สภาพัฒน์ แถลงไตรมาสที่สามของปี 59 เศรษฐกิจขยายตัว 3.2%

ระบุเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ขยายตัว 3.2% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.5% ในไตรมาสก่อนหน้า คาดปีนี้ขยายตัวะ 3.2% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 2.8% ในปี 58  แนวโน้มปี 60 ขยายตัว 3.0 - 4.0% ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก

ที่มาภาพ เว็บไซต์สภาพัฒน์

21 พ.ย. 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลง เรื่อง เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559 - 2560 สศช. ระบุว่า ขอแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สามของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559 - 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สาม ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2559 ร้อยละ 0.6 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้นและการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว การลงทุนภาครัฐขยายตัวดี แต่รายจ่ายประจำของภาครัฐยังปรับตัวลดลงเนื่องจากมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจาก การขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกรโดยรวม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาว
 
ในช่วงวันที่ 16 – 20 กรกฎาคม 2559 สอดคล้องกับการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ร้อยละ 13.1 ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.3 เทียบกับระดับ 61.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 5.8 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้าและฐานที่สูงจากการเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการลดลงของการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้ การลงทุนรวมขยายตัว
ร้อยละ 1.4 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 6.3 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐบาล ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวสูงร้อยละ 10.5 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ สำหรับยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.2 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีการอนุมัติโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงจำนวนหลายโครงการ อาทิ โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่  มูลค่าประมาณ 96,500 ล้านบาท และโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี มูลค่าประมาณ 74,200 ล้านบาท ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.2 เทียบกับระดับ 50.0 ในไตรมาสก่อนหน้า 
 
ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 54,907 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 0.4  เป็นการเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 (เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส) ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าประมงและสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น สินค้าส่งออกที่ขยายตัว เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศ และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ สินค้าส่งออกที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอาเซียน (5) ขยายตัว แต่การส่งออกไปตลาดจีน ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV ลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการลดลงของราคาน้ำมัน เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 45,934 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.4 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เป็นต้น
 
ด้านการผลิต ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้น สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาก่อสร้าง และสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยสาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่อนคลายลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และประมง ในขณะที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล  อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ตามการเพิ่มขึ้นของราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาปาล์มน้ำมัน ราคาเนื้อสุกร ราคาไข่ไก่ และราคากุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ราคามันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อยลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5  สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยอุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการในประเทศ (สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัว ร้อยละ 0.5 สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณและมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 4.1 เนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และยานยนต์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.01 สาขาการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า (โดยการก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.0 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 25.3) ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.2 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงและเร่งขึ้นร้อยละ 15.9 จากการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค โดยนักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกัน รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 441.71 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.1 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน 
 
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.3 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10,291 ล้านดอลลาร์ สรอ. (358,628 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 10.2 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ 180.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,949,330.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.4 ของ GDP 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2559 

เศรษฐกิจไทยปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 และอยู่ในช่วงประมาณการร้อยละ 3.0 - 3.5 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 โดยการส่งออกสินค้าและบริการ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนรวมมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 11.3 ของ GDP
 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560

เศรษฐกิจไทย ปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก การขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.2 ในปี 2558 และปี 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.2 ของ GDP โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น (2) การขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (3) การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และ (4) แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 
 
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2560 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
 
1. การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ในปี 2559 โดยเป็นการชะลอลงจากฐานที่สูงในช่วงครึ่งปีแรก (เนื่องจากในครึ่งแรกของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งขึ้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายในหมวดสินค้ารถยนต์ในช่วงของการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่) อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและการผลิตในภาคเกษตร ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2559
 
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2559 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินเริ่มปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ และเริ่มกระตุ้นความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น (2) ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่ประกวดราคาไปแล้วและสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนให้แก่นักลงทุนภาคเอกชน (3) แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.0 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน และการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งในส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 45,471.97 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคา (ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว) จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 487,775.04 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างมากขึ้น ตามลำดับ
 
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในปี 2559 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 สูงขึ้นจากการขยายตัวประมาณร้อยละ 0.2 ในปี 2559 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ในขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในปี 2559 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามรายรับจากนักท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0

ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2559 และปี 2560

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2559 และปี 2560 ควรให้ความสำคัญกับ  (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย เบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และ เบิกจ่ายงบเหลื่อมปีให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ควบคู่กับการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (2) การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 การชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทัวร์ศูนย์เหรียญ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมท่องเที่ยว และการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ (3) การสนับสนุนและเร่งรัดการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัว โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการส่งออกของไทยปี 2560 โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก การตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มตลาดเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศใน CLMV การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยการใช้นวัตกรรม และการติดตามและระมัดระวังมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกระแสการต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมในประเทศสำคัญๆ (4) การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมมาตรการรองรับการขยายตัวของการผลิตทางการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มีความเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ และการลดขั้นตอนทางการตลาด เพื่อให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเป็นของเกษตรกรมากขึ้น และ (5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดการส่งออกเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมการชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการสำหรับอนาคต การประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Roadmap ทางการเมือง รวมทั้งเจตนารมณ์และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและการปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท