Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่ผ่านมา กระทั่งเกิดเหตุสลดใจ มีชายผูกคอตาย ใต้ต้นฉำฉากลางทุ่งนา จ. พิจิตร ขณะที่ภรรยาของผู้ตายให้การว่า สามีเครียดจากเรื่องราคาข้าวตกต่ำ แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาปฏิเสธว่า ผู้ตายเป็นช่างแอร์ ไม่ได้เป็นชาวนา จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาข้าวแต่อย่างใด

มองในแง่ดี ท่านโฆษกฯ ไม่ได้ตั้งใจปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐบาล แต่ท่านเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ หากเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้ยิ่งน่าเศร้า ที่รัฐบาลเข้าใจชาวนาน้อยเหลือเกิน

ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้ สื่อให้เข้าใจว่า การมีหลายอาชีพของชาวนาเป็นลักษณะทั่วไปที่เกิดขึ้นมานานแล้ว บทความนี้มาจากส่วนหนึ่งของการวิจัยของผู้เขียนในหมู่บ้านภาคอีสาน บทความตั้งใจสะท้อนลักษณะการดำรงชีวิตของชาวนาจำนวนหนึ่งในประเทศไทย และวิกฤตที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ผู้เขียนเรียกว่า “ทางตันของชาวนา” ที่เกิดขึ้นในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมานี้ ดังต่อไปนี้

ยามที่เกิดภัยธรรมชาติ ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ หรือปัญหาอื่นๆ เราจะพบว่าชาวนาดิ้นรนเอาตัวรอดแบบต่างๆ ดังเช่นที่เราเห็นชาวนากำลังสร้างเครือข่ายนำข้าวออกมาขายเองเพื่อตัดวงจรการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่ง    

การแก้ไขปัญหาโดยการดิ้นรนแบบต่างๆนี้ ชาวนาทำมานานแล้ว นักวิชาการเรียกว่า “ยุทธศาสตร์การดำรงชีพ” ขณะที่บางท่านเรียกว่า “ชาวนาผู้ยืดหยุ่น” ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นจุดแข็งของสังคมชาวนา ในภาวะที่หนทางดูเหมือนตีบตัน  ถูกกระหน่ำจากภัยธรรมชาติ หรือถูกปิดล้อมจากอำนาจที่เหนือกว่า พวกเขาไม่จำนนต่อปัญหา แต่กลับยิ่งแสดงให้เห็นศักยภาพ ซึ่งหมายความว่าหากได้รับโอกาสที่ดีชาวนาก็พัฒนาได้ไม่แพ้คนกลุ่มใดในสังคม

ยุทธศาสตร์การดำรงชีพของชาวนา เป็นการกระทำที่มีทั้งลักษณะเฉพาะหน้า และระยะยาว เป็นการหาโอกาส จัดการความเสี่ยง และผสมผสานการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ เราอาจจำแนกลักษณะรูปธรรมได้ดังนี้ 1. การปลูกข้าวไว้กินก่อน ที่เหลือขาย และปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆไปด้วย 2. การรับจ้างในและนอกภาคเกษตร รวมทั้งพึ่งเงินส่งกลับจากลูกหลานที่ไปทำงานในเมือง 3. การบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากจำเป็นก็ต้องขาย 4. การเก็บหาปัจจัยสี่จากธรรมชาติ 5. การเข้าถึงทรัพยากรหรือโอกาสหารายได้จากความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับเครือญาติ ท้องถิ่น หรือระดับชาติ   

ยุทธศาสตร์การดำรงชีพนี้ เคยเป็นไปได้เพราะเงื่อนไขเอื้ออำนวย แต่ปัจจุบันเหตุการณ์เปลี่ยนไป เราจะทำความเข้าใจเป็นลำดับดังนี้

แรงงานในครัวเรือน ยิ่งต้องทำการผลิตหลายอย่าง การมีแรงงานยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบันครัวเรือนในชนบทมีขนาดเล็กลง คือเฉลี่ย  3.9 คน/ครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการมีลูกน้อยลง และอีกเหตุหนึ่งคือลูกๆไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานต่างจังหวัด ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้น คนที่ยังทำเกษตรส่วนใหญ่คือคนอายุ 40-60 ปี ในหมู่บ้านที่ผู้เขียนศึกษาอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครอบครัวคือ 45 ปี ภาพของครัวเรือนชนบท คือบ้านของเกษตรกรวัยกลางคนหรือสูงวัย เป็นผัวเมียที่ตื่นแต่เช้าตรู่ไปทำงานสารพัดจนมืดค่ำ ไม่ต่างจากกรรมกรในไร่นาของตัวเอง ครอบครัวที่มีลูกวัยทำงานช่วยเหลืองานในครอบครัวนั้นถือเป็นกรณีพิเศษ มักมีเสี่ยงบ่นจากเจ้าหน้าที่ว่า เวลาไปส่งเสริมให้ทำอะไรชาวบ้านมักไม่เอาใจใส่ทำจริงจัง แต่สำหรับชาวบ้านเหตุที่ไม่มีเวลา เพราะต้องแบ่งเวลาไปทำงานอื่น ซึ่งเป็นการจัดการความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอน  

ราคาพืชผลการเกษตร  เป็นเงื่อนไขสำคัญของรายได้ครัวเรือน ในภาคอีสาน 2-3 ปีมานี้สถานการณ์พืชสำคัญคือยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ต่างย่ำแย่ ทุกวันนี้ชาวสวนยางพาราที่มีสวนยาง 10-20 ไร่ อยู่ได้ด้วยการลดการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ยน้อยลง ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก กรีดยางแล้วขายยางเป็นยางก้อน เพื่อลดการใช้แรงงาน มีรายได้เดือนละ 2-3,000 จากที่เคยมีรายได้เดือนละ 1-20,000 บาท กรณีจ้างแรงงานกรีดยาง ทุกวันนี้คิดค่าจ้างเป็นส่วนแบ่งผลผลิตอัตรา 50 : 50 ซึ่งเจ้าของสวนยางต้องจำใจยอม ส่วนแรงงานก็บ่นว่าได้ผลตอบแทนไม่ค่อยคุ้มค่า 

กรณีข้าว ชาวนาอีสานหลายพื้นที่ลดการทำนาลง โดยทำให้พอมีข้าวกินคุ้มปี (ในที่นา 5-10 ไร่) และทำเผื่อเหลือขายเพียงไม่มาก เพราะรู้ว่ายิ่งทำมากยิ่งขาดทุน ด้วยเหตุที่ต้องรีบไปทำงานอื่น การทำนาต้องจ้างแรงงานและเครื่องทุ่นแรง ต้นทุนตกอยู่ที่ไร่ละ 1,500-2,000 บาท ในปีนี้หากข้าวเปลือกอยู่ที่เกวียนละ 6,000 บาท สมมุติมีนา  20 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเปลือกไร่ละ 300 กิโลกรัม ครัวเรือนนั้นจะมีข้าวกินคุ้มปี กับมีข้าวเหลือขายประมาณ 4.5 ตัน เมื่อนำไปขายและหักต้นทุนแล้ว จะเหลือเงิน 7,000 บาท คิดเฉลี่ยเป็นรายได้ต่อเดือนของครอบครัวเท่ากับ 583 บาท คิดเป็นค่าตอบแทนรายวันเท่ากับ 19 บาท !

ส่วนมันสำปะหลัง ปีที่แล้วราคาเริ่มตกต่ำ และมีสัญญาณว่าราคาปีนี้ (จะขายผลผลิตปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า) จะตกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ในหมู่บ้านที่ผู้เขียนเก็บข้อมูล  การทำไร่มันให้ได้ผลผลิตคุ้มกับการลงทุนลงแรง ต้องใช้ต้นทุนสูง ในบางพื้นที่ต้องเช่าที่ดินไร่ละ 1,500 – 2,000 บาท (ราคาพอๆกับค่าเช่าที่นาในภาคกลาง) ต้องพ่นยากำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ยให้มากพอ  ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของหมู่บ้านนี้คือประมาณ 5,000 บาท/ไร่ และเมื่อขายให้ผลตอบแทนเป็นกำไรประมาณ 4,000 บาท/ไร่ ซึ่งครอบครัวใดต้องการมีรายได้เข้าบ้านเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท จะต้องทำการผลิตไม่ต่ำกว่า 30 ไร่ การผลิตในเนื้อที่ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องขึ้นกับความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะราคาผลผลิตที่กำลังต่ำลง 

มีข้อสังเกตด้วยว่า สาเหตุที่มันราคาตกต่ำ อาจมาจากการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน (เหมือนการนำเข้าข้าวสาลีที่กระทบต่อผู้ปลูกข้าวโพดในขณะนี้) ซึ่งการนำเข้ามีต้นทุนถูกลงเพราะการลดหย่อนภาษีของอาเซียน ดังสถิติการนำเข้ามันสำปะหลังผ่านด่านพรมแดนอีสานมีมูลค่าสูงขึ้น และมีมูลค่านำเข้าเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา  (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chongmekcustoms.com/default.asp?content=contentdetail&id=29515)     

การจ้างงานในภาคเกษตร เมื่อการขายผลผลิตมีปัญหา การผลิตและลงทุนในการผลิตก็ลดลง การจ้างงานในภาคเกษตรจึงลดลง การรับจ้างภาคเกษตรเป็นรายได้ของกลุ่มคนไร้ที่ดิน แม้กระทั่งคนมีที่ดินน้อยที่ขัดสนเงินในครอบครัวก็พึ่งพาการรับจ้าง แต่ที่ผ่านมาการจ้างกรีดยางลดลง การจ้างเกี่ยวข้าวลดลง ในหมู่บ้านที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก การจ้างงานในขั้นตอนต่างๆลดลง แม้กระทั่งผู้รับจ้างให้บริการรถไถใหญ่ รถไถนาเดินตาม รถเกี่ยวข้าว รถบรรทุกมันไปส่งโรงงาน ก็ตกอยู่ในวงจรรายได้หดหายตามๆกัน ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะชาวนาจนที่ลำบาก แต่ชาวนารวยหรือผู้ประกอบการอื่นๆในหมู่บ้านก็ย่ำแย่ไปด้วย

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เคยเป็นรายได้สำคัญที่เข้ามาในหมู่บ้าน ภาพที่เคยคุ้นชินคือรถปิกอัพบรรทุกชาวบ้านเช้าเย็นไปกลับทำงานในเมือง แต่ช่วงที่ผ่านมางานลดลง ส่วนเงินส่งกลับจากลูกหลานในเมืองก็ลดลง ในสองปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง การส่งออกติดลบ โรงงานทยอยปิดตัว แรงงานจำนวนหนึ่งตกงานต้องกลับบ้าน แรงงานที่ทำงานอยู่พบกับความไม่แน่นอนจากการเลิกจ้าง ต้องประหยัด เก็บเงิน ส่งเงินกลับบ้านน้อยลง ในรายที่ส่งเงินกลับบ้าน พ่อแม่กล้ำกลืนรับเงินด้วยความเป็นห่วงอนาคตของลูกที่กำลังย่ำแย่พอกัน

ที่ดิน เป็นหัวใจสำคัญ ในอดีตทางออกของชาวบ้าน คือขยายที่ทำกินเข้าไปในเขตป่า เพิ่มรายได้ด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูก และเก็บหาปัจจัยยังชีพจากป่า แต่นับจากทศวรรษ 2530 อวสานของการบุกเบิกได้มาถึง รัฐได้หันมาปิดป่า หวงกัน และตามมาด้วยการทวงคืนผืนป่าในปีที่ผ่านมา   

อันที่จริงปัญหาเรื่องป่าและที่ดินซับซ้อนเกินกว่าจะโยนความผิดไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างกรณีการบูมของยางพาราในอีสานเมื่อทศวรรษ 2540 รัฐเองให้การสนับสนุนหลายรูปแบบทั้งสินเชื่อและอื่นๆ กลุ่มธุรกิจต่างก็ได้ประโยชน์จากการขายปัจจัยการผลิต เศรษฐกิจยางพาราให้ประโยชน์กับเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องทั้งประเทศ การขยายสวนยางเข้าไปในเขตป่า ทางการก็รู้เห็น การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. (ซึ่งผิดกฎหมาย) เกิดขึ้นทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ที่ ส.ท.ก. หรือที่ไม่มีเอกสารใดๆ ขณะที่ผู้หันมาซื้อที่ดินทำสวนยางก็มีทั้งครู ตำรวจ ทหาร นักธุรกิจ คนชั้นกลางชาวเมือง นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล และไม่มีอิทธิพลอย่างชาวบ้านทั่วไป การทวงคืนที่ดิน โดยที่ไม่มีทางออกอื่น และมองชาวบ้านเป็นจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ทำให้เกิดความตึงเครียดและความคับข้องใจในชนบทสูงขึ้น

ในหมู่บ้านที่ไม่มีการทวงคืนผืนป่า ก็มีปัญหาที่ดินอีกแบบหนึ่ง ในภาวะที่ขยายที่ทำกินไม่ได้ และครัวเรือนชาวบ้านได้ปักหลักทำกินมาหลายรุ่นคน ทำให้ที่ดินถือครองของครัวเรือนลดลง ในหมู่บ้านที่ผู้เขียนศึกษา พบว่าครัวเรือนมีที่ดินถือครองเฉลี่ยประมาณ 30 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นๆ (ค่าเฉลี่ยของประเทศตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคือ 24.9 ไร่) แม้ครัวเรือนจะมีที่ดินค่อนข้างมาก แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นปีที่ผ่านมาพบว่า ที่ดินจำนวนนี้ใช้หารายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว (ดูตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง 30 ไร่ข้างบน) 

ณ จุดนี้ ชาวบ้านเผชิญปัญหาปัจจุบันและอนาคตของการดำรงชีพบนที่ดิน โจทย์ด้านหนึ่งคือ ทำอย่างไรให้ผลตอบแทนการผลิตต่อไร่สูงขึ้นเพื่อให้เลี้ยงครอบครัวได้ ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงสถิติผลตอบแทนสุทธิพืชเศรษฐกิจที่สำคัญย้อนหลังไป 20 ปี ของพืชหลัก 4 ชนิดคือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย พบว่ามีมูลค่าระหว่าง 1,000 – 3,000 บาท/ไร่ ยกเว้นยางพาราเคยสูงถึง 20,000 บาท/ไร่ในปี 2554 จากนั้นก็ตกลงมาเท่าๆกับพืชชนิดอื่น  ข้อมูลนี้แสดงว่าการเพิ่มผลตอบแทนต่อไร่ แทบเป็นไปไม่ได้ การเลี้ยงครอบครัวบนที่ดิน 30 ไร่ จึงให้ผลตอบแทนคือความยากลำบาก และปัญหานี้จะเลวร้ายขึ้นในคนรุ่นต่อไป ที่มีที่ดินน้อยลงอีก

อีกทางหนึ่งคือขายที่ดิน เปลี่ยนอาชีพไปทำอาชีพนอกการเกษตร ซึ่งเป็นข้อสงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมทำไร่ทำนาขาดทุน แต่ชาวไร่ชาวนายังไม่เลิกทำ  ทางการพยายามโน้มน้าว กระทั่งจ้างให้เลิกทำนา แต่ก็ไม่เลิก นักวิชาการจำนวนหนึ่งมีคำถามต่อความแปลกประหลาดของภาคชนบทไทยว่า  ทำไมชาวชนบทส่วนใหญ่ยังดื้อดึงอยู่กับการเกษตร ทำไมชีวิตพวกเขายังผูกกับที่ดิน และจะทำอย่างไรที่สนับสนุนให้พวกเขาหันไปสู่ภาคการผลิตอื่น ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น

คำตอบที่พอจะมีอยู่บ้างในตอนนี้คือ ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ยึดมั่นกับอาชีพเกษตร  ความคิดนี้เห็นได้ชัดจากลูกหลานชาวนา ที่มีน้อยคนอยากกลับมามีอาชีพเหมือนพ่อแม่ สำหรับชาวบ้านที่ยังทำเกษตร ไม่ใช่เพราะรายได้ดี แต่เพราะการไปทำงานนอกเกษตรเป็นทางที่ตีบตัน  ในอดีตชาวบ้านจำนวนมากในวัยหนุ่มสาวเคยผ่านประสบการณ์ไปทำงานต่างถิ่น เช่น งานโรงงาน ก่อสร้าง ลูกจ้างทั่วไป และลูกจ้างในงานฝีมือ แต่พวกเขาเผชิญข้อจำกัดอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือ ค่าตอบแทนต่ำ หรือไม่สูงพอที่จะสะสมทุน ให้สามารถขยับฐานะหรือเปลี่ยนอาชีพได้ ข้อนี้เป็นปัญหาโครงสร้างของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กดค่าแรงของแรงงานมาโดยตลอด

ประการที่สอง ในกรณีที่ได้เรียนรู้ทักษะการประกอบการอาชีพใหม่ๆ  ก็ไม่สามารถทำธุรกิจแข่งขันกับทุนที่ใหญ่กว่า กรณีที่กลับมาอยู่บ้านการทำธุรกิจในหมู่บ้านก็ยากจะประสบความสำเร็จเพราะไม่มีตลาดและไม่มีทุน ข้อนี้ด้านหนึ่งเป็นข้อจำกัดความสามารถของชาวบ้านในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า ธุรกิจหลายสาขาของไทยถูกผูกขาดหรือครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม ไม่มีทางที่ชาวบ้านจะเติบโตได้   

ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชาวชนบทไม่อยากออกจากภาคเกษตร หรือไม่อยากพัฒนาตัวเอง แต่อยู่ที่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านทั่วไปๆออกจากภาคเกษตรได้ รัฐอยากผลักดันให้ชาวชนบทออกจากภาคเกษตร แต่ก็ไม่สามารถให้โอกาสที่พวกเขาจะมีอาชีพนอกการเกษตรได้

เงื่อนไขของยุทธศาสตร์การดำรงชีพประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ การมีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะให้ประโยชน์ได้ (connection) ในอดีตการมีความสัมพันธ์กับเครือญาติ หรือเพื่อนบ้านคือโอกาสของการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในยุคใหม่การสัมพันธ์กับอำนาจภายนอกคือที่มาของโอกาสดังกล่าว

ไม่ต้องประหลาดใจว่า ในยามมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ชาวบ้านให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ให้โอกาสการมีชีวิตที่ดีกับพวกเขา และยิ่งเป็นพรรคการเมืองที่เห็นความสำคัญ เปิดโอกาสให้ร้องขอ ต่อรอง และเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง เป็นผู้เล่น เป็นตัวแสดงตัวหนึ่งในระบบการเมือง พรรคการเมืองนั้นและระบบการเมืองแบบนั้นจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะระบบแบบนี้ทำให้พวกเขาดึงเอาทรัพยากรหรือโอกาสที่ดีให้กับตนได้ และสำหรับชาวบ้านหลายคนระบบนี้เป็นช่องทางไต่เต้าทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำลายระบบการเมืองดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นอันตราย ในปัจจุบันกล่าวได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมืองปิดตัวลงอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ได้มาแทนที่ก็คือ การกลับมาของระบบราชการในชนบท  รัฐบาลคงพอใจกับสถานการณ์นี้ แต่ในแง่การบริหารท้องถิ่นนี่คือการถอยหลังกลับไปเกือบร้อยปี เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบราชการ คือการทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจ มีวัฒนธรรมการทำงานแบบเจ้านายลูกน้อง ลักษณะเช่นนี้มีไว้ควบคุม มากกว่าตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้าน

ความตายซากของระบบการเมือง ซึ่งสวนทางกับการเติบใหญ่ของระบบราชการในหมู่บ้าน สะท้อนให้เห็นได้จากบทบาทของ อบต. ในปัจจุบัน ท่ามกลางบรรยากาศปิดทางการเมือง และอนาคตที่ไม่แน่นอนของ อบต. ทำให้องค์กรนี้ลดบาททางการบริหารลง ไม่มีการริเริ่มโครงการใหม่ ไม่ทำงานเชิงรุก ไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องความขัดแย้ง ใช้อำนาจหน้าที่อย่างจำกัด อบต. ได้กลายสภาพเป็นส่วนราชการของการปกครองส่วนภูมิภาค ทำงานประจำ (routine) ตามนโยบายรัฐบาลไปเท่านั้น การรักษาความสงบทางการเมืองของรัฐบาล จึงแลกมาด้วยการทำลายพลังสร้างสรรค์ของพลเมืองในท้องถิ่นอย่างน่าเสียดาย

ที่ผ่านมา การล้มละลายของครัวเรือนชาวนา กลายเป็นแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน เกิดขึ้นมาตลอด แต่ค่อยเป็นค่อยไป และยังพอมีช่องทางให้ดิ้นรนหาทางออกให้ชีวิตได้ ทว่าในปัจจุบันช่องทางต่างตีบตัน สถานการณ์ของชาวนาจึงเหมือนหลังพิงฝา เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็หมดทาง สังคมชาวนาจึงมาถึงจุดวิกฤต การจบชีวิตตัวเองของชาวนาบางคน จึงเป็นทางที่พวกเขาเลือก บนแผ่นดินที่ไร้ความหวังนี้

บทความนี้ยังไม่ได้วิเคราะห์สาเหตุที่นำมาสู่ทางตันของสังคมชาวนา  อีกทั้งยังไม่ได้วิเคราะห์ว่านโยบายภาคเกษตรที่รัฐบาลได้ทำไปในช่วง 2-3 ปีนี้ ช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้างหรือไม่ ในขั้นนี้คงทำได้แต่เพียงเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมชาวนาจำนวนหนึ่ง หวังว่า การเข้าใจชาวนา และสถานการณ์จริงๆที่พวกเขาเผชิญอยู่ คงจะทำให้ผู้มีอำนาจได้สติและปัญญาแก้ปัญหาขึ้นมาบ้าง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net