องค์กรประชาชนอินเดียเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งที่ไม่ผิด

ในอินเดียก็มีปัญหาคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาอย่างผิดๆ ต้องจำคุกฟรีหลายปีกว่าจะได้รับการพิจารณาให้พ้นข้อกล่าวหา เมื่อพวกเขาออกมาแล้วก็ยังเจอกับการตีตราทางสังคมและปัญหาการถูกกีดกันจนไร้ที่ทางทำมาหากิน องค์กร 'ศาลยุติธรรมของประชาชน' จึงเรียกร้องให้มีการชดเชยและมีมาตรการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กล่าวหาพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมจนชีวิตถูกทำลาย

13 ธ.ค. 2559 ซัยยิด วาซีฟ ไฮเดอร์ เล่าว่าเขาถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2544 จากเมืองกันปูร์ รัฐอุตตรประเทศ เขาถูกตั้งข้อหาหลายข้อหาตั้งแต่ยุยงปลุกปั่น ทำสงครามกับประเทศ ก่อจลาจล ไปจนถึงฆาตกรรม อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายฮิซบุลมุจาฮิดีน หลังจากที่เขาต้องอยู่ในคุกนานถึง 8 ปี ศาลก็ตัดสินว่าเขาไม่มีความผิดในทุกข้อหา แต่ชีวิตหลังออกจากคุกของเขาก็ยังยากลำบาก เขาต้องต่อสู้ทางด้านการเงินและไม่สามารถหางานดีๆ ได้

จากสภาพชีวิตของไฮเดอร์ทำให้เขามองว่าตัวเองยัง "อยู่ในคุกที่ใหญ่กว่าเดิม" เพราะเขายังถูกสังคมขับไล่ไสส่งและถูกตีตราจากการถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ทั้งที่มีการตัดสินว่าไม่เป็นความจริงแล้ว จากเดิมที่เขาทำงานในบรรษัทของสหรัฐฯ พอหลังถูกจับกุมก็ทำให้เขาไม่มีงานทำ จากรายได้ไม่เพียงพอทำให้ลูกสาวคนโตของเขาไม่สามารถเรียนต่อในระดับหลังจากมัธยมศึกษาได้

แต่ในอินเดียมีองค์กรที่ชื่อ "ศาลยุติธรรมของประชาชน" (Indian People's Tribunal หรือ IPT) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนนำโดยผู้พิพากษาเกษียณอายุ เป็นกลุ่มไม่เป็นทางการที่ทำหน้าที่ไต่สวนประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงคนที่ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ไฮเดอร์และคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ อีก 15 คนยื่นหลักฐานเรื่องที่ตัวเองได้รับการตัดสินให้พ้นผิดกับ IPT เพื่อให้ IPT ดำเนินการบางอย่างกับการที่รัฐบาลอินเดียมีส่วนทำลายชีวิตของพวกเขา

ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (10 ธ.ค.) IPT ออกรายงานเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมและฟ้องร้องคนเหล่านี้อย่างผิดๆ ต้องออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไป

อจิต ประกาศ ชาห์ หนึ่งในสมาชิกของ IPT อดีตผู้พิพากษากล่าวในการแถลงรายงานอย่างเป็นทางการที่กรุงนิวเดลีว่าควรต้องมีการชดเชยชื่อเสียงเกียรติยศของคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งที่ไม่มีความผิด ควรมีการพูดถึงเรื่องการชดเชยความเสียหายที่พวกเขาได้รับในฐานะกระบวนการตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับอยู่แล้วแทนที่จะทำให้เป็นการบริจาคการกุศล ชาห์บอกว่าคนที่ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ควรได้รับการชดเชยจากรัฐอยู่แล้วเป็นปกติ อีกทั้งชาห์ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่กล่าวหาบุคคลเหล่านี้ผิดๆ ควรถูกสั่งพักงานโดยทันที

ในเรื่องของการถูกตีตรานั้นเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทั่วอินเดีย มีข้อมูลจากกลุ่มมูลนิธิควิลระบุว่าแค่ในปี 2536 ปีเดียว รัฐมหาราษฏระก็ทำการกล่าวหาผู้คนมากกว่า 460 คนในข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แม้ว่าต่อมาพวกเขาจะถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์ แต่พวกเขาก็ถูกจำคุกในช่วงที่ถูกดำเนินคดีเฉลี่ยแล้ว 3-6 ปี แม้จะไม่มีความผิดใดๆ ก็ตาม ผู้คนเหล่านี้หลายคนเคยมีตำแหน่งอาชีพการงาน แต่ก็ถูกบีบให้ต้องกลายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือตกงานหลังออกจากคุก นอกจากนี้กลุ่มที่เป็นชายขอบของสังคมอย่างวรรณะจัณฑาล ชาวมุสลิม กลุ่มชนพื้นเมืองก็เป็นครึ่งหนึ่งที่อยู่ในคุกของอินเดียในตอนนี้ที่มีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 400,000 คน

ชาห์ยังเรียกร้องให้สังคมยอมรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมเหล่านี้กลับสู่สังคมและควรมีทุนช่วยเหลือการศึกษาให้ลูกหลานของคนที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ชาห์ยังวิจารณ์ที่สื่อมีส่วนในการทำให้ผู้คนเหล่านี้ถูกตีตราจากการรายงานข่าวแบบลำเอียงและเน้นกระตุ้นเร้าความรู้สึก (sensationalism) ทำให้ผู้คนที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมถูกมองว่าพวกเขามีความผิดทั้งๆ ที่ยังไม่มีการตัดสินใดๆ จากศาล สื่อควรทำตัวเป็นองค์กรที่ไม่ลำเอียงแทนที่จะทำตัวเป็นทาสรับใช้หน่วยงานสืบสวนสอบสวนอย่างเดียว ชาห์จึงเรียกร้องให้สื่อตีพิมพ์คำขอโทษที่นำเสนอเรื่องราวผู้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมเหล่านี้ในเชิงหมิ่นประมาทซ้ำเติมด้วย

มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมบางรายอย่าง มูฮัมหมัด อามีร์ ข่าน ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าเป็นคนก่อเหตุระเบิด เขาได้รับการตัดสินให้ไม่มีความผิดหลังจากที่ต้องไปอยู่ในคุกนานถึง 14 ปี นอกจากนี้เขายังถูกทารุณกรรมด้วย ข่านบอกว่าเขาถูกจำคุกอยู่ถึง 14 ปีเพราะอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ ไม่มีอะไรจะมาชดเชย 14 ปีในความมืดมิดของเขาได้ นอกจากโลกข้างนอกจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังจากที่เขาออกจากเรือนจำแล้ว เขายังต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ พ่อของเขาเสียชีวิตในช่วงที่เขาอยู่ในคุกและแม่ของเขาก็เป็นอัมพาต

มานิชา เสธิ ผู้เขียนหนังสือ Kafkaland: Prejudice, Law and Counterterrorism in India กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพียงวิกฤตของกฎหมายเท่านั้นแต่ยังเป็นวิกฤตทางศีลธรรมด้วย

กลุ่ม IPT ยังมีเครือข่ายที่เรียกว่า "อินโนเซนซ์เน็ตเวิร์ก" หรือเครือข่ายผู้บริสุทธิ์ที่ทำการรณรงค์ให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีผิดๆ แบบเดียวกับองค์กรชีวิตคนดำก็มีความหมาย (Black Lives Matter) ในสหรัฐอเมริกา พวกเขาเรียกร้องให้มีกลไกการชดเชยและฟื้นฟูคนที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่กุเรื่องใส่ความคนบริสุทธิ์

วาฮิด ชีค จากกลุ่มเครือข่ายผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้ที่เคยถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ มาก่อนบอกว่า ถ้าหากผู้ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาพังย่อยยับยังไม่ถูกลงโทษก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไป พวกเขาต่อสู้เพื่อให้คนรุ่นต่อไปไม่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมเหล่านี้

เรียบเรียงจาก

India activists seek justice for wrongful convictions, Aljazeera, 13-12-2016
http://www.aljazeera.com/news/2016/12/india-activists-seek-justice-wrongful-convictions-161211122910436.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท