Skip to main content
sharethis
 
สวัสดิการแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานโรงงานผลิตแปรงสีฟัน ถูกลอยแพ
 
จากกรณีพนักงานบริษัทสยาม อินเตอร์ บรัช จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 14/1 หมู่ 3 ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแปรงสีฟันรายใหญ่ ได้ปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังมีปัญหาขัดแย้งในบริษัทฯ ทำให้พนักงาน จำนวน 92 คน ตกงาน และไม่มีงานทำ สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มีอายุมากแล้วไม่สามารถไปหางานที่โรงงานอื่นทำได้ ที่ผ่านมา มีการเจรจาระหว่างนายจ้าง และตัวแทนพนักงาน และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี ได้เจรจา และร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อโรงงานปิดตัวต้องแจ้งล่วงหน้า และต้องจ่ายเงินค่าเลิกจ้าง และเงินโบนัสของแต่ละคน
 
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (23 พ.ย.) นายวิเชียร เสงี่ยม หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี กล่าวว่า สำนักงานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และหาแนวทางในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพนักงานดังกล่าวแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย เพื่อจะนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาช่วยเหลือลูกจ้างในเบื้องต้นไปก่อน
 
ขั้นตอนหลังออกคำสั่งแล้ว จะมีผลบังคับ และปฏิบัติตามภายใน 60-90 วัน ถึงจะได้รับเงินกองทุนดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งรัดให้เร็วขึ้น เพราะทราบปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน ส่วนนายจ้างก็จะดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ฟ้องศาล เพื่ออายัดทรัพย์สินเพื่อนำมาชำระหนี้ต่อไป
 
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าจ้างที่ติดค้างพนักงานนั้นเบื้องต้นบริษัทฯ รับปากจะจ่ายค่าเงินจ้างที่เหลือให้ทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือพนักงานไปก่อน ส่วนเงินค่าชดเชยนั้นจะได้รับตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ 1.พนักงานจะได้เงิน 30 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี 2.ได้ 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และ 3.90 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ขณะนี้ตนได้ประสานโรงงานในพื้นที่อำเภอบ้านบึง เพื่อมาพิจารณาคัดพนักงานที่ยังมีอายุไม่มาก ให้ไปทำงานยังสถานที่ใหม่ต่อไป
 
ด้าน นางวัชรี จันทร์เกตุ ตัวแทนพนักงานบริษัทสยาม อินเตอร์ บรัช จำกัด กล่าวว่า ในเบื้องต้นการเข้ามาช่วยเหลือของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะพนักงานเดือดร้อนมากไม่มีงานทำ และไม่สามารถจะไปหางานที่อื่นทำได้ เนื่องจากส่วนใหญ่อายุเกิน 35 ปีแล้ว ไม่มีโรงงานไหนรับเข้าทำงานแล้ว
 
ที่ผ่านมา พนักงานไม่เคยเรียกร้องอะไรต่อทางโรงงานเลย แม้จะไม่มีเงินโบนัส ปรับเงินเดือนขึ้น แม้จะทำงานมานาน 5-10 ปี ก็จะได้เงินเท่ากับพนักงานที่เข้าใหม่ทุกๆ คน ที่สำคัญให้การช่วยเหลือโรงงานด้วยดีมาโดยตลอด แต่กลับมาทำเช่นนี้กับพนักงาน ดังนั้น จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และช่วยเหลือพนักงานในลักษณะเช่นนี้ด้วย เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องระเบียบ และข้อกฎหมายอะไรเลย
 
 
พนังงาน บ.ยาโน่ สลายการชุมนุม หลังนายจ้างยอมจ่ายโบนัส 2.5 เดือน+ค่าเดินทาง 5,000 บาท
 
ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี รายงานความคืบหน้า เหตุพนักงานบริษัทยาโน่อิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทยจำกัด ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์และเครื่องมือทางการแพทย์ตั้งในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรีหยุดงานประท้วงทั้งด้านและและภายในบริษัทฯ รวมจำนวนกว่า 400 คน เพื่อเรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัสประจำปี และสวัสดิการ จากนายจ้างมีข้อเรียกร้องประกอบด้วยขอโบนัสขั้นต่ำประจำปี 2559 รวม 3 เดือน , ค่าเดินทางกลับบ้าน 3,000 บาท,พนักงานที่หยุดงานประท้วงในวันที่22พ.ย. ห้ามปลด หรือ โยกย้ายหรือเลิกจ้าง,เรียกร้องเบี้ยขยัน 700,800,900 บาทและค่าครองชีพปรับเพิ่ม 500 บาท จากเดิม 292 บาทโดยตั้งเต้นท์ 1 หลัง ปิดประตูทางเข้า-ออก ประท้วงมาตั้งแต่วันที่22 พ.ย.59 ตามที่เสนอ โดยละเอียดนั้น
 
พ.ต.ท.ณัฐทรดล อภิธารสกุลศิริ รรท.ผกก.สภ.ศรีมหาโพธิ, นายพงษ์สิทธิ์ เนื่องจำนงค์ นายอำเภอศรีมหาโพธิและ ร้อยเอกสงกรานต์จันทรรัตน์มณี ชุด รส.จากมณฑลทหารบกที่12 (มทบ.12) ประจำ อ.ศรีมหาโพธิ และกำลังเจ้าหน้าที่ อ.ส.ประจำ อ.ศรีมหาโพธิได้สนธิกำลังร่วมอำนวยการดูแลความเรียบร้อย โดยได้ให้พนักงานจัดผู้แทนรวม 7 คนเข้าเจรจาตกลงข้อเรียกร้องในกลางดึกกับทางผู้บริหารบริษัทชาวญีปุ่น พร้อมกับนายสมพงษ์คล้อยแคล้ว สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรีใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงจึงได้ข้อยุติ พร้อมออกมาประกาศให้กับทางพนักงานที่ชุมนุมประท้วงทราบผ่านทางโทรโข่งว่าให้โบนัสพนักงาน 2.5 เดือน เงินค่าเดินทาง 5,000 บาท พร้อมกับไม่มีการปลด หรือ โยกย้ายหรือเลิกจ้างพนักงานที่หยุดงานประท้วง ท่ามกลางความยินดีของพนักงาน ก่อนพากันแยกย้ายกลับโดยสงบ
 
นายพงษ์สิทธิ์ กล่าวว่า ผลการเจรจา นายจ้างผู้บริหารบริษัทยาโน่ฯ ชาวญี่ปุ่นยินยอมตามข้อเรียกร้องของพนักงาน ได้แก่ให้โบนัสพนักงาน 2.5 เดือน เงินค่าเดินทาง 5,000 บาท พร้อมกับไม่มีการปลด หรือ โยกย้ายหรือเลิกจ้างพนักงานที่หยุดงานประท้วงในวันที่ 22,23 พ.ย.59 ที่ผ่านมาและ จะเปิดดำเนินงานตามปกติต่อไป
 
 
ช่วยลูกจ้างเจียระไนเพชร 358 คน รับเงินชดเชยหลังถูกเลิกจ้างรวม 31 ล้านบาท
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท ออคิดไดมอนด์ โพลิชชิ่งเวอร์คส์ จำกัด จังหวัดปทุมธานี จำนวน 358 คน ที่ถูกเลิกจ้างและนายจ้างได้ค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากนายจ้างได้ประสบปัญหาขาดทุน จนต้องปิดกิจการ และไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ให้กับลูกจ้าง ต่อมาลูกจ้างได้มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิตามกฎหมาย ต่อมานายจ้างได้จ่ายเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยการเลิกจ้าง รวมถึงเงินโบนัสให้กับลูกจ้าง จำนวน 358 คน รวมเป็นเงิน 31,674,427 บาท
 
นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน สามารถสอบถามหรือยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต 1 - 10 สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่ 1546 สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน
 
 
ก.แรงงาน ยันขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานอยู่ได้ ชี้หากลูกจ้างพัฒนามาตรฐานฝีมือจะได้ค่าจ้างสูงขึ้น
 
“ปลัดแรงงาน” เผยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ตามมติ ครม. เมื่อ 22 พ.ย.59 พิจารณาจาก 10 ปัจจัย ตามสูตรคำนวณและข้อเท็จจริงบนพื้นฐานความสอดคล้องจากสภาพเศรษฐกิจ ยืนยัน ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานอยู่ได้ พร้อมร่วมมือนายจ้างและลูกจ้างพัฒนาศักยภาพแรงงานให้ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ประกาศใช้แล้ว 67 สาขา และจะพิจารณาเพิ่ม หวังพี่น้องแรงงานได้ค่าตอบแทนสูง
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความสอดคล้องของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า การพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น มีคณะกรรมการไตรภาคี โดยคณะกรรมการค่าจ้าง จะมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งทั้งสองระดับจะประกอบด้วยกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งในแต่ละปีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจะมีการสำรวจภาวะค่าครองชีพ ภาวะทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างนำมาพิจารณาว่าควรจะปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่อย่างไร จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอมายังส่วนกลางเพื่อให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2560 ได้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เพิ่มขึ้นตามกฎหมายรวม 10 ปัจจัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ผลิตภาพแรงงาน ราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามความเป็นจริงและสภาพเศรษฐกิจ
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 นั้น จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกค่าจ้างคงเดิมใน 8 จังหวัด กลุ่มที่สองขึ้นค่าจ้าง 5 บาท ใน 49 จังหวัด กลุ่มที่สามขึ้นค่าจ้าง 8 บาท ใน 13 จังหวัด และกลุ่มที่สี่ขึ้นค่าจ้าง 10 บาท ใน 7 จังหวัด โดยทั้งหมดเป็นไปตามสูตรการคำนวณและข้อเท็จจริงบนพื้นฐานปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
 
“กระทรวงแรงงานขอเรียนให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทราบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้าสำหรับที่จะให้แรงงานดำเนินชีวิตอยู่ได้ แต่ยังมีค่าจ้างอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นค่าจ้างตามฝีมือและความสามารถ มีอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันประกาศใช้แล้ว 67 สาขาอาชีพ และจะทยอยประกาศเพิ่มเติม กระทรวงแรงงานจึงพร้อมที่จะร่วมมือกับนายจ้างและลูกจ้างในการพัฒนาศักยภาพของลูกจ้างให้สูงขึ้น” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวตอนท้าย
 
 
ปฏิรูป 'กองทุนเงินทดแทน' เป็นธรรมกับนายจ้าง-เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง
 
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามใน ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560
 
ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้เป็นการปรับปรุง "รหัสประเภทกิจการ" และ "อัตราเงินสมทบ" กองทุนเงินทดแทนทั้งระบบ ซึ่งได้นำการจัด ประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC) หลักการด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และประเด็นปัญหาต่างๆ ผลกระทบที่มีต่อนายจ้างและเสถียรภาพกองทุน มาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณา โดยสาระสำคัญของประกาศกระทรวงฉบับนี้ มีดังนี้
 
1.รหัสประเภทกิจการ จากเดิม 16 หมวด 131 รหัสกิจการ ปรับเป็น 21 หมวดใหญ่ 1,091 รหัสกิจการ
2.อัตราเงินสมทบหลัก จากเดิมระหว่างร้อยละ 0.2-1.0 มี 9 อัตรา ปรับเป็น 17 อัตรา ระหว่างร้อยละ 0.20-1.00 โดยเพิ่มทศนิยมตำแหน่งที่สอง ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5
3.อัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ เดิมคำนวณอัตราส่วนการสูญเสียด้วย "วิธีค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่" และการลด-เพิ่ม อัตราเงินสมทบ (ลดลงร้อยละ 20-80 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-150) จากอัตราเงินสมทบหลัก ปรับเป็นคำนวณด้วย "วิธีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก" นำไปเปรียบเทียบกับตารางการลด-เพิ่ม อัตราเงินสมทบ (ลดลงร้อยละ 10-50 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-50) จากอัตราเงินสมทบปีที่ผ่านมา และอัตราเงินสมทบต่ำสุดหรือสูงสุด ไม่เกินร้อยละ 50 ของอัตราเงินสมทบหลัก
 
"การกำหนดรหัสกิจการให้มีความละเอียดครอบคลุมกิจการของนายจ้างทุกประเภท ที่ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน รวมทั้งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้การกำหนดอัตราเงินสมทบเหมาะสมกับความเสี่ยงของกิจการมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมแก่นายจ้างมากขึ้น"
 
นอกจากนี้การปรับปรุงรหัสประเภทกิจการยังเกิดประโยชน์ในการนำฐานข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในด้านการบริหารจัดการด้านแรงงาน การจัดหางาน การคุ้มครองแรงงานและการพัฒนาอาชีพ โดยมีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงประชารัฐ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับนานาประเทศได้ในระบบสากล เป็นการยกระดับการพัฒนางานด้านแรงงานและประกันสังคมไทยไปสู่มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ "กองทุนเงินทดแทน" เป็นกองทุนที่ดำเนินการภายใต้ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทำให้ต้องหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย เนื่องจากทำงานให้นายจ้าง ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน
 
สำนักงานประกันสังคมได้จัดเก็บเงินสมทบเป็นรายปีจากนายจ้างฝ่ายเดียว ในอัตราร้อยละ 0.2-1.0 ของค่าจ้าง ตามความเสี่ยงของประเภทกิจการ โดยคิดจากประมาณการค่าจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปี ไม่เกินคนละ 240,000 บาทต่อปี ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปีติดต่อกัน
 
ส่วนในปีที่ 5 เป็นต้นไป จะมีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสียเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบให้นายจ้าง หากนายจ้างจัดให้มีความปลอดภัยในการทำงานที่ดี ลูกจ้างประสบอันตรายน้อยหรือไม่มีการประสบอันตราย ก็จะได้ลดจำนวนเงินสมทบ หรือ "อัตราค่าประสบการณ์" ได้สูงสุดถึงร้อยละ 50
 
การดำเนินงานกองทุนเงินทดแทนต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์สำนักงานประกันสังคมจึงได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อปรับประโยชน์ทดแทนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตาย และค่าทำศพ เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน เพิ่มบทบัญญัติลดการจ่ายเงินเพิ่มให้นายจ้างในเขตท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรงหรือประสบปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
 
 
โอสถสภาถ่ายเลือด เปลี่ยนพนักงานเดิม 80%
 
แหล่งข่าวจากบริษัท โอสถสภา ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง M-150 เปิดเผยว่า บริษัทได้เปลี่ยนแปลงพนักงานในบริษัทครั้งใหญ่ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทยที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคอาเซียน
 
การปรับองค์กรดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนางวรรณิภา ภักดีบุตร อดีตผู้บริหาร บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง เข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
 
สำหรับการยกเครื่องใหม่ในครั้งนี้ ส่งผลให้พนักงานเก่าของโอสถสภามีการเปลี่ยนแปลงเหลืออยู่แค่ 20% ขณะที่อีก 80% ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่จะมาจากบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่จากประเทศอังกฤษ และเป็นคู่แข่งกับบริษัท โอสถสภา ในกลุ่มสินค้าอุปโภค เช่น กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู โลชั่นบำรุงผิว แป้งฝุ่นทาตัว โดยกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงพนักงานมากที่สุด คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ทีมผู้บริหารโดนเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นธุรกิจสร้างรายได้หลักให้บริษัท โอสถสภา
 
ขณะที่สินค้าอุปโภค กลุ่มสินค้ายี่ห้อ เบบี้มายด์ ที่เป็นของใช้ส่วนตัวจับลูกค้ากลุ่มเด็กทารก ยี่ห้อ ทเวลฟ์ พลัส ที่เป็นของใช้ส่วนบุคคลจับกลุ่มวัยรุ่น จากเดิมที่มีทีมตลาด 26 คน หลังการจัดระเบียบใหม่เหลือเพียง 4 คน พร้อมกับกำลังคัดสรรบุคลากรในหน่วยงานขาย คลังสินค้า งานเทรดไว้บางส่วนและจะทยอยเลิกจ้างงานเดือน ม.ค.-มี.ค. 2560
 
ทั้งนี้ บริษัท โอสถสภา แจ้งว่า เพราะมิติขององค์กรในช่วงที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพ บริษัทจึงต้องทรานส์ฟอร์ม ถ้าวันนี้บริษัทไม่ทำอะไร บริษัทจะเข้าสู่วิกฤตองค์กร เพราะมีไขมันส่วนเกิน เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดี เมื่อเทียบกับคู่แข่งบริษัทอุปโภคบริโภคเหนือกว่าบริษัทมาก นอกจากนี้รายได้ทั้งปีต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้
 
นอกจากนี้ บริษัท โอสถสภา ได้ปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ พร้อมกับปรับสโลแกนใหม่ จาก "เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า" ไปเป็น "พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต" มุ่งเน้นการเป็นองค์กรที่มุ่งเสริมสร้างชีวิตให้แก่ผู้บริโภคและสังคม ด้วยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นผลสำเร็จในการดำเนินงานที่เป็นเลิศ และยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อทำให้ภาพลักษณ์มีความทันสมัยก้าวเข้าสู่ปีที่ 126 ของบริษัท โอสถสภา จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ม.ค. 2560
 
แหล่งข่าวจากบริษัท โอสถสภา เปิดเผยต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดจากการที่ตระกูลโอสถานุเคราะห์ เจ้าของบริษัท โอสถสภา มีการเปลี่ยนแปลงคนในตระกูลที่เข้ามาดูบริษัท โอสถสภา หลังจากที่ตัวแทนของตระกูลคนใหม่เข้ามานั่งบริหาร ได้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของบริษัท มีการจ้างนางวรรณิภา อดีตผู้บริหารของบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ เข้ามาปรับเปลี่ยนองค์กร และเตรียมจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 
สำหรับผลการเปลี่ยนแปลงตัวแทนตระกูลโอสถานุเคราะห์ ที่เข้ามาบริหารโอสถสภาดังกล่าว จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบริหารและระดับพนักงาน ที่ผ่านมาไม่เคยคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงมากถึงกับเอาพนักงานเดิมออก 80% ทั้งนี้จากการสอบถามบริษัท โอสถสภา ถึงเรื่องดังกล่าว บริษัทยังไม่พร้อมชี้แจง
 
 
'กรมการจัดหางาน' เผย 3 เดือนกุ๊กไทยไปนอก 700 คน
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (สิงหาคม - ตุลาคม 2559) มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งพ่อครัว-แม่ครัว จำนวน 672 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมา คือ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศนิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอังกฤษ โดยแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง จำนวน 144 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน จำนวน 7 คน บริษัทจัดส่ง จำนวน 3 คน และแจ้งการเดินทางกลับ (RE-ENTRY) จำนวน 518 คน
 
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานในตำแหน่งพ่อครัว-แม่ครัวมากขึ้น แรงงานไทยควรต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่แต่ละประเทศได้กำหนด และควรฝึกฝนพัฒนาศักยภาพต่างๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การพัฒนาทักษะการปรุงอาหารเพื่อให้มีรสชาติอาหารที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และควรพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ โดยควรพัฒนาภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกจากภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชน-คนหางานที่สนใจจะเดินทางไปทำงานในตำแหน่งพ่อครัว-แม่ครัวในต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
รัฐเตรียมใช้งบพัฒนาแรงงานรับอุตสาหกรรม 4.0
 
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา F.I.T Outlook 2017 ภายใต้หัวข้อ "อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" โดยจะเห็นเทรนด์ของโลกมีการปรับเปลี่ยนให้ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้คุณภาพที่ดี ราคาเป็นธรรม ทำให้ไทยต้องปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั่นคือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี การขับเคลื่อนเอสเอ็มอีด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูง และทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้
 
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมแน่นอน รัฐบาลจึงมีแผนจัดสรรงบประมาณประจำปี 2560 ในการยกระดับแรงงานให้ตอบรับความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0 โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาแรงงานกลุ่มเดิมและแรงงานกลุ่มใหม่ที่ตะเข้าสู่ตลาด ในการผลิตแรงงานตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
 
นอกจากนี้ เตรียมตั้งคณะทำงานในประชารัฐหน่วยที่ 14 ประชารัฐเพื่อเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้านนโยบาย แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะหากนโยบายไม่มีความต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาจอยู่ได้อีกไม่นาน
 
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายในปี 2568 โดยจะเริ่มยกระดับอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับ 2.0 สู่อุตสาหกรรม 3.0 ภายใน 5 ปี
 
 
กระทรวงแรงงานต่างด้าวกัมพูชาที่ตรวจสัญชาติขอรับหนังสือเดินทางเอกสารเดินทางและบัตรแรงงานกัมพูชาได้แล้ว
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้รับการแจ้งจากทางการกัมพูชาว่าจะดำเนินการแจกหนังสือเดินทาง (Passport :PP) เอกสารเดินทาง (Travel Document :TD) และบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodian Worker Card :OCWC) ให้กับแรงงานกัมพูชาที่เข้ารับการตรวจสัญชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการรอรับเอกสารจากประเทศต้นทาง โดยทางการกัมพูชาจะจัดตั้งศูนย์ส่งมอบ ใน 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร ที่ห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ลาดพร้าว จังหวัดชลบุรีที่ห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส และจังหวัดปทุมธานีที่ห้างสรรพสินค้า เซียร์รังสิต จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้ตามสถานที่ที่กำหนดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยแรงงานต่างด้าวสามารถติดต่อขอรับเอกสารได้ด้วยตนเอง
 
ทั้งนี้ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าว ไม่สามารถเดินทางไปด้วยตนเองได้ นายจ้างสามารถดำเนินการแทนแรงงานได้โดยผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งทางการกัมพูชาจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารประมาณ 14 วัน จึงจะแจ้งผลให้ทราบ ทั้งนี้ มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ 950 บาท
 
 
สัญญาณการว่างงานเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้น 1.2 แสนราย อยู่ที่ 4.5 แสนราย
 
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน ต.ค.59 มีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% หรือ 450,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 120,000 ราย จากเดือน ก.ย.59 ที่ตัวเลขว่างงานอยู่ที่ 0.9% หรือ 330,000 ราย เนื่องจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีการว่าจ้างงานลดลง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับฤดูการผลผลิตที่มีจำนวนน้อย แม้ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้น ยังถือว่าไม่ได้สูงจนน่าเป็นห่วง เพราะปกติการว่างงานของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9-1% และเมื่อเทียบกับการว่างงานของประเทศอื่น ๆ ยังถือว่าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
 
ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจภาคบริหารที่เป็นตลาดการจ้างงานที่สำคัญมีสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจขนส่ง จะทำให้การจ้างงานเพิ่มและอัตราการว่างงานในอนาคตน่าจะปรับตัวลง ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ผ่านมติ ครม.และเริ่มในช่วงปี 60 ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย จึงไม่ทำให้การว่างงานของไทยเพิ่มขึ้นสูงจากปัจจัยนี้
 
ขณะที่ การพิจารณาเปิดรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ให้เร็วขึ้นตามนโยบายของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จากเดิมจะให้ลงทะเบียนใหม่ทุก 15 ก.ค.-15 ส.ค. ของทุกปี แต่รัฐบาลต้องการให้รอบใหม่เร็วกว่ากำหนดเดิมนั้น สศค.กำลังพิจารณาอยู่ แต่ต้องรอให้กระบวนการจากมติจ่ายเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมความพร้อมการจ่ายเงินให้กับผู้มีรายได้ที่มาลงทะเบียนไว้คนละ 1,500-3,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.59 เป็นต้นไป
 
 
กองทัพเรือ ปูพรมตรวจแรงงาน-โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่สมุทรสาคร
 
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลเขต 1 (ศรชล.เขต 1) มี พล.ร.ท.สุรศักดิ์ เมธยาภา เป็น ผอ.ศรชล. เขต 1 และผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) ได้สั่งการให้ น.อ.ประสาทพร สาทรสวัสดิ์ รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 ดำเนินการนำกำลังพลชุดตรวจสอบสถานแปรรูปสัตว์น้ำ และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตามบัญชีเป้าหมายของคณะกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ของ ศปมผ. และตามข้อมูลการข่าวที่กำหนดไว้จำนวน 12 แห่ง
 
โดยการตรวจครั้งนี้เป็นรอบที่ 4 ระหว่างเดือน ต.ค. - พ.ย.59 ซึ่งเป็นการตรวจแบบปูพรมครั้งที่ 2 โดย ศรชล.เขต 1 ได้จัดกำลังแบ่งเป็น 5 ชุด จากจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดชลบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย ตำรวจภูธร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมประมง อุตสาหกรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานประกันสังคม จัดหางาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารเรือ
 
