Skip to main content
sharethis

หลัง 2 พรรคใหญ่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ วิจารณ์ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หวั่นสร้างอุปสรรคตั้งพรรค พรรคทางเลือกตั้งยาก แถมข้อบังคับให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายบำรุงพรรคปีละ 200 บาท จะกีดกันคนมีรายได้น้อย ด้านปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. ชี้แจงว่าเบียร์ 3 ขวดร้อยกว่ายังซื้อกินได้ จะทำการเมืองแล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ ชีวิตอยู่ยาก

13 ธ.ค. 2559 ภายหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งประกอบด้วย 10 หมวด 129 มาตรานั้น (อ่านร่างกฎหมาย) โดยอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการธิการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มุ่งให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนควรเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวยังคงเป็นเพียงร่างกฎหมายที่ต้องรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบและยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดย กรธ. เตรียมจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตามทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ก็วิจารณ์ร่างกฎหมายพรรคการเมืองดังกล่าวนั้น  (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

(ซ้าย) ปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ (ขวา) หน้า 6 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ... (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ในรายงานของผู้จัดการออนไลน์ ปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะไม่มาแสดงความคิดเห็นในวันที่ 14 ธ.ค. ว่า ใครไม่ร่วมเราไม่สนใจ เราทำใจเเล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่คอยต่อว่า แต่ต้องใช้เหตุผล ตีกันเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องจูงมือไปด้วยกัน หมดยุคทะเลาะเบาะแว้งแล้ว ไม่เห็นด้วยเรื่องไหน น่าจะเข้ามาบอกเหตุผลการคัดค้านว่าจะเกิดผลร้ายต่อประชาธิปไตยอย่างไร

ส่วนกรณีพรรคการเมือง วิจารณ์เรื่องการกำหนดจัดตั้งสาขาพรรค การจ่ายเงินบำรุงพรรค ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น เขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน คนมีอุดมการณ์เดียวกัน ต้องส่งเสริมให้มีส่วนร่วม รวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้มิใช่หรือ

"เงิน 100 บาท จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย เชื่อว่า พรรคเก่าๆ ไม่มีปัญหา เขากันเงินที่มีอยู่เดิมมาเป็นทุนประเดิมได้ ขนาดเบียร์ 3 ขวดร้อยกว่าบาท ยังซื้อกินได้ จะทำการเมืองแล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ ผมว่าชีวิตอยู่ยากแล้ว เรากำลังร่วมทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ไม่ต้องการให้ใครกว้านซื้อชื่อคนมารับเงินกองทุนจาก กต. เหมือนอดีต หัวใจหลักของกฎหมายพรรคการเมือง คือ โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ ไม่ให้ใครทำไม่ดีเหมือนอดีต ถ้าพรรคการเมืองยังยึดติดเเบบเดิมคงไม่เหมาะสมกับยุคนี้ แบบนั้นเป็นสมัยโบราณ"

ส่วนที่นักการเมืองบ่นเรื่องกำหนดยาเเรง เช่น กรรมการบริหารพรรคอาจต้องพ้นตำแหน่ง และถูกเเบน กรณีสมาชิกพรรค หรือผู้มีตำแหน่งในพรรคเกี่ยวข้องกับการโกงเลือกตั้งนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า หลักการกำหนดโทษ คือ ใครผิด คนนั้นรับโทษไป ไม่มีขายเหมายุบพรรคเหมือนก่อน ถ้าทำผิดเเบบที่เราห้าม เเล้วรู้ว่าผิดโดยฝืนทำ รู้เห็นเป็นใจ ยังควรให้ยุ่งการเมืองอีกหรือ หลักง่ายๆ คือ อย่าทำผิด ถ้าไม่ทำผิดไม่เห็นต้องกลัว เรากำหนดให้ส่งศาลเป็นผู้วินิจฉัยด้วยเพื่อความยุติธรรม โทษประหารมาจากการซื้อขายตำแหน่ง ถ้าศาลเห็นว่ารุนเเรงปล่อยเอาไว้ไม่ได้ก็โดน ในประมวลกฎหมายอาญาก็มีกำหนดโทษลักษณะนี้ และเอาไว้ใช้กับข้าราชการ

ที่ผ่านมา ไม่เห็นมีใครบ่น แล้วนักการเมืองมาบ่นทำไม นักการเมืองเรียกร้องให้ข้าราชปฏิรูปโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงไม่เห็นต้องเหนียมอาย จะเรียกร้องคนอื่นต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ปกรณ์ระบุ

โดยก่อนหน้านี้ คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ข้อบังคับให้ผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค เป็นการกีดกันคนมีรายได้น้อยไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และยังวิจารณ์ข้อกำหนดที่ให้พรรคการเมืองตั้งใหม่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปี มีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และต้องเพิ่มสมาชิกเป็น 20,000 หมื่นคนใน 4 ปี เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับที่ กรธ.บอกว่าไม่อยากเห็นนายทุนครอบงำพรรค

ทั้งนี้ในมาตรา 16 (14) ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ระบุให้ข้อบังคับของพรรค ต้องกำหนดให้มีอัตราค่าบำรุงพรรคการเมืองโดยให้สมาชิกชำระปีละไม่น้อยกว่าสองร้อยบาท

ส่วน องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองมีข้อจำกัดมากขึ้น และมีเงื่อนไขทางการเงินเพิ่มมากขึ้น จึงอาจมีส่วนทำให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากตั้งพรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีน พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคคุ้มครองผู้บริโภค มีโอกาสตั้งพรรคยากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net