แนวคิดการสร้างกำลังแรงงานอาชีวะของรัฐบาลทหารภายใต้ ม.44

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระแสการปฏิรูปประเทศกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารที่คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่สันติประนีประนอมนั้น จะเห็นฐานคิดของผู้นำ ผู้มีอำนาจรัฐในระบบโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจนว่า มองประชาชนในฐานะฟันเฟืองของกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยที่ประชาชนไม่มีบทบาทในการร่างกฎหมายและนโยบายอย่างแท้จริง

บทความวิเคราะห์นี้จะนำเสนอ 1) แนวคิดเชิงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล คสช. ที่ต้องการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตามฐานคิดของตัวเอง คือ เป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนระบบทุนนิยมกลไกตลาดอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่การปฏิรูปที่ออกจากกรอบเดิมให้หลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  2) ความสอดคล้องกันระหว่างนโยบายการพัฒนาของไทยกับสากล ที่ได้มีการเทียบเคียงและประยุกต์ตัวชี้วัดคุณภาพด้านต่างๆ จากเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) มาวัดความสำเร็จของการจัดการศึกษาไทย เพื่อประกันว่าจะสามารถผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษาให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตตามเป้าหมายที่วางไว้ 

แต่ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง ความตกต่ำทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตดังว่าได้จริงหรือ  เนื่องจากไม่มีปัจจัยด้านนักศึกษา แรงงาน ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเป็น Key factor ในกระบวนการผลิตนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง

 

การระบุที่มาของปัญหา

สืบจากนโยบายและแผนยกระดับอาชีวศึกษาไทยระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการเร่งเพิ่มงบประมาณ อัตราจ้างครู อัตรากำลังให้แก่วิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยอาชีวศึกษา[1] เพื่อตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 14 สาขาที่ยังขาดแคลนแรงงานฝีมือ[2] เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ ยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิคส์ ที่โดยรวมแล้วในปี 2559 ขาดแคลนกำลังแรงงานประมาณ 180,649 คน นโยบายการปฏิรูปของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น และกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับรายได้ให้สูงในอนาคต[3] รวมถึงการปรับตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม แนวโน้มของอุตสาหกรรมใหม่กับการเปลี่ยนแปลงของโลก  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแรงงานไทยขาดการยกระดับทักษะวิชาชีพ และไม่ได้รับค่าวิชาชีพอย่างทั่วถึง เช่น คนขับรถบรรทุกในอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์ไม่ได้รับค่าวิชาชีพ แรงงานที่ทำงานกับเครื่องจักรอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้รับการฝึกอบรมทักษะฝีมือเพิ่มอย่างจริงจัง ซึ่งจะอธิบายต่อไป 

ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษารอบแรกคือ พ.ศ. 2542-2551 จากการประเมินผลการปฏิรูปการศึกษานั้น พบว่า บางเรื่องประสบผลสำเร็จ และมีอีกหลายเรื่องที่ยังเป็นปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุง โดยเฉพาะด้านคุณภาพของผู้เรียน ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา จึงนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองคือ พ.ศ. 2552-2561 หรือที่เรียกว่า “การปฏิรูปการศึกษารอบสอง” ที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ

กระทั่งนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล คสช. ได้ระบุไว้ประการหนึ่งว่า จพัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต ปรับกระบวนการเรียนรู้และหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับภูมิสังคม โดยบูรณาการความรู้และคุณธรรมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านความรู้ ทักษะ การใฝ่เรียนรู้ การแก้ปัญหา การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น การมีคุณธรรมจริยธรรม และความเป็นพลเมืองดี โดยเน้นความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกโรงเรียน และอีกประการหนึ่ง คือ จะส่งเสริมอาชีวศึกษาและการศึกษาระดับวิทยาลัยชุมชน เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ

แต่ในทางปฏิบัติ  ประเทศยังประสบปัญหาทักษะแรงงานฝีมือต่ำ ด้อยมาตรฐานการจ้างงาน กับดักรายได้ขั้นต่ำถึงปานกลาง ผลิตภาพต่ำ และปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ดังทัศนะของผู้เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น ที่ทำให้สงสัยว่านโยบายของรัฐจะไม่ตอบโจทย์ ดังนี้ 

1. ทักษะฝีมือของแรงงานต่ำเกินไปที่จะรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต

น.ส.อกิโกะ ซากาโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะและการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า แรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานในอาเซียนกลับมีทักษะไม่ต่างจากแรงงานที่กำลังเกษียณ และพบว่า ในยุคการทำงานที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง กลุ่มแรงงานผู้หญิงและกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากไม่มีการพัฒนาทักษะ นอกจากนี้จากการสำรวจแรงงานรุ่นใหม่ (อายุ 18-24 ปี) ของไทยมีความสนใจงานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร การจัดการการเงิน และด้านศิลปะบันเทิง

โจทย์สำคัญ คือ จะสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้สอดรับกับทักษะที่ตลาดโลกต้องการ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ทักษะของบัณฑิตและผู้จบการศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยและกัมพูชากลับสวนทาง

2. โครงสร้างแรงงานไม่สมดุลระหว่างในระบบและนอกระบบอุตสาหกรรม

สำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 แสดงจำนวนประชากรวัยแรงงาน (ตั้งแต่อายุ 15-59 ปี) ทั้งสิ้น 38.16 ล้านคน แต่มีแรงงานเพียง 16.91 ล้านคนที่เป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรม (ปี 2558)[4] หากสามารถดึงแรงงานนอกระบบ (รับจ้างทั่วไป รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานในภาคเกษตร ที่มีรายได้และสวัสดิการต่ำ) ที่เหลือคืนสู่ระบบก็จะสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ ฉะนั้น การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำเป็นต้องมองภาพทั้งสองด้านคือ ภาพแรงงานในระบบและนอกระบบไปพร้อมกัน และเชื่อมต่อกับภาพรวมด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

3. การผลิตบัณฑิตที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบแนวโน้มของแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การทำงานกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนสูงขึ้น จึงต้องหาวิธีการให้โรงเรียนผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะแรงงานคือ ทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายแอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า จากผลการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ (Survey on Adults Skills) อายุ 16-59 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวน 24 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย นอกจากทักษะของบุคลากรที่จบมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาคการผลิตของประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตสินค้าราคาถูก ใช้แรงงานฝีมือค่อนข้างต่ำ และค่าจ้างถูก ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต้องหาทางออกร่วมกัน

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ผลงานวิจัยเพื่อศึกษาตลาดแรงงานและผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต) พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับวุฒิของลูกจ้าง เรียงตามลำดับคือ ทักษะทางอาชีพ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความซื่อสัตย์ และวุฒิการศึกษา อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีช่องว่างทางทักษะของแรงงานที่สูงมาก และเมื่อมองไปยังตลาดเอสเอ็มอี แม้ว่าจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจภาพรวมของไทย ยังพบด้วยว่า 35% ของเอสเอ็มอีไทยจะไปไม่รอดภายในสามปี เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ และในกลุ่มของเอสเอ็มอีที่อยู่รอด 65% จะมีเพียงแค่ 7-8% เท่านั้นที่โตขึ้น แต่ที่เหลืออาจต้องใช้ไม่น้อยกว่า 7-8 ปี ที่จะเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สัดส่วนที่โตขึ้นน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียถึงสามเท่า[5]

นั่นคือ หากนำโครงสร้างกำลังแรงงานมาวิเคราะห์ถึงสภาพที่แท้จริงของแรงงานในตอนนี้ จะเห็นได้ว่าอยู่ในภาวะอ่อนแอ ซึ่งไม่ใช่มาจากปัจจัยด้านผู้ใช้แรงงานเพราะไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย  แต่มีปัจจัยทางด้านนายจ้าง รัฐบาล และประชาคมโลก ที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่รอผลผลิตจากกำลังแรงงานรุ่นใหม่เท่านั้น ดังจะอธิบายต่อไปนี้

1. ปัจจัยด้านนายจ้าง: การจ้างงานและการว่างงาน

โครงสร้างกำลังแรงงาน จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนเมษายน พ.ศ. 2559 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.53 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 38.02 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.23 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.96 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.97 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 17.51 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น[6]

แต่โครงสร้างแรงงานในระบบและนอกระบบอุตสาหกรรมที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งหมายถึง แรงงานในระบบได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์และมีความมั่นคงในการจ้างงานที่ค่อนข้างแน่นอนกว่าแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีนายจ้างโดยตรง หรือมีการจ้างงานยืดหยุ่น งานอิสระ และไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอย่างครอบคลุมเท่ากับแรงงานในระบบที่มีอยู่เพียง 10.34 ล้านคน

1.1 การจ้างงานหรือการมีงานทำ  

· อัตราการมีงานทำต่อประชากร หรืออัตราการจ้างงานของประชากรในวัยทำงาน วัดจากจำนวนประชากรในวัยแรงงานที่มีงานทำต่อประชากรวัยแรงงานทั้งหมด ซึ่งสะท้อนความสามารถในการสร้างงานของเศรษฐกิจ อัตราการจ้างงานของประชากรในวัยทำงานอยู่ที่ร้อยละ 68.82 ของจำนวนประชากรในวัยทำงาน แสดงว่าประชากรวัยทำงาน 100 คน มีงานทำประมาณ 68 - 69 คน คิดอัตราเปลี่ยนแปลงชะลอตัวร้อยละ -0.88 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  

·  อัตราส่วนของผู้มีงานทำจำแนกตามอุตสาหกรรม ซึ่งจำแนกตาม 3 อุตสาหกรรมหลัก ปี 2558 ได้แก่

1) อัตราการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 32.28 คิดอัตราเปลี่ยนแปลงลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ -3.47

2) อัตราการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 16.98 คิดอัตราเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1.13

3) อัตราการจ้างงานในภาคบริการ ร้อยละ 41.26 คิดอัตราเปลี่ยนแปลงขยายตัวจากปีที่แล้วร้อยละ 1.55

นอกจากนี้ ได้จำแนกเป็นอัตราการจ้างงานในภาครัฐ ร้อยละ 4.24 และอัตราการจ้างงานในภาคอื่น ๆ ร้อยละ 5.25 [7]

เมื่อพิจารณาผู้มีงานทำจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมนอกภาคเกษตรกรรม 5 อันดับแรก พบว่า อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุดร้อยละ 25.07 รองลงมา ได้แก่ การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลร้อยละ 23.99 โรงแรมและภัตตาคารร้อยละ 10.27  การก่อสร้างร้อยละ 8.86  การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ ร้อยละ 6.26 ตามลำดับ

โดยภาพรวม คือ เมื่อเกิดปัญหาการส่งออกดังกล่าว ส่งผลให้ภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคหลักของรายได้ของคนไทยประสบปัญหาและลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด คือเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยกว่าปกติ

ความสามารถในการจ้างงานข้างต้น สะท้อนถึงบทบาทของภาคเอกชนในแต่ละภาคส่วน ที่มีการแข่งขันกันสูง มีบทบาทมากกว่าภาครัฐ  แต่มีความผันผวน ดังตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงประกอบกับมีเหตุผลที่หลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของนายจ้างมากกว่าแรงงาน และการเลิกจ้างก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายจ้างเช่นกัน ความผันผวนทางเศรษฐกิจจึงมีปัจจัยมาจากนายจ้างมากกว่า ส่วนรัฐมีบทบาทในการส่งเสริม เอื้อประโยชน์แก่การจ้างงานของภาคเอกชนเป็นหลัก ไม่ใช่การสร้างผู้ประกอบการที่ไต่สถานะมาจากแรงงานทักษะอาชีพ และกรอบคิดการพัฒนานี้ก็ยังคงถูกนำไปใช้เป็นฐานคิดการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหาร

1.2 การว่างงาน

การว่างงานไตรมาส 2/2559 มีทั้งสิ้น 411,124 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.08% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.88% โดยผู้ที่เคยทำงานมาก่อนว่างงานเพิ่มขึ้น 31.3% สอดคล้องกับข้อมูลผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น 8.9% เป็นกรณีเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 34.8% และลาออก เพิ่มขึ้น 3.4% ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 13.7% เพราะเป็นช่วงผู้จบใหม่เริ่มเข้าตลาดแรงงาน จำแนกเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 47% จบระดับอุดมศึกษามีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้านรายได้ของแรงงาน พบว่า ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลา และผลตอบแทนอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 1.4% แต่รายได้ของแรงงานภาคเกษตรยังลดลง 2.7%

ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยภาวะการทํางานของประชากรของเดือน ต.ค.59 ผู้ว่­างงานจำนวน 4.5 แสนคน หรือร้อยละ 1.2 แต่หากเทียบกับเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.16 แสนคนจาก 3.34 แสนคน

เห็นได้ว่า ผู้ใช้แรงงานที่มีความเสี่ยงว่างงานมากที่สุดในปี 2559 คือ ผู้ใช้แรงงานที่จบระดับอุดมศึกษา ซึ่งอาจต้องหันไปทำงานในตำแหน่งที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าปริญญาตรี เพื่อความอยู่รอด และแรงงานนอกระบบต้องทำงานตลอดเวลาไม่ปล่อยให้ว่างงาน เพราะประสบความไม่แน่นอนของการรับจ้างทั่วไป 

และข้อเท็จจริงยังมีความขัดแย้งกันระหว่างสถานการณ์การเลิกจ้างจำนวนมากกับการขาดแรงงานในอนาคต และโครงสร้างกำลังแรงงานที่อ่อนแอ ซึ่งมีปัจจัยด้านนายจ้างและรัฐเป็นสาเหตุหลัก นั่นคือ การตัดสินใจในการบริหาร และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นมาจากปัจจัยจากรัฐและนายจ้างมากกว่าแรงงาน

นั่นสะท้อนว่า นโยบายของรัฐที่ไม่ได้ออกจากกรอบเดิม คือ ยังคงสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุนข้ามชาติอย่างเข้มข้น โดยคาดหวังว่าจะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้แก่แรงงานไทยให้พ้นจากกับดับรายได้ปานกลาง  ยังประสบความผันผวนทางเศรษฐกิจ  ดังกรอบคิดเชิงนโยบายของรัฐบาล คสช. ในหัวข้อที่ 2

2. ปัจจัยด้านรัฐบาลทหาร : กรอบคิดการพัฒนาอาชีวศึกษา

ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคมได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา" (Competitive Workforce) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทัดเทียมเวทีโลก โดยตั้งเป้าเห็นผลภายใน 2 ปี[8]

ภาครัฐประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ภาคเอกชนประกอบด้วย 13 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ นำทีมโดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) การบินกรุงเทพ ช.การช่าง ซัมมิท ออโต้ บอดี อินดัสตรี ซีพีออล มิตรผล เซ็นทรัลกรุ๊ป ฮอนด้าออโตโมบิล  ตัวแทนภาคประชาสังคมในการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งจะทำภารกิจร่วมกัน คือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายประชารัฐ โดยประชารัฐเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ และนโยบายนี้ไม่ได้ส่งผลให้เอกชนได้แรงงานที่ดีเท่านั้น แต่จะได้คนดีมาทำงานให้ประเทศชาติด้วย 

อีกทั้ง มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะประเทศจะก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้หากไม่มีคนที่มีความสามารถ ซึ่งอาชีวศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ วิชาชีพเป็นประเด็นสำคัญ ประเทศชาติจะเคลื่อนไปในทิศทางใดต้องอาศัยกำลังคนด้านอาชีวศึกษาทั้งสิ้น ดังนั้น การที่ทั้ง 3 ภาคส่วนได้มาร่วมมือกันจะทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้นทำให้โครงการนี้สำเร็จได้

นอกจากนี้ ต้องการให้ผู้เรียนอาชีวศึกษามีทางเลือกที่จะเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง อีกทั้งต้องให้ความสำคัญต่อการฝึกปฏิบัติงานของผู้เรียน เพราะผู้เรียนด้านอาชีวะหรือวิศวกรนั้น จะไม่มีเครื่องมือในการฝึกปฏิบัติไม่ได้ จึงต้องให้แต่ละสายอาชีพมาฝึกปฏิบัติงาน เพื่อสร้างจินตนาการและทักษะที่แท้จริง

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก พร้อมทั้งได้กำหนดภารกิจหลักที่ต้องร่วมกันดำเนินการ 5 ประการ ได้แก่

1) การสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนอาชีวะมากขึ้น (Inspiration) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเคยร่วมดำเนินการมาแล้ว แต่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยคาดหวังว่าภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างค่านิยมการเรียนอาชีวศึกษาให้เห็นผลมากขึ้น

2) การผลิตผู้เรียนอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ (Quantity) เป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

3) การสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอาชีวะ (Quality)  เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้สถานศึกษาอาชีวะตามไม่ทัน จึงต้องร่วมมือกันจัดทำและพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชน

4) การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน (Excellency) โดยพัฒนาแบบครบวงจร ทั้งในเรื่องหลักสูตร ครูผู้สอน อุปกรณ์เครื่องมือ สื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การพัฒนาจากศักยภาพของแต่ละสถาบันอาชีวศึกษา ด้วยการกำหนดความเป็นเลิศเฉพาะด้านให้กับสถานศึกษาอาชีวะนั้นๆ และอีกรูปแบบหนึ่งคือการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนตามสาขาที่ภาคเอกชนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อที่จะผลิตคนได้ตรงกับความต้องการของเอกชนได้ทันที

5) ให้อาชีวะมีความเป็นสากลและมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น (Global Standard) โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล มาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรสายอาชีพอย่างเหมาะสม พัฒนาศักยภาพให้ทันกับความก้าวหน้าของเศรษฐกิจโลก

โดยสรุป เห็นได้ว่า กรอบคิดพัฒนาการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ โดยพัฒนาอาชีวศึกษาให้เป็นแรงงานที่มีมาตรฐานวิชาชีพนั้น มีปัจจัยสำคัญ (Key Factors) ที่นำไปสู่ความสำเร็จคือ ภาครัฐและเอกชน และการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการบรรลุซึ่งเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ตอบสนองต่อทุน และการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จก็ต้องสอดรับกับนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงว่า การเติบโตและการสร้างความเท่าเทียมไปด้วยกันได้หรือไม่ เพราะนโยบายการพัฒนาที่ผ่านมานำไปสู่ปรากฎการณ์ที่เห็นชัดคือ ความเหลื่อมล้ำทางสถานะ จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเมือง และเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ล่าสุดคือวิกฤตการเงิน 2551 ที่ทวีปยุโรปและอเมริกา ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกรอบคิดการพัฒนาการเติบโตที่เป็นอยู่ การหลุดจากกรอบเดิมและสร้างกรอบใหม่ที่คำนึงถึงปัญหาที่ผ่านมา เช่น มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ตกต่ำ การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดการเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึงในรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลกปี 2558-59 ของเวทีเศรษฐกิจโลก ซึ่งรายงานนี้เป็นแหล่งอ้างอิงมานานในการเทียบเคียง เปรียบเทียบกันของประเทศต่างๆ และไทยก็ได้นำมาประยุกต์ใช้ ดังหัวข้อต่อไป

3. ปัจจัยด้านประชาคมโลก : ตัวชี้วัดคุณภาพมาตรฐานสากลกับการสร้างคุณภาพการศึกษาไทย

การสร้างคุณภาพการศึกษาไทยได้มีการนำมาตรฐานสากลสำคัญๆ มาประยุกต์ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสมัยใหม่เข้าสู่สากล ตัวชี้วัดคุณภาพที่มีอิทธิพล ได้แก่ เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum-WEF) การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) เป็นต้น  ทั้งนี้ คาดหวังว่าจะทำให้การศึกษาไทยสามารถผลิตคนที่มีคุณภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งขอสรุปตัวชี้วัดที่สำคัญของเวทีเศรษฐกิจโลก ดังนี้

เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum -WEF)

เวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก 144 ประเทศ ในปี 2558-2559 โดยพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index: GCI) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดในแต่ละด้านหรือเรียกว่า เสาหลัก (Pillar) ทั้งหมด 12 เสาหลัก ประกอบด้วย 3 กลุ่มปัจจัย และแบ่งเป็นตัวชี้วัดย่อยต่าง ๆ ทั้งสิ้น 114 ตัวชี้วัด[9] ดังตารางต่อไปนี้

 

ตัวชี้วัดการแข่งขันระดับโลก 12 เสาหลัก 3 กลุ่มปัจจัย

กลุ่มที่ 1

ปัจจัยพื้นฐาน/ปัจจัยการผลิต

(Key for Factor-driven Economies)

4 เสาหลัก

 

 

1.สถาบัน (Institutions) 21 ตัวชี้วัดย่อย

2.โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

9 ตัวชี้วัดย่อย

3.เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค

(Macroeconomic Environment)

5 ตัวชี้วัดย่อย

4.สุขภาพและการประถมศึกษา

(Health and Primary Education)

10 ตัวชี้วัดย่อย

 

กลุ่มที่ 2

ปัจจัยด้านประสิทธิภาพ

(Key for Efficiency – driven Economies)

6 เสาหลัก

 

 

5.การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม (Higher

Education and Training) 8 ตัวชี้วัดย่อย

(ไทยอยู่อันดับที่ 56 จาก 140 ประเทศ)

6.ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods

Market Efficiency) 16 ตัวชี้วัดย่อย

7.ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor

Market Efficiency) 10 ตัวชี้วัดย่อย

8.พัฒนาการของตลาดการเงิน (Financial

Market Development) 8 ตัวชี้วัดย่อย

9.ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technological

Readiness) 7 ตัวชี้วัดย่อย

10.ขนาดของตลาด (Market Size Environment) 4 ตัวชี้วัดย่อย

กลุ่มที่ 3

ปัจจัยด้านนวัตกรรมและความซับซ้อน

(Key for Innovation – driven Economies)

2 เสาหลัก

11.ความละเอียดซับซ้อนของธุรกิจ (Business sophistication) 9 ตัวชี้วัดย่อย

12.นวัตกรรม (Innovation) 8 ตัวชี้วัดย่อย

GDP per capita (ดอลลาร์สหรัฐ-USD)

ตํ่ากว่า 2,000 USD

อยู่ระหว่าง 3,000 – 8,999 USD

ตั้งแต่ 17,000 USD

ปัจจัยพื้นฐาน/ปัจจัยการผลิต

60 %

40 %

20 %

ปัจจัยด้านประสิทธิภาพ

35 %

50 %

30%

ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ

5%

10%

50%

กลุ่มเอเชียแปซิฟิกที่เข้าร่วมการจัดอันดับ WEF ปี 2014-2015 (19 ประเทศ)

กลุ่มประเทศพัฒนาระดับต่ำ

ฟิลิปปินส์

พม่า

มองโกเลีย

กัมพูชา

ลาว

เวียดนาม

อินเดีย

กลุ่มประเทศพัฒนาระดับกลาง

มาเลเซีย

จีน

ติมอร์-เลสเต

อินโดนีเซีย

ประเทศไทย

(GDP per capita 5,774.65 USD/ปี

ถ้า 34 บาท/usd = 196,338 บาท/ปี)

กลุ่มประเทศพัฒนาระดับสูง

สาธารณรัฐเกาหลี

ออสเตรเลีย

นิวซีแลนด์

ไต้หวัน

ญี่