โดยการเข้าตรวจครั้งนี้มีเป้าหมายหลักสำคัญ คือ โรงงาน GOLDEN PRIZE CANNING ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปปลาทูน่ากระป๋อง มีแรงงานมากกว่า 5,000 คน เบื้องต้น การตรวจทั้งหมดไม่พบการว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย
 
น.อ.ประสาทพร เปิดเผยว่า ศปมผ.ได้เข้าตรวจสอบและติดตามบังคับใช้กฎหมาย โดยมีเจตนาเพื่อให้สถานประกอบการที่ถูกตรวจพบความผิดด้านต่างๆ ปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรฐานถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ พบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้รับความร่วมมือการเข้าตรวจสอบจากผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าวแสดงพาสปอร์ต เอกสารยืนยันตัวบุคคล และเอกสารการจ้างงาน อีกทั้ง ได้มีการตรวจสภาพความเป็นอยู่ และสวัสดิการของแรงงาน ว่าเป็นไปตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบมีการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จะมีโทษตั้งแต่ปรับไปจนถึงปิดสถานประกอบการ หรือโรงงานชั่วคราว ทั้งนี้ การดำเนินแผนการตรวจค้น เป็นไปตามแผนของ ศปมผ.เพื่อปลดล๊อคใบเหลืองจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรืออียู
 
 
เครนถล่มทับคนงานในไซต์งานสร้าง ร.ร. ย่านพระราม 9
 
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 29 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน รับแจ้งเหตุทาวเวอร์เครนถล่มภายในสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติ ด้านหลังคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 9 ถ.พระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตถูกเครนทับในที่เกิดเหตุทันที 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นคนงานก่อสร้าง ส่วนสาเหตุและรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการสอบสวน
 
 
“มติชน” รัดเข็มขัดรอบล่าสุด! ตัด “ค่าเวร-ค่ารถ-ค่าโทรศัพท์” หลังขาดทุนสุทธิเพิ่มเกือบ 70%
 
สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ช่วงปลายปี 2559 มีแต่ “สัญญาณในเชิงลบ” ออกมาอยู่เรื่อยๆ นอกจากกรณีที่ บมจ.อมรินทร์พรินติ้งฯ หรือ AMARIN ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจนต้องขายหุ้นให้กับบริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือเจ้าสัวเบียร์ช้าง จนครอบครัวอุทกะพันธุ์ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งอีกต่อไป
 
สถานการณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์หัวใหญ่อย่าง บมจ.มติชน หรือ MATI ที่มีหนังสือพิมพ์ในเครือถึง 3 ฉบับ ได้แก่ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ที่ประสบภาวะขาดทุนเช่นกัน จนต้องออกมาตรการ “รัดเข็มขัด” หลายระลอก ทั้งการประกาศโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ไปช่วงกลางปี 2559 ซึ่งผลปรากฎว่ามีพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการไม่ตามเป้า กระทั่งต้องมีการเลือกคนออก โดยผลสรุปมีคนที่ทั้งสมัครใจและถูกเลือกออก 170 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด กว่า 2 พันคน
 
นอกจากนี้ ยังประกาศไม่รับคนเพิ่ม ยกเว้นตำแหน่งที่จำเป็น ซึ่งต้องเขียน job description อย่างละเอียด พร้อมทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ 3 ฝ่ายของบริษัท ที่ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายจัดการทั่วไป และฝ่ายบัญชี เพื่ออนุมัติ
 
ล่าสุด ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน ได้ออกหนังสือเวียนไปยังบริษัทในเครือ เรื่องการปรับค่าเวร ค่ารถ และค่าโทรศัพท์ หรือที่เรียกกันว่า “เงินซอง” (เนื่องจากมักให้มาโดยใส่ในซองจดหมาย) ของคนในกองบรรณาธิการใหม่
 
1.ค่าเวร (ต่อสัปดาห์)
- บก.อาวุโส ... ไม่ได้รับอยู่แล้ว
- บก.ข่าว ... 1,000 บาท
- ผู้ช่วย บก.ข่าว ... 900 บาท
- หัวหน้าข่าว ... 800 บาท
- ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว ... 600 บาท
- ส่วนจัดหน้า-ซับฯ, ศิลป์, คอมพิว, ปรู๊ฟ, สแกน ... ยกเลิกค่าเวร
 
2.ค่ารถ/ค่าพาหนะ (ต่อสัปดาห์)
- สำหรับคนที่เคยมีสิทธิได้รับแบบเหมาจ่าย 750 บาท ให้เหลือ 600 บาท
- สำหรับคนที่เคยมีสิทธิได้รับตามจริง ให้เหลือไม่เกิน 600 บาท
 
3.ค่าโทรศัพท์ (ต่อเดือน)
- สำหรับคนที่เคยมีสิทธิได้รับตามจริง ไม่เกิน 1,200 บาท ให้เหลือไม่เกิน 1,000 บาท
โดยค่าเวร ค่ารถ และค่าโทรศัพท์ “ใหม่” ดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559 เป็นต้นไป ซึ่งกองบรรณาธิการที่จะได้รับผลกระทบได้แก่ มติชน – ข่าวสด – ประชาชาติธุรกิจ – มติชนสุดสัปดาห์ – เทคโนโลยีชาวบ้าน – เส้นทางเศรษฐี
 
ถือเป็นมาตรการรัดเข็มขัดครั้งล่าสุดของเครือมติชน ที่ผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ออกมาว่า "ขาดทุนสุทธิ" ถึง 86.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ "ขาดทุนสุทธิ" เพียง 51.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 68%
 
 
แมนพาวเวอร์มองไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ ดันราคาสินค้า-ค่าครองชีพขยับ แนวโน้มนายจ้างพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น จ้างพนง.ประจำน้อยลง เสี่ยงตกงานเพิ่ม
 
นางสุธิดา กาญจนกันคิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 305-310 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งด้านค่าจ้างและประกันสังคม และสุดท้ายต้นทุนเหล่านี้ก็จะถูกผลักมาสู่ผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพจึงสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มค่าแรงดังกล่าว ถือเป็นอัตราที่ผู้ประกอบการรับได้ซึ่งเป้าหมายของภาครัฐในการดำเนินนโยบายครั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่แรงงานจะมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษพัฒนาฝีมือ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการขนส่ง
 
“ทิศทางตลาดแรงงานในอนาคตจะมีการจ้างพนักงานประจำน้อยลง ผู้ประกอบจะหันไปใช้พนักงานสัญญาจ้างแทน ในส่วนของพนักงานก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ต้องรับสภาพการทำงานที่หนักขึ้น ภาคอุตสาหกรรมอาจมีการย้ายฐานการผลิตเพื่อหาแหล่งที่มีต้นต่ำกว่า ” นางสุธิดากล่าว
 
สำหรับทิศทางตลาดแรงงานในปีหน้านั้น จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการเชื่อมอินเทอร์เน็ตในภาคการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการปฏิรูปทุนมนุษย์ภาคแรงงานและการศึกษาไปสู่การเรียนรู้มากขึ้น ทำให้แรงงานต้องมีการพัฒนาฝีมือตลอดเวลา ขณะที่อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานจะลดลง และอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น โดยล่าสุดเดือนตุลาคม 2559 ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.87% หรือประมาณ 3.34 ล้านคน จากปกติหากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ต่ำกว่า 4% จะทำให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.1%
 
นอกจากนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้ทำการวิจัยคนยุคเจนเนอเรชั่นวาย ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2525-2539 อายุ 20-34 ปี จาก 25 ประเทศทั่วโลกพบว่า ในปี 2563 คนรุ่นนี้จะมีจำนวน 1 ใน 3 ของแรงงานทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยจะมีประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มุ่งทำงานหลายที่พร้อมกันเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง มีความสนใจเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ดังนั้น แต่ละองค์กรจะต้องปรับสภาพรองรับแรงงานกลุ่มนี้โดยเน้นการอบรม สร้างโอกาส สร้างก้าวหน้าในสายอาชีพ รวมถึงสร้างความสมดุลแห่งชีวิต ให้เกิดขึ้นในองค์กร
 
ส่วนกรณีของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐนั้น นางสุธิดา กล่าวว่า ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ระยะนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ช้า ยังต้องเร่งพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา แรงงาน และเทคโนโลยี เป็นต้น แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตจะเป็นดาบ 2 คม เพราะจะทำให้บางอาชีพหายไป เช่น ฝ่ายที่ทำงานเอกสาร งานประจำซ้ำๆ คือ บุคคล พนักงานธุรการ แต่งานที่เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ยังมีอยู่ เช่น งานคิดสร้างสรรค์ พนักโรงแรม รวมถึงนักการเงิน นักวิเคราะห์ข้อมูล
 
“การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทย เพราะประชาชนกว่า 68 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งประเทศไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้ประชากรเหล่านี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชากรและประเทศที่สำคัญประเทศไทยมีประชากรที่เป็นเด็กและคนชรามากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ” นางสุธิดากล่าว
 
 
เรือสินค้าถูกกรมบังคับคดีกักไว้ ทำให้ชาวโรมาเนียลูกเรือ 5 คนขาดน้ำและอาหาร ท่าเรือแหลมฉบังต้องส่งอาหารและน้ำตามที่ทางสถานทูตโรมาเนียร้องขอตามหลักมนุษยธรรม
 
เรือสินค้า Pamomltis AV ถูกกรมบังคับคดีกักเรือไว้ ไปไหนไม่ได้ต้องจอดทอดสมอหลังเกาะสีชังตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา แต่ชาวโรมาเนียซึ่งเป็นลูกเรือจำนวน 5 คนที่อยู่บนเรือขาดอาหารและน้ำ เนื่องจากถูกกรมบังคับคดีกักเรือไว้ไม่ให้นำสินค้าไปส่งเจ้าของสินค้าที่บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ โดยเรือลำดังกล่าวนำสินค้าซึ่งเป็นเหล็กมาจากประเทศอิหร่าน ทำให้ทางสถานทูตโรมาเนียประสานมายังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อให้ช่วยส่งน้ำและอาหาร ปัญหาในตอนนี้คือเจ้าของเรือไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้ลูกเรือชาวโรมาเนียทั้ง 5 คนจึงต้องอาศัยอยู่บนเรือสินค้าลำดังกล่าว โดยเรือดังกล่าวนั้นจดทะเบียนในสาธารณรัฐกรีซ และนายจ้างเป็นคนประเทศกรีซ ซึ่งเป็นปัญหาข้อพิพาทกันอยู่ในเรื่องค่าจ้างกับทางลูกเรือและทางเจ้าของสินค้าจึงขอให้ทางกรมบังคับคดีกักเรือลำดังกล่าวไว้นั้น ทางท่าเรือแหลมฉบังจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ของท่าเรือแหลมฉบังไปส่งน้ำและอาหารให้ตามหลักมนุษยธรรมเพื่อให้ลูกเรืออยู่อย่างปลอดภัย ตามคำขอของสถานทูตโรมาเนียประจำประเทศไทย
 
 
นายกฯ ขออย่าวิตกโอนค่ารักษา ขรก.เข้าประกันสังคม ชี้ยังไม่มีข้อยุติ
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.59 ที่กระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2560 ว่า การเยี่ยมเยือนครั้งนี้ทุกอย่างยังคงเรียบร้อย และมาให้กำลังใจให้เกิดความริเร่ิมสร้างสรรค์ สำหรับงานกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นกระทรวงหลักของรัฐบาลและของประเทศนี้ ควบคู่ไปกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นการสร้างคนและรักษาคน วันนี้ต้องมองถึงอนาคต 20 ปี ข้างหน้าว่า เราต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็งอย่างไร ต้องย้อนไปดูตั้งแต่ปฐมวัย ไปถึงสุดท้าย ทั้งหมดเรานำเรื่องความมั่นคงทางทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และจะทำแผนแม่บทในการอนุมานที่ชัดเจนขึ้น ตนได้ย้ำในหลายประเด็นคือ ป้องกันดีกว่ารักษา ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงวัยในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่จะเหลือคนในวัยทำงานน้อยลง ทั้งหมดต้องดูปัญหาตั้งแต่เร่ิมต้น เหมือนกับเรื่องการศึกษา ดังนั้นปัญหาการสาธารณสุขวันนี้มีทั้งเรื่องการใช้จ่าย ซึ่งต้องไปหาวิธีการลดในเชิงป้องกันในสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมถึงการป้องกันโรคต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ จะทำให้ประเทศไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากไปอุดเรื่องการรักษาโรค พร้อมทั้งควรมีการสนับสนุนและพัฒนาเรื่องยาสมุนไพร พร้อมต้องมีช่องทางโซเชียลมีเดียให้ประชาชนเข้าถึงสรรพคุณการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคขั้นต้นและมีราคาไม่แพง อย่างตนยังรับประทานฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน
 
เมื่อถามว่า ความคืบหน้าการโอนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเข้าสู่ระบบประกันสังคม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังดูอยู่เป็นการพิจารณาเฉยๆ ดูว่าถ้าทำแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลมากขึ้นทุกวัน งบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันดูว่าอาจจะทำแบบเดิมหรือใครรับผิดชอบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่าเพิ่งไปตีโพยตีพายกัน วันนี้เอาแค่การรักษาพยาบาลที่มีอยู่แล้วในงบประมาณที่มีอยู่ให้ดีที่สุด คงจะพิจารณาต่อไปให้ได้ข้อยุติ อย่าเพิ่งไปหวาดระแวง ทั้งนี้ งบประมาณค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันไปลดไม่ได้ เพราะได้ให้ไปแล้ว แนวทางหลายอย่างเป็นการคิดเผื่อไว้ และถ้าตัวเลขค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ก็ต้องมีแนวทางในการบริหารงบฯทำให้เพิ่มน้อยที่สุด ค่าใช้จ่ายในส่วนข้าราชการมันลดไม่ได้ แม้มีความต่างอยู่บ้างแต่ถือเป็นประชาชนเหมือนกัน
 
"ผมพูดหลายครั้งแล้วอย่าไปแบ่งแยกข้าราชการกับประชาชน เพราะเป็นคนไทยทั้งนั้น แต่มันต้องมีหน้าที่คนละแบบ คนละระเบียบกัน ซึ่งรัฐบาลจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด เช่นเดียวกันกับการดูแลผู้มีรายได้น้อย อย่ามาบอกอย่างไทยแลนด์ 4.0 ไม่ดูแลคนจน อย่าเอามาปนกัน เพราะนั้นเป็นการสร้างแหล่งน้ำเพื่อให้ตกปลาได้เยอะขึ้น ทุกคนต้องได้ปลาทั่วถึง ตกปลา และกินปลากันได้หมดทุกชนิด" นายกฯกล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net