Skip to main content
sharethis

เดชรัตเสนอโครงสร้างการเกษตรไทยเปลี่ยนไปในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะแรงงานค่อนข้างน่าเป็นห่วง พบแรงงานภาคเกษตรมีผู้สูงอายุมากขึ้น ส่วนที่ดินยังไม่น่าห่วง ด้านทุนและเทคโนโลยีพบพื้นที่การปลูกข้าวยังกระจายตัว แต่หมูและไก่ตกอยู่ในมือทุนรายใหญ่ เชื่อธุรกิจใหญ่ยังไม่โดดลงมาเล่น ถ้ายังคุมความเสี่ยงไม่ได้

เดชรัต สุขกำเนิด

ภาคเกษตรของไทยกำลังเปลี่ยน แต่เปลี่ยนไปอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบ เดชรัต สุขกำเนิด จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พยายามตอบโจทย์ข้างต้นผ่านงานศึกษา ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมการเกษตรของไทยในรองสองทศวรรษ: การวิเคราะห์ผ่านการสำมะโนการเกษตรปี พ.ศ.2536, 2546 และ 2556’ ในงานโครงการเวทีเครือข่ายงานวิจัยไทยศึกษา หัวข้อ ‘พลวัตสังคมเกษตรในยุคเสรีนิยมใหม่’ ที่จัดขึ้นที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวานนี้ (2 ธันวาคม 2559)

เมื่อพูดถึงเรื่องเชิงโครงสร้าง เดชรัตมุ่งไปที่ 3 ประเด็นหลักคือที่ดิน แรงงาน และทุน เขาเริ่มอธิบายจากประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวในสังคมไทยอย่างที่ดิน ซึ่งดูจะเป็นประเด็นที่ชี้เป็นตายว่าเกษตรกรรายย่อยจะสามารถอยู่รอดหรือไม่

เดชรัต กล่าวว่า ในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2536-2556 จำนวนครัวเรือนเกษตรกรไทยยังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มไม่มาก จาก 5.65 ล้านราย เป็น 5.91 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในแง่ดีคือยังมีครัวเรือนเกษตรอยู่ ไม่ได้น้อยลง แต่ขณะเดียวกันพื้นที่การเกษตรกลับลดลงเล็กน้อยจาก 118.76 ล้านไร่ เหลือ 116.62 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 2

“สิ่งที่เรากังวลว่าพื้นที่การเกษตรจะเสียให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเมือง เมื่อมองในภาพรวม หมายถึงส่วนที่เสียก็มี แต่ก็ไปเพิ่มที่อื่น ดังนั้น โดยภาพรวมในด้านที่ดินยังไม่ปรากฏชัด แต่ก็มีคนเป็นห่วงว่า ที่ดินน้อยลงขณะที่คนเพิ่มขึ้น เนื้อที่ถือครองโดยเฉลี่ยจะเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามคาด เนื้อที่ถือครองเฉลี่ยต่อครัวเรือลดลงพอสมควร จากเดิมเฉลี่ย 21 ไร่ต่อครัวเรือนเกษตร 1 ราย ตอนนี้เหลือ 19.7 ไร่ต่อครัวเรือนเกษตร 1 ราย ลดลงประมาณร้อยละ 6”

เมื่อจำแนกตามพื้นที่ถือครอง จะพบว่ารายใหญ่ที่ถือครองที่ดินการเกษตรจำนวนมากยังเห็นภาพไม่ชัดเจนว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอด 20 ปี ผู้ที่ถือครองที่ดินการเกษตรตั้งแต่ 40-139 ไร่ในปี 2536 เท่ากับ 0.69 ล้านรายและยังคงเท่าเดิมในปี 2556 ส่วนผู้ที่ถือครองที่ดินการเกษตรตั้งแต่ 140 ไร่ขึ้นไปในปี 2536 เท่ากับ 0.03 ล้านราย ซึ่งก็ยังคงเท่าเดิมกับในปี 2556 เช่นกัน โดยครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ 3 ล้านรายถือครองที่ดินประมาณ 10-30 ไร่ ในปี 2556 ลดลง 0.06 ล้านรายจากปี 2536 จากข้อมูลข้างต้น เดชรัตจึงเห็นว่าการล่มสลายของภาคการเกษตรและฟาร์มขนาดเล็กยังไม่ปรากฏชัดเจน

“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความมั่นคงในการถือครองที่ดิน การถือครองที่ดินดีขึ้นเล็กน้อยคือมีผู้ถือโฉนด 3.7 ล้านรายในปี 2546 เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.0 ล้านรายในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 ซึ่งถือว่าน้อยไป ถ้าเพิ่มในอัตรานี้ คงต้องใช้เวลาไปอีก 40 ปีกว่าเกษตรกรไทยจะมีความมั่นคงในที่ดิน”

ส่วนด้านประโยชน์การใช้ที่ดิน พบว่า ข้าวมีพื้นที่ปลูกลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 55.4 เหลือร้อยละ 51.3 ในรอบ 20 ปี แต่ที่เพิ่มมากคือยางพารา จากร้อยละ 8.0 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 14.5 ในปี 2556 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นเกือบ 4 ล้านไร่ในช่วงเวลาตั้งแต่ 2546-2556 การเปลี่ยนแปลงนี้บ่งบอกว่าเกษตรกรตอบสนองต่อราคา

“แต่การตอบสนองต่อราคาของเกษตรกรเป็นการตอบสนองราคาแบบตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว คือราคาดีแล้วค่อยตาม แต่ในแง่การวางแผนด้านการผลิตการเกษตรต้องวางแผนล่วงหน้า คือปลูกสิ่งที่กำลังจะราคาดี แต่ของเราคือสิ่งไหนราคาดี เราจะปลูก คือเกษตรกรใช้ข้อมูลอย่างดีที่สุดเท่าที่มี แต่มันมีไม่พอที่จะใช้ตัดสินใจแล้วเกิดความมั่นคงในฐานะความเป็นอยู่ได้”

แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในมุมมองเดชรัตคือเรื่องแรงงาน ตั้งแต่ 2536-2556 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของครัวเรือนเกษตรชัดเจน สัดส่วนหัวหน้าครัวเรือนเกษตรที่มีอายุ 25-43 จากร้อยละ 17 ในปี 2536 ลดเหลือเพียงร้อยละ 5.2 ในปี 2556 ส่วนกลุ่มอายุ 35-44 ก็ลดลงจากร้อยละ 28.4 เหลือร้อยละ 18.4 ขณะที่ช่วงอายุ 45-54 ปี, 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไปกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แนวโน้มนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอายุของสมาชิกในครัวเรือนการเกษตรที่คนวัยตั้งแต่ 25-44 ปีมีสัดส่วนลดลง แต่ช่วยวัยตั้งแต่ 45-65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อมองในเชิงจำนวน พบว่า จำนวนสมาชิกครัวเรือนที่ทำการเกษตรลดลงจาก 11 ล้านรายในปี 2536 หรือ 8.55 ล้านรายในปี 2556

“เรื่องแรงงานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบคั้นเกษตรกรในอนาคต” เดชรัต สรุป

ในด้านของทุน เดชรัต กล่าวว่า การเข้ามาของทุนนิยมแบบเสรีจะมีส่วนเข้ามาแย่งสัดส่วนการผลิตในภาคเกษตรจากเกษตรกรรายย่อยมากน้อยแค่ไหน คำตอบคือแย่งเฉพาะบางตัวเท่านั้น โดยเฉพาะในตัวที่มีเทคโนโลยีดีพอจะควบคุมไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการผลิต

“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความมั่นคงในการถือครองที่ดิน การถือครองที่ดินดีขึ้นเล็กน้อยคือมีผู้ถือโฉนด 3.7 ล้านรายในปี 2546 เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.0 ล้านรายในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 ซึ่งถือว่าน้อยไป ถ้าเพิ่มในอัตรานี้ คงต้องใช้เวลาไปอีก 40 ปีกว่าเกษตรกรไทยจะมีความมั่นคงในที่ดิน”

เดชรัตนำเสนอข้อมูลว่า พื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่มากกว่า 140 ไร่ขึ้นไป มีส่วนแบ่งในเนื้อที่ปลูกข้าวร้อยละ 1.28 ในปี 2536 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.88 ในปี 2556 โดยร้อยละของเนื่อที่การปลูกข้าวส่วนใหญ่ยังอยู่ที่พื้นที่ขนาดกลางคือขนาดประมาณ 10-39 ไร่ หมายความว่าโครงสร้างการผลิตข้าวมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

“แต่ที่เปลี่ยนมากคือการเลี้ยงสุกรที่กระจุกอยู่ในมือรายใหญ่ จากข้อมูลพบว่า สัดส่วนผู้เลี้ยงสุกรเพียงร้อยละ 1.5 ของผู้เลี้ยงทั้งหมดแต่คุมผลผลิตถึง 2 ใน 3 ของปริมาณสุกรในประเทศ ในไก่ก็มีลักษณะเดียวกัน

“สรุป การถือครองที่ดินไม่ใช่จุดที่น่ากังวลมาก จริงๆ แล้วเป็นผล ถ้ามีปัญหาเรื่องแรงงาน เรื่องสู้ทุนไม่ได้ จึงจะเกิดการเสียที่ดิน จุดสำคัญอยู่ที่แรงงานกับทุน ถ้าทุนขยายเข้ามาแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่จำกัดวง หมายความว่าถ้าตรงไหนที่ความเสี่ยงเยอะ ทุนจะไม่สนใจ จะสนใจเฉพาะที่มีความเสี่ยงน้อยและควบคุมได้ ในอนาคตเราคงต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ทดแทนการใช้แรงงาน ต้องดูว่าเขาจะบุกตรงไปไหน ต้องไปเตรียมความพร้อมในจุดนั้น แล้วทำให้เรื่องความมั่นคงการถือครองที่ดินดีขึ้น รวมถึงข้อมูลด้านราคาที่จะนำมาใช้ในการวางแผน ไม่ใช่ข้อมูลย้อนหลัง แต่เป็นข้อมูลไปข้างหน้า”

ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระบุถึงการสนับสนุนให้เกิดเกษตรแปลงใหญ่ ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยหรือไม่ เดชรัต ตอบว่า คำว่าเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ได้แปลว่าธุรกิจเกษตรรายใหญ่จะลงมาผลิตเอง จากตัวเลขที่มีอยู่จะพบว่า ถ้ามีความไม่แน่นอนอยู่ในการผลิต ทุนรายใหญ่จะไม่เข้ามาทำการผลิตเอง แต่จะควบคุมผ่านปัจจัยการผลิต หมายถึงได้กำไรจากการขายปัจจัยการผลิตกับการซื้อผลผลิต

“ส่วนมากที่สุดที่จะเกิดขึ้นในฝั่งทุนก็คือ นาแปลงใหญ่หรือเกษตรแปลงใหญ่เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจจะมีธุรกิจใหม่ขึ้นมาอีกธุรกิจหนึ่งที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะสามารถเข้าไปได้เยอะขึ้น ให้บริการได้มากขึ้น คือได้กำไรจากการใช้เครื่องจักรกลเหล่านี้มากขึ้น

“แต่การที่จะเข้าไปแล้วเกิดความล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีนั้น เขาควบคุมได้จนความเสี่ยงในการผลิตเหลือน้อยมากๆ แล้ว ถ้าความเสี่ยงในการผลิตยังมากอยู่ เขาจะมอบความเสี่ยงนั้นให้เป็นของเกษตรกรรายย่อยเป็นผู้เสี่ยงแทน เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้คิดว่าเขาทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อไปครอบครองแทนที่ อันนี้จากข้อมูลที่ผมมี อีกประเด็นหนึ่งคือ ธุรกิจการเกษตรรายใหญ่อาจจะหวังว่าถ้าทำเกษตรแปลงใหญ่แล้ว ต้นทุนในการติดต่อทำธุรกรรมและรวบรวมผลผลิตจะง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ลดลง ขณะเดียวกันก็อาจจะช่วยให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง แต่คงไม่มีนัยในทางตรง

“นัยในทางตรงก็ขอให้จับตาเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ถ้าเทคโนโลยีค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า เมื่อผลิตแล้วความเสียหายจะน้อย เมื่อนั้นเขาจะลงมาเต็มๆ เหมือนกับสุกรและไก่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net