Skip to main content
sharethis

มีชัย เผยรธน.ใหม่ไม่กระทบคุณสมบัติสนช.ให้พิจารณา กม.ประกอบรัฐธรรมนูญได้  ระบุนักการเมืองแจ้งความเห็นต่อ กรธ. ขอปรับแก้กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองได้ หากมองว่าให้เวลาน้อย ย้ำอย่ากังวลเรื่องปลดล็อคทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะ คสช. พิจารณาอยู่ โฆษก กรธ.แจงจัดทำกฎหมายลูก 2 ฉบับ 'พรรคการเมือง-กกต.' ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว 

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา

2 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาระบุว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญต่อคุณสมบัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของสมาชิก สนช. เพราะได้กำหนดข้อยกเว้นหลายเรื่องทั้งเรื่องการเป็นข้าราชการถือหุ้นในกิจการสื่อรวมถึงการเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)  ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ก็จะไม่ส่งผลให้สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ขาดคุณสมบัติ  และไม่ส่งผลต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก เว้นแต่ผู้ที่เคยถูกจำคุกหรือผู้ที่ทุจริต

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองกังวลว่า หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่เปิดให้พรรคสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง ก็จะไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ทันนั้น มีชัย กล่าวว่า ตามร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดระยะเวลาให้กับพรรคการเมืองอย่างเต็มที่และเมื่อเปิดเนื้อหาร่างกฎหมายลูกแล้ว หากนักการเมืองเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ไม่เพียงพอ ก็สามารถแจ้งให้ กรธ. พิจารณาปรับแก้ไขได้  นอกจากนี้ คสช. อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนคำสั่งต่างๆเพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองและดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นพรรคการเมืองไม่ควรกังวลในเรื่องนี้

ขณะที่ อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงกรณีการยกเว้นคุณสมบัติของสมาชิก สนช.  โดยยืนยันว่า สมาชิกสนช. ที่ดำรงตำแหน่งหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจและกรรมการในรัฐวิสาหกิจ สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาหน่วยงานของรัฐ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สมาชิก สนช. ต่อไปได้ เนื่องจากในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องกับ สนช. ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้มีการบัญญัติรับรองไว้แล้ว ตามมาตรา 263 วรรค 2(2ข) อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้เป็นข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ระบุไว้ในระยะเปลี่ยนผ่านเท่านั้น แต่หากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ตามปกติแล้ว คุณลักษณะต้องห้ามดังกล่าว จะถูกนำมาใช้บังคับตามปกติ โดยไม่มีข้อยกเว้น

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ กรธ.ได้รับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 8 ฉบับ ขาดเพียง 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดย กรธ.จะเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้น กรธ.จึงพยายามตรวจสอบเนื้อหาให้รอบคอบ คาดว่าทั้ง 2 ฉบับ จะสามารถเปิดเผยเนื้อหาได้ใกล้เคียงกับช่วงที่มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ กรธ.ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการพิจารณารายละเอียด ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 8 ชุดโดยให้ กรรมการ กรธ. ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ที่เข้าร่วมในอนุกรรมการ ทำหน้าที่รวบรวม และนำเสนอความคิดเห็นหรือรายละเอียดที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะทำให้การพิจารณากฎหมายมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดย กรธ. มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

 

ที่มา เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net