UNDP-สภาพัฒน์-มหาดไทย ดันแผนภัยพิบัติเชิงรุก รับมือก่อนเกิดเหตุ

10 พ.ย. 2559 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี  สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) จัดงานสัมมนาเรื่อง “ประเทศไทยกับการใช้ข้อมูลความเสี่ยงเพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Application of Risk Information For Disaster Risk Management Decision in Thailand)” ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชนและประชาชนทั่วไปกว่า 120 คน เข้าร่วมงาน  

งานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในการวางแผนพัฒนาในประเทศไทย (MADRiD) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มีการใช้ข้อมูลความเสี่ยงภัยพิบัติเพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์จริง โดยมีการดำเนินการในสองจังหวัดนำร่องคือ สงขลา และ เชียงราย   

นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซน รองผู้แทนยูเอ็นดีพี  กล่าวถึงปัญหาภัยพิบัติในประเทศไทยว่า ทฤษฎีและการแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำรัสได้ถูกนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อหาต้นเหตุของปัญหาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันการประเมินผลความเสี่ยงถูกนำมาใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2558  ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีแผนนโยบายครอบคลุมทันสมัยและตอบสนองกับความสำคัญหลักนานาชาติ เป็นที่น่าภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศนี้ด้วย  ทั้งนี้ยูเอ็นดีพีพร้อมที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เพื่อตอบสนองหลักการสากล และดำเนินตามรอยโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช

นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่า จากกรอบการดำเนินงานในระดับโลก และการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ในฉบับปัจจุบัน ได้นำมาสู่การปรับปรุงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นการนำแนวคิดการพัฒนาระบบการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการสร้างภูมิคุ้มกันโดยพัฒนาภูมิความรู้ และเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ตามแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ การสร้างให้เกิดความปลอดภัยอย่างยั่งยืนในทุกระดับของประเทศ ซึ่งได้ใช้แนวทางนี้มาเป็นต้นแบบในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี และแนวคิดการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยตามหลัก “รู้รับ-ปรับตัว-ฟื้นเร็วทั่ว-อย่างยั่งยืน” หรือ Resilience” ภายใต้โครงการ MADRiD กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีแผนที่จะนำความรู้ในการนำคู่มือการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากต้นแบบนำร่องในจังหวัดสงขลาในเรื่องอุทกภัย และจังหวัดเชียงรายในเรื่องแผ่นดินไหว ไปขยายผลต่อตามโครงการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอีกหลายจังหวัดในอนาคต 

นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สศช.เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้มีการวางรากฐานการพัฒนาที่คำนึงถึงความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้จะไม่ได้รับความเสียหายเท่าประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกก็ตาม แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งกระทบต่อกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาทุกภาคส่วน ทำให้การพัฒนาในภาพรวมหยุดชะงัก

“ประเทศไทยยังขาดการประเมินและการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในด้านความเสียหาย ความล่อแหลม ความเปราะบางและศักยภาพของพื้นที่ที่มีการคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการ MADRiD นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านการประเมินความเสี่ยงจากภัยภิบัติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีความชัดเจน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนได้”รองเลขาธิการ สศช.กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีในรูปแบบตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีเพื่อช่วยในการตัดสิตใจเพื่อจัดการความเสี่ยง ในรูปแบบเว็บไซต์ระบบภูมิสารเทศ โดยศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ข้อมูลและระบบแผนที่ในการจัดการความเสี่ยงสำหรับภาคธนาคารในประเทศไทย โดยบริษัทอีเอสอาร์ไอ การใช้ข้อมูลความเสี่ยงในการบริหารจัดการองค์กร การจำลองสถานการณ์เสมือนจริงเพื่อวางแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและการถ่ายภาพทางอากาศเพื่อการติดตามด้านสิ่งแวดล้อมเกษตรกรรมและสาธารณูปโภค สำหรับชุดความรู้เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.th.undp.org

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท