Skip to main content
sharethis

กรธ. คาดเผยแพร่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ภายในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ มีชัย ยันกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ด้านพรรคการเมืองดักคอ “อย่าทำเพียงพิธีกรรม” ส่วนโฆษก คสช. เผย หลังประกาศใช้ รธน. ยังมีหน้าที่ดูแลความสงบอยู่

6 ธ.ค. 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.) กรธ.จะเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต่อสื่อมวลชน และเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของ กรธ. พร้อมยืนยันว่า กรธ. ไม่ได้ถ่วงเวลา เนื่องจากเบื้องต้น กรธ. ได้ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจากองค์กรอิสระต่าง ๆ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาไปก่อนแล้ว เพื่อให้คำแนะนำไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถือว่ายังไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ หากมีผู้เสนอแนะเพิ่มเติมยังสามารถปรับแก้ไขได้

“ขอพรรคการเมืองอย่าคาดเดาเนื้อหาของร่างกฎหมายพรรคการเมืองไปล่วงหน้าว่าจะปิดกั้นการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง จากกรณีการกำหนดให้ต้องจ่ายค่าสมาชิกพรรคคนละ 2,000 บาท” ประธานกรธ. กล่าว

มีชัย ระบุด้วยว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของนายทุน และเช่นเดียวกันหากพรรคจะส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ย่อมต้องรับฟังความเห็นของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วย

ด้าน อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังตรวจทานร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เบื้องต้นคาดว่า ภายในวันพรุ่งนี้จะเผยแพร่ร่างกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมืองต่อสาธารณะได้

อุดม กล่าวด้วยว่า ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองว่า กรธ. เป็นฝ่ายโจทก์ หรือ จำเลย แต่ให้พิจารณาเนื้อหา ซึ่งฝ่ายการเมืองถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และอาจมองเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของพรรคการเมืองเท่านั้นแต่ไม่ได้มองในประเด็นที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของพรรค ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของพรรคการเมือง มีปัญหาเรื่องกลุ่มทุนเข้ามาครอบงำ และปล่อยให้การตัดสินใจเป็นสิทธิขาดของกรรมการบริหารพรรค

เผยผลสำรวจ ประชาชนยังสนใจการร่างกฎหมายประกอบ ชี้ร้อยละ 85 ต้องการให้หัวคะแนนพรรคจดทะเบียนและแสดงบัญชีทรัพย์สินและรายจ่ายด้วย

อุดม ยังได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทั่วทุกภาค ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงเดือน พ.ย ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76 ให้ความสนใจในการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกรุงเทพฯ ส่วนแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมากที่สุดได้แก่สื่อโทรทัศน์กว่าร้อยละ 70 ขณะความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าสมาชิกพรรคเป็นรายปีนั้น ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 30 เห็นว่าควรให้พรรคกำหนดเอง แต่ยังมีความเห็นเรื่องจำนวนเงินที่แตกต่างกันไป อีกทั้งกว่าร้อยละ 50 เห็นว่ารัฐไม่ควรจ่ายเงินสมทบให้กับพรรคการเมือง เมื่อพรรคได้รับเงินจากสมาชิกเป็นรายปีแล้ว ขณะเดียวกันประชาชนกว่าร้อยละ 83 เห็นด้วยกับการให้แต่ละพรรคการเมืองมีเงินประเดิม 1 ล้านบาท จากสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค และกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าพรรคการเมืองควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและดำเนินการเพื่อให้ได้พรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนการสมัครเข้ารับเลือกตั้ง ส.ส. ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 79 เห็นว่าควรเก็บค่าสมัคร 1 หมื่นบาท และกว่าร้อยละ 91 เห็นด้วยกับการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทุจริตเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ขณะเดียวกันกว่าร้อยละ 86 เห็นด้วยในการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง สามารถมีจำนวนผู้ช่วยหาเสียง(หัวคะแนน) ได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด และผู้ช่วยหาเสียงทุกคนต้องจดทะเบียนและแสดงบัญชีทรัพย์สินและรายจ่ายด้วย

โฆษก กรธ. กล่าวด้วยว่า หลังเปิดร่างกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมือง กรธ.จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่า ร่างกฎหมายของ กรธ.ไม่ใช่จุดสุดท้าย เพราะยังมี สนช.ที่จะพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย

พรรคการเมือง ห่วงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอาจเป็นแค่พิธีกรรม

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับนั้น ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างรอบด้าน เพราะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งอำนาจ การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องของการใช้อำนาจแทนประชาชนผ่านกระบวนการทางการเมืองต่างๆ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้การยอมรับจากประชาชน

“กรธ.ควรเปิดใจกว้างรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ทำแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วเท่านั้น”นายองอาจ กล่าว

สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนอวัยวะต่างๆ ที่จะทำให้ร่างกายสมบรูณ์ ดูดีไม่พิกลพิการ ดังนั้น อยากจะขอให้ กรธ.ทำกฎหมายลูกออกมาให้ดี คิดให้รอบคอบ อย่าเอาแขนขาเทียมที่ทำขึ้นมาจากวัสดุที่ด้อยคุณภาพมาทำเป็นอวัยวะ แล้วในที่สุดก็ต้องมานั่งซ่อมแซม ยิ่งเจอทีมช่างที่เอาของไม่ดีมาทำเป็นอะไหล่มาหลอกใช้ในการซ่อมแซมก็ยิ่งแย่กันไปใหญ่

“ขอให้การยกร่างกฎหมายประกอบต่างๆ อย่าให้มีบทบัญญัติที่เป็นการบีบบังคับ แข็งกร้าว เอาเปรียบจนทำอะไรแทบไม่ได้” สุรพงษ์ กล่าว

อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า หลายประเด็นในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นว่า มีความพยายามบั่นทอนให้พรรคและการเมืองไทยอ่อนแอ สร้างข้อจำกัด วางกฎระเบียบมากมายที่เต็มไปด้วยอคติต่อฝ่ายการเมือง เชื่อว่าหากดื้อดึงออกมาในลักษณะที่ว่านี้จะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นก่อนถึงการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เพราะมีการควบคุมพรรคการเมืองมากกว่าส่งเสริมให้พรรคสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังคงเหลือเวลาอีก 8 เดือนภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดย สนช. มีเวลาในการพิจารณา 60 วัน นับจากวันที่ กรธ. ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งกระบวนการทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ กรธ. ได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่องค์กรอิสระส่งเข้ามายัง กรธ. แล้ว จำนวน 8 ฉบับ ขาดอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ คสช. ยังต้องดูแลความสงบช่วงเลือกตั้งเช่นเดิม

ด้านพันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.ย้ำว่า แม้กำลังจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป แต่ภารกิจหลักของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังคงต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภาย ในประเทศ จึงยังจำเป็นต้องคงมาตรการต่างๆ ไว้อีกระยะ เพื่อให้ช่วงก่อนการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความสับสนวุ่นวาย ส่วนจะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการใด ขึ้นกับ คสช.ที่จะพิจารณาอีกครั้ง

 

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , สำนักข่าวไทย , โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ , สำนักข่าว TPBS

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net