ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปถึงไหน สปท.ย้ำทำงาน 1 ปี ไม่สูญเปล่า ยึดนโยบายรบ.-คสช. เคร่งครัด

ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ย้ำ ผลการดำเนินงานของ สปท.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่สูญเปล่า และทำตามนโยบายรัฐบาล และ คสช. อย่างเคร่งครัด เร่งผลักดันกฎหมาย 183 ฉบับ อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันกฎหมายอีก 104 ฉบับ

7 ธ.ค. 2559 รายงานจากเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ระบุว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดงานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงาน สปท. ครบรอบ 1 ปี ภายใต้หัวข้อ “1 ปี สปท. 108 เรื่องการปฏิรูป” โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. พร้อมด้วยประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน ร่วมแถลงผลงาน

ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. กล่าวว่า ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาว่า สปท.เร่งผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูป จำนวน 183 ฉบับ อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันกฎหมายอีก 104 ฉบับ ซึ่งกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริต การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไทยมีพันธกรณีกับต่างประเทศ กฎหมายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนออกกฎหมายใหม่ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเตรียมการเพื่อให้การปฏิรูปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะมาตรการในการปฏิรูปประเทศมีจำนวน 38 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับเรื่องที่ สปท. นำเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว และรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ไว้เพื่อการปฏิรูปแล้ว 57 เรื่อง จากที่เสนอไป 97 เรื่อง โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับงานปฏิรูปคิดเป็นร้อยละ 64 จากเรื่องที่นำเสนอไป จึงนับเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญของงานปฏิรูปของ สปท.

ทั้งนี้ สปท.มีส่วนสำคัญในการศึกษาและเสนอแนะให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญให้มีหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ รวมทั้งระบุให้มีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และได้ร่วมกับ สนช.กำหนดให้มีคำถามพ่วงในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมทั้ง ยังให้ทุกส่วนราชการนำข้อเสนอประเด็นตามแผนการปฏิรูปที่ สปท. ส่งไปยังรัฐบาลไปพิจารณา โดยแนวทางการปฏิรูปทั้งหมด จะนำไปใช้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ ต้องดำเนินการตามแผนดังกล่าว

ประธาน สปท. กล่าวย้ำว่า ผลการดำเนินงานของ สปท.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่สูญเปล่า และทำตามนโยบายรัฐบาล และ คสช. อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สปท.จะต้องเร่งเสนอกฎหมาย เพื่อการปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นับจากนี้ สมาชิก สปท.ทุกคน จะใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กมธ.ด้านการศึกษาชู 22 แผนปฏิรูป 3 พ.ร.บ. พัฒนาการศึกษาไทย 

วิวัฒน์  ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ(สปท.)ด้านการศึกษา  กล่าวถึงผลงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า  คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอแผนปฏิรูปไปแล้วทั้งหมด 11 แผน   โดยได้เสนอผ่าน สปท. แล้ว 10 เรื่อง และนอกจากนี้ยังมีอีก 12 แผนปฏิรูป ที่เสนอตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปฏิรูปการศึกษาของไทย โดยจากแผนปฏิรูปทั้งหมดได้เสนอออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ที่แล้วเสร็จแล้ว 3 ฉบับ  ได้แก่  ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ  ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาปฐมวัย ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูป ได้มุ่งเป้าหมายทุกช่วงชั้น โดยมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดีและเก่ง  รับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ  รวมถึงเชี่ยวชาญตามความถนัด ตลอดจนจัดกลุ่มเป้าหมายการศึกษาที่มุ่งเริ่มต้นตั้งแต่ครรภ์มารดา จนถึงก่อนเข้าการศึกษาภาคบังคับ  นั่นหมายถึง  การศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียน และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวซึ่งเป็นครูคนแรกของเด็ก ควบคู่ไปด้วย     ขณะเดียวกัน ตามแผนปฏิรูป ได้เสนอการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา ที่จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาให้สอดรับกับระบบประกันคุณภาพการศึกษาใหม่  ซึ่งขณะนี้ ทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีหนังสือคำสั่ง ให้ชะลอการประเมินสถานศึกษาไปจนกว่าจะปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาจะแล้วเสร็จ   นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอแผนการจัดระบบกระบวนการศึกษาที่ออกแบบให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างครบถ้วน  รวมถึงการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อนวัตกรรม   ระบบการเงินการคลัง  การเรียนรู้แบบใหม่  ที่เน้นสถานการณ์จริง  ที่จะทำให้เด็กได้ฝึกทั้งทักษะและสาระไปพร้อม ๆ กัน 

กมธ.สปท. ด้านเศรษฐกิจเสนอ 4 ยุทธศาสตร์ 26 แผนปฏิรูป 

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ(สปท.)ด้านเศรษฐกิจ  กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน ออกเป็น 4 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการเงิน โดยในรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เสนอต่อ ที่ประชุม สปท. 26 แผน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว 17 แผน  ได้แก่ การปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม  การปฏิรูปประกันภัยการเกษตร ธนาคารที่ดิน และร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. ....  การปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน  แนวทางการปฏิรูประบบการเงินฐานรากและร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. .... การปฏิรูปการให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน  การปฏิรูปเศรษฐกิจชีวภาพ  การปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิทัล  การปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเชิงวัฒนธรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม เศรษฐกิจผู้สูงวัย การปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้า การเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมสาขาหลัก การปฏิรูปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์และการปฏิรูปการสร้างสังคมผู้ประกอบการ ทั้งนี้  ในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปนั้น  คณะกรรมาธิการฯ มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้   ลดจำนวนคนยากจนและคนเกือบยากจนให้มากที่สุด  ก้าวสู่ประเทศมีรายได้สูง  และมุ่งให้เศรษฐกิจเติบโต และเติบโตอย่างทั่วถึง 

กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง หวังขจัดปัญหาทุจริตเลือกตั้งและความแตกแยก

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า กมธ.ได้เสนอรายงานแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองไว้ 6 เรื่อง คือ 1.การให้ได้ นักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดี 2.มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 3.ปฏิรูป ระบบพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงและไม่ถูกครอบงำจาก นายทุน4.การปฏิรูปการเมืองโดยการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ 5.การ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย และ 6.การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการ สร้างความปรองดอง

เสรี กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาของ กมธ.พบว่า ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความเชื่อถือ นักการเมืองรวมถึงเบื่อการเลือกตั้งที่มีแต่การทุจริต เพื่อแสวงหาอำนาจและสร้างความแตกแยก การปฏิรูปการเมืองจึงถือเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในทุกด้าน สปท.ด้านการเมืองจึงได้เสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อจะได้สอดคล้องกับโรดแมปของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมในหลายประเด็น อาทิ ขจัดกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมือง แก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง การให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สนับสนุนให้ประชาชนเป็นสมาชิกพรรค และบทลงโทษทางการเมืองที่รุนแรง ทำให้นักการเมืองไม่กล้ากระทำผิด เพราะจะได้รับโทษทางอาญา ทั้งนี้หวังว่า การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จได้ จะต้องปฏิรูปนักการเมืองควบคู่ไปด้วย โดยควรต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน และพรรคทางเลือกใหม่ ควรต้องเสนอชื่อบุคคลชื่อใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองชื่อเดิมหรือหน้าเดิม เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการตัดสินใจมากขึ้น

สปท.ด้านสื่อสารมวลชน ครอบคลุมสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ฯ

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงสรุปผลงานว่า ได้กำหนดแผนปฏิรูปไว้ทั้งหมด 12 เรื่อง ตาม 3 ประเภทของกลุ่มสื่อ ได้แก่ กลุ่มสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม กลุ่มสื่อออนไลน์ และกลุ่มสื่อสิงพิมพ์ โดยได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับเดิมในปี 2553 เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จึงเชื่อจะประกาศใช้ในอีกไม่นาน จะเกิดการรวมบอร์ดบริหารด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์เข้ากับบอร์ดโทรคมนาคม โดยมีจำนวนกรรมการและวาระดำรงตำแหน่งเท่าเดิม และได้เพิ่มหน้าที่ให้ในการเจรจาขอคืนคลื่นความถี่ที่กรมไปรษณีย์ฯเคยให้สัมปทานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อมาบริหารจัดการใหม่และนำไปสู่การประมูลสร้างรายได้เข้ารัฐ สำหรับสื่อออนไลน์ กรรมาธิการได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประสานงานกับตำรวจและผู้ประกอบการสื่อออนไลน์(ISP)ระหว่างประเทศ เพื่อดูแลด้านความปลอดภัย และสร้างความเข้าใจในบริบทของสังคมไทย อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อความมั่นคงของชาติ ขณะแผนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ได้กำหนดการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน การรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กร และองค์การรวมถึงให้มีคณะกรรมการจริยธรรม  ดูแลมาตรฐานและสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย

ด้านพลังงาน แจง 7 ผลงานเด่น

คุรุจิต นาครทรรพ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึงผลงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า  คณะกรรมาธิการได้สานต่องานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนำผลการศึกษาของ สปช. เรื่อง ระบบพลังงาน  มาจัดทำเป็นแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปเร่งด่วนเสนอต่อ สปท. 5 เรื่อง และได้รับความเห็นชอบแล้ว  ได้แก่  รายงานเรื่อง บทบาทหน้าที่และการใช้ประโยชน์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ...   ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้นำไปสานต่อ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป    ขณะที่ อีก 2 เรื่องสำคัญที่เป็นมาตรการทางบริหาร  ได้แก่  รายงานเรื่องการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน ที่จะทำให้การออกแบบอาคารในอนาคตของภาคเอกชน ประหยัดพลังงานเชิงโครงสร้างในระยะยาวได้   และรายงานเรื่องการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงานสำหรับหน่วยงานภาครัฐ   ที่เน้นให้ภาครัฐลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน  และได้ผลลัพธ์กลับมาในรูปของการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน    และอีก 2 รายงาน   คือ รายงานเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพลังงานทดแทน พ.ศ. .... และรายงานเรื่องการพัฒนาศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ  อยู่ระหว่าง การเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ  และนอกจาก 5 เรื่องเร่งด่วน  ยังมี 2 เรื่อง ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คือ  รายงานการปรับปรุงโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ  และแนวทางปฏิรูปกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม  ประธานคณะกรรมาธิการฯ  มั่นใจว่า จะสามารถจัดทำแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อีกอย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แล้วเสร็จภายในวาระที่เหลืออยู่อย่างแน่นอน  ได้แก่เรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน การผลิตและซื้อขายไฟฟ้าเสรีระดับชุมชนด้วยโครงข่ายไฟฟ้าเสริม การสร้างความรู้ความเข้าใจและสื่อข่าวสารด้านพลังงาน และการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ตอบแทนในการเลือกรับซื้อกระแสไฟฟ้าแต่ละประเภทเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท