สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา

ชี้สภาพปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญาน้อยกว่าผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร หวังสร้างหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาที่เป็นธรรม ให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ 

ที่มาภาพ tcij

10 พ.ย. 2559 ข่าวรัฐสภารายงานว่า วันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนน เห็นด้วย 202 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งหากมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากลจะช่วยสร้างความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพในการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้และได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็น เทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ อย่างไรก็ตามการทำสัญญาในระบบนี้มีลักษณะผสมผสานระหว่างสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและต้นทุนการการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ส่งผลให้ในกรณีที่คู่สัญญาเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญาน้อยกว่าผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร มีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา สมควรที่รัฐจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พร้อมระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะยังประโยชน์ให้เกษตรกรที่มีอำนาจต่อรองน้อยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะสมาชิก สนช. เห็นด้วยกับหลักการและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมองว่า หาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้จะเป็นกลไกช่วยเหลือเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิต เป็นการประกันรายได้ รวมถึงเทคโนโลยี ผลผลิตทางการเกษตรจะมีคุณภาพที่ดีขึ้น ประเทศชาติจะได้ผลดีทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ อาทิ ควรดูรายละเอียดของร่างให้มีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อยังประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง สร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของการทำสัญญาให้กับเกษตรกร พิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการต่างๆ ใน พ.ร.บ.เพื่อเพิ่มจำนวนสัดส่วนของเกษตรกรให้มีความเหมาะสม  หลักการคุ้มครองจะต้องคุ้มครองเกษตรกรทุกราย นอกจากนี้ยังห่วงในเรื่องของความสอดคล้องกับหลักการในการคุ้มครองพันธุ์พืช สภาพดิน สิ่งแวดล้อมและการทำเกษตรที่ยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท