Skip to main content
sharethis
เสวนา 'ทะเลไทย ใบเหลือง EU-TIER' นักเศรษฐศาสตร์ระบุสินค้าประมงไทยต้องสะท้อนราคาที่แท้จริงสู่ความสมดุลและยั่งยืนในอุตสาหกรรม แก้ไขกดขี่แรงงาน รักษาทรัพยากรทางทะเล เพราะนายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นและใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านผู้ช่วยหัวหน้าเลขานุการ ศปมผ. ระบุหากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้วก็ต้องยุบศูนย์เฉพาะกิจนี้ คาดหวัง 'กรมประมง-กรมเจ้าท่า-กระทรวงแรงงาน' ที่รับผิดชอบอยู่ปกตินั้นจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น
 
 
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung: FES) ได้จัดเวทีเสวนา “ทะเลไทย…ใบเหลือง EU-TIER กับการค้ามนุษย์” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาคือ รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว ผู้ช่วยหัวหน้าเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.), นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และนายณวัสพล หาชิต ผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงของกรมประมง
 
รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มจากการกล่าวถึงแนวคิดเรื่องมาตรฐานแรงงานกับการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีแนวคิดที่ว่ามาตรฐานแรงงานจะต้องมีความสมดุลกับมาตรฐานการค้า โดยองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ก็มีข้อกำหนดต่าง ๆ ในการสร้างความสมดุลนี้ เช่น สหประชาชาติ (UN) ก็กำหนดหลักความรับผิดชอบพื้นฐานสำหรับการทำธุรกิจ 10 ประการขึ้นมา ส่วนองค์การการค้าโลก (WTO) ก็มีแนวคิดต่อต้านการแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุด (Race to the bottom) ด้านองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็มีการออกมาตรฐานแรงงานต่าง ๆ ที่เขตการค้าเสรีต่าง ๆ นำไปใช้ นอกจากนี้ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้นก็มีการแทรกแซงทางการค้าด้วยการกำหนดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป Generalized System of Preferences (GSP) เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU) เป็นต้น
 
ดร.กิริยา กล่าวถึงกรณีที่ไทยถูกจัดอันดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report :TIP Report) ว่ามีการจัดอยู่ 4 ระดับคือ ระดับ 1 (Tier 1) ประเทศซึ่งรัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์ ระดับ 2 (Tier 2) ประเทศซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตาม มาตรฐานเหล่านั้น ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง (Tier 2 Watch list) ประเทศที่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานเหล่านั้น และ ระดับ 3 (Tier 3) ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการดังกล่าว
 
ในด้านบทลงโทษนั้นรัฐบาลของประเทศในระดับ 3 อาจถูกมาตรการลงโทษบางอย่าง รัฐบาลสหรัฐฯอาจระงับความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า ประเทศซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวจะถูกปฏิเสธหรือระงับเงินสำหรับการเข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย TVPA รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการคัดค้านจากสหรัฐฯ ในเรื่องของความช่วยเหลือ (ยกเว้นความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า และความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบางอย่าง) จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก โดยการค้ามนุษย์ของไทยที่ถูกจัดอันดับในรายงาน TIP นั้นพบว่าอยู่ในระดับ Tier 2, Tier 2 Watch list และ Tier 3 มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2001 ไม่เคยถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ Tier 1 เลย นอกจากนี้ใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียนของเราก็ไม่มีประเทศไหนถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ Tier 1 ด้วยเช่นกัน
 
สำหรับกรณี การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) นั้นที่ปัจจุบันไทยถูกแขวนใบเหลืองแจ้งเตือนไว้ว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับ EU ในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าหากไทยถูกลดระดับลงไปที่ใบแดงก็จะถูกคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์เข้า EU เลยทีเดียว สำหรับปัญหา IUU Fishing นี้ไม่ได้มีเฉพาะแต่การค้ามนุษย์ แต่ครอบคลุมถึง การทำประมงผิดกฎหมาย เรืออาชญาบัตร เครื่องมือจับปลา ปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ การตรวจสอบที่มาของปลา แหล่งกำเนิดสินค้า การทำประมงในประเทศเพื่อนบ้าน การออกใบรับรองสัตว์น้ำ โดย IUU Fishing เป็นมาตรการที่ UN และ FAO กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติมีเป้าหมายสำคัญคือ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต โดย6 แผนหลัก คือ การจดทะเบียนเรือประมงและการออกใบอนุญาตทำการประมง, การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง, การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS), การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability), การปรับปรุง พ.ร.บ.การประมงและกฎหมายลำดับรอง และการจัดทำแผน NPOA-IUU
 
ดร.กิริยา กล่าวต่อไปถึงประเด็นแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังแรงงานหลักในอุตสาหกรรมประมงของไทย ว่าเหตุผลของการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เกิดจากปัจจัยผลัก ได้แก่ ความยากจนและปัญหาการเมืองภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น รายได้ต่อหัวของลาวอยู่ที่ 1,759 ดอลลาร์สหรัฐฯ กัมพูชาอยู่ที่ 2,078 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทยอยู่ที่ 7,595 ดอลลาร์สหรัฐฯ  สัดส่วนคนจนในลาว มีถึง 26% กัมพูชา 34%, และไทยมีแค่ 2% เท่านั้น และในด้านปัจจัยดึง ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยเนื่องจากไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ การไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้านความรู้และทักษะ ทั้งนี้มีการพูดถึงเรื่องคุณและโทษของแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย โดยในด้านบวกนั้นมีการมองว่าแรงงานข้ามชาติจะช่วยเพิ่มปัจจัยการผลิตและ GDP, ช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานเงินเฟ้อและค่าจ้างต่ำลง รักษาความสามารถในการแข่งขัน, แม่บ้านสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน, บรรเทาปัญหาสังคมสูงวัย และลดความผันผวนในตลาดแรงงาน ในด้านลบนั้นมีการมองว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงานแรงงานไทย, ทำให้ค่าจ้างลดต่ำลง, ผู้ประกอบการพึ่งพิงแรงงานและไม่พัฒนาไปใช้ทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น, เป็นภาระทางการคลัง เช่น การศึกษา รักษาพยาบาล และปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ความมั่นคงของชาติ เป็นต้น
 
ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจำแนกตามประเภทใบอนุญาตทำงาน ณ เดือน กรกฎาคม 2559 นั้นมียอดรวม 2,922,016 คน เป็นแรงงานพม่า 57% กัมพูชา 32% และลาว 11% ดร.กิริยา ระบุถึงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติยุค คสช. ว่าปี 2557 ได้มีการตั้ง One Stop Service ในทุกจังหวัด เปิดจดทะเบียนและอนุญาตให้ทำงาน 1 ปี (หลังจากที่แรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก) ยอดจดทะเบียน 1,626,235 คน มีการเร่งและขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก 1 ปีจากวันที่ 31 มีนาคม 2558 และให้แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนตามนโยบาย คสช.ปี 2557 รายงานตัวขอรับบัตรชมพู และได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ยอดลงทะเบียน 1,047,635 คน นอกจากนี้ กบร.ได้ถูกยกเลิกไป โดยได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (กนร.) ขึ้นมาแทน มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจกรรมประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล มีการปรับแก้ข้อตกลงจากเดิมทำงานครบ 4 ปี ต้องออกไป 3 ปี เหลือ 30 วัน มีการอนุญาตจ้างงานแบบไปกลับหรือตามฤดูกาลตามมาตรา 14 ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและตามแนวจังหวัดชายแดน การรับจดทะเบียนแรงงานเวียดนามทำงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรในกิจการก่อสร้าง ประมง ร้านอาหาร รวมทั้งปรับแก้ประกันสังคม ให้แรงงานข้ามชาติสามารถได้รับบำเหน็จ
 
ดร.กิริยา ระบุว่าในประเทศไทยนั้นยังไม่สามารถกำหนดทิศทางของนโยบายแรงงานได้ชัดเจนและสอดรับกับแผนของประเทศ มีปัญหาบริษัทนายหน้า การเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลาและเงินมาก รวมถึงยังขาดนโยบายเชิงรุกในการคัดเลือกแรงงานต่างชาติที่มีคุณภาพ ขาดข้อมูลในการกำหนดตัวเลขความต้องการใช้แรงงานต่างชาติของประเทศ จำแนกตามอุตสาหกรรมและบริษัท และ ดร.กิริยา ได้สรุปว่าสำหรับอุตสาหกรรมประมงนั้น จะต้องมุ่งเป้าหมายไปสู่การสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและการจ้างงานที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายค่าแรงให้สูงขึ้นดึงดูดให้มีแรงงานเข้ามาทำงานรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ราคาของสินค้าประมงก็จะต้องสูงขึ้นเพื่อไปสู่จุดที่สมดุลมากขึ้น
 
ด้าน พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว ผู้ช่วยหัวหน้าเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ระบุว่ารัฐบาลนี้พยายามแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยกำหนดโทษสูงเพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำซาก สำหรับการแก้ปัญหา EU ที่ให้ใบเหลืองประเทศไทยกรณีการทำประมงผิดกฎหมายนั้นเพราะมีการขาดการรายงานและไร้การควบคุม  ปัจจุบันนั้น พล.ร.ท.วรรณพล กล่าวว่า ศปผม. ได้แก้ปัญหาไปหลายเรื่องแล้ว เช่น ออกพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558, ติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS), จำกัดการทำประมงให้สมดุล โดยเรือที่หาปลาฝั่งอ่าวไทยออกเรือได้ 220 วันต่อปี ฝั่งอันดามันออกเรือได้ 235 วันต่อปีจากเดิมออกได้ 250 วันต่อปี, ปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ, จดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง เพื่อแก้ปัญหาเรือผี เรือสวมทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีเรือจำนวน 8,024 ลำ ที่ไม่มาให้ตรวจก็ถูกยกเลิกทะเบียนไป และบางส่วนก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ , มีการยึดทำลายเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ไอ้โม่ง โพงพาง เรือปั่นไฟ เป็นต้น
 
ส่วนประเด็นด้านแรงงาน พล.ร.ท.วรรณพล กล่าวว่า EU มีข้อเรียกร้องให้แรงงานมีสิทธิเสรีในการตั้งสหภาพกันเองได้ แต่ในกฎหมายบ้านเราอนุญาตให้แรงงานเป็นสมาชิกของสหภาพที่ตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ เพราะ EU ต้องการให้แรงงานมีอำนาจต่อรองหรือนำข่าวสารที่ถูกข่มขู่บังคับออกมาเปิดเผย หรือขอความช่วยเหลือ อีกกรณีคือ EU ต้องการให้คุ้มครองแรงงาน เช่นกรณีที่แรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทำงาน นายจ้างต้องเป็นฝ่ายรับผิด เอาโทษเฉพาะนายจ้าง ให้คุ้มครองแรงงาน ส่วนข้อสุดท้ายคือ การต่ออายุใบอนุญาตปกติเมื่อครบ 2 ปี แรงงานต้องกลับประเทศก่อนแล้วค่อยเข้ามาใหม่ แต่ EU ขอให้ช่วยเหลือแรงงาน ต่อครั้งละ 2 ปีโดยไม่ต้องเดินทางกลับ ซึ่งบางเรื่องเราก็ทำให้บางเรื่องก็ต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย ส่วนเรื่องการจดทะเบียนต่างด้าวนั้นได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
 
“การทำงานของ ศปมผ. ในห้วงแรกใช้ยาแรง กระทบผู้ประกอบการ หรือชาวบ้านที่ใช้เครื่องมือทำประมงที่ผิดกฎหมาย แต่เราก็ช่วยเหลือเยียวยา สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย รัฐก็มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืม ทั้งนี้ยืนยันว่า การทำงานของ ศปมผ. ต้องการให้ทรัพยากรทางทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์ สร้างความยั่งยืน และธรรมภิบาลในการทำประมง ซึ่งเชื่อว่าถ้าเป็นไปตามแนวทางนี้ จะสามารถปลดใบเหลืองปลดได้แน่นอน” พล.ร.ท.วรรณพล ระบุ
 
ส่วนกรณีสถานการณ์การค้ามนุษย์นั้น พล.ร.ท.วรรณพล กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ระดับ Tier 2 Watch List ใน TIP Report ซึ่งกรณีที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาอาจถูกลดหรือตัดสิทธิทางการค้า อันเป็นมาตรการลงโทษเชิงสัญลักษณ์ เพราะสิทธิทางการค้าตรงนี้มีมูลค่าไม่มากนัก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ประมงในปัจจุบันพบว่า สภาพแรงงานถูกบังคับค้ามนุษย์มีน้อยลง เพราะกฎหมายแรง เจ้าหน้าที่ตรวจตราเข้มงวด จึงเปิดช่องให้กระทำความผิดน้อยลง
 
“จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า แรงงานมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท ในกรณีแรงงานประมงพื้นบ้านค่าแรงวันละ 600 บาท ขณะเดียวกันยังพบว่า มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนขยับฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าของเรือประมงลำเล็ก ๆ เป็นเจ้าของแผงขายอาหารทะเลในตลาดสด ซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องเข้าไปจัดการ เพราะในทางกฎหมายยังเป็นข้อห้ามอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้สะท้อนว่า แรงงานไม่ได้อยู่ในสภาพถูกบังคับ ในทางกลับกันก็มีเสียงจากฟากเรือพาณิชย์ นายจ้างบางรายระบุว่าจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าไปแล้ว 3 เดือน แต่เอาเข้าจริงทำงานแค่เดือนสองเดือนแรงงานต่างด้าวก็หนี้ก็ลาออก อีกทั้งยังต้องเสียค่าจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีก 1,000 บาทต่อคน เรื่องเหล่านี้นายจ้างก็อยากให้คุ้มครองเช่นกัน” พล.ร.ท.วรรณพล กล่าว
 
นอกจากนี้ พล.ร.ท.วรรณพล ระบุว่าอย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องการค้ามนุษย์นั้น สิ่งที่ต้องกำจัดให้หมดไปคือ โบรกเกอร์ ซึ่งเป็นนายหน้าค้าแรงงาน เพราะคนเหล่านี้เข้ามาสร้างปัญหา ผ่องถ่ายแรงงานไปยังที่ต่าง ๆ รวมทั้งหากสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ศปมผ. ก็จะต้องยุบหน่วยงานไป โดยพลเรือตรีวรรณพลหวังว่าหน่วยงานปกติอย่างกรมประมง กรมเจ้าท่า และกระทรวงแรงงาน จะสามารถกำกับดูแลได้ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ระบุถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ว่าในช่วงปีที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเข้ามายัง LPN ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนซึ่งอาจบ่งบอกได้ว่าสถานการณ์ค้ามนุษย์ในภาคการประมงเริ่มลดลงในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ตนเองได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนของสหรัฐฯและ EU พบว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังโจมตีประเทศไทยอย่างหนักอยู่ในเรื่องการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายเพราะพวกเขายังทราบข้อมูลเก่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนอยู่ นอกจากนี้สมพงษ์ยังระบุว่าในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแรงงานกับภาครัฐอยากให้มีการเข้าไปสำรวจสอบถามคนทำงานว่าหลังจากที่ภาครัฐเข้ามาจัดระเบียบนั้นสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาเป้นยังไงบ้างซึ่งควรมีการทำศึกษาวิจัยไว้ใช้เป็นบทเรียนในอนาคต ส่วนสถานการณ์ในอุตสาหกรรมประมงก็ยังพบกลุ่มผู้ประกอบการ สมาคมประมงก็ยังเสียงแตกแบ่งเป็นฝั่งฝ่ายอยู่ สุดท้ายจะแก้ปัญหา IUU Fishing ไปทิศทางไหนบนแนวคิดที่กลุ่มมีความแตกต่างกัน และจะหาสมดุลสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร
 
นายณวัสพล หาชิต ผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง กรมประมง เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สังเกตการณ์บนเรือประมงโดยระบุถึงที่มาของผู้สังเกตุการณ์ว่ามาจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS, 1982) จรรยาบรรณในการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ (FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries, 1993) และ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์ทั้งเรือประมงและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยณวัสพลระบุว่าบนเรือที่เขาขึ้นไปสังเกตการณ์นั้นแม้แรงงานจะมีเวลาทำงานตรงตามกฎระเบียบที่ระบุไว้ ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มีการจัดสวัสดิการให้ แต่พบว่าที่พักบนเรือประมงนั้นก็ยังคับแคบอยู่
 
 
ที่มาเนื้อหาบางส่วนจากสำนักข่าวอิศรา
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net