Skip to main content
sharethis

ฟังเสียง ‘พรรคทางเลือก’ วิจารณ์ร่างกฎหมายพรรคการเมือง ระบุเนื้อหากำลังตัดสิทธิ-ตัดทางเลือก-ลดอำนาจประชาชน ทำพรรคทางเลือกขนาดเล็กที่ต้องการผลักดันประเด็นเฉพาะเกิดไม่ได้ ฉะจ่ายค่าสมาชิก 2,000 เท่ากับกีดกันคนจน หมดสิทธิตั้งพรรคการเมือง เรียกร้อง คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามประชุมพรรคและกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน

พอจะรู้ๆ กันอยู่ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มองนักการเมืองด้วยสายตาที่ไม่ค่อยจะไว้วางใจมาตั้งแต่ต้น ด้านหนึ่งก็สะท้อนออกมาผ่านร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่สร้างเงื่อนไขกติกาที่ดูจะเป็นอุปสรรคหลายอย่าง ดังที่ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่องทันทีที่มีการเผยแพร่ร่างออกมา

เฉพาะในส่วนเนื้อหาที่ว่า ต้องมีสมาชิกเริ่มก่อตั้งแรกเริ่ม 500 คนขึ้นไป และผู้ร่วมจัดตั้งทุกคนต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และภายใน 1 ปีนับจากวันที่รับจดทะเบียนพรรคการเมือง ต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน พร้อมจัดให้มีสาขาในแต่ละภาคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และใน 4 ปีต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20,000 คน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าอาจไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ที่ผ่านมาพรรคการเมืองระดับประเทศ ซึ่งมีฐานสมาชิกจำนวนมาก ต่างก็แสดงความเห็นกันไปมากแล้ว ขณะที่กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากร่างกฎหมายฉบับนี้ คงหนีไม่พ้นพรรคการเมืองทางเลือกขนาดเล็กที่ต้องการผลักดันประเด็นเฉพาะของตน เนื่องจากพรรคการเมืองเหล่านี้อาจไม่มีทรัพยากรมากเท่ากับพรรคการเมืองระดับประเทศในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในกฎหมาย

ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย กล่าวกับประชาไทว่า “แค่เงื่อนไขหลักๆ ก็จะเห็นว่าไม่ได้ส่งเสริมให้คนจัดตั้งพรรคการเมืองหรอก ไม่ใช่แค่พรรคของเรา แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มปฏิรูปที่ดิน และอื่นๆ ที่อยากจะตั้งพรรคการเมือง ไม่มีทาง”

ลดทางเลือก-ตัดสิทธิประชาชน

ธนพร กล่าวว่า เนื้อหาที่ออกมาก็ไม่ได้ผิดความคาดหมาย ทางพรรคคนธรรมดาฯ คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า กระบวนการต่างๆ ถูกล็อกไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคคนธรรมดาฯ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ กับกระบวนการของ คสช. ตั้งแต่ต้น

“การที่จะทำให้ภาคประชาชนไม่แข็งแรง วิถีทางหนึ่งคือทำให้ตัวเลือกน้อยลง ก็สะท้อนผ่าน พ.ร.บ.พรรคการเมืองนี่แหละ พรรคเล็กๆ หรือใครก็ตามที่คิดจะทำพรรคการเมือง คนรุ่นใหม่ที่อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ผมคิดว่าวันนี้เลิกคิดไปเลย เพราะเป็นไปไม่ได้หรอกที่ท่านจะรวบรวมคนมา 500 แล้วขอเงินอีกคนละ 2,000 เพื่อจดทะเบียนพรรคการเมือง แค่เริ่มต้น ทางเลือกของพี่น้องประชาชนก็น้อยลงแล้ว สรุปได้ว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงก็คงไม่มีทางเลือกอะไรใหม่ๆ อย่างที่คาดหวัง”

ธนพร อธิบายว่า ตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเดิม คนที่จะตั้งพรรค รวมตัวกันให้ได้ 15 คนแล้วขอจดทะเบียน เมื่อจดทะเบียนแล้ว มีเวลา 1 ปีหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับฉบับนี้จะเห็นว่าคนละเรื่อง ฉบับนี้เอา 2 เรื่องมาปนกัน โดยบอกว่าหย่อนเกณฑ์ให้เหลือแค่ 500 คน แต่ไม่ใช่ เพราะฉบับเดิมแค่ 15 คนในการจด แต่ฉบับนี้ใช้ถึง 500

“เรื่องจ่ายเงิน เรื่องความเป็นเจ้าของ ไม่มีปัญหาครับ แต่ปัญหาคือไปกำหนดว่าคนละ 2,000 บาท ทุกวันนี้คนที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หลายคนยินดีสละภาษีเงินได้มาบริจาคให้พรรคการเมืองอยู่แล้ว สมาชิกหลายคนก็ยินดีจ่ายครับ ร้อยสองร้อย แต่ผมสงสัยว่าตัวเลข 2,000 บาท ท่านไปตั้งสมมติฐานจากไหน ถ้ากลุ่มชนเผ่าอย่างอูรักลาโว้ยอยากตั้งพรรค เขาจะเอาเงินจากไหนคนละ 2,000 บาท เราไปจำกัดสิทธิคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร เขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปกป้องทรัพยากรของเขา เงื่อนไขตรงนี้ต่างหากที่ กมธ. อาจจะขาดประสบการณ์ทางการเมือง เป็นไปไม่ได้หรอกครับที่อยู่ดีๆ จะให้คนขวักตังค์ 2,000”

ธนพร กล่าวอีกว่า ถ้ากำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกแบบนี้ ถึงที่สุดแล้วจะมีอยู่ไม่กี่คนที่เป็นคนจ่าย แต่จ่ายในนามคนอื่น เท่ากับส่งเสริมให้คนมีอำนาจเหนือพรรคการเมือง โดยเกิดจากกติกาของตัวเองที่อ้างว่าต้องการ ดังนั้น เรื่องค่าสมาชิกควรให้แต่ละพรรคไปกำหนดกันเอง เพราะการจ่ายค่าสมาชิกไม่ได้สะท้อนการเป็นเจ้าของ

ร่าง กม.พรรคการเมือง กำลังลดอำนาจประชาชน

พรรคสามัญชน ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมกันของนักกิจกรรมและชาวบ้านที่ต้องการผลักดันประเด็นเชิงโครงสร้างและนโยบาย ก็เป็นอีกพรรคหนึ่งที่ตั้งใจจะจดทะเบียนพรรคการเมือง แต่เกิดเหตุรัฐประหารปี 2557 ขึ้นเสียก่อน

ด้าน วิทูวัจน์ ทองบุ คณะกรรมการเฉพาะกาลพรรคสามัญชน กล่าวว่า ผู้เขียนกฎหมายพรรคการเมืองมีทัศนคติเชิงลบต่อนักการเมือง โดยการใช้กฎหมายในระดับต่างๆ เพื่อตรึงนักการเมืองให้เดินไปบนทางที่ คสช. วางเอาไว้ แต่กลับบอกว่าจะส่งเสริมความเป็นอิสระของพรรคการเมืองและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เขามองในทำนองเดียวกันกับธนพรว่า

“2,000 บาทเป็นการกีดกันคนจนออกไป ทั้งที่เขาควรจะมีความเชื่อ มีอุดมการณ์ และมีโอกาสเสนอตัวรับใช้ประชาชนได้ ผมว่ามันเป็นเรื่องท่าทีของรัฐบาลทหารชุดนี้ที่ต้องการลดอำนาจประชาชน เพราะการลดอำนาจพรรคการเมืองและนักการเมือง เป็นการลดอำนาจของประชาชนด้วย พอประชาชนถูกลดอำนาจ ไม่มีโอกาสใช้ ส.ส. ไม่มีโอกาสใช้พรรคการเมือง ก็ถูกผลักออกจากระบบรัฐสภาก็ต้องไปอยู่บนท้องถนนอีก

“การหาสมาชิกจัดตั้ง 500 คนคงจะพอหาได้ แต่คนละ 2,000 บาท ผมคิดว่าถ้าเป็นพี่น้องเกษตรกร เงิน 2,000 ก็เยอะอยู่ ส่วนจำนวนสมาชิก 5,000 ก็เป็นเงื่อนไขจากกฎหมายเก่าอยู่แล้ว ซึ่งเราพยายามเตรียมการว่าจะทำยังไงให้ถึง ซึ่งเป็นโจทย์เดียวที่เราคิด แต่ว่าตัวเลข 20,000 คน ผมก็กังวลอยู่”

ได้ทุกอย่างแล้ว ก็ขอให้ปลดล็อก

ทัศนะของวิทูวัจน์ เห็นว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองควรทำได้ง่าย สร้างตัวเลือกให้ประชาชนมากขึ้น ให้ผู้ขายในตลาดการเมืองได้แข่งขันกัน แต่การที่พยายามทำให้ตัวเลือกน้อยลงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหานักการเมืองโกง

ด้านธนพรกล่าวว่า ถึงจุดนี้ทางพรรคถอยไม่ได้และจะหาคนให้ได้ตามกฎหมายเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง และเข้าไปต่อสู้ในรัฐสภาต่อ

อย่างไรก็ตาม ธนพรกล่าวกับประชาไทว่าไม่คิดจะเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพราะคงไม่ยอมแก้ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ

“สิ่งที่เราอยากจะให้เกิดความชัดเจนมากที่สุดตอนนี้ หนึ่ง-ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง รีบปลดล็อก ในเมื่อท่านได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านคิดแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ท่านจะคงคำสั่งฉบับนี้เอาไว้ เพราะพรรคการเมืองก็มีเงื่อนไขที่ต้องทำเยอะแยะที่จะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง พรรคเล็กๆ อย่างผมก็ต้องหาอีก 5,000 และสอง-ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net