ชัยชนะของแรงงานประชาธิปไตยเกาหลีใต้ในการขับไล่ประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

และแล้วความเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนก็มาถึงจุดขับไล่ประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ (Park Geun-hye) ลงจากตำแหน่ง รวมทั้งรัฐบาลของเธอ จำนวนผู้ประท้วงราว 1 ล้านคนบนท้องถนนถือได้ว่ามากที่สุดในรอบ 70 ปี[1]  โดยขบวนการที่มีบทบาทหลักเริ่มเรียกร้อง คือ ขบวนการแรงงาน นำโดยสมาพันธ์แรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Union-KCTU) ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2559  ตามมาด้วยนักศึกษา ชาวนา กลุ่มฝ่ายซ้ายต่างๆ รวมทั้งพลเมืองปัจเจก เข้าร่วมจุดเทียนซึ่งเป็นประเพณีประท้วงร่วมกัน และขยายเป็นครึ่งล้านในวันที่ 26 พ.ย. 59 ที่หน้าศาลากลางจังหวัด จนล่าสุดมีการนัดหยุดงานของสมาชิก KCTU กว่า 2 แสนคนในวันที่ 30 พ.ย.59  ส่งผลให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีลดลงเหลือ 4% กระนั้นก็ไม่มีการประกาศลาออกจากตำแหน่ง ท้ายสุดรัฐสภาได้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดี (Impeachment vote) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.59 ฐานมีส่วนพัวพันกรณีเพื่อนสนิทเรียกรับเงินและผลประโยชน์ และให้นายกรัฐมนตรีรักษาการแทน[2]

เป็นเวลา 4 ปีที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ พยายามจะผลักดันการปฏิรูประบบการจ้างแรงงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น “นายจ้างไล่ลูกจ้างออกง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ถึงตาเราแล้วที่จะไล่คุณออก” [3] นักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าวกับกลุ่มสมานฉันท์แรงงาน 

ปัจจัยที่นำไปสู่การประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีและรัฐบาลของปาร์ก กึน-เฮ  มี 2 ปัจจัย คือ 1) ความไม่พอใจของประชาชน และ 2) ความแตกแยกภายในชนชั้นนำ

ที่มาภาพ: Faceboof Korean Confederation of Trade Unions

ปัจจัยที่ 1 ความไม่พอใจของประชาชน 

ความไม่พอใจของขบวนการแรงงาน กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายต่างๆ มาจากการใช้แนวทางอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมใหม่ในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางของชนชั้นนำ (ฝ่ายขวา)

ปาร์ก กึน-เฮ มาจากพรรคเซนูริ (พรรคพรมแดนใหม่ ซึ่งแยกตัวจากพรรคแกรนด์เนชั่นแนล) ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีปาร์ก จุง ฮี (Park Chung-hee) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเดือน ก.พ.56 ภายใต้บริบทของการรื้อฟื้นประคับประคองเศรษฐกิจจากวิกฤตทุนนิยม ซึ่งเศรษฐกิจของเกาหลีซบเซาอันเนื่องจากวิกฤตการเงินโลกที่นำไปสู่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น รวมถึงภาวะความตึงเครียดของจักรวรรดินิยมในเอเชียแปซิฟิก ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น  ด้วยลักษณะเร่งด่วน ชนชั้นปกครองเกาหลีใต้จึงมีฉันทามติร่วมกันว่า รัฐบาลฝ่ายขวาต้องปกป้องผลประโยชน์และถ่ายโอนวิกฤตไปยังชนชั้นแรงงานให้แบกรับแทน สนับสนุนปาร์ก กึน-เฮขึ้นเป็นประธานาธิบดี [4]

เมื่อประธานาธิบดีขึ้นสู่อำนาจ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ ภายใต้คำขวัญ “มหัศจรรย์บนฝั่งแม่นํ้าฮันครั้งที่สอง” ซึ่งพัฒนานโยบายมาจากประธานาธิบดีคนก่อนคือ นายลี เมียง บัก จากพรรคแกรนด์เนชั่นแนล นั่นคือ การแปรรูปกิจการของรัฐ เช่น รถไฟ โรงพยาบาล น้ำ และให้สัญญาว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเพิ่มสวัสดิการ 

นโยบายเสรีนิยมใหม่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทุนแชโบล สื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม หน่วยงานราชการ เช่น หน่วยข่าวกรอง ตำรวจ อัยการ โดยต่างคาดหวังว่าเธอจะเป็นดั่งอดีตนายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แธ็ชเชอร์แห่งสหราชอาณาจักร รัฐบาลของปาร์ก กึน-เฮ มาจากกลุ่มนายทุน สื่อใหญ่ ผู้นำทหาร และข้าราชการระดับสูง การผลักดันเศรษฐกิจจึงเอื้อให้แก่นายทุนมากกว่าแรงงาน ขณะที่โครงการที่จะพัฒนาสวัสดิการ ก็ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเจอปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ต้องใช้เงินมาก แต่รัฐบาลไม่ต้องการเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลจากคนรวยเพิ่มแต่อย่างใด โดยอ้างว่าต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี

ประธานาธิบดีได้มีนโยบายปฏิรูปประเทศ หลังจากที่เสื่อมความนิยมจากโศกนาฏกรรมเรือเซวอล ล่ม (Sewol Ferry) ที่ไม่สามารถจับกุมใครได้ แต่การปฏิรูปของเธอกลับเอาคนที่เคยมีประวัติคอรัปชั่นเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาล กำหนดแผนแปรรูปกิจการของรัฐ ลดสวัสดิการของประชาชน เพื่อแสวงหากำไร และยังสนับสนุนพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติอย่างมากเพื่อเป็นเครื่องมือในการรื้อฟื้นเศรษฐกิจ เนื่องจากถูกนำไปใช้ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน

วิกฤตปัจจุบันทำให้เห็นธาตุแท้ของประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ ดังเห็นได้จากการต่อสู้ของประชาชนที่โดดเด่น ดังนี้

1. การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานรถไฟ (Korean Railway Workers'Union –KRWU) เป็นเวลา 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-30 ธันวาคม 2556 สมาชิกจำนวน 15,000 คนหรือ 45% ของพนักงานทั้งหมดเข้าร่วมหยุดงาน ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ที่สำคัญและแหลมคม เพราะสามารถท้าทายการบริหารงานของประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮได้ เนื่องจากรัฐบาลมีแผนเบื้องต้นที่จะขายกิจการรถไฟความเร็วสูง (Korail) ให้แก่เอกชน ซึ่งเคยริเริ่มในสมัยประธานาธิบดีลี เมียง บัค แต่ไม่สำเร็จ การแปรรูปนี้อยู่ในแผนที่เรียกว่า “การปฏิรูป” กิจการภาครัฐของประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ แต่ทว่า นอกจากจะถูกสหภาพแรงงานต่อต้านแล้ว ยังมีองค์กรประชาชนหนุนช่วย 900 แห่ง ร่วมกันรณรงค์นับปี ด้วยการล่ารายชื่อถึงกว่า 1 ล้านชื่อ ซึ่งนับเป็นชัยชนะเล็กๆ 

การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ยังไม่ถือว่าได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด เพราะรัฐบาลยังไม่ล้มเลิกเพียงแต่หยุดชั่วขณะ การนัดหยุดงานและแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนทำให้คะแนนเสียงของประธานาธิบดีลดลง เธอสร้างความไม่พอใจยิ่งขึ้น เมื่อสั่งให้ตำรวจบุกสำนักงานใหญ่ของสมาพันธ์แรงงานเกาหลี เพื่อตามจับกุมแกนนำสหภาพแรงงานรถไฟ  KCTU จึงประกาศนัดหยุดงานทั่วไปในวันที่ 28 ธ.ค. 56 และกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ของสมาชิกกว่า 1 แสนคนรวมนักกิจกรรมผู้สนับสนุนด้วย 

ปัจจุบันสหภาพแรงงานรถไฟยังคงรณรงค์เรื่องความปลอดภัย (Safe than money) ต่อต้านการแปรรูปรถไฟให้เป็นของเอกชน คำขวัญ Achieve the real safety ความปลอดภัยคือเป้าหมายของการให้บริการสาธารณะ

2. โศกนาฏกรรมเรือเซวอลล่ม กรณีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียคะแนนนิยม ส่งผลสะเทือนต่อที่นั่งของประธานาธิบดีมากที่สุด คือ มหันตภัยเรือแฟรี่เซวอลล่มเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 16 เม.ย.2557 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา  เธอไม่ยอมปรากฎตัวหลังเกิดเหตุการณ์ถึง 7 ชั่วโมงในขณะที่ประชาชนเฝ้าดูเรือจมทางทีวีด้วยความกลัวและความเศร้าสลด แม้นายกรัฐมนตรีจะลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ช่วยให้เรื่องคลี่คลาย เพราะรัฐบาลยังปกปิดความจริง ดำเนินการสอบสวนสาเหตุช้า จนถึงบัดนี้ ครอบครัวของเหยื่อยังคงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่

3. การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลและการแพทย์ (KHMU) มีสมาชิกทั้งหมด 44,000 คน มีสาขาจำนวน 150 สาขาทั่วประเทศ ในภูมิภาคต่างๆ 11 ภูมิภาค สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และนักเทคนิคการแพทย์ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีปาร์กประกาศแผนส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการบริการ เมื่อเดือนธ.ค. 56 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดทอนความรับผิดชอบของรัฐบาลและขับเคลื่อนการแปรรูปสาธารณสุข โดยยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ไปจำกัดการหากำไรและการบริการเพื่อการค้า[5] เพื่อทำให้การบริการทางการแพทย์นี้ทำกำไรมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน แต่สร้างความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มธุรกิจแชโบล (chaebols)

สหภาพแรงงานจึงรณรงค์ Life before money ชีวิตคนมาก่อนเงิน ต่อต้านการแปรรูปให้เป็นของเอกชน สร้างระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการในราคาถูกและมีคุณภาพ คือ รัฐต้องลงทุนการบริการทางการแพทย์เพิ่ม ด้วยการเก็บภาษีจากคนรวย เพิ่มกำลังแรงงานเพราะจำนวนจำกัด ทำให้ต้องทำงานหนักเกินไป พร้อมกับรัฐต้องเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลที่มีราคาถูก แม้จะมีกองทุนประกันสุขภาพ แต่ประชาชนต้องร่วมจ่าย 38% สหภาพแรงงานจึงเริ่มนัดหยุดงานครั้งแรกในวันที่ 24-30 มิถุนายน 2557 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และครั้งที่สองในวันที่ 22 กรกฎาคม ทั้งนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากสหภาพแรงงานรถไฟด้วย 

4. สมาชิกสมาพันธ์แรงงานเกาหลีนัดหยุดงานทั่วไปในวันที่ 24 เม.ย.58 เพื่อคัดค้านนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะทำลายสภาพการจ้างงานและความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานทุกคน และมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1) ยกเลิกแผนปฏิรูปตลาดแรงงานที่ล้าหลัง ใช้รูปแบบการจ้างงานชั่วคราวอย่างแพร่หลาย

2) หยุดการตัดบำนาญของลูกจ้างรัฐ และปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ

3) เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 10,000 วอนต่อชั่วโมง (ประมาณ 300 บาท/ช.ม. ในปี 58 ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 5,580 วอนต่อชั่วโมง) 

4) สิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานบังคับใช้กับแรงงานทุกคน ทั้งนี้แรงงานในสถานที่ทำงานที่จ้างคนงานน้อยกว่า 5 คน มีอยู่ 3,480,000 คน หรือเท่ากับ 19.15% ของประชากรแรงงานทั้งหมด แต่ พ.ร.บ.มาตรฐานแรงงานยังไม่ครอบคลุมคนเหล่านี้ รวมถึงคนงานไม่ประจำ คนงานที่จ้างงานแฝงหรือจ้างงานทางอ้อม ไม่มีสิทธิที่จะจัดตั้งและเจรจาต่อรองกับนายจ้าง

คนงานเริ่มชุมนุมในเมืองต่างๆ 20 แห่งในวันดังกล่าว และในวันแรงงานสากล 2558 (May Day) คนงาน 1 แสนคนมารวมตัวกันที่กรุงโซล

ทั้งนี้ เกาหลีติดอันดับสี่ของความไม่เท่าเทียมของรายได้ในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เนื่องจากอัตราการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงได้ลดต่ำลง 6 ไตรมาส (อัตราการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงเคยอยู่ที่ 3.4% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 และ 0.08% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557) จำนวนคนตกงาน 4,456,000 คนหรือเท่ากับ 15.8% นั่นคือ อัตราความยากจนของคนวัยสูงอายุเท่ากับ 48% ซึ่งหมายถึง 1 ใน 2 ของคนอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ในภาวะยากจน และมากกว่า 50% ของประชากรวัยทำงานทั้งหมดอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง ได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยค่าจ้าง และไม่มีสิทธิได้รับประกันสังคม[6]

มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างลูกจ้างประจำและลูกจ้างไม่ประจำ คือ เงินเดือนโดยเฉลี่ยของลูกจ้างประจำสูงขึ้น 47% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 1.9 ล้านวอน (57,869.28 บาท) เป็น 2.79 ล้านวอน (84,976.47 บาท) ในขณะที่ ค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยของลูกจ้างไม่ประจำสูงขึ้นเพียง 25% (ราว 1.5 ล้านวอน หรือ 45,686.27 บาทของปี 2559) (1,000 วอนประมาณ 30.5 บาท ของปี 59)[7]

อีกทั้ง สิทธิในการนัดหยุดงานได้รับประกันจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ ในแง่เป้าหมาย วิธีการ กระบวนการและผู้ที่จะนัดหยุดงานถูกกำหนดขีดเส้นมากเกินไป จึงเป็นไปได้ยากที่คนงานจะนัดหยุดงานถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงเห็นกรณีผู้นำแรงงานและสมาชิกถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ถูกคุมขังและถูกเลิกจ้าง

5. กรณีการประท้วงของขบวนการชาวนาเมื่อ 14 พ.ย.58 มีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง (ประท้วงนโยบายการนำเข้าข้าว และขอให้รัฐบาลแทรกแซงราคาข้าวที่กำลังตกต่ำ เนื่องจากข้าวผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก)[8]  ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์เสื่อมทรามลง เมื่อเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำใส่อย่างแรงจนทำให้นักกิจกรรมชาวนาอายุ 69 ปีหมดสติและเสียชีวิตในเดือน ก.ย.59 แต่รัฐบาลไม่รับผิดชอบใดๆ แม้แต่คำขอโทษ

จุดที่ประชาชนทนไม่ไหวเห็นได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน เม.ย.59 พรรคเซนูริ (พรรคพรมแดนใหม่) ของประธานาธิบดีปาร์กเสียที่นั่ง 30 ที่นั่งและฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร กับการนัดหยุดงานของคนงานอู่ต่อเรือต่อต้านนโยบายปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้ง พนักงานภาครัฐต่อต้านการนำระบบจ่ายค่าจ้างตามผลการปฏิบัติงาน (performance-based wage system) มาใช้ จนนำไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปของสมาชิก KCTU ในวันที่ 30 พ.ย.59 ที่ผ่านมา

 


 ที่มาภาพ: Faceboof Korean Confederation of Trade Unions

 

ปัจจัยที่ 2 ความแตกแยกภายในชนชั้นนำ

บริบททางเศรษฐกิจการเมืองปัจจุบันของเกาหลี กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่ผ่านมา ล่าสุดการล้มละลายของบริษัท Hanjin Shipping ในอุตสาหกรรมต่อเรือซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นหลักของเศรษฐกิจเกาหลีแต่กำลังอ่อนแอ ทำให้กลุ่มก้อนชนชั้นนายทุนไม่พอใจการบริหารงานของประธานาธิบดี หนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่ทรงอิทธิพลในเกาหลีคือ Chosun Ilbo ได้ติเตียนการทำงานของรัฐบาลประธานาธิบดี จนทำให้ประธานาธิบดีไม่พอใจ สอบสวนหัวหน้าบรรณาธิการข้อหาล็อบบี้บริษัทต่อเรืออย่างผิดกฎหมาย ความขัดแย้งนี้นำไปสู่คะแนนความนิยมตกต่ำ

ข้อหาของประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ ที่นำไปสู่การลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ประธานาธิบดีถูกอัยการฟ้องร้องก่อนหน้าด้วยข้อหาใช้อำนาจในทางที่ผิด เอื้อประโยชน์ให้แก่เพื่อนสนิทชื่อ ชัว ซุน-ซิล (Choi Soon-sil) ที่ไม่มีตำแหน่งทางการ แต่ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เช่น การนัดหมายรัฐมนตรี ไปจนถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น สีเสื้อผ้าที่ควรหลีกเลี่ยง และยังปล่อยให้เพื่อนสนิทอ้างอำนาจของตัวเองบังคับให้บริษัทใหญ่ 50 แห่ง เช่น LG, Sumsung, Hyundai  บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิ 2 แห่ง คือ The Mir and K Sport Foundations จำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีและกีฬา[9]  การที่เพื่อนสนิทมีอิทธิพลต่อประธานาธิบดี เนื่องจากเป็นลูกสาวของเจ้าลัทธิทรงเจ้า (Shamanistic religious) คือ ชัว แต-มิน ที่เคยให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดีมาก่อนจนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้ เลขานุการประจำที่ทำการของประธานาธิบดี หรือ Blue House ซึ่งเทียบเท่า White House ของสหรัฐอเมริกา และรัฐมนตรีบางคนคอยช่วยเหลือมูลนิธิของชัว ซุน-ซิลและพวกด้วยวิธีพิเศษ

โดยสรุป ผลประโยชน์ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นแรงงานไม่สามารถไปด้วยกันได้ และจะปรากฏความขัดแย้งอย่างแหลมคมในช่วงวิกฤต ที่ฝ่ายรัฐและทุนใช้แนวทางเสรีนิยมใหม่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยปฏิรูปโครงสร้างแรงงาน ซึ่งไปลิดรอนผลประโยชน์ของแรงงาน ทำลายสวัสดิการสังคม และใช้อำนาจในทางที่ผิด เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของตัวเอง ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับไม่ได้  รวมทั้ง ต้นทุนเดิมคือการเป็นลูกสาวของจอมเผด็จการ ปาร์ก จุง ฮี จึงไม่สามารถเป็นที่ไว้วางใจของขบวนการแรงงาน ขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการทหารมายาวนาน แม้จะได้น.ส.ปาร์ก กึน-เฮ มาเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะถอยหลังไปสู่ระบอบอำนาจนิยมเสียทีเดียว เพราะยังมีขบวนการแรงงานและพรรคการเมืองของแรงงานที่เป็นผลผลิตของยุคสมัย 1987 คอยเป็นพลังคานอำนาจอยู่

โปรดติดตามการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ขบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้จนกว่าพวกเขาจะบรรลุข้อเรียกร้อง เพื่อเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองระบอบเผด็จการ/อำนาจนิยม  และเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารประเทศด้วยแนวทางทุนนิยมที่ทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนของประเทศใกล้เคียง เช่นประเทศไทย ต่อไป

 

เชิงอรรถ

[2] Charlie Campbell.  (9 December 2016).  South Koreas Loathed President Park Geun-hye Has Been Impeached. From http://time.com/4596318/south-korea-president-impeachment-park-geun-hye-corruption-choi-soon-sil-protests/

[3] Workers' Solidarity.   Its our turn to fire you, South Korean workers tell president.  จากเว็บไซด์พรรคสังคมนิยมแรงงาน อังกฤษ,

https://socialistworker.co.uk/art/43771/Its+our+turn+to+fire+you%2C+South+Korean+workers+tell+president

[4] Jiyun Jeon.  Translated by CJ Park.  (2014).  ­­­Characteristics of the Park Geun-hye Government and the Tasks of the Socialists.  (Member of Workers’ Solidarity Group, South Korea)

[5] เอกสารของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลและการแพทย์  (Korean Health and Medical Workers’ Union-KHUM).  30 พฤษภาคม 2557.

[6] Korean Confederation of Trade Unions.  (April 2015).  Korean Workers Strike! แถลงการณ์นัดหยุดงาน แปลโดย พัชณีย์ คำหนัก.  18 เม.ย.58.  สืบค้นจาก http://kctu.org/news/524411

[7] Kenichi Yamada, Nikkei staff writer.  (3 December 2016).  Economic inequality at heart of disillusion with Park: South Korean president's flip-flop from workers to 'chaebol' doomed her.  From

http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Policy-Politics/Economic-inequality-at-heart-of-disillusion-with-Park?page=1

[8] Steven BorowiecSouth China Morning Post.   (1 October 2016).  Why the death of one rice farmer has captivated South KoreaFrom http://www.businessinsider.com/rice-farmer-death-in-south-korea-becomes-central-to-protest-movement-2016-10

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท