Skip to main content
sharethis

‘นิพนธ์’ ชี้อนาคตต้องลดจำนวนชาวนา ทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นแนวโน้มที่ต้องเกิดขึ้น เชื่อชาวนาลืมตาอ้าปากได้ หนุนแนวคิดเกษตรกรต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มประสิทธิภาพ ภาครัฐต้องแทรกแซงเท่าที่จำเป็น สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน-พันธุ์ข้าว-ข้อมูล รองรับการย้ายออกจากภาคเกษตร นอกนั้นปล่อยให้ตลาดทำงาน

นิพนธ์ พัวพงศกร

หลังจากกระแสข่าว ‘ข้าว-การเมือง’ เริ่มสร่างซา ไม่มีใครออกไปเกี่ยวข้าว-ซื้อข้าว-ขายข่าวออกสื่อ ก็น่าจะได้เวลามองกันอย่างจริงจังว่า อนาคตชาวนาในประเทศไทยจะไปทางไหนหรืออย่างน้อยเราควรจะทำเข้าใจชาวนาอย่างไร

ประชาไทนำเสนอมุมมองว่าด้วยชาวนาผ่านสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กนข.) และจักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปลหนังสือ ‘ชาวนาการเมือง’

ฝ่ายแรกเชื่อมั่นในกลไกตลาดและเห็นว่ารัฐควรแทรกแซงให้น้อยที่สุด และอนาคตการปลูกข้าวต้องมุ่งไปสู่เกษตรแปลงใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวนาจะมีจำนวนลดลง แต่นั่นจะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ ขณะที่ฝ่ายหลังมองความสัมพันธ์ระหว่างชาวนาและอำนาจต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะการเมืองที่ข้องเกี่ยวกับชาวนามาโดยตลอด และการจะช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ต้องคิดสมการการเมืองเข้าไปด้วย

ฟังดูเหมือนอยู่กันละขั้วความคิด แต่อาจไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว ไม่ปฏิเสธว่าบางส่วนแตกต่าง ทว่า บางส่วนก็เหมือนจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นี่อาจช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ ‘ชาวนา’ ไทยมากขึ้น ผ่านมุมมองของ ‘ชาวนาตลาด’ และ ‘ชาวนาการเมือง’

...................

นิพนธ์มีทัศนะว่า การจะทำให้ภาคเกษตรหรือชาวนาลืมตาอ้าปากได้คือการทำเกษตรแปลงใหญ่และการลดจำนวนแรงงานในภาคเกษตรลง ซึ่งเป็นแนวโน้มในอนาคตที่ไม่มีทางเบี่ยงเบนได้ เพียงแต่ในประเทศไทยยังติดอุปสรรคด้านการเมือง

ภาคเกษตรเล็กลง-เกษตรแปลงใหญ่ ทิศทางที่ต้องเป็นไปในอนาคต

“แต่มันช้า เรื่องนี้จะค่อยๆ เกิด ไม่ได้เกิดแบบพรวดพราด กรณีที่เกิดเร็วที่สุดคือยุโรป แต่อเมริกาช้า บ้านเรามีแรงส่งที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะคนหนุ่มสาวไม่อยากทำเกษตรและพ่อแม่ก็ไม่อยากให้ทำ ชีวิตลำบาก ความเสี่ยงเรื่องผลผลิต ราคา ดินฟ้าอากาศ แล้วก็ไม่ได้รวย รุ่นใหม่ไม่ทำ”

นิพนธ์อธิบายว่า โดยทิศทางการพัฒนา คนในภาคเกษตรจะย้ายออกไปสู่ภาคการผลิตอื่นมากขึ้น เมื่อคนน้อยลงจำนวนที่ดินต่อครัวเรือนและรายได้ต่อหัวก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เริ่มเห็นมากขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง ขณะนี้รายได้ 100 บาทของประเทศ มาจากภาคเกษตรร้อยละ 10 แต่มีคนอยู่ในภาคเกษตรร้อยละ 30 นับรวมทั้ง Part Time แลt Full Time ทำให้รายได้ต่อหัวในภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคเกษตรมาก

“ชาวนาส่วนใหญ่เข้าถึงสินเชื่อจนกระทั่งมากเกินไป รู้ได้อย่างไรว่ามากเกินไป หนี้สินครัวเรือนต่อรายได้ของเขาโดยเฉลี่ยร้อยละ 80 สูงกว่าหนี้สินครัวเรือนของคนที่ไม่ใช่ชาวนา เพราะเราช่วยชาวนาโดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมากเกินไป เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าชาวนาไม่มี มี แต่ต้องใช้อย่างฉลาด ให้กู้ซื้อที่ดินมีมั้ย มี แต่ดอกเบี้ยแพง ให้ซื้อเครื่องจักรก็มี แต่ดอกเบี้ยสูง

“มันไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเรื่องนา ไม่ใช่เรื่องขาดทุนจากนาอย่างเดียว ถ้าเป็นเรื่องนาโดยตรงวันดีคืนดีราคาตกแต่รายจ่ายเขาลดไหม วันดีคืนดีครอบครัวไม่สบาย ลูกเข้าโรงพยาบาล อันนี้คือความเสี่ยงในชีวิต และด้วยรายได้ที่ปริ่มๆ อยู่แล้ว ใช้เงินไม่พอ ถึงเวลาต้องใช้เงิน เขาก็ต้องกู้ คนที่รายได้ปริ่มๆ จะลำบากมาก มันมีโอกาสได้กู้ เขาก็กู้ และยิ่งบ้านเราโอกาสกู้ง่ายมาก เขาก็กู้มากขึ้นๆ นี่คือปัญหา เราต้องทำให้รายได้เขาขึ้นมาเท่าพวกเรา ขึ้นมาเท่าชนชั้นกลาง ไม่ต้องกู้ ไม่มีหนี้ มันต้องพัฒนาให้คนเป็นชนชั้นกลางที่รายได้พอสมควร ภาระเหล่านี้มันก็จะหลุด เกษตรกรเขาก็อยากส่งลูกเขาเรียนมหาลัย เมืองนอก อนาคตประเทศต้องไปแบบนั้น”

น้ำ อุปสรรคสำคัญที่ขวางเกษตรแปลงใหญ่

แต่อุปสรรคสำคัญของเรื่องนี้คือเรื่องน้ำ เขากล่าวว่าระบบชลประทานของไทยมีประมาณร้อยละ 22-23 ของพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยของโลก แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานกลับไม่มีน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ทำให้ไร่นาขยายเป็นแปลงใหญ่ลำบาก

การปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการน้ำใหม่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องขบคิด นิพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำเป็นสมบัติสาธารณะตามกฎหมาย น้ำที่ได้จากการลงทุนระบบชลประทานก็ไม่มีการเก็บค่าน้ำ ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และยังหมายความว่าการจัดสรรน้ำจะทำได้เฉพาะพื้นที่ชลประทาน ส่วนขอบพื้นที่หรือนอกเขตชลประทานกลับต้องพึ่งพาโชคเรื่องน้ำในแต่ละปี เกษตรกรกลุ่มที่อยู่นอกเขตชลประทานจึงลำบากมาก

“แต่ถ้าในเขตชลประทานใช้น้ำน้อยลงได้ก็จะมีปริมาณน้ำเหลือไปทดน้ำสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานมากขึ้น เพราะทำนาแปลงใหญ่ต้องลงทุนทำระบบน้ำ ซึ่งสำคัญที่สุด ต่อไปต้องมีระบบในการเจรจาแลกเปลี่ยนเรื่องน้ำ ถ้าผมลงทุนประหยัดน้ำได้ น้ำที่เหลือขายได้ ถ้าคุณขายน้ำได้ นาที่อยู่นอกเขตชลประทานก็จะได้ใช้น้ำ ทุกคนก็จะใช้น้ำอย่างมีเหตุมีผลและเป็นธรรม ผลผลิตก็จะสูง รายได้ก็เพิ่ม”

พูดถึงประเด็นนี้ ‘ซื้อน้ำทำนา’ ก็ผุดขึ้นมาทันที นั่นหมายถึงแรงต้านอย่างหนักที่เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งในความเห็นของนิพนธ์ กระแสคัดค้านแรงที่สุดคือนักการเมือง เพราะไม่มีรัฐบาลใดเห็นด้วยกับการทำลายฐานเสียงตนเอง แต่นิพนธ์ตั้งคำถามว่า เคยถามชาวนาหรือไม่ เขายกผลการสำรวจของเจ้าหน้าที่ในกรมชลประทานที่ทำวิจัยเรื่องนี้ พบว่า ชาวนายินดีให้เก็บค่าน้ำ หากจะเป็นเครื่องการันตีว่าจะได้รับน้ำสม่ำเสมอ ดังนั้น ความแน่นอนจึงสำคัญมากและต้องวัดได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาวที่ไม่อาจเกิดได้ในเร็ววันนี้ เพราะต้องมีปรับเปลี่ยนทั้งด้านกฎหมาย ระบบชลประทาน และกระบวนการพูดคุยกับชาวนา

“เรื่องนี้ใช้เวลานาน ต้องมีระบบที่กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานให้ชัดเจน เพราะน้ำคือชีวิต ดังนั้น ทุกคนต้องมีสิทธิได้น้ำขั้นต่ำ หลังจากนั้นส่วนที่เกินควรจะแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ต้องจัดระบบการบริหารจัดการ นี่พูดถึงระยะยาว ต้องค่อยๆ ไป รัฐบาลต้องกล้าคิดแบบนี้และกล้าทำแบบไม่พรวดพราด”

ส่วนระยะที่สั้นกว่าคือให้เกษตรกรที่ได้รับน้ำจากคูคลองต้องจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาคูคลอง เพราะทุกวันนี้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานเปิดน้ำเข้านาฟรี แต่เกษตรกรที่อยู่นอกเขตกลับไม่ได้รับประโยชน์แม้แต่น้อย นิพนธ์ถามว่า แบบนี้ยุติธรรมหรือไม่ ดังนั้น เบื้องต้นเกษตรกรควรจ่ายค่าบำรุงรักษาคูคลองโดยเก็บในกลุ่มผู้ใช้น้ำและดูแลเงินก้อนนี้กันเอง ไม่ใช่ให้กรมชลประทานเป็นผู้เก็บและนำเงินไปใช้ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรรู้สึกว่าเป็นเจ้าของน้ำ หากอนาคตเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานต้องการทดน้ำไกลออกไปให้เกษตรกรอีกรายหนึ่ง ก็ต้องลงทุนหาวิธีประหยัดน้ำหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเองโดยอัตโนมัติ ถ้าคุ้มค่าการลงทุนกว่า แล้วนำน้ำส่วนที่ประหยัดได้ไปขาย นี่คือโอกาสที่จะทำให้เกิดเกษตรแปลงใหญ่

ต้นทุนการผลิตสูงคือมายาคติ

แค่เรื่องน้ำเท่านั้นหรือ? พูดกันมากว่าต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทยสูง ประสิทธิภาพต่ำ หากไม่จัดการเรื่องปุ๋ย สารเคมี หรือเมล็ดพันธุ์ ชาวนาจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร นิพนธ์ตอบว่า ความเชื่อเรื่องต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นมายาคติ

“เราชอบดูค่าเฉลี่ย เอาผลผลิตหารด้วยจำนวนไร่ แต่ผลผลิตต่อไร่ไม่เท่ากัน แปลงที่อุดมสมบูรณ์ผลผลิตต่อไร่จะสูง ต้นทุนต่อตันจะต่ำและไล่ๆ ลงมา แล้วคุณไปจับค่าเฉลี่ย คุณกำลังละเลยแปลงที่มีประสิทธิภาพสูงสุดกับแปลงที่มีประสิทธิภาพต่ำสุด คุณต้องดูแปลงสุดท้ายที่แย่ที่สุด แล้วทำการเพาะปลูกแปลงที่มีต้นทุนสูงสุด ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าต้นทุนส่วนเพิ่ม แปลงเหล่านี้ถ้าราคาตกเมื่อไหร่พวกนี้จะเดือดร้อน จะขาดทุน

“แต่แปลงที่ดีที่สุด ราคาตกยังไม่ขาดทุน แต่กำไรน้อยลง นี่เป็นสิ่งที่เราไม่พูดกัน แต่ใช้ค่าเฉลี่ยตลอดเวลา พวกที่ขาดทุนเพราะที่ดินไม่เหมาะสม ต้องปรับ และเขารู้ว่าที่ดินเขาเหมาะว่าจะปลูกอะไร นี่คือแนวคิดที่ทำให้คนลดการปลูกข้าว เขาจะรู้เอง เมื่อเขารู้แล้ว แต่ความรู้ เทคโนโลยีไม่มี ตรงนี้รัฐบาลต้องถ่ายทอดให้ แล้วก็รวมเรื่องตลาดด้วย แต่เรื่องตลาดบ้านเราปัญหาน้อย เพราะเป็นระบบทุนนิยมเสรี ปัญหาตลาดมี แต่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น”

“ผมไม่กลัวเรื่องผูกขาดเลย ไม่มีทาง ต่อให้เอาที่ดินของแลนด์ลอร์ดทั้งหมด 2 แสนไรมาทำนา ที่ผูกขาดก็ไม่ได้ผูกขาดเรื่องเกษตร แต่มันผูกขาดเรื่องการค้า พวกนี้ใช้อำนาจของตัวเองในการวิ่งเต้น สิทธิพิเศษเยอะแยะไปหมด ตรงนั้นแหละตัวคือระบบที่ต่อต้านทุนนิยม เป็นทุนนิยมพรรคพวก ทุนนิยมผูกขาด”

มายาคติประการที่ 2 นิพนธ์ย้ำว่าผลผลิตต่อไร่ถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญ 2 ตัวคือปริมาณที่ดินที่มีและแรงงาน กล่าวก็คือจำนวนที่ดินต่อเกษตรกร 1 คน เขายกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย ที่ครอบครัวหนึ่งมีขนาดไร่นาใหญ่มาก มีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดในโลก แต่ยังส่งออกได้ เป็นเพราะต้นทุนต่อหน่วยต่ำ และแม้ว่ารายได้ต่อตันจะน้อย แต่ผลิตในปริมาณมาก ซึ่งตัวอย่างที่สุดโต่ง ส่วนสุดโต่งอีกด้าน เช่นประเทศเวียดนาม ซึ่งครอบครัวหนึ่งมีที่ดินน้อยมาก ปีหนึ่งจึงต้องปลูกหลายรอบและต้องอัดปุ๋ย อัดยา

“แต่บ้านเราที่ดินเยอะ ต้องอัดปุ๋ยทำไม น้ำก็ไม่ค่อยมี ถ้าอัดปุ๋ยต้องมีน้ำ แล้วตลาดปุ๋ยบ้านเราเป็นตลาดแข่งขัน ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก เกษตรกรไทยจึงใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม ถ้าฝนไม่ตกซื้อปุ๋ยมาใส่ทำไม เพราะฉะนั้นเขตนาน้ำฝนใช้ปุ๋ยน้อยมาก ส่วนเขตนาชลประทานก็ใช้ปุ๋ยมากขึ้น มายาคตินี้เป็นมายาคติที่ใหญ่มาก ยาฆ่าแมลงอีกเรื่องหนึ่ง ต้องใช้ให้เหมาะสม อันนี้เราใช้ไม่เป็น ส่วนหนึ่งในอดีตมาจากรัฐบาลส่งเสริมในทางที่ผิด ส่งเสริมเป็นค็อกเทล เวลาเกิดโรคระบาด รัฐบาลชอบเอางบประมาณไปซื้อยามาแจก มีคนรวยเยอะ บริษัทที่ค้าขายวัสดุการเกษตร ซึ่งเป็นบริษัทนักการเมืองทั้งนั้น

“ผลผลิตต่อไร่เราจึงต่ำ แต่ต้องเปรียบเทียบนาในพื้นที่ชลประทานของไทยกับเวียดนาม เราสูสีเวียดนาม เปรียบเทียบนาน้ำฝนเรากับอินเดีย เราก็ไม่แพ้เขา ถ้าเปรียบแบบนี้ต้นทุนต่อตันของเราก็ไม่ได้ต่างจากคนอื่น คุณจะไปเปรียบเทียบเอาทั้งนาชลประทานกับนาน้ำฝนมารวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ยไม่ได้ เพราะมันต่างกัน สิ่งสำคัญคือตราบใดที่ต้นทุนของเราต่ำกว่าราคาตลาดโลก เราก็ส่งออกได้ เพราะฉะนั้นเราเป็นที่ 1 แสดงว่าเราเก่งที่สุด ถ้าผลผลิตต่อไร่เราต่ำ ต้นทุนเราสูง เราเป็นที่ 1 ของโลกได้อย่างไร”

ต้องปล่อยให้ชาวนารายย่อยตาย?

ประชาไทยิงคำถามว่า หมายความว่าเราต้องปล่อยให้ชาวนารายย่อยตายใช่หรือไม่

“ไม่ใช่ คุณต้องคิดว่าชาวนามีความสามารถ คนที่เป็นชาวนาร่ำรวยเติบโตมาจากชาวนาที่ไม่ร่ำรวยมาก่อน ผมยกตัวอย่างตระกูลมิตรผล เริ่มต้นจากการเช่าที่ดิน แต่สมัยก่อนเราไปมองว่าผู้เช่าเสียเปรียบ เจ้าของที่ดินเอาเปรียบ ขูดรีด นี่คือภาพขาวนาของเรา จนกระทั่งปัจจุบันมีกฎหมายการเช่าที่ดินเพื่อการทำการเกษตร ที่เป็นกฎหมายเข้าข้างผู้เช่า”

เป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินไม่กล้าให้รายย่อยเช่า ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในความเห็นของนิพนธ์ ตลาดเช่าที่ดินที่อยู่ในระบบทุนนิยมก็ต้องทุนนิยมให้ตลอด ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ และดูแลตามความเป็นธรรม ตามกลไก ตามระบบพื้นฐานของเศรษฐกิจตลาด ต้องใช้ให้เต็มที่ หากมีจุดอ่อนใดก็ต้องแก้ไข

นิพนธ์ กล่าวว่า ต้องแก้กฎหมายการเช่าที่ดินเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ขณะนี้พื้นที่นาภาคกลางถูกทิ้งว่างเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะลูกหลานเกษตรไม่ทำต่อ แต่ก็ไม่ปล่อยเช่า และถ้าชาวนาต้องการซื้อก็ต้องผ่อนส่ง แต่ดอกเบี้ยสูงมาก หากไม่ชำระเงินกู้ ธนาคารต้องเสียเวลาฟ้องร้องและขับไล่ไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี ทางแก้คือต้องทุนนิยมให้สุดทาง ใช้กลไกตลาดล้วนๆ ต้องแก้กฎหมายบังคับคดี ต้องแก้ให้ศาลทำคดีพวกนี้เร็วขึ้น แต่เป็นธรรม เพราะว่าคนจนเวลาขึ้นศาลมักจะเสียเปรียบ

“กฎหมายการเช่าและกฎหมายบังคับคดีคือสิ่งที่อยู่ในระบบทุนนิยมที่เราต้องแก้ เพื่อให้คนที่ไม่มีที่ดินแต่อยากจะเช่าที่ดินก็เช่าที่ดินได้ คนที่ไม่มีที่ดินอยากจะซื้อผ่อนส่งก็สามารถซื้อได้ กลไกมันก็จะเดินไปตามธรรมชาติ หากรัฐบาลจะช่วยก็ไปตั้งแลนด์แบงค์หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ต้องไม่อุดหนุนมากเกินไป ที่ผ่านมารัฐแจกที่ดิน สปก. ไป 30 กว่าล้านไร่ แต่ถามว่าแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาบุกรุกป่าได้ไหม ไม่ได้ แล้วก็ยังทำแบบเดิมอีก”

ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่า ชาวนาที่จะผลักดันตนเองจนเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เช่าที่ดิน ซื้อที่ดินได้ ต้องสะสมทุน สะสมความมั่งคั่งมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว...นิพนธ์ตัดบทว่า

“ไม่ใช่ คุณสะสมความรู้ มนุษย์เราคนที่ไม่ได้เกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง มันก็ต้องเรียนเยอะๆ สั่งสมความรู้เยอะๆ พ่อตาผมเขาก็ไม่มีอะไร เขาก็สะสมความรู้ในการทำไร่ทำนา จนเขาเป็นคนที่มีฐานะ เป็นคนชั้นกลางที่มีฐานะมีคนนับหน้าถือตา มันไม่ได้หมายความว่าพอเรียนจบมหาวิทยาลัย อายุ 22 แล้วต้องรวย คนเราต้องไต่เต้า และสั่งสมประสบการณ์

“ชาวนาที่ไม่มีความรู้ ไม่มีการสะสมเงินทุนนั้นเป็นมายาคติ หาว่าชาวนาไม่มีความรู้ชอบดูถูกชาวนา ผมเขียนเรื่องนี้คนก็หาว่าผมดูถูกชาวนา ชาวนาเป็นอาชีพเสี่ยงมาก ถ้าไม่มีความรู้อยู่ไม่ได้ เขามีความรู้เพราะมันเป็นอาชีพของเขา แต่ตอนหลังมันมีสภาพหลายอย่างในตลาดที่บังคับ เช่น ไม่มีเวลาดูแล เขารู้ว่ากำไรมันน้อย จึงทำนาแปลงเล็ก แต่ถ้าเขาเข้าเมืองเขาได้รายได้จากการขับแทกซี่มากกว่า เข้าเลยเข้าเมือง นาก็ทำให้มันเสร็จๆ ยิ่งช่วงหลังแรงงานไม่มี ก็จ้างคนมาทำ และเอาเวลาที่เหลือไปหาเงินอย่างอื่นที่คุ้มกว่า ชีวิตของเขาเขารู้ว่าจะบริหารอย่างไร บางคนบอกว่าชาวนาส่วนใหญ่โง่ ถ้าเขาโง่แล้วเราจะสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ได้อย่างไร นั่นเป็นตัวพิสูจน์ ถ้าไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีทางส่งออกได้ขนาดนี้ แต่ไม่รวยผมบอกแล้ว ที่ไม่รวยนอกจากจะเป็นเพราะที่ดินน้อยแล้ว ยังมีเรื่องความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศกับความแปรปรวนของราคา ราคาตกเมื่อไรก็ขาดทุน”

การจะเคลื่อนย้ายชาวนาออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอื่นๆ เพื่อลดจำนวนคนในภาคเกษตร สิ่งที่ต้องคิดคือ เมื่อเกษตรกรส่วนนี้ออกจากภาคเกษตรแล้ว พวกเขาจะไปอยู่ไหน นิพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้คนหนุ่มสาวในภาคเกษตรก็ออกจากภาคเกษตรอยู่แล้ว การย้ายออกมาก็มีทั้งดีและไม่ดี เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาของไทยเน้นกรุงเทพเป็นหลัก แต่ในแง่ดีคือเมื่อย้ายเข้าสู่เมืองแล้วรายได้สูงขึ้น แต่ข้อเสียคือการต้องทิ้งลูกหลานตัวเองไว้ที่บ้าน เกิดครอบครัวฟันหลอ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เป็นเกิดการผลิตซ้ำความจน เพราะลูกหลานต้องอยู่กับปู่ย่าตายายที่ไม่มีการศึกษา

“การสร้างความเจริญในชนบทนั้นสำคัญมาก เขามีงานที่นั่น เขาก็อยู่ที่บ้าน มันต้องมียุทธศาสตร์ที่สร้างความเจริญให้ได้ มันต้องสร้างเมืองใหญ่ๆ หลายๆ เมืองแบบกรุงเทพ สมัยที่มีการพัฒนาชนบทจริงๆ จังๆ ครั้งล่าสุดคือยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังจากนั้นไม่เคยมียุทธศาสตร์ด้านนี้อีกเลย เมื่อไม่มียุทธศาสตร์ คนก็ออก มาอยู่กรุงเทพ มากระจุกอยู่เมืองใหญ่ๆ เพราะมันไม่มีงานทำ”

จำนำข้าว

แล้วนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ช่วยให้ชาวนาสามารถสะสมทุนได้เร็วขึ้น เพื่อสร้างเกษตรแปลงใหญ่หรือย้ายจากภาคการเกษตรหรอกหรือ?

“นั่นเป็นทฤษฎี แต่คุณใช้เงินเท่าไร จริงๆ แล้วเขาเคยทำกันในยุโรปที่มีการสนับสนุนคุ้มครองมาก ของเหล่านี้ถ้ามันได้เงินเยอะโดยไม่ออกแรง คนจะเสียคน จะไม่ปรับตัว เพราะไม่ต้องดิ้นรน ก็รื้อสวนยางมาปลุกข้าว ผลผลิตข้าวที่เยอะอยู่แล้วก็เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือติดกับดัก คนเราเมื่อได้เงินมาเยอะๆ จากการทำอะไรง่ายๆ มันจะเกิดการเรียกร้อง ยุโรปก็เป็น

“เวลาขาดทุนหรือราคาตกต่ำ แล้วช่วยไม่ให้ขาดทุนนิดๆ หน่อยๆ ทำได้ แต่ถ้าช่วยต่อไปเรื่อยๆ จนติดเมื่อไหร่ ไม่ปรับและกลายเป็นการเมือง พอกลายเป็นการเมือง เงินก็จะมาทุ่มเรื่องนี้หมด ผมไม่ได้บอกว่าไม่ต้องอุดหนุน แต่การอุดหนุนต้องไม่บิดเบือนกระบวนการการตัดสินใจของเกษตรกรและตลาด แต่เราบิดเบือนตลอดแนวเลย เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ช่วยชาวนาเพียงอย่างเดียว แต่คิดว่าจะสามารถผูกขาดตลาดข้าวได้ คุมตลาดแล้วจะโก่งราคา เพราะฉะนั้นจึงมีการซื้อข้าวมาจ้างโรงสีสี จ่ายเงินโรงสีอีกก้อนเพราะอะไร เพราะโรงสีคือหัวคะแนนทั้งนั้น บางโรงเป็นของ ส.ส. เสร็จแล้วไปเช่าโกดัง ทำไมต้องไปจ่าย ทำไมไม่เอาเงินเหล่านี้ไปพัฒนาประเทศ แล้วทำไมต้องขายข้าวเอง ในที่สุดขายหมดมั้ย พอปฏิวัติก็มีข้าวเหลืออยู่ 18 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับส่งออก 2 ปี ถ้าไม่มัวแต่เอามาเก็บไว้ เงินรายได้เป็นของประเทศแล้ว นี่คือการบอกว่าหวังดีต่อเกษตรกร บอกว่าทำ 2-3 ปีเกษตรกรรวย ไปถามได้เลยว่าทำมาสองปีกว่ามีมั้ย ใครที่ลืมตาอ้าปากได้ ประสบความสำเร็จ เลิกทำนา กลายเป็นนายทุน มันโรแมนติก คุณเป็นชาวนามาตลอดชีวิต อยู่ดีๆ จะไปเป็นผู้ประกอบการ”

แต่คุณบอกเองว่าชาวนาก็เรียนรู้

“เขาเรียนรู้ในอาชีพของเขา เขาเก่งในอาชีพของเขา แต่ทันทีทันใดที่จะให้เขาเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าอยากให้เขาทำนาแปลงใหญ่ขึ้นเพราะคุณอุดหนุนมาก เขาก็ไม่มีปัญญาซื้อเพราะที่ดินแพงขึ้น ขนาดราคาค่าเช่ายังแพงขึ้นทันทีทันใดจาก 500 บาทต่อไร่ต่อปีกลายเป็น 1,000 บาทต่อไร่ต่อฤดู มันแพงขึ้นเพราะราคาจำนำ”

ต้องปล่อยให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจเองและให้กลไกตลาดทำงาน รัฐมีหน้าที่แค่คุมนโยบายและดูแลให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มในสิ่งที่จะช่วยผลิตภาพทางการเกษตร เปลี่ยนชาวนาให้ไปเป็นผู้ประกอบการด้านอื่น

สำหรับนิพนธ์ รัฐบาลควรอุดหนุนเท่าที่จำเป็น เช่น สินเชื่อ น้ำ โครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัย เขาเห็นว่าปัจจุบันการวิจัยด้านการเกษตรของไทยน้อยลงมาก ขณะที่ชาวนาต้องการข้าวพันธุ์ดี

ไม่มีทางผูกขาด

ถ้าเกษตรแปลงใหญ่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คำถามใหญ่ที่เอ็นจีโอ เกษตรกรรายย่อย และผู้บริโภคกังวลก็คือการผูกขาดโดยบริษัทด้านการเกษตรขนาดใหญ่ แต่นิพนธ์ไม่กังวลเลย

“เป็นเกษตรครัวเรือนใหญ่แค่ไหนก็ไม่มีทางผูกขาด คุณมีพันไร่ คุณผูกขาดได้ไหม ไม่มีทาง คุณต้องใหญ่ขนาดว่าเป็นเจ้าของที่ดิน 2 แสนไร่ และถึงแม้คุณจะ 2 แสนไร่ คุณยังผูกขาดไม่ได้ เพราะพื้นที่ปลูกข้าวเรามี 60 ล้านไร่ ชาติหน้าก็ไม่มีทางผูกขาด ฟาร์มในสหรัฐอเมริกา ฟาร์มในออสเตรเลีย ไม่มีเจ้าไหนสามารถผูกขาดได้ แม้กระทั่งฟาร์มบริษัทเป็นหมื่นไร่ แต่ว่ามีอำนาจต่อรองกับคนซื้อกับพ่อค้า นี่คือสิ่งที่เราต้องการใช่หรือเปล่า คุณต้องการให้เกษตรกรมีอำนาจใช่หรือเปล่า หรือไม่ต้องการ คำตอบคือต้องการ

“ผมไม่กลัวเรื่องผูกขาดเลย ไม่มีทาง ต่อให้เอาที่ดินของแลนด์ลอร์ดทั้งหมด 2 แสนไรมาทำนา ที่ผูกขาดก็ไม่ได้ผูกขาดเรื่องเกษตร แต่มันผูกขาดเรื่องการค้า พวกนี้ใช้อำนาจของตัวเองในการวิ่งเต้น สิทธิพิเศษเยอะแยะไปหมด ตรงนั้นแหละตัวคือระบบที่ต่อต้านทุนนิยม เป็นทุนนิยมพรรคพวก ทุนนิยมผูกขาด”

เอาล่ะ ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะวางอยู่ความเชื่อที่ว่า กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในโลกความเป็นจริง กลไกตลาดไม่เคยทำงานได้สมบูรณ์แบบนั้น

“แน่นอน ไม่มีวันสมบูรณ์ ตั้งแต่สนธิสัญญาบาวริ่ง เราอยู่ในระบบเสรีมาแต่ไหนแต่ไร คุณรู้ไหมตั้งแต่สมัยพระเจ้าตาก คนจีนอพยพมาเมืองไทยตั้งบริษัทค้าข้าวที่มณฑลกวางตุ้งและมีสาขาอยู่ฮ่องกง บริษัทนี้ยังอยู่อยู่มาจนตอนนี้ นี่คือระบบการค้าที่เกิดขึ้น เราอยู่ในระบบแบบนี้ มันไม่ได้ผูกขาด มันอยู่มาแบบนี้ แต่มันไม่สมบูรณ์ มันไม่มีอะไรสมบูรณ์ ในตลาดข้าวปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในตลาดโลกคือข้อมูล และรัฐบาลทั่วโลกแทรกแซง ทำให้ราคาแกว่งมาก ฉะนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาพ่อค้าจะต้องระวังเรื่องนี้มาก พ่อค้าที่จะเก็งกำไรต้องลงทุนเรื่องข้อมูลและไม่บอกใคร”

นิพนธ์ สรุปสุดท้ายว่า ต้องปล่อยให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจเองและให้กลไกตลาดทำงาน รัฐมีหน้าที่แค่คุมนโยบายและดูแลให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มในสิ่งที่จะช่วยผลิตภาพทางการเกษตร เปลี่ยนชาวนาให้ไปเป็นผู้ประกอบการด้านอื่น

“ในอนาคต ยังมีชาวนาอยู่แน่ ภาคเกษตรก็ยังอยู่แถวนี้ แต่ว่ารายได้ต่อคนสูงขึ้น มูลค่าสูงขึ้น และไม่มีทางที่ใครจะผูกขาด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net