สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ธ.ค. 2559

กรมการจัดหางาน ประสานนายจ้างหาตำแหน่งงานรองรับผู้พ้นโทษ แล้วกว่า 50,000 อัตรา/ราชกิจจาฯเผยแพร่ ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศแล้ว บังคับใช้ 1 ม.ค. 2560/กกจ.เผยสถิติปี 2559 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น/จี้รัฐแก้ระเบียบขึ้นทะเบียนประกันสังคม เป็น ธ.ค.ของทุกปี/ยอดตั้งโรงงานและขยายกิจการ 11 เดือน วูบ 1.28 แสนล้าน/เผย 5 ตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการผลิต 3.พนักงานขาย 4.พนักงานธุรการ และ 5.พนักงานขับรถยนต์
 
สรส.จัดเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ 'สาวิทย์ แก้วหวาน' ฝากสานงานต่อ สร้างความเข้มแข็งให้ขบวนแรงงานทุกกลุ่ม
 
​วันที่ 7 ธันวาคม 2559 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 โดยมีการจัดการเลือกตั้งเลขาธิการ และคณะกรรมการบริหาร ที่สโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตย กรุงเทพมหานคร ด้วยคณะกรรมการบริหารสรส.ชุดที่ 16 ซึ่งมีคุณสาวิทย์ แก้วหวานเป็นเลขาธิการได้หมดวาระลง จึงได้เปิดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ขึ้น ประกอบด้วยตำแหน่งเลขาธิการ และกรรมการบริหารในสัดส่วนต่างๆ 20 ตำแหน่ง โดยมีการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการบริหารดังนี้ กรรมการตำแหน่งสัดส่วนสตรีจำนวน 6 ตำแหน่ง กรรมการบริหารสัดส่วนแรงงานหนุ่มสาว 1 ตำแหน่ง และตำแหน่งกรรมการบริหารที่เหลือทั้งหญิงและชายจำนวน 13 ตำแหน่ง ซึ่งครั้งนี้ในตำแหน่งเลขาธิการสรส.มีผู้สมัคร 2 ท่าน ประกอบด้วย นายอำพล ทองรัตน์ จากรักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และนายประกอบ ปริมล ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งผลการเลือกตั้ง นายประกอบ ปริมลได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้วจำนวน 83 เสียง จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 100 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 96 คน
 
1. หลักนิติธรรม กำหนดแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ให้แต่ละหน่วยส่วนงานอย่างชัดเจน
 
2. หลักคุณธรรม ต้องปฏิบัติตามฐานคุณธรรม จริยธรรม วางมาตรฐานในการใช้จ่ายงบเงิน สรส. โดย สมาชิกมีการตรวจสอบ
 
3. หลักความโปร่งใส วางระบบความรับผิดชอบของหน่วยงาน กรรมการในการทำหน้าที่อะไรแต่ละด้าน ส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามีส่วนร่วมรับรู้การทำงานวางแผนติดตามประเมินผล
 
4. หลักการมีส่วนร่วม เพิ่มช่องแนวทางที่จะให้สมาชิกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยนำความคิดเห็นจากภายนอกและภายในไปใช้ในการปรับปรุงการบริหาร สรส. สมาชิกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้รับทราบร่วมเสนอปัญหาให้ข้อคิดเห็นร่วมปฏิบัติร่วมตัดสินใจร่วมรับใช้ประโยชน์ตลอดจนตรวจสอบติดตามประเมินผล
 
5. หลักการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นำระบบแนวคิดที่ได้จากการเสนอของสมาชิกมาบูรณาการร่วมเข้าในการทำงาน จัดสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารสองทาง คือสั่งการแล้วรับฟัง พัฒนาความรู้ใหม่ใหม่ มาปรับปรุงการบริหารงานอย่างต่อเนื่องสร้างความวางใจ ความเชื่อถือ ความผูกพันระหว่างกรรมการบริหารกับสมาชิกเจ้าหน้าที่
 
6. หลักองค์กรองค์กรเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้สร้างความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และสมาชิกองค์กรมีการปรับปรุงแบบมีการจัดประชุมอบรมสัมมนา พัฒนาความรู้ต่างๆและประเมินเรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดในอนาคต เสริมสร้างภาวะผู้นำตามกระบวนการผลักดันให้เกิดทัศนคติที่สอนกันได้
 
7. หลักการบริหารจัดการ จัดทำแผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลาการทำงานเช่นการเพิ่มโอกาสสมาชิกสรส. โดยการติดตามประสานงานองค์กรสมาชิกเก่าที่ลาออกจากองค์กรสมาชิกที่จ่าย ที่ต้องจ่ายค่าบำรุงองค์กรสหพันธ์แรงงานกลับเข้ามาเป็นสมาชิก โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกโดยใช้หลักการแบบการมีส่วนร่วมส่งเสริมการทำงานที่เป็นทีมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานในทุกภาคส่วนกำหนดมาตรการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี รับฟังอย่างตั้งใจ กำหนดหลักการทำงานแบบกระจายอำนาจ ความรับผิดชอบ กระจายโอกาสแก่มวลสมาชิก เมื่อได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นเกิดศรัทธาทำให้การบริหารสรส. เป็นไปตามทิศทางตามกรอบที่ถูกต้องดียิ่งขึ้น เกิดประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ธรรมนูญสรส. จะต้องแก้ไขเพื่อความเชื่อมั่นศรัทธา พัฒนาสรส.
 
ด้วยหลักการบริหารกิจการสรส.เพื่อองค์กรสมาชิกโดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมตรวจสอบในการใช้หลักการประสานงานประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สร้างให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อองค์กรสมาชิกและสมาชิกได้รับประโยชน์สูงสุดและนำไปสู่ความมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
 
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์ฯ ตนเห็นว่า การทำงานของ สรส. มีความสำคัญต่อขบวนการแรงงาน ซึ่งได้มีการดำเนินการทำงานร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน เป็นองค์กรขับเคลื่อนผลักดันด้านนโยบาย สวัสดิการ ค่าจ้าง กฏหมายต่างๆ รวมถึงอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง การเคลื่อนไหวในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันกรรมกรสากล วันงานที่มีคุณค่า วันแรงงานข้ามชาติสากล โดยมองว่า แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน และอยากเห็นสรส.ทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งปัจจุบัน การทำงานขยายการจัดตั้งเหมือนกับอดีตที่รัฐวิสาหกิจมีการทำงานร่วมกับแรงงานเอกชนในการให้คำปรึกษาปัญหาด้านสิทธิแรงงาน ร่วมศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน และได้เข้าช่วยทำงานแก้ปัญหาให้กับแรงงานข้ามชาติ ด้านการละเมิดสิทธิแรงงาน แรงงานนอกระบบ ทำการสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป แต่วันนี้แรงงานยังถูกเอาเปรียบขูดรีดรุนแรงขึ้น สรส. ต้องทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันปกป้อง รักษาสมบัติของชาติต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น ทำงานขับเคลื่อสังคมร่วมกับผู้ทุกข์ยาก คนยากจนโดยมองเรื่องชนชั้น เพราะแรงงานคือคนส่วนใหญ่แต่กลับไม่เคยมีรัฐบาลไหนมองเห็น ฉะนั้นต้องทำงานร่วมกันตามฐานที่มีการวางไว้
 
“แม้วันนี้จะไม่ได้เป็นเลขาธิการสรส.ที่ทำมาถึง 8 วาระแล้ว การที่ทำงานแรงงานมานานกว่า 30 ปี ก็ขออยู่เพื่อรับใช้ทางชนชั้นต่อไปถึงแม้ไม่มีตำแหน่งเรียกใช้ได้เสมอ” นายสาวิทย์กล่าว
 
 
ราชกิจจาฯเผยแพร่ ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศแล้ว บังคับใช้ 1 ม.ค. 2560
 
(๗ ธ.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๘) ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกําหนด เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และมีมติเห็นชอบให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ําเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๗๙ (๓) และมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ํา (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ และประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ํา (ฉบับที่ ๗) ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
 
ข้อ ๒ ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสิบบาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
 
ข้อ ๓ ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยแปดบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา ระยอง
สงขลา สระบุรี และสุราษฎร์ธานี
 
ข้อ ๔ ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ําเป็นเงินวันละสามร้อยห้าบาท ในท้องที่จังหวัด กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กําแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลําปาง ลําพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลําภู อ่างทอง อํานาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
 
ข้อ ๕ ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยบาท ในท้องที่จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี
 
ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์ตามข้อ ๒ ถึงข้อ ๕ คําว่า “วัน” หมายถึง เวลาทํางานปกติของลูกจ้าง
ซึ่งไม่เกินชั่วโมงทํางานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทํางานน้อยกว่าเวลาทํางานปกติเพียงใดก็ตาม
(๑) เจ็ดชั่วโมง สําหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑
(๒) แปดชั่วโมง สําหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (๑)
ข้อ ๗ ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ํา
 
ข้อ ๘ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม
 
พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ
ปลัดกระทรวงแรงงาน
ประธานกรรมการค่าจ้าง
 
 
อัศวินสั่งหาโบนัสให้ขรก.-ลูกจ้างกทม. เพิ่มขวัญกำลังใจคนทำงาน ชื่นชมฝ่ายรักษาความสะอาดดูแลสนามหลวง เล็งออกแผนคุมไฟไหม้-อุบัติเหตุปีใหม่ วอนจัดงานรื่นเริงในขอบเขต
 
น.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กทม. ครั้งที่ 12/2559 โดยมีคณะผู้บริหารฝ่ายการเมือง คณะผู้บริหารฝ่ายประจำ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
 
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับภารกิจดูแลประชาชนที่ท้องสนามหลวง ตนขอบคุณผู้ปฏิบัติต่างๆ และขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมฝากขอบคุณไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาให้ด้วย ซึ่งทุกฝ่ายทั้งผู้บริหารฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำได้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลงานที่สนามหลวงเป็นอย่างดี ซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้ชื่นชมการปฏิบัติงานของข้าราชการลูกจ้างกทม. ถึงแม้หน้าที่ความรับผิดชอบจะเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกๆคนโดยเฉพาะพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใสทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ ไม่มีหน้าบูดเบี้ยวเลย ทั้งนี้ ตนจึงพยายามให้ นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าฯกทม. หาแนวทางให้โบนัสให้ฝ่ายปฏิบัติงานเหล่านี้ 1 เดือน เพื่อเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างเต็มที่
 
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 การดูแลเรื่องความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงการไว้ทุกข์ แต่การจัดงานของฝ่ายต่างๆ กทม.คงห้ามไม่ได้ แต่ขอให้อยู่บนเหตุผลและไม่จัดงานเทศกาลรื่นเริงเกินขอบเขต ซึ่งกทม.ยังจะกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัย ทั้งเรื่องไฟไหม้ อุบัติเหตุบนท้องถนน การรักษาพยาบาล ซึ่งในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ จะเป็นวันสถาปนากทม. จะมีพิธีหลายส่วนที่จะจัดขึ้นที่ศาลาว่าการกทม. 2 โดยในวันนั้นก็จะมีการแถลงนโยบายของผู้บริหารฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ และมีสภา กทม.ร่วมด้วย
 
 
กกจ.เผยสถิติปี 2559 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงานของคนไทยปี 2559 ว่า จากข้อมูลภาวะการมีงานทำของประชากรปี 2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เดือน ม.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ว่างงาน จำนวน 3.86 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอัตราการว่างงาน 0.9% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกำลังแรงงาน โดยพบว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในรอบ 5 ปี (2555-2559) ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปไม่หางานทำ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น ประกอบกับเป็นสังคมผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ดังนั้นจึงทำให้กำลังแรงงานโดยรวมลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจะพบว่ามีอัตราการว่างงานลดลง จาก 1.2% เป็น 1% ในส่วนของอัตราการมีงานทำปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.59) คิดเป็น 98.4% ขณะเดียวกันอัตราการกลับเข้าสู่การมีงานทำในปี 2559 (ม.ค.-พ.ค.59) พบว่ามีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน จำนวน 298,248 คน สามารถกลับเข้าสู่การมีงานทำ จ้างงานได้ 185,321 คน หรือคิดเป็น 62% สูงกว่าปี 2558
 
 
กรมการจัดหางาน เตือนคนหางานระวังถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษโดยโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อออนไลน์ ว่ามีงานดี เงินดี พบถูกหลอกแล้วหลายราย
 
กระทรวงแรงงาน โดย นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่า ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพใช้ชื่อว่าบริษัทจัดหางานที่ประเทศญี่ปุ่นลงโฆษณาชักชวนคนหางานทางเฟสบุ๊คว่า “งานใหม่ งานดี เงินดี ไม่ส่งไปประเทศญี่ปุ่นอย่างเดียว ประเทศอังกฤษก็ส่ง รับหลายตำแหน่ง หลายอัตรา เฉพาะเพศชายเท่านั้น” และได้ลงประกาศรับสมัครคนงานไปทำงานที่ประเทศอังกฤษในหลายตำแหน่ง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้สืบเบาะแสโดยการติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในเฟสบุ๊คและได้เดินทางไปที่บริษัทจัดหางานดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบคนหางาน จำนวน 16 คน กำลังฟังตัวแทนของบริษัทฯบรรยายแนะนำการเตรียมตัวเข้ารับการสัมภาษณ์งาน ซึ่งจากการสอบปากคำคนหางานได้ให้การว่าทราบข่าวการรับสมัครงานไปทำงานที่ประเทศอังกฤษจากเฟสบุ๊ค ชื่อบริษัทจัดหางานที่ประเทศญี่ปุ่นบางรายให้การว่าทราบข่าวจากเพื่อนคนหางานด้วยกัน และที่มาบริษัทฯ ในครั้งนี้เนื่องจากได้รับการนัดหมายจากตัวแทนของบริษัทฯซึ่งจากการตรวจสอบการกระทำของบริษัทจัดหางานดังกล่าวพบว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 15 ข้อหา “ไม่จดทะเบียนลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานต่อนายทะเบียน” มาตรา 35 ข้อหา “รับสมัครหรือประกาศรับสมัครคนหางานเป็นการล่วงหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”มาตรา 66 ข้อหา “โฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต” พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้อายัดเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
กรมการจัดหางาน จึงขอเตือนคนหางานว่าอย่าหลงเชื่อผู้ชักชวนให้ลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะการชักชวนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค แอปพลิเคชั่นไลน์ หรืออีเมล์เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จึงขอให้ตรวจสอบกับ กรมการจัดหางานก่อนซึ่งสามารถสอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 0-2248-4792 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ทั้งนี้ หากคนหางานต้องการพัฒนาฝีมือเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานและช่วยเพิ่มรายได้ ก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 10/12/2559 
 
ผู้นำแรงงานยื่นข้อเสนอเพิ่มสิทธิประกันสังคมหลายด้าน ตั้งคำถามต่อการปรับเพิ่มฐานจัดเก็บเงินสมทบเพิ่มมาตรา 33 และ 39
 
จากรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษาการปรับเพดานจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมแอมบาสซาเตอร์ ซิตี้ จอมเทียน สัตหีบ ชลบุรี โดยกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ยื่นข้อเสนอต่อเวทีรับฟังความคิดเห็น ถึงนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กรณีการเปิดรับฟังความคิดประเด็นการแก้ไขปรับปรุงฐานการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งทางกลุ่มจึงมีข้อเสนอดังนี้
 
1.เงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้คำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎกระทรวงแรงงานและให้คำนวณตามฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนโดยไม่มีเพดานกำหนด และให้นำเงินที่เก็บเพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายในกรณีชราภาพ กรณีทดแทนการขาดรายได้ กรณีสงเคราะห์บุตร ส่วนกรณีอื่นๆเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลรับผิดชอบเหมือนกันกับสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และระบบรัฐสวัสดิการของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ
2.ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งออกประกาศใช้อนุบัญญัติ ทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับแก้ไขปี 2558
3.ให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ดังนี้
4.สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ
5.รัฐบาลต้องจ่ายสมทบประกันสังคมเต็มร้อยละ 5 จากเดิมที่จ่ายสมทบน้อยกว่าฝ่ายผู้ประกันตน และนายจ้าง
6.ทุกสิทธิประโยชน์ต้องเกิดขึ้นทันทีตั้งแต่เป็นผู้ประกันตนโดยไม่มีเงื่อนไข
7.ทุกสิทธิประโยชน์ต้องจ่ายจริงตามความจำเป็นโดยไม่มีเพดาน ผู้ประกันตนต้องไม่มีการจ่ายเพิ่มเติม
8.ทุกสิทธิประโยชน์เมื่อผู้ประกันตนใช้สิทธิต้องไม่มีการสำรองจ่าย
9.กรณีการใช้สิทธิของลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายจะต้องไม่ทำให้ผู้ประกันตนเสียสิทธิโดยเด็ดขาด เช่น การใช้สิทธิปิดงาน นัดหยุดงาน หยุดงานเนื่องจากเจ็บป่วยประสบอันตราย การใช้สิทธิตามมาตรา 75 การ10.ใช้สิทธิด้วยเหตุจำเป็นจากภัยธรรมชาติเป็นต้น
11.การคำนวณเงินชราภาพกรณีผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องใช้ฐานค่าจ้างสุดท้ายย้อนหลัง 60 เดือน หลังจากพ้นจากผู้ประกันตนมาตรา 33 ยกเว้นจำกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ใช้เฉพาะฐานค่าจ้างมาตรา 33 ย้อนหลัง 60 เดือน
12.กรณีเงินชราภาพผู้ประกันตนสามารถเลือกที่จะรับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ หรือบำนาญชราภาพได้
13.เงินบำนาญชราภาพอย่างน้อยต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ปัจจุบัน 300 บาทต่อวันคือ 9,300 บาทต่อเดือน)
14.ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 400 บาท เป็น 1,000 บาทขยายอายุจาก 6 ปี เป็น 12 ปี ไม่จำกัดจำนวนบุตร
15.เงินชดเชยค่าขาดรายได้ต้องจ่ายเต็ม ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มของฐานค่าจ้างที่ผู้ประกันตนได้รับ
16.การใช้สิทธิกรณีฉุกเฉินจะต้องไม่มีการสำรองจ่าย และจ่ายเพิ่ม
 
ด้านนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงผลการศึกษาการปรับเพดานจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 จากฐานเงินเดือนปัจจุบันเพดานสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผู้ประกันตน ตามที่ สปส.จะขยายเพดานจัดเก็บเงินสมทบเพิ่มเป็น 20,000 บาท เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของกองทุน สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งการปรับฐานคาดว่า จะส่งผลดีกับผู้ประกันตน ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น เพราะฐานการคำนวณเงินสมทบเพิ่มขึ้น เช่น การรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ปัจจุบันสำหรับผู้ถูกเลิกจ้างจะได้ในอัตราร้อยละ 50 ของ 15,000 บาท คือ 7,500 บาท เมื่อปรับเป็น 20,000 บาท ก็จะได้เงินว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 10,000 บาท เป็นต้น
 
ทั้งนี้จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ประกันตนแล้วใน 3 พื้นที่ คือ อุดรธานี เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่นายจ้างบางส่วนยังมีข้อกังวล เรื่องภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นยังเหลือที่ภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการกำหนดวันเวลาและสถานที่ และวันนี้ได้รับฟังในส่วนของผู้ประกันตนที่จังหวัดชลบุรีแล้ว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงกลางปี 2560 แน่นอน และปัจจุบัน ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 หรือ ประมาณ 2 ล้านคน ที่จะต้องส่งเงินสมทบเพิ่มขึ้น หากการปรับเงินสมทบมีผลบังคับใช้ และในอนาคตภายหลังใช้เพดานใหม่จะต้องมีการพิจารณาทบทวนอัตราเงินสมทบว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันหรือไม่
 
ส่วนนายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ต้องถามว่าสปส.แก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ ต่อประเด็นการที่ประกันสังคมมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะการปรับเพดานเงินสมทบเพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ด้านผู้มีรายได้ส่วนของเงินเดือนสูงนั้นตัวเลขอาจมีส่วนน้อยก็จริงแต่ปัญหาการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึงและมีส่วนน้อยที่ได้เข้าและรับรู้ถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนเองยังต้องมาร่วมในพื้นที่ชลบุรีทั้งที่อยู่แถบสมุทรปราการ เป็นต้น ประเด็นมาตรา 39 ที่สปส.จะมีการเพิ่มเพดานการจัดเก็บเงินสมทบจากเดิมเก็บสมทบที่ 432 บาท ฐานเงินเดือน 4,800 บาท ปรับเพิ่มเป็น 7,800 บาท หรือว่าจะเป็น 6,800 บาท นั้นรัฐควรต้องมีการเปิดการรับฟังกว้างกว่านี้เพราะผู้ประกันตนราว 13 ล้านคน แม้ว่าสปส.ได้มีการเปิดรับฟังทางเว็ปไซต์ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาถามว่ามีสักเท่าไรที่ได้รับรู้และเข้าไปตอบแบบสอบถามนั้น
 
“ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ยังเป็นคนที่มีรายได้ แต่ประเด็นกรณีของมาตรา 39 ผู้ประกันที่ต้องออกจากงานออกจากมาตรา 39 ไม่ว่าจะถูกเลิกจาก หรือลาออกจากงานก็ถือว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ตรงนี้คิดว่าในส่วนของสปส.ต้องคำนึงด้วย ตัวเลขคนที่หลุดจากระบบประกันสังคมมาตรา 39 นั้นมีตัวเลขเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของสปส.กำลังจะมีการนิรโทษกรรมให้สามารถกลับเข้ามาประกันตนได้ใหม่นั้น สาเหตุอาจไม่ใช่เพราะลืมจ่ายเงินสมทบแต่อาจเป็นเพราะเขาไม่มีรายได้ไม่มีเงินที่จะจ่ายสมทบประกันสังคมตรงนี้ก็ต้องมองด้วย ประเด็นเก็บเงินสมทบเพิ่มแล้วเขาได้รับประโยชน์ทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ รัฐควรนำเงินบางส่วนที่คนมาตรา39ไมได้ใช้มาจัดเป็นสวัสดิการให้กับเขาเพื่อการดูแลซึ่งคนเหล่านี้ก็เข้าสูงสังคมสูงวัยควรนำมาจ่ายเป็นบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นโดยอาจลดจ่ายกองอื่นเช่นสงเคราะห์บุตร คลอดบุตรนำเงินมาไว้ในกองบำนาญชราภาพเพื่อการสอดคล้องกับความเป็นจริง ถามว่าวันนี้มาตรา 39 จ่ายเงินสมทบ2 เท่า อยู่ที่ 432 บาทหากคนที่ไม่มีรายได้จะนำเงินที่ไหนมาจ่ายเพิ่ม ” นายชาลี กล่าว
 
 
"อัคราฯ" เลิกจ้าง 1 พัน พนง.เหมืองทอง-รัฐเมินต่อใบอนุญาต
 
อัครา รีซอร์สเซส ถอดใจหลังใบต่ออนุญาตประกอบโลหกรรม เหมืองแร่ทองคำในพิจิตร-เพชรบูรณ์ไม่คืบ ประกาศหยุดผลิต-เลิกจ้างบริษัทในเครือแล้ว พนักงานกว่า 1,000 คนเคว้ง ทั้งที่ศักยภาพเหมืองทองยังเหลือผลิตได้จนถึงปี"71 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แจง การตัดสินใจต่อใบอนุญาตขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโนบายบริหารจัดการแร่
 
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 59 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่ 1,004 คน โดยหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติหลังการหารือประชุมร่วมกัน โดยเห็นสมควรให้ "ยุติ" การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ สำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร และให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรีออกไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 59 ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นอย่างมาก บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องปิดตัวโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี (สาขาพิจิตร) ของบริษัทลง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานและรายได้ของบริษัท จึงต้องเลิกจ้างนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 60 เป็นต้นไป
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มติคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับบริษัทอัครา รีซอร์สเซส สำหรับพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโปง จ.เพชรบูรณ์ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2559 จากนั้นบริษัทอัคราฯจึงยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมอีกครั้งต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด ส่งผลให้บริษัทอัครา รีซอร์สเซสตัดสินใจประกาศเลิกจ้างพนักงานดังกล่าว
 
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหรือไม่ จึงประกาศเลิกจ้างพนักงานดังกล่าว โดยจะมีพนักงานใน 8 บริษัทที่ได้รับผลกระทบทันที 1) บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เลิกจ้างพนักงานฝ่ายผลิตทั้งหมดรวม 336 คน 2) บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด พนักงาน 458 คน 3) บริษัท บอร์ท ลองเยียร์ จำกัด พนักงาน 28 คน 4) บริษัท ทีเคพีวี จำกัด พนักงาน 20 คน 5) บริษัท เมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด พนักงาน 67 คน 6) บริษัท แอตลาส คอปโก้ (ประเทศไทย) จำกัด พนักงาน 20 คน 7) บริษัท ริสค์ โปรเท็คชั่น (ประเทศไทยจำกัด) จำกัด พนักงาน 40 คน และ 8) ผู้รับเหมารายย่อยอื่น ๆ พนักงาน 35 คน
 
"เท่ากับว่าตอนนี้บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ได้ทำตามมติของ ครม.ที่ให้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ถึงแค่สิ้นปีนี้เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้าก็ได้พยายามยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงตัดสินใจที่จะหยุดเลิกจ้างพนักงานในที่สุด
 
นายเชิดศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประเด็นที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซสจะฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกรณีที่ไม่มีการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีนโยบายจากบริษัทให้ดำเนินการใด ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการเรียกหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน เพื่อสรุปถึงแนวทางการเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่อไป
 
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การพิจารณาขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะเดียวกัน การพิจารณาต่อใบอนุญาตนั้นจะต้องเป็นไปตามระเบียบ กพร.ที่ว่าด้วย ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมโดยถูกต้องตลอดมา และไม่มีเหตุขัดข้องหรือนโยบายเป็นอย่างอื่น ซึ่งการประกอบโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ ได้มีการร้องเรียนคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และภายหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นที่มาว่าให้ยึดมติ ครม.ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปถึงสิ้นปี 2559 เท่านั้น
 
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งมี นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อดีตอธิบดีกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) และนายธวัช ผลความดี อดีตเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้นยังคงหารือร่วมกัน หากเกิดกรณีที่บริษัท อัครา รีซอสเซสฯ มีการฟ้องร้องโดยเฉพาะเรื่องกรอบของกฎหมาย และข้อตกลงเขตการค้าเสรี( FTA) ระหว่างไทยและออสเตรเลีย และอำนาจของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่ใช้ปัจจุบัน ที่ต้องคำนึงตามนโยบายป้องกันเชิงสาธารณะ ซึ่งในกรณีที่ปิดเหมืองแล้วในส่วนการฟื้นฟูก็ต้องดำเนินการทันที
 
รายงานข่าวเพิ่มเติมสำหรับปริมาณแร่ทองคำชาตรีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส คาดว่ายังเหลือศักยภาพถึง 40 ล้านตัน และสามารถขุดได้ถึงปี 2571 ตามที่เหลือของอายุประทานบัตร
 
 
จี้รัฐแก้ระเบียบขึ้นทะเบียนประกันสังคม เป็น ธ.ค.ของทุกปี
 
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 59 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จากเรื่องการประกันสังคม ซึ่งปกติจะมีการแสดงความจำนงในการใช้บริการโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งในทุกปีจะมีบางโรงพยาบาลยกเลิก ทำให้มีโรงพยาบาลอื่นมาเป็นคู่สัญญาใหม่ และให้ผู้ประกันตนไปหาประกันสังคมใหม่ แต่ระเบียบของสำนักงานประกันสังคมบอกว่า จะไปแจ้งความจำนงขอไปโรงพยาบาลใหม่ต้องแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นไป และจะเริ่มได้ตลอดปีนั้น แต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นวันหยุดในทุกปีอยู่แล้ว ทำให้คู่สัญญาที่เริ่มใหม่ทุกปีต้องเริ่มวันที่ 16 ม.ค. เพราะระเบียบของสำนักงานประกันสังคมเขียนไว้ว่า สัญญาจะเริ่มวันที่ 1 หรือ 16 ของเดือน ม.ค.
 
นายวิลาศ กล่าวต่อว่า ขณะที่คนป่วยซึ่งอาจจะรักษาอยู่โรงพยาบาลเดิมที่ยกเลิกไปก็หมดสิทธิ์ที่จะใช้บริการ ต้องไปเริ่มกับโรงพยาบาลใหม่ในวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งในระหว่างที่โรงพยาบาลเดิมยกเลิกสัญญาและก่อที่ผู้ประกันตนจะสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหม่ได้ เป็นระยะเวลา 15 วัน ซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน แทนที่จะให้มีการแจ้งล่วงหน้าตั้งแต่เดือน ธ.ค.แทน เพื่อที่จะได้เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เลย ทั้งนี้ ตนได้พูดคุยกับเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้แก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเห็นด้วย แต่ต้องใช้เวลาเพราะต้องแก้ระเบียบ จึงอยากให้แก้ไขก่อนวันที่ 1 ม.ค.ที่จะถึงนี้ จึงฝากไปยังรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ที่จะปฏิรูประบบก็ควรทำเรื่องนี้ให้รวดเร็ว
 
 
'กระทรวงแรงงาน-กรมราชทัณฑ์' ฝึกอาชีพให้ผู้ได้รับอภัยโทษและนักโทษชั้นดี 19 ธ.ค. ทั่วประเทศ
 
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายธีรพล ขุนเมือง บอกว่า จากการที่กรมราชทัณฑ์เตรียมแผนรองรับการปล่อยตัวผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ.2559 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมการมีงานทำ และการฝึกทักษะอาชีพให้กับคนทุกกลุ่มตามมาตรการ 8 วาระเร่งด่วนปฏิรูปเพื่อความสำเร็จของการเดินหน้าพัฒนากำลังคนของประเทศ รวมถึงการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เป็นหน่วยงานหลักฝึกอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงานให้กับผู้ที่จะได้รับอภัยโทษพร้อมกับทุกหน่วยงานในสังกัดจะให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน สวัสดิการ การประกันสังคม รวมถึงการเข้าถึงแหล่งงานด้วยอธิบดี บอกด้วยว่า จะดำเนินการฝึกอาชีพให้กับผู้ที่จะได้รับอภัยโทษและนักโทษชั้นดีโดยเริ่มพร้อมเพรียงกันทั้ง 77 จังหวัด ในวันที่ 19 ธ.ค นี้เนื่องจากเป็นตัวเลขที่เป็น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ทั้ง 2 พระองค์ โดยจะดำเนินการฝึกอย่างน้อยจังหวัดละ 1 รุ่น ๆละ 20 คน รวม 1,540 คน สาขาที่ทำการฝึก ส่วนใหญ่เป็นสาขาช่างที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างเชื่อม ช่างทำมุ้งลวดเหล็กดัด ช่างซ่อมบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก จึงเป็นการสร้างโอกาสการมีงานทำได้สูง และยังมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการได้เองอีกด้วย
 
 
เผย 5 ตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการผลิต 3.พนักงานขาย 4.พนักงานธุรการ และ 5.พนักงานขับรถยนต์
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วาณิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากข้อมูลภาวะมีงานทำของประชากรปี 2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ว่างงาน จำนวน 3.86 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เพิ่มขึ้นจากปี2558 ที่มีอัตราการว่างงาน 0.9% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกำลังแรงงาน โดยพบว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในรอบ 5 ปี (2555-2559) ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปไม่หางานทำ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น ประกอบกับเป็นสังคมผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ดังนั้นจึงทำให้กำลังแรงงานโดยรวมลดลงด้วย
 
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจะพบว่ามีอัตราการว่างงานลดลง จาก 1.2% เป็น 1% ในส่วนของอัตราการมีงานทำปี 2559 (มกราคม-ตุลาคม 2559) คิดเป็น 98.4% ขณะที่ปี 2558 มีจำนวน 98.7% ซึ่งต่างกันเพียง 0.3% แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานยังคงใกล้เคียงกับปี 2558 ขณะเดียวกันอัตราการกลับเข้าสู่การมีงานทำในปี2559 (มกราคม-พฤษภาคม 2559) พบว่ามีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง/ลาออกจากงาน จำนวน 298,248 คน สามารถกลับเข้าสู่การมีงานทำ/จ้างงานได้ 185,321 คน หรือคิดเป็น 62% สูงกว่าปี 2558 จำนวน 4% ที่มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน จำนวน 639,183 คน สามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานได้ 374,754 คน หรือคิดเป็น 58%
 
นายวิวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับแจ้งความต้องการแรงงาน จำนวน 32,728 อัตรา มีผู้สมัครงาน จำนวน 34,776 คน และสามารถบรรจุงานได้ จำนวน 20,149 คน โดยตำแหน่งงานที่นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการผลิต 3.พนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า 4.พนักงานธุรการ และ5.พนักงานขับรถยนต์ ซึ่งแสดงว่ายังมีตำแหน่งงานว่างรองรับและสามารถบรรจุงานได้
 
 
"คลัง" เตรียมเสนอแก้เงินนำส่งเข้า "กองทุนกบช." เพื่อกำหนดเป็นเพดานเงินนำส่งไม่เกิน 10% ของเงินเดือนลูกจ้างและนายจ้าง ส่วนจะนำส่งในอัตราใดขึ้น
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอแก้ไขร่างกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) โดยกำหนดเฉพาะเพดานอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนที่ไม่เกิน 10% ของเงินเดือนของลูกจ้าง ส่วนจะนำส่งเข้ากองทุนในอัตราเท่าใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ ตามร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และอยู่ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น โดย กำหนดให้นายจ้าง และลูกจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ ในอัตราขั้นต่่ำ 3% และขั้นสูงไม่เกิน 15%
 
นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายนี้ ที่ผ่านครม.ได้กำหนดอัตราใช้จริงไม่เกิน 10% แต่ให้ทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได กล่าวคือ ในระยะ 3 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้นายจ้าง และลูกจ้างนำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ 3% ปีที่ 4-ปีที่ 6 ของการบังคับใช้กฎหมายกำหนดไว้ที่ 5% ปีที่ 7-ปีที่ 9 กำหนดไว้ 7% และตั้งแต่ปีที่ 10 ของการบังคับใช้กฎหมายเป็นต้นไปกำหนดในอัตราที่ 10%
 
ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบ ที่จะมีต่อผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเวลานี้ กระทรวงการคลัง จึงจะเสนอขอแก้ไขร่างกฎหมายนี้ในรายละเอียด ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติอีกครั้ง
 
โดยการแก้ไขครั้งนี้ จะไม่กำหนดอัตราที่จะนำมาใช้ เป็นการกำหนดเพียงเพดานไม่เกิน 10% ส่วนการกำหนดอัตราบังคับใช้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง โดยออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของการกำหนดอัตราตามภาวะเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ รัฐบาล ตั้งเป้าหมายว่า คนไทยหลังเกษียณ จะมีรายได้เมื่อรวมกับเงินใน กบช.และเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม ไม่ต่ำกว่า 50 % เงินเดือนหลังเกษียณ (ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยไว้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท)
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า การทำให้อัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุน ยึดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ อาจกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของลูกจ้างหลังเกษียณ แต่สำนักงานกองทุนประกันสังคม ก็เตรียมที่จะปรับเพิ่มอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพ ในส่วนของฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อให้รายได้หลังเกษียณของลูกจ้างอยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งในปัจจุบัน ลูกจ้างและนายจ้าง นำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ฝ่ายละ 3% และรัฐบาลสมทบให้อีก 1% รวมเป็น 7%
 
กระทรวงการคลัง คาดว่า กฎหมายฉบับนี้ ที่ออกมาเพื่อสร้างระบบเงินออมหลังเกษียณให้แก่ลูกจ้างภาคเอกชน จะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปี 2561 กฎหมายนี้บังคับใช้กับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 60 ปี
 
ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ ไปสู่ภาคบังคับราบรื่น การดำเนินการบังคับจะค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ในปีที่ 1-ปีที่4 ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ปีที่ 4-ปีที่ 6กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนนี้ และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
 
"เอ็นจีโอ" หนุน สปส. ปรับฐานเก็บ "เงินสมทบ" ผู้ประกันตน
 
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นการปรับฐานคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมว่า เห็นด้วยกับการปรับฐานคำนวณเงินสมทบสูงขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม 15,000 บาท เนื่องจากคนทำงานมีรายได้หลายระดับ แต่กลับจ่ายในอัตราเท่ากัน มีสวัสดิการเท่ากัน ซึ่งไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนเงินเดือนน้อยที่ต้องจ่ายเท่ากับคนเงินเดือนมาก
 
"อย่างไรก็ตาม เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการบริหารกองทุนไม่ใช่บริหารงานโดยข้าราชการแบบปัจจุบันนี้ เพราะข้าราชการไม่ได้เป็นผู้ใช้สิทธิ ดังนั้น ต้องปรับปรุงเรื่องการได้มาของคณะกรรมการกองทุน ให้คนที่เป็นลูกจ้างจริงๆ ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างนี้เกือบจะไม่มีใครรู้เลยว่าที่ผ่านมามีการเอาเงินสมทบของผู้ประกันตนไปใช้ทำอะไรบ้าง ผลตอบแทนเท่าไร กำไรเท่าไร และมีการเอาเงินไปบริหารจัดการเพื่อสวัสดิการของผู้ประกันตนอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่บอร์ด สปส.ต้องชี้แจงให้กระจ่าง" นายนิมิตร์กล่าว
 
 
ยอดตั้งโรงงานและขยายกิจการ 11 เดือน วูบ 1.28 แสนล้าน
 
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการช่วง 11 เดือนปี 2559 (ม.ค.- พ.ย.) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 4,698 โรงงาน ลดลงช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่ 5,032 โรงงาน หรือ ลดลง 7.10% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 4.14 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 5.42 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 1.28 แสนล้านบาท หรือลดลง 30.91%
 
ทั้งนี้แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 3,927 โรงงาน ลดลง 5.27% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ โรงงาน 4,134 ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.54 แสนล้านบาท ลดลง 46.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 3.71 แสนล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 771 โรงงาน ลดลง 16.47% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 898 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.60 แสนล้านบาท ลดลง 6.87% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.71 แสนล้านบาท
 
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 6.76 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 5.24 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 2.92 หมื่นล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2.46 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ 2.03 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
 
การแจ้งเริ่มประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานในช่วง 11 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวน 3,924 โรงงาน ลดลง 19.80 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามี 4,701 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 3.92 แสนล้านบาท ลดลง 21.42 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.76 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการแจ้งประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 11 เดือนแรก ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 1.76 หมื่น ล้านบาทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 1.44 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์อโลหะ 1.38 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 1.37 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
 
ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากตัวเลขดังกล่าวยอมรับว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานใหม่และขยายโรงงานอุตสาหกรรมยอดสะสมช่วง 11 เดือน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 อาจเกิดจากการลงทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบันใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น เนื่องจากการความรัดกุมในการออกใบอนุญาตของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง อาทิ โรงไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งในปีนี้ปริมาณความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศลดลงทำให้การขยายหรือเพิ่มโรงงานผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์มีการชะลอลงบ้างเล็กน้อย จึงส่งผลให้จำนวนมูลค่าในปีนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมา
 
“มั่นใจว่าในปี 2560 แนวโน้มในการตั้งกิจการและขยายกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังกำลังซื้อภายในประเทศฟื้นจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปไก่แช่แข็ง ไก่สด อาหารทะเล ที่สามารถกลับมาส่งออกได้อีกครั้งหลังทวีปยุโรปและญี่ปุ่น อนุญาตให้ไทยส่งออกได้ ประกอบกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นจะทำให้โรงไฟฟ้าประเภทต่างๆเกิดขึ้นตามอีกจำนวนมากอย่างแน่นอน” นายสมชาย กล่าว
 
 
ครม.เห็นชอบการกำหนดค่าจ้างแรงงานตามมาตรฐานฝีมือ 55 อาชีพ ปรับขึ้นค่าแรงงานจาก 310 บาท/วัน เพิ่มเป็น 380-550 บาท/วัน
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.รับทราบการกำหนดค่าจ้างแรงงานตามมาตรฐานฝีมือ จากมติคณะกรรมการไตรภาคี ครอบคลุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจักรกลและโลหะการ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ กลุ่มแม่พิมพ์ รวม 55 อาชีพ โดยแยกออกเป็น 2 ระดับ คือ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ต้องเป็นผู้มีอายุมากกว่า 18 ปี มีประสบการณ์ทำงาน มีประสบการณ์ทำงาน ประกอบอาชีพสาขาอาชีพตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ เช่น ช่างเครื่องกล ค่าจ้าง 460 บาท ช่างเชื่อมเทคนิค 500 บาท ช่างเทคนิคระบบไฮโรลิค 460 บาท ช่างขัดเงาแม่พิมพ์ 380 บาท ช่างห้องเย็น 385 บาท จากปกติค่าแรงงานขั้นต่ำ 310 บาทในกทม.และ ปริมณฑล 
 
สำหรับช่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 เป็นกลุ่มช่างฝีมือผู้ได้รับการทดสอบเพิ่มพูลประสบการณ์เป็นเวลา 1-2 ปีเพื่อเพิ่มคุณภาพแรงงานฝีมือในสาขาวิชาชีพที่ีเกี่ยวข้องนับตั้งแต่ได้รับใบหนังสือรับรองในระดับที่ 1 และ ต้องได้รับคะแนนรวมการทดสอบในระดับ 1 ไม่ต่ำกว่า 80% เช่น กลุ่มช่างเทคนินเครื่องกล ช่างเทคนิกไฮโรลิค ค่าจ้าง 550 บาท ช่างแอร์ขนาดใหญ่ 470 บาท ช่างประกอบแอร์ 455 บาท ช่างเครื่องกัดอัตโนมัติ 540 บาทต่อวัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
 
กรมการจัดหางาน ประสานนายจ้างหาตำแหน่งงานรองรับผู้พ้นโทษ แล้วกว่า 50,000 อัตรา
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวง รัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี เนื่องในโอกาสแรก นับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ต้องโทษได้รับการพระราชอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวทันทีประมาณ 30,000 คนในส่วนของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่ในการจัดหางานเพื่อให้คนไทยทุกคนมีงานทำ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และการสงเคราะห์ผู้ต้องขังภายหลังพ้นโทษ กับกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ขณะเดียวกัน โอกาสนี้ กรมการจัดหางาน ได้เตรียมการช่วยเหลือผู้พ้นโทษดังกล่าวที่ประสงค์จะหางานทำ โดยได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอทราบข้อมูลของผู้ได้รับการอภัยโทษ เช่น จำนวน รายชื่อ เป็นต้นนอกจากนั้น ให้ประสานนายจ้าง/สถานประกอบการ เพื่อหาตำแหน่งงานว่างรองรับ รับลงทะเบียนและจัดหางานให้แก่ผู้พ้นโทษดังกล่าว ปัจจุบันมีตำแหน่งว่างงานทั่วประเทศรองรับ จำนวน 55,376 อัตรา
 
 
แนะ ก.พ.หาแนวทางใหม่ รับข้าราชการ-ลดรายจ่าย
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเติม ระบุบางช่วงบางตอนว่า การบูรณาการของหน่วยงานจะต้องมีความเชื่อมโยงกันทั้งหน่วยงานในกระทรวง และมีความเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆด้วย ต่อไปทุกจังหวัดจะต้องรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มจังหวัด ซึ่งงบประมาณของรัฐที่จะลงไปตั้งแต่ต้นปีนั้น จะลงไปทำในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น 
 
ดังนั้น งบประมาณต้องสอดคล้องกันทั้งงบแผนงานและตามวาระ อย่างไรก็ตามงบประมาณในปี2559 – 2560จะเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้งานสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เรามีความจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อลดรายจ่ายประจำ โดยได้มอบหมายให้ ก.พ. หารือเรื่องการรับเจ้าหน้าที่ ก.พ. ก.พ.ร. โดยให้ไปพิจารณาใหม่ ทั้งเรื่องรับข้าราชการ โดยต้องหาวิธีการการบรรจุคนเข้ามา ซึ่งควรจะมีทั้งพาร์ทไทม์ ฟูลทาร์ม และรายได้พิเศษ อาจจะมีรายได้ที่ไม่ได้มาจากการเป็นข้าราชการได้หรือไม่ หรือมีรายได้ตามภารกิจ และขณะนี้เห็นว่า ก.พ.ร.กำลังผลิตข้าราชการขึ้นมาใหม่ให้เรียนรู้เรื่อง 4.0 ซึ่งคนเหล่านี้จะบรรจุเป็นข้าราชการ สามารถปรับเปลี่ยนย้ายงานได้ วันนี้เราอย่าคิดแบบเดิม เราต้องมีทั้งข้าราชการประจำและลูกจ้างที่มีรายได้ตามสติปัญญาของทั้งจากประเทศและต่างประเทศ 
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการขึ้นทะเบียนบัญชีคนจนให้เงินช่วยเหลือ ที่บางพื้นที่ประชาชนลงทะเบียนไม่ทันนั้น การขึ้นทะเบียนคนจนไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่ยังมีบางคนบิดเบือนว่าหากขึ้นทะเบียนแล้ว รัฐบาลจะเข้าไปล่วงข้อมูลส่วนตัว ขณะที่หนังสือพิมพ์ก็โจมตีว่าตนประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทั้งที่พูดจนไม่รู้จะพูอย่างไรแล้ว อย่างไรก็ตามใครที่ยังไม่ลงทะเบียน ข้อให้รอการเปิดลงทะเบียนครั้งหน้าที่จะมีขึ้น
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท