Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุก 4 ปี ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญระดับโลกและมีความสำคัญต่อประเทศไทยในหลายด้านรวมถึงด้านข้อมูลข่าวสาร นอกจากข่าวการเลือกตั้ง ส.ส. ในประเทศไทยแล้ว ก็มีแต่ข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญ

สื่อมวลชนไทยนิยมนำเสนอข่าวสารตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกตัวแทนพรรคเพื่อเป็นคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งปีนี้ นายโดนัล ทรัมป์ ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน และ นางฮิลลารี คลินตัน เป็นผู้แทนพรรคเดโมแครต 

ส่วนผลการเลือกตั้งทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี คนที่ 45 ซึ่งจะมีพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค. 2560 โดยคาดว่า สื่อมวลชนไทยหลายสำนักจะติดตามทำข่าวถึงสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากเกาะติดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ถึงขอบสนามมาแล้ว นั่นจึงเท่ากับว่าสื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งที่สหรัฐฯ

ขณะที่การเลือกตั้งของไทย เมื่อ 2 ก.พ. 2556 สื่อมวลชนไทยบางส่วนให้น้ำหนักไปที่การขัดขวางการเลือกตั้ง ภายใต้วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เสียมากกว่า สภาวะย้อนแย้งแบบนี้สะท้อนภาพความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี 

หลังคลินตันยอมรับความพ่ายแพ้ต่อทรัมป์ ชาวอเมริกันประท้วงว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ในหลายเมือง บางแห่งเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นมีการทำผิดกฎหมายซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วง

สาเหตุของการประท้วงมาจากความไม่พอใจต่อนโยบายของทรัมป์ในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนา และ เหยียดเพศ

เมื่อถึงจุดนี้สื่อไทยบางส่วนจึงถือโอกาสสนับสนุนการ กปปส. อีกครั้ง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมชาวอเมริกันที่อยู่ในประเทศแม่แบบประชาธิปไตยจึงมีการประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ทำให้มีผู้ออกมาตอบโต้ว่า มีเพียงคนส่วนน้อยมาชุมนุม การประท้วงมุ่งตรงไปที่ตัวทรัมป์หาใช่มุ่งไปที่ผลการเลือกตั้ง และ ชาวอเมริกันไม่ได้เรียกร้องประธานาธิบดีคนนอกเหมือนกับบางประเทศ

ย้อนเวลากลับไป เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 ที่กระดานสนทนา มสธ. ผู้ใช้นามว่า narawit_s ตั้งกระทู้ชื่อ “นี่หรือประชาธิปไตย” มีใจความว่า การไปร่วมชุมนุมไม่ได้เกิดผลดีอะไรเลย น่าสงสารประเทศ

ผู้ที่ใช้ชื่อว่า Wizard ตอบกระทู้เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2556 สรุปได้ว่า ผมไม่ได้สนใจว่าประเทศไทยจะปกครองในระบอบอะไร ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ยังมีคนมีการศึกษาน้อยอยู่อีกมากอาจไม่ใช่ระบอบที่ดีสำหรับประเทศไทยก็ได้

ประเทศประชาธิปไตยไม่ใช่ไม่มีการประท้วง ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยต้นแบบอย่างอังกฤษก็มีการประท้วง สหรัฐอเมริกาก็มีการประท้วง หลายประเทศในยุโรปที่พัฒนาแล้วก็มีการประท้วง

ประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริงคือประเทศที่ปกครองโดยเสียงข้างมาก (ที่ไม่ได้มาจากการซื้อเสียงหรือซื้อตัวนักการเมือง) แต่ขณะเดียวกันก็เคารพเสียงข้างน้อย การประท้วงโดยคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ทุกคนอาจจะมีฐานะการเงินไม่เท่ากัน แต่มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน

ผู้ที่ใช้ชื่อว่า Wizard บอกว่า เขาไม่ใช่เสื้อเหลือง ไม่ใช่เสื้อฟ้า (ปชป.) แต่ไม่ชอบทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองพรรคเพื่อไทย

สิ่งนี้คงพอเป็นคำตอบได้ว่า ประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยก็มีการประท้วงได้

ในทางตรงกันข้ามมักไม่พบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยว่า ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีการประท้วงรัฐบาล เช่น สปป.ลาว เวียดนาม บรูไน จีน และ เกาหลีเหนือ ฯลฯ แต่ถ้ามีข่าวการประท้วงก็มักเป็นข่าวการจับกุมผู้ประท้วงเสียมากกว่า ยกเว้นข่าวการประท้วงรัฐบาลประเทศอื่นที่ผู้ประท้วงมักจะไม่ถูกจับกุม

ฉะนั้นการที่สื่อไทยหลายแห่งตั้งข้อสงสัยในช่วงเวลานี้ว่า ประเทศที่มีการประท้วงไม่เป็นประชาธิปไตยคงไม่จริง แต่ประเทศที่ไม่มีการประท้วงต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่า การประท้วงคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยโดยการประท้วงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากการประท้วงคือการแสดงความเห็นของผู้มีอำนาจสูงสุดซึ่งคือประชาชน

ส่วนประเทศไทยไม่ต้องถึงขั้นประท้วงเพราะแค่ชุมนุมทางการเมือง 5 คนก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมาย เท่านี้ก็พอตอบได้ว่าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่ กปปส. เรียกร้อง แล้ว คสช.หยิบฉวยไปปฏิบัติจะนำประเทศไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ สิ่งนี้กระมังที่อยากให้สื่อตรวจสอบ 

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net