ใช้ ม.44 เด้งผอ.พอช.ไปสำนักนายกฯ เอ็นจีโอรุมค้าน ไม่เอาคนนอก-ทหาร

นายกฯ ใช้ม.44 ย้ายผอ.สถาบันองค์การพัฒนาชุมชน (มหาชน) หรือพอช.แล้ว คาดจากเหตุย้ายคนออกจากคลองไม่สำเร็จทันเวลา ภาคประชาชนรุมค้าน “ปฏิรูปหรือปฏิรวบ” ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำสั่งไม่เป็นธรรม จี้ทหารเลิกแทรกแซง

9 ธ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันองค์การพัฒนาชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหน้าที่สำคัญของ พอช. ก่อนที่นายพลากรจะถูกย้ายคือการจัดหาที่อยู่อาศัยตามแนวทาง “บ้านประชารัฐริมคลอง” รองรับประชาชนที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนและได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองทั้ง 9 สาย เพื่อป้องกันน้ำท่วม กทม.และปริมณฑล ตามนโยบายของรัฐบาลที่เชื่อว่าสาเหตุของน้ำท่วม กทม. คือ ขนาดคลองกว้างไม่พอต่อการระบายน้ำรวมทั้งมีบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำในพื้นที่คลอง จึงต้องการขยายขนาดคลองให้กว้างจากเดิมเป็น 25-38 เมตร ซึ่ง พอช.มีเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2559-2561 ในพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร รวม 74 ชุมชน 11,004 ครัวเรือน รวมประชากรทั้งหมด 64,869 คน และจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 4,000 ล้านบาทเศษ

เว็บไซต์ พอช. ได้รายงานถึงการทำงานของนายพลากรว่า เน้นการลงพื้นที่ชุมชนทำความเข้าใจ รับรู้ปัญหาและความต้องการจากชาวบ้าน จากการพูดคุยส่วนใหญ่อยากจะสร้างบ้านให้เสร็จเร็วๆ แต่ยังติดปัญหาบางอย่าง เช่น ข้อกำหนดของกฎหมายควบคุมอาคาร เรื่องระยะร่นริมคลอง พ.ร.บ.ผังเมือง รวมทั้งเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้สามารถแก้ได้ โดยให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์

“หากรัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 ได้เร็วเท่าไหร่ การก่อสร้างบ้านประชารัฐริมคลองก็จะรวดเร็วตามไปด้วย เพราะชาวบ้านมีความพร้อมอยู่แล้ว คืออยากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ส่วนกลุ่มคนที่ยังต่อต้าน เราก็มีชุดมวลชนสัมพันธ์ลงไปชี้แจงสร้างความเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อชี้แจงด้วยเหตุผลชาวบ้านก็เข้าใจและพร้อมที่จะร่วมพัฒนาชุมชน แต่อาจจะมีบางคนที่มีผลประโยชน์และยังไม่เข้าร่วม เช่น กลุ่มเจ้าของบ้านเช่า บ้านหลังใหญ่ ซึ่งหากยังไม่เข้าร่วมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป”

การย้าย ผอ.พอช. ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจและเกิดการตั้งคำถามจากแวดวงเอ็นจีโอว่ารัฐบาลใช้เหตุผลใดในการย้าย มีความชอบธรรมและยุติธรรมหรือไม่

นายสังคม เจริญทรัพย์ ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวชายขอบหลังทราบข่าวดังกล่าวว่า เครือข่ายชาวบ้านได้ประชุมเร่งด่วนทันทีที่ทราบพร้อมออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำสั่งนายกฯ ซึ่งมีเนื้อหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1 ไม่ยอมรับคำสั่งของนายกฯ 2 เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลิกแทรกแซงกระบวนการของ พอช. และ 3 ต้องไม่เอาคนนอกหรือคนของกองทัพ หรือทหารเข้ามาเป็นรักษาการ หรือเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ พอช.

ประยงค์ ดอกลำไย รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Prayong Doklamyai ตั้งคำถามถึงการโยกย้ายครั้งนี้ว่า การทำงานตามนโยบายไล่รื้อชุมชนริมคลองหลายพันครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้กระบวนการและเวลาในการดำเนินงานเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจคิดและใช้ ม.44 อย่างรอบคอบเพราะมันสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าใช้อำนาจโดยมิชอบและแทรกแซงการดำเนินงานขององค์กร ทั้งที่ พอช. เพิ่งจะผ่านการประเมินผลระดับคุณธรรมและความโปร่งใส ตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ประจำปีงบประมาณ 2559 ด้วยคะแนน ร้อยละ 82.35 อยู่ในอันดับที่ 17 จากทั้งหมด 52 องค์กร ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานระดับสูงมาก

“ผมไม่อยากให้รัฐบาลถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า อะไรคือบรรทัดฐานของการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน? นี่คือรัฐบาลที่มาเพื่อสร้างความเป็นธรรมและการปฏิรูปประเทศ? เพราะหากท่านใช้อำนาจ โดยขาดการกลั่นกรองให้รอบคอบ ก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคมอีกครั้ง”

ด้าน นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Decharut Sukkumnoed ว่า ตนมักจะเข้าร่วมเวทีของ พอช.เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดต่างๆ แม้ว่า พอช. จะอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร แต่ก็สนับสนุนให้ชุมชนสะท้อนเสียงของตนเองออกมา แต่ว่ารัฐบาล คสช. ไม่อยากจะฟังปัญหาเหล่านี้และพร้อมจะใช้อำนาจปิดปากทุกคน ขอบคุณนายพลากรที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดโดยไม่ได้กังวลถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนเอง ตนพร้อมจะเป็นกำลังใจให้เสมอ

“เราก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเราด้วยว่า นี่คือ สังคมที่เราต้องการจริงหรือ? นี่คือการปฏิรูป หรือการปฏิรวบ? หรือทั้งหมดนี่ มันก็เป็นเพียงแค่ความกลัวของเราเอง เราจะต่อสู้กับความกลัว หรือเราจะอยู่กับความเสื่อมดี?”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท