สังคมยอมรับว่ากัญชาเป็นพืชสมุนไพร เพราะมันสามารถรักษาโรคได้หลายโรค เหมือนเมืองไทยทุกวันนี้ยังปิดหูปิดตากันอยู่ ไม่ยอมรับในสิ่งที่มันมีประโยชน์ เราต้องเรียนรู้ว่าเราปลูกเองได้ ทำเองได้” ปิยะมาศกล่าว

เวลาฆ่าทุกอย่าง ทั้งกัญชาและรถไฟความเร็วสูง

“เวลาฆ่าเราโดยไม่รู้ตัว” เป็นคำพูดของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเขาพูดประโยคดังกล่าวเพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ยิ่งเราช้ามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ประโยคดังกล่าวสามารถใช้ได้ดีทีเดียวกับประเด็นกัญชา เนื่องจากอุตสาหกรรมกัญชากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมกัญชาในรัฐโคโลราโด้ ของสหรัฐฯ สามารถทำเงินได้มากถึง 996 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 ซึ่งเป็นเวลาเพียงหนึ่งปีหลังรัฐโคโลราโด้ประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้เป็นแรงกระตุ้นให้มลรัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ เริ่มหันมาสนใจอุตสาหกรรมกัญชา โดยในปี 2016 มี 25 มลรัฐที่ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นบันไดขั้นแรกในการลดหย่อนโทษทางอาญาของการใช้กัญชาในเชิงผ่อนคลาย

แม้สรรพคุณทางการแพทย์ของกัญชาจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากข้อกำจัดด้านกฎหมายที่ทำให้งานวิจัยด้านกัญชาไม่สามารถทำได้อย่างเสรี และอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ในปี 2016 องค์กรอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ก็ได้อนุมัติให้สาร Sydros ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จาก THC สามารถวางขายได้ในสหรัฐฯ ภายใต้ใบสั่งแพทย์ โดยสารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการช่วยลดอาการคลื่นไส อาเจียนอันเป็นผลข้างเคียงจากการทำคีโมบำบัดในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง และช่วยกระตุ้นความอยากอาหารในกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ การอนุมัติดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับสรรพคุณทางการแพทย์ของกัญชาในวงการสาธารณสุขสหรัฐฯ

กัญชาสำหรับการแพทย์มักใช้แทนยาแก้ปวด ยานอนหลับ และเพิ่มความอยากอาหาร (ภาพจาก CNN)

อุตสาหกรรมกัญชาในทางการแพทย์ (Medical Marijuana หรือ MMJ) เริ่มกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รูปแบบของธุรกิจดังกล่าวเป็นการจับมือกันระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกัญชาและผู้ให้บริการทางการแพทย์ ร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ โดยกระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของรัฐโคโลราโด้ ทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับการวิจัยเพื่อนำกัญชามาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ อีกทั้งยังพัฒนาระบบให้คนไข้สามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อขอเข้ารับการรักษาด้วยกัญชาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับเพื่อประโยชน์ด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าซึ่งขายผลิตภัณฑ์ MMJ โดยเฉพาะมากกว่า 500 ร้านภายในมลรัฐ จึงทำให้นอกจากประชาชนในรัฐโคโลราโด้เองแล้ว ผู้ป่วยจากมลรัฐอื่นหรือประเทศอื่นต่างพากันเข้ามารับการรักษาจากกัญชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยเองก็มีศักยภาพด้านนี้ด้วยเช่นกัน

นพ.สมยศ กิตติมั่นคง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์มะเร็งและเจ้าของหนังสือ ‘กัญชาคือยารักษามะเร็ง’ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นฮับทางการแพทย์ (Medical Hub) ของกัญชาในระดับภูมิภาค และกัญชาก็มีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีแดดที่แรงซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณของ THC ในกัญชา

“ฝรั่งเขาไม่มีแดด เขาต้องใช้หลอดไฟส่องเพื่อให้กัญชามันโต เขาต้องวิจัยเลยว่าหลอดไฟแบบไหน ความยาวคลื่นเท่าไหร่ ได้สาร THC เท่าไหร่ เขาต้องวิจัยกันแบบนั้นเลย แต่มาเมืองไทยไม่ต้อง เพราะเรามีทุกคลื่นความถี่แสงที่พืชต้องการ แดดเราดี ของเราจึงดีที่สุดในโลก” นพ.สมยศกล่าว

โรงเรือนกัญชาแห่งหนึ่งในรัฐโคโลราโด้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ในปัจจุบันสามารถปลูกกัญชาหลากหลายสายพันธุ์ได้ภายในโรงเรือนเดียวกัน (ภาพจาก The Gazette)

นพ.สมยศมองว่าอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์จะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล เนื่องจากทุกวันนี้หากผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยกัญชา จำเป็นจะต้องเดินทางไปยุโรปหรือสหรัฐฯ ซึ่งมีค่าครองชีพที่สูงมากเมื่อเทียบกับไทย ดังนั้น หากมีการเปิดให้นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ผู้ป่วยชาวเอเชียย่อมหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นซึ่งจะช่วยพัฒนาชีวิตเกษตรกรไทยอย่างก้าวกระโดด

“อย่างเมืองนอก กัญชาหกต้น สกัดเป็นน้ำมันออกมาด้วยวิธีการแบบชาวบ้าน ขายได้แสนกว่าบาท ต่อให้เราปรับลดราคาลงมาครึ่งหนึ่งก็ยังได้หลายหมื่นบาท คุณต้องปลูกอะไรถึงจะได้เงินขนาดนี้? ปลูกข้าวหรือ? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว” นพ.สมยศกล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หมอสมยศกล่าวว่านอกจากประเทศไทยแล้ว ภาคประชาสังคมในประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาคก็พยายามผลักดันกัญชาออกจากสถานะพืชเสพติดเช่นกัน แต่ตอนนี้ยังถือว่านโยบายด้านยาเสพติดของไทยก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาค แต่นั่นหมายความว่าหากเราชักช้า เราอาจจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับรถไฟความเร็วสูงก็เป็นได้

การรักษาด้วยกัญชาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ใช้วิธีการสูบโดยตรง เพราะการเผาไหม้จะส่งผลเสียต่อปอด แต่จะเป็นใช้น้ำมันสกัดหยอดใต้ลิ้น หรือสวนทางทราวหนัก ในภาพ เป็นการใช้เทคโนโลยีอบไอน้ำ (Vaporizing) ทำให้ได้สารระเหย THC โดยไม่ผ่านการเผาไหม้ จึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ (ภาพจาก Media Review)

ลดภาระ เพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ

ในช่วงปีที่ผ่านมา เหล่าสหายสายเขียวต่างมีความหวังว่ากัญชาจะกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในไม่ช้า เพราะนอกจากท่าทีที่หนักแน่นของของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประเทศไทยยังมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ โดยกระบวนการดังกล่าวเริ่มจากข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในช่วงต้นปี 2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในเดือนเมษายนปีถัดมา ซึ่งในปัจจุบัน ร่างดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการคาดคะเนว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวจะได้รับการประกาศใช้ในปีหน้าก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลงจากอำนาจ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวกับประชาไทว่า เหตุผลที่กระบวนการทั้งหมดจำเป็นต้องเสร็จสิ้นภายในยุครัฐบาล คสช. เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ยอมทำ เพราะจะกระทบต่อฐานเสียงของรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติ นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะกฎหมายยาเสพติดในปัจจุบันมีความแข็งตัวและโทษหนัก ทำให้ประชาชนหลายคนต้องสูญเสียอิสรภาพ เพียงเพราะการเสพหรือครอบครองยาเสพติดจำนวนเพียงเล็กน้อย

ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นฮับทางการแพทย์ (Medical Hub) ของกัญชาในระดับภูมิภาค และกัญชาก็มีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีแดดที่แรงซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณของ THC ในกัญชา

“รัฐบาลนี้มีเวลาอยู่อีกแค่หนึ่งปี และรัฐบาลทั่วไปก็จะไม่ทำเรื่องนี้เพราะมันกระทบฐานเสียงเขา” นพ.อภิชัยกล่าว

กรณีศึกษาหนึ่งที่คนทำงานด้านนโยบายยาเสพติดแทบทุกคนจะต้องรู้ คือหญิงไทยคนหนึ่งข้ามฝั่งไปซื้อของไปที่ประเทศลาว  โดยพกยาบ้าไป 2 เม็ด เมื่อถึงประเทศลาวเธอกินไปครึ่งเม็ดเพื่อแก้ง่วงและเก็บอีกเม็ดครึ่งกลับเข้ามาประเทศไทยแต่เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นเจอ เธอถูกศาลตัดสินจำคุก 25 ปี ฐานนำยาเสพติดเข้าประเทศ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถลดหย่อนโทษได้

“เราพบว่าการเพิ่มโทษให้มันและเลื่อนระดับมันเป็นยาเสพติดประเภทให้โทษ ไม่ได้ทำให้เกิดผลดี ราคามันแพงขึ้น คนก็อยากเข้ามาขายมากขึ้้น เราแค่กลับเข้าสู่จุดเดิมก่อนปี 2539 ตอนนั้นมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผู้ต้องขังในเรือนจำก็มีคดียาบ้าน้อยมาก คุกผู้หญิงเมื่อก่อนมีขนาดเล็กด้วยซ้ำเพราะคนมันน้อย ฉะนั้นเราสองกระทรวง [ยุติธรรม และสาธารณสุข] เห็นตรงกันว่า เราจะไม่ให้ผู้ที่เสพยาต้องได้รับโทษอาญา” นพ.อภิชัยอธิบาย

ทางกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นตรงกันว่าควรจะดำเนินการลดหย่อนโทษคดียาเสพติด โดยเริ่มจากยาบ้าเป็นอย่างแรก นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนรูปแบบการจัดการกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดใหม่ โดยจะมีการจำแนกผู้ใช้ยาออกเป็น ‘ผู้เสพ’ และ ‘ผู้พึ่งพาสารเสพติด’ นั่นหมายความว่าผู้ที่ใช้สารเสพติดเป็นครั้งคราว หรืออยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตจะไม่มีโทษทางอาญา แต่อาจจะให้มาพบแพทย์นานๆ ครั้ง ส่วนผู้ที่ต้องพึ่งพาสารเสพติดหรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่า ‘คนติดยา’ จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

“เมื่อก่อนเวลาคนติดยา เขาจะส่งไปค่ายทหาร ไปฝึกวินัย ซึ่งมันผิดหลัก ต่อไปนี้เราจะส่งมาให้กระทรวงสาธารณสุขดูแล ทางกระทรวงต้องไปประสานกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้วย เราจะมีการคัดกรองผู้เสพยา ทุกวันนี้ยอดมันโอเวอร์เกินไป จริงๆ มันมีแค่สิบเปอร์เซ็นเท่านั้นที่จำเป็นต้องรับการรักษา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรับไม่ไหว เราต้องหาวิธีการดูแลที่ถูกต้องให้เขา ฟื้นฟูอาชีพให้เขากลับไปอยู่ในสังคมได้ นี่เป็นสิ่งที่เรากำลังผลักดันอยู่” อภิชัยกล่าว

นอกจากกระทรวงยุติธรรมและกระทรงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นดังกล่าวต่างก็ขานรับแนวทางการลดหย่อนโทษยาเสพติดด้วยเช่นกัน

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นายกสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสภาเกษตรกรมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกระท่อมและกัญชา เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการใช้ในครัวเรือน เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่คนในภูมิภาคนี้ใช้มาตั้งแต่โบราณ และการทำให้พืชเหล่านี้ถูกกฎหมายย่อมนำไปสู่การวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ

“เราจะเสนอให้รัฐมีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคภายใต้ใบสั่งยาของแพทย์ อนุญาตให้มีการวิจัย มีการตั้งนิคม เพื่อปลูกและผลิตน้ำมันสกัดจากกัญชา เคยมีนักลงทุนจากแคนนาดาเขามาคุยกับผมส่วนตัวว่าถ้ารัฐบาลไทยอนุญาติเมื่อไหร่ เขาเสนอซื้อน้ำมันกัญชาในราคา 12,000 พันบาท ในสหรัฐฯ น้ำมันสกัดกัญชา 10 ซีซีราคา 1,500 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็หลายหมื่นบาท ต้นหนึ่งก็ตก 1,500 บาท รัฐไทยจะเอาเงินมาลงทุนในเรื่องอื่นๆ ได้เยอะมาก” ประพัฒน์กล่าว

งานเสวนา “กัญชากู้ชาติ” จัดโดย สภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 (ภาพจาก ThaiPBS)

เป้าหมายดี แต่แนวทางมีปัญหา

ถ้อยคำที่สอดรับกันของหน่วยงานภาครัฐคงทำให้เหล่ากัญชาชนมีความหวังขึ้นมาไม่มากก็น้อย ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อไหร่ เราจะสามารถสูบกัญชากันได้อย่างเสรีมากขึ้น แต่นั่นคงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน

วีระพันธ์ งามมี เลขาธิการมูลนิธิโอโซน ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ผลักดันเรื่องการลดความรุนแรงจากการใช้ยา (Harm Reduction) ผู้มีโอกาสเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมในกระบวนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับนี้ กล่าวว่า การแก้กฎหมายฉบับนี้เริ่มต้นด้วยเจตนารมย์ที่ดี คือมีการแยกผู้ใช้ยาออกเป็นผู้ทดลองเสพ ผู้เสพ และผู้พึ่งพายา ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบการดูแลที่แตกต่างกันออกไป มีการบูรณาการกฎหมายยาเสพติดที่ปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับและทับซ้อนกันให้กลายเป็นฉบับเดียว อีกทั้งยังมีการเปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจปรับบทลงโทษได้ตามความเหมาะสม

“เราจะเสนอให้รัฐมีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคภายใต้ใบสั่งยาของแพทย์ อนุญาตให้มีการวิจัย มีการตั้งนิคม เพื่อปลูกและผลิตน้ำมันสกัดจากกัญชา เคยมีนักลงทุนจากแคนนาดาเขามาคุยกับผมส่วนตัวว่าถ้ารัฐบาลไทยอนุญาติเมื่อไหร่ เขาเสนอซื้อน้ำมันกัญชาในราคา 12,000 พันบาท ในสหรัฐฯ น้ำมันสกัดกัญชา 10 ซีซีราคา 1,500 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็หลายหมื่นบาท ต้นหนึ่งก็ตก 1,500 บาท รัฐไทยจะเอาเงินมาลงทุนในเรื่องอื่นๆ ได้เยอะมาก” 

แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการร่าง เจตนารมย์ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ

“ผู้ใช้ยายังคงเป็นอาชญากรอยู่ดีในร่างฉบับนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราไม่ควรมองเช่นนั้น ตัวผู้ร่างเขาไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องนี้ได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องนี้ได้ ผมกลัวว่ามันจะเป็นไปในทิศทางเดิม มันก็น่าเสียดายโอกาสที่ตั้งต้นมาดี แต่สุดท้ายไม่สามารถก้าวข้ามได้

“ผู้เสพยาไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นผู้ป่วย คนที่ใช้ชั่วครั้งชั่วคราวที่ไม่ได้ติดหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงยา คนเหล่านี้จะให้เรียกว่าผู้ป่วยคงไม่ใช่ เขาแค่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเหมือนคนสูบบุหรี่ เหมือนคนกินเหล้า” วีระพันธ์กล่าว

วีระพันธ์ งามมี (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

วีระพันธ์วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่เจตนารมณ์ตั้งต้นไม่สามารถถูกผลักดันให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากผู้ที่มีบทบาทในการร่างส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับนโยบายยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หรือกระทรงสาธารณสุข การเปลี่ยนนโยบายไปในทิศทางดังกล่าวจึงส่งผลโดยตรงต่อทรัพยากรและงบประมาณที่หน่วยงานเหล่านี้เคยได้รับ

“ทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาใช้ทรัพยากรมหาศาลกับการจัดการเรื่องยาเสพติด งบประมาณส่วนนี้ก็จะต้องถูกทบทวนใหม่ บางหน่วยงานอาจจะได้งบประมาณน้อยลง บทบาทน้อยลง พอคนที่เข้าไปออกแบบกฎหมาย เขามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับนโยบายที่จะออกมา ตรงนี้ผมคิดว่าไม่ถูก”

‘คนในสังคมยังไม่พร้อม’ เป็นเหตุผลที่หน่วยงานเหล่านี้มักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อคงไว้ซึ่งโทษของผู้เสพ ซึ่งวีระพันธ์มองว่าข้ออ้างดังกล่าวเปรียบเสมือนการโยนความผิดให้ประชาชน และมองข้ามบทบาทตลอดมาของหน่วยงานรัฐในการผลิตซ้ำมายาคติและภาพความน่ากลัวของยาเสพติด ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้ ‘คนในสังคมยังไม่พร้อม’

“ผมถามว่าสังคมรับไม่ได้หรือคุณไม่พร้อมจะชี้แจงต่อสังคม หรือคุณไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง หลายคนยังชื่นชอบกับการใช้อำนาจ ใช้กฎหมายในการจัดการ ชื่นชอบกับรูปแบบการจัดการอย่างเข้มงวด คือในใจไม่อยากเปลี่ยน แต่ก็เอาสังคมมาอ้างว่ายังไม่พร้อม

“อย่าโยนความผิดไปให้ประชาชนเลยดีกว่า หน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ที่ผ่านมาให้ข้อมูลอะไรกับประชาชนบ้าง และเสนอทางเลือกแบบไหนให้กับเขาบ้าง วันนี้ท่านจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้วกลัวที่จะบอกว่าตัวเองผิด ผมว่ามันก็น่าสนใจนะ ที่จะถามว่าประชาชนไม่ยอมรับ หรือจริงๆ แล้วอุปสรรคมันอยู่ที่คนที่ทำงานในภาครัฐกันแน่”  วีระพันธ์กล่าวเสริม

หากฟังอย่างผิวเผิน คำพูดดังกล่าวอาจจะดูเป็นการกล่าวหาหน่วยงานรัฐจนเกินไป แต่หากเราเอางบประมาณด้านยาเสพติดของหน่วยงานรัฐที่เข้าไปมีส่วนในการร่างกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาจะพบว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณพุทธศักราชปี 2559 งบประมาณด้าน ‘แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบําบัดรักษา ผู้ติดยาเสพติด’ ของกระทรวงยุติธรรมมีมูลค่าสูงกว่า 4,000 ล้านบาท และคิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงยุติธรรม โดยในส่วนนี้เป็นงบประมาณของ ป.ป.ส. ถึง 2.5 พันล้านบาท ส่วนงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในด้านดังกล่าวก็มีสูงถึง 1.3 พันล้านบาทเช่นกัน ดังนั้น จำนวนผู้ต้องหาหรือคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดที่ลดน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายอาจส่งผลให้งบประมาณในส่วนนี้ถูกลดทอนลงไปด้วย

ไม่ใช่แค่ระดับหน่วยงานรัฐเท่านั้น เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเองก็ยังมีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายยาเสพติดเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. 2537’ ได้กำหนดอัตราค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งฟ้องผู้เสพและส่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ โดยเจ้าหน้าที่จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราคดีละ 360 บาท ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ไล่จับประชาชนทุกคนที่เสพยาโดยไม่คำนึงว่าเขาจำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูจริงหรือเปล่า

แม้ว่าล่าสุด พล.อ.ไพบูลย์จะออกมาประกาศยกเลิกเงินสินบนดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและถึงแม้มาตราการดังกล่าวจะถูกยกเลิกไป ตราบใดที่ยาเสพติดยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ ชาวกัญชาชนก็ยังมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่วันยังค่ำ

“ผู้ใช้ยายังคงเป็นอาชญากรอยู่ดีในร่างฉบับนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราไม่ควรมองเช่นนั้น ตัวผู้ร่างเขาไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องนี้ได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องนี้ได้ ผมกลัวว่ามันจะเป็นไปในทิศทางเดิม มันก็น่าเสียดายโอกาสที่ตั้งต้นมาดี แต่สุดท้ายไม่สามารถก้าวข้ามได้"

ตั้ม (นามสมติ) วัย 23 ปี เปิดเผยว่า เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกสินบนถึง 2 ครั้งจากการเสพกัญชา โดยเขาเจอกับด่านตำรวจระหว่างทางกลับบ้านหลังกลับจากงานสังสรรค์ที่บ้านเพื่อน ซึ่งเงินที่เขาเสียไปนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์กับสาธารณะเลย

“ครั้งแรกเขาเรียกเงินผม 5,000 ส่วนครั้งที่ 2 ผมจ่ายไป 3,000 ผมไม่ได้อยากจ่ายหรอก รู้อยู่แล้วว่าต้องเข้ากระเป๋าตำรวจ แต่เราไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ว่าโทษมันหนักเท่าไหร่ ต้องนอนคุกไหม ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าเงินไม่กี่พันบาทมันซื้ออิสรภาพให้ผมได้ ให้เรื่องทุกอย่างมันจบ ก็เลยจ่ายๆไป”

แม้กระทั่งหลังจากที่หน่วยงานรัฐเริ่มออกมาประกาศว่าจะยกเลิกโทษให้ยาเสพติด แต่พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

“ล่าสุดเมื่อวันก่อนผมเจอลุงคนหนึ่งอยู่หน้าบ้าน มาเตือนผมว่าตำรวจได้กลิ่นกัญชาจากบ้านผม ให้ผมระวังตัว ตอนนั้นผมกลัวมาก รีบกลับเข้าบ้านมากำจัดของเลย แต่ผมไม่เข้าใจว่าผมทำอะไรผิด ผมก็ดูดอยู่ในที่ของผม ไม่ได้ไปรบกวนใคร ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายให้ใคร ดูดเสร็จก็นอนยิ้ม มีความสุขอยู่คนเดียว มันน่าเศร้าเหมือนกันนะ ที่แค่ผมดูด ผมก็กลายเป็นอาชญากรแล้ว” ตั้มกล่าว

การจะทำให้กัญชาถูกกฎหมายนั้นไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ การขัดผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ การสร้างความเข้าใจกับสังคม และการเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐไทยจะต้องแก้ไขต่อไป ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่กว่าจะได้เห็นเสรีกัญชาในประเทศไทย แต่สิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือหากเรายิ่งช้า เรามีแต่จะยิ่งสูญเสียไปเรื่อยๆ ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมกัญชา ชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก และอิสรภาพของเสรีชนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนอกจาก ‘ดูดหญ้าให้ตัวเองมีความสุข’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท