ชำนาญ จันทร์เรือง: ถ้าทรัมป์ตาย (If Trump dies)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

มีแฟนเพจและมิตรสหายหลายท่านสอบถามมาว่าหากประธานาธิบดีรับเลือก(president-elect)ทรัมป์เกิดเสียชีวิตหรือลาออกก่อนวันเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมหน้า จะทำอย่างไร แล้วใครจะเป็นประธานาธิบดีแทน ผมก็ขอถือโอกาสนำมาตอบในที่นี้เป็นการทั่วไปไม่จะเพาะกรณีของทรัมป์เท่านั้นและจะได้ตอบรวมไปกับประเด็นอื่นด้วย เช่น เกิดการเสียชีวิตก่อนวันหย่อนบัตรของประชาชนหรือเสียชีวิตหลังจากที่ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว โดยจะเรียงลำดับ ดังนี้

1) กรณีผู้สมัครเสียชีวิตก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้งของประชาชน(popular voting)ในเดือนพฤศจิกายน

ในที่นี้หมายความถึงผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อ(nominated)จากที่ประชุมใหญ่พรรคแล้วเกิดเสียชีวิตก่อนวันเลือกตั้งซึ่งกรณีของตัวผู้สมัครประธานาธิบดีนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น มีเพียงกรณีเดียว คือ ผู้สมัครรองประธานาธิบดีTom Eagletonเสียชีวิตในปี 1972  โดยสามารถแยกอธิบายได้เป็น 2 พรรค คือ

1.1 กรณีของพรรคเดโมแครต

Democrat National Committee(DNC)จะเรียกประชุมสมาชิกDNCจำนวน 447 คนเพื่อหาคนมาแทน เช่น กรณีเลือก Sargent Shriver มาเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีแทนThomas Eagleton ในปี 1972

1.2 กรณีของพรรครีพับลิกัน

Republican National Committee(RNC)จะเรียกประชุมสมาชิกจำนวน 150 คน เพื่อหาคนมาแทน

2) กรณีผู้สมัครที่ได้รับเลือกเสียชีวิตหรือถอนตัวหลังวันเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนโดยยังไม่ทันได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 20 มกราคม

จริงๆแล้วมีขั้นตอนย่อยอีกหลายขั้นตอน เช่น เสียชีวิตก่อนที่Electoral Collegeจะมีการประชุมกัน หรือElectoral Collegeประชุมกันแล้วแต่สภาคองเกรสยังไม่ได้รับรองผลการประชุม ฯลฯ แต่จะตอบแบบรวมๆเพราะเห็นว่าหากตอบหมดจะเป็นการลงรายละเอียดมากเกินไปและกติกาของแต่ละรัฐในกรณีย่อยๆดังกล่าวนั้นก็แตกต่างกันไป แต่กล่าวโดยสรุปก็คือหากประธานาธิบดีรับเลือก(president-elect)เสียชีวิตหรือถอนตัวก่อนเข้ารับตำแหน่ง ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 20(the 20th amendment)ได้กล่าวไว้เฉพาะการเสียชีวิตของpresident-electโดยไม่รวมถึงการถอนตัว แต่สามารถตีความได้ว่าผู้สมัครที่จะถอนตัวนั้นสามารถรอไว้จนถึงวันที่ 20 มกราคมได้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นมาตรา 2 และรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 25กล่าวไว้ชัดว่ารองประธานาธิบดีจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทน

ฉะนั้น ในกรณีหากทรัมป์เสียชีวิตก่อนสาบานตนรับตำแหน่งก็คือ Mike Pence ,vice president-elect นั่นเอง

3) เมื่อเป็นประธานาธิบดีแล้วเกิดเสียชีวิต,ลาออก,ถูกปลดหรือขาดคุณสมบัติ ใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทน

แน่นอนว่าจะต้องเป็นรองประธานาธิบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามระบบประธานาธิบดีหรือpresidential system (ซึ่งแตกต่างจากระบบรัฐสภาหรือparliamentary system แบบอังกฤษหรือบ้านเราที่รัฐบาลจะต้องไปทั้งคณะ สภาฯก็ต้องตั้งนายกฯและรัฐบาลใหม่ เช่น กรณีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นต้น) แต่หากไม่มีรองประธานาธิบดีหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะด้วยเหตุอันใดก็ตามThe Presidential Succession Act ปี 1947 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการสืบทอดตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบัญญัติไว้ว่าให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรเป็นผู้ทำหน้าที่แทนและหากยังไม่มีอีกก็เรียงตามลำดับลงไปเรื่อยๆ ดังนี้ Secretary of State(รมว.ต่างประเทศ), Secretary of the Treasury(รมว.คลัง), Secretary of Defense(รมว.กลาโหม), Attorney General(รมว.ยุติธรรม), Secretary of the Interior(รมว.มหาดไทย), Secretary of Agriculture(รมว.เกษตร), Secretary of Commerce(รมว.พาณิชย์), Secretary of Labor(รมว.แรงงาน), Secretary of Health and Human Services(รมว.สาธารณสุขและบริการมนุษย์), Secretary of Housing and Urban Development(รมว.การเคหะและพัฒนาเมือง), Secretary of Transportation(รมว.คมนาคม), Secretary of Energy(รมว.แรงงาน), Secretary of Education(รมว.ศีกษา), Secretary of Veterans Affairs(รมว.กิจการทหารผ่านศึก), Secretary of Homeland Security(รมว.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ).

ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอาจจะงงๆว่าตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆของสหรัฐอเมริกานั้นทำไมถึงใช้คำว่าSecretaryซึ่งแปลตรงๆตัวก็คือเลขานุการหรือเลขาธิการ(general secretary)แทนคำว่า minister ตามที่เราคุ้นเคยกัน และในหลายๆครั้งที่สื่อมวลชนเราเองก็แปลผิดหรือเจ้าหน้าที่เราเองก็เข้าใจผิดๆว่าเขาหรือเธอเป็นเพียงเลขาฯเลยไม่ให้ความสำคัญ เหตุผลก็คือในระบบประธานาธิบดีนั้นประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของของรัฐ(Head of State)และหัวหน้าฝ่ายบริหาร(Head of Government) ซึ่งต่างจากระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยไม่ได้เป็นประมุขของรัฐ (ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ได้) แต่อย่างใด

ประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดีนี้มีอำนาจในการบริหารประเทศมาก โดยรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาฯแบบบ้านเรา รัฐมนตรีในระบบนี้จึงไม่ต้องไปร่วมประชุมสภาฯเพื่อตอบกระทู้ถามจากสภาฯแต่อย่างใด ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้ง(วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ)ถอดถอนรัฐมนตรีโดยรัฐมนตรีไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ รัฐมนตรีจึงทำหน้าที่ประหนึ่งว่าเป็นsecretaryของประธานาธิบดีเพราะต้องปฏิบัติงาน "ตามอัธยาศัยของประธานาธิบดี" (at the pleasure of the president)นั่นเอง

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภาหรือระบบใหม่ที่ปัจจุบันได้รับนิยมขึ้นมามากโดยเฉพาะรัฐที่เกิดใหม่เช่นรัฐที่แยกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งก็คือระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา(semi-presidential system/semi-parliamentary system)ที่มีจุดกำเนิดจากฝรั่งเศส ต่างก็มีอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันไป ยังไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ คนอเมริกัน คนอังกฤษ หรือคนฝรั่งเศสเองซึ่งเป็นต้นแบบของทั้งสามระบบต่างก็พยายามแสวงหาแนวทางใหม่ๆเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

มองเขามองเรา

เป็นที่น่าดีใจที่คนไทยเราจำนวนมากให้ความสนใจในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้เป็นพิเศษ สื่อมวลชนเกาะติดเสนอข่าวกันอย่างเจาะลึก แต่ในทำนองกลับกันก็เป็นที่น่าเศร้าใจที่คนไทยเรารู้เรื่องระบบการเลือกตั้ง สส./สว.ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติมาแล้วน้อยมากหรือแทบจะกล่าวได้ว่าไม่รู้หรือไม่เข้าใจเลยก็ว่าได้

0000

 

 

หมายเหตุ:  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท