10 ข้อสังเกตกรณี ไผ่ ดาวดิน กับการแชร์พระราชประวัติเวอร์ชั่นบีบีซีไทย


ภาพเก่า จากเฟซบุ๊ก Pai Jatupat

 

1.พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ในเว็บและเพจของบีบีซีไทยได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางแทบจะทันทีที่เผยแพร่ เพราะเป็นการเขียนเล่าเรื่องที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงในโลกของ “ภาษาไทย” หลายคนคาดว่าเป็นการแปลงานเขียนของฝรั่งมาอีกชั้นหนึ่ง ยอดไลค์และแชร์อย่างมากมายเป็นตัวสะท้อนถึงความสนใจและความขาดแคลนข้อมูลของคนในสังคมได้อย่างดี ไม่นานก็ตามมาด้วยการเปิดฉากโจมตีบีบีซีไทยและตัว บก.คนไทย จากเซเลปและสำนักข่าวสายอนุรักษ์นิยมหลายคนหลายสำนัก แต่ดูเหมือน “การล่า” ตัวบุคคลในกรณีนี้ดูไม่ขยายตัวรวดเร็วเช่นสมัยก่อน  จนบางคนถึงขั้นคาดหวังว่า แนวโน้มของการล่าแม่มดออนไลน์อาจลดลง คลี่คลายมากขึ้นใน “ยุคสมัยใหม่” นี้

2.วันต่อมา ไผ่ ดาวดิน ถูกจับขณะร่วมกิจกรรมธรรมยาตรากับพระไพศาล วิสาโล เหตุเพราะแชร์ข่าวดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกและประหลาดใจอย่างยิ่ง หากเป็นการตั้งใจเคลื่อนไหวเช่นที่ผ่านมา เช่น การชู 3 นิ้วในขณะพล.อ.ประยุทธ์กำลังกล่าวปาฐกถา หรือการแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับประชามติหลังมีการจับกุมคนต่างๆ มาแล้วมากมาย เราอาจพอเข้าใจได้ว่านั่นคือการต่อสู้เพื่อยืนยันความเชื่อบางอย่างของผู้กระทำการ แต่กรณีนี้มีผู้แชร์ชิ้นงานนี้ในเวลานั้นประมาณ 2,700 ครั้ง ไลค์อีกหลายหมื่น คำถามจึงดังระงมโลกโซเชียล ทำไมเป็นไผ่? บีบีซีไทย ต้นฉบับโดนแจ้งข้อหาด้วยไหม ?

3.การแจ้งความเกิดขึ้นจากนายทหารที่ดูแลพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้แจ้งความไผ่และนักเคลื่อนไหวหลายคนมาตลอดปีที่ผ่านมา นั่นคือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท ที่ผ่านมาทหารแต่ละพื้นที่มักต้อง “ดูแล” “เป้าหมาย” ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักกิจกรรมหรือใครก็ตามที่มีศักยภาพในการต่อต้านและการชี้นำมวลชน ไผ่เป็นหนึ่งในลิสต์อย่างไม่ต้องสงสัย เขาถูกดำเนินคดีมาแล้ว 5 คดีในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา บางคนตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นการกลั่นแกล้งกันในระดับบุคคลหรือไม่ บางคนแย้งว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะปกติคดี 112 ซึ่งเป็นคดีพิเศษและเป็นคดีนโยบายนั้นจะทำสิ่งใดต้องมีการรายงานผู้บังคับบัญชาระดับสูง ดูอย่างกรณีตำรวจยังมีคณะกรรมการกลางระดับชาติที่ทุกพื้นที่ต้องส่งเรื่องไปให้พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง

4. กรณีของไผ่หากดูจากหลักฐานที่นำมาใช้แจ้งข้อกล่าวหาจะพบว่า เจ้าหน้าที่มุ่งเน้นที่ “ตัวหนังสือ” ที่ประกอบอยู่กับการแชร์ข่าวชิ้นนั้น ถือว่าเป็นการโพสต์สเตตัสของไผ่เอง โดยไม่สนใจว่าตัวหนังสือที่ว่าจะเป็น 4 ย่อหน้าสุดท้ายที่ไผ่ก็อปปี้มาจากข่าวที่แชร์ และไม่ได้เพิ่มเติมความเห็นใดๆ ของตัวเอง ในขณะที่คนอื่นมักแชร์ข่าวนี้เงียบๆ ไม่มีความเห็นประกอบ หรือหากมีความเห็นประกอบก็เป็นการพูดในลักษณะอื่น เช่น การวิจารณ์การใช้มาตรา 112  การตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของชิ้นงาน หรือกระทั่งการด่าว่าชิ้นงานอย่างรุนแรง เป็นต้น

5.ไผ่ถูกสอบสวนในพื้นที่พิเศษ ไม่ใช่ที่สถานีตำรวจเช่นกระบวนการปกติทั่วไป เขาถูกควบคุมตัวไปเพียงลำพังและนำตัวไปที่ศูนย์ฝึกและอบรมตำรวจภูธรภาค 4 ริมถนนมิตรภาพ โดยในชั้นแรกถูกห้ามติดต่อญาติและทนาย เจ้าหน้าที่บอกว่าเตรียมทนายไว้ให้แล้ว นี่อาจเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับตำรวจ ปกติแล้วกระบวนการเช่นนี้เราจะพบเห็นในปฏิบัติการของทหาร ซึ่งอำนาจใช้กฎอัยการศึก ใช้มาตรา 44 คุมตัวคนไปไว้ในค่ายทหารแบบหายไปจากความรับรู้ของโลกได้ 7 วัน ขณะที่ตำรวจมักดำเนินการตามขั้นตอนปกติ สอบปากคำและควบคุมตัว 48 ชม.ที่สถานีตำรวจที่เป็นเจ้าของเรื่องก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง กรณีนี้ไผ่ไม่ให้ความร่วมมือจนกระทั่งตำรวจยินยอมให้ทนายของเขาได้เข้าพบและร่วมการสอบปากคำด้วย นั่นเป็นจุดแข็งของผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองมายาวนานที่ทราบและพร้อมจะปกป้องสิทธิของตน หากเป็นประชาชนธรรมดาการต่อรองนี้อาจไม่เกิดขึ้น เบื้องต้นเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

6.นอกจากนั้น หลังสอบปากคำเสร็จสิ้น เขาก็ไม่ได้ถูกควบคุมตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่น ทั้งที่เป็นเจ้าของคดีและพนักงานสอบสวนของที่นี่เป็นผู้ขอศาลออกหมายจับไผ่ ทนายความสอบถามตำรวจว่าทำไมจึงนำตัวไปควบคุมที่อื่น ตำรวจตอบเพียงสั้นๆ ว่าผู้บังคับบัญชาของเขาสั่งการลงมาให้นำตัวไผ่ไปควบคุมไว้ที่ สภ.น้ำพอง เพื่อ "ความปลอดภัย" และเพื่อ "ความสงบเรียบร้อย"

7.หลังนอนสถานีตำรวจหนึ่งคืน ไผ่ถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลขอนแก่น ผู้คนต่างคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าผลการประกันตัวจะเป็นเช่นไร เพราะไผ่นั้นอยู่ระหว่างประกันตัวคดีอื่นๆ อยู่ด้วย ขณะเดียวกันเงิน 400,000 บาทถูกระดมหามาอย่างรวดเร็วเพื่อให้ความช่วยเหลือกับชายหนุ่มนักกิจกรรมคนนี้ ทนายยื่นคำร้องระบุว่า เขามีสอบตัวสุดท้ายก่อนจบการศึกษาวันที่ 8 ธ.ค. หากไม่ไปสอบเขาจะไม่จบการศึกษา และท้ายที่สุดศาลอนุญาตให้ประกันตัว

ถามว่าเคยมีกรณีคดี 112 ที่ประกันตัวได้หรือไม่ในยุคที่ผ่านมา คำตอบคือ ยากมาก การประกันตัวไม่ได้ระหว่างสู้คดีทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก และนั่นทำให้ผู้ต้องหาหลายคนเลือกรับสารภาพแทนการสู้คดีเพราะการติดคุกที่ยาวนานระหว่างกระบวนการ แต่บางกรณีก็สามารถประกันได้ แม้แต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ที่คดีเหล่านี้พิจารณาที่ศาลทหารแล้วก็ตาม ข้อสังเกตสำหรับข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นนี้คือ เป็นผู้ต้องหาที่อายุมากมีปัญหาสุขภาพ และ ข้อความหรือพฤติการณ์ความผิดที่ถูกกล่าวหา “อาจพอพิจารณา” ได้ว่าไม่ร้ายแรงนัก เช่น กรณีของบัณฑิต อานียา ที่ได้ประกันตั้งแต่ฝากขังผัดแรก หรือกรณีคดีสุนัขทรงเลี้ยงก็ได้ประกันในการฝากขังผัด 4 หรือ 5  เป็นต้น กรณีของไผ่ก็เช่นกัน ข้อความที่นำมาโพสต์นำมาจากต้นฉบับของบีบีซีไทย ขณะที่เรื่องนี้ยังไม่มีถูกทำให้ “ผิดอย่างเป็นทางการ” การคุมขังไผ่ยาวน่าจะยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้าน กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งในที่สุดก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ของเราแต่อย่างใด

8.มีผู้เรียกร้องว่าทางบีบีซีไทยหรือบีบีซีสำนักงานใหญ่น่าจะมีการชี้แจงหรือออกแถลงการณ์ในกรณีนี้ แต่สิ่งที่พบกลับคือความเงียบ เพจบีบีซีไทยก็ทำงานไปตามปกติ เราเห็นข่าวสารมากมายปรากฏต่อเนื่องในเพจ รวมถึงคลิปสัมภาษณ์พสกนิกรที่ถวายความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 10  แม้เราจะพยายามติดต่อสอบถามทั้งจากบีบีซีไทยและ โจนาธาน เฮด ซึ่งอยู่ในแผนก world service แต่ประจำอยู่ประเทศไทยมานานจนกลายเป็น “ยี่ห้อ” ของบีบีซี แต่ทุกคนก็ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ หากให้คาดเดาก็พอหาเหตุผลได้ว่า สำนักข่าวใหญ่อย่างบีบีซีที่มีประสบการณ์ภายใต้ความขัดแย้งในประเทศต่างๆ มายาวนาน อาจเห็นว่าการชี้แจงยิ่งเพิ่มเชื้อไฟ และทำให้เรื่องราวขยายใหญ่โตขึ้น การทำหน้าที่ตรงไปตรงมาตามที่เชื่อไปเงียบๆ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นและคลี่คลายเอง ปล่อยให้ผู้คนชื่นชมและก่นด่าต่อผลงานนั้นๆ ตามแต่มุมมองแต่ละคน อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด

9.คาดเดาได้ไม่ยากว่ารัฐไทยคงไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่การจัดการ “ทางกฎหมาย” หรือ
“การกดดันนอกกฎหมาย” กับสำนักข่าวใหญ่ระดับโลกก็เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการเสถียรภาพในช่วงเปลี่ยนแปลง บางคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นความชาญฉลาดที่เลือก “เชือดไผ่ให้ลิงดู” เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้คนระลึกถึงเพดานของเสรีภาพที่มองไม่เห็นไว้เสมอ ประชาชนจะได้ทำหน้าที่ควบคุมสอดส่องระแวดระวังกันเอง ขณะเดียวกันก็สามารถจำกัดผลกระทบต่างๆ จากปฏิบัติการได้พอสมควร  อย่างไรก็ตาม ในบนท้องน้ำที่คลื่นลมสงบ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร อย่างน้อยก็มีข่าวแว่วว่าตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กำลังรวบรวมหลักฐานส่งให้คณะกรรมการกลางพิจารณาว่ามีข้อมูลของบีบีซีไทยเข้าข่าย 112 หรือไม่ ขณะเดียวกันก็แว่วว่าในแวดวงสื่อเองก็มีผู้ที่ไม่พอใจต่อการกระทำของบีบีซีไทยและอยากให้สมาคมวิชาชีพเข้าจัดการ กระทั่งมีข่าวอีกว่ามีบุคคลทั่วไปริเริ่มรวบรวมรายชื่อร้องเรียนต่อสถานทูตอังกฤษด้วย

10.ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะทำงานต่างกันหรือไม่ ระหว่างยุคสมัยใหม่และยุคสมัยเก่า เป็นเรื่องต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด แต่ชิ้นงานนี้ของบีบีซีไทยยังเผยแพร่อยู่ สเตตัสของไผ่ก็ยังอยู่ โดยเขายืนยันว่าเขาแชร์ข้อมูลข่าวสารโดยบริสุทธิ์ใจและคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวไว้ด้วยว่ายอดแชร์ชิ้นข่าวนี้ลดลง 200-300 หลังเกิดกรณีไผ่ขึ้น  (4 ธ.ค.16.00 น.) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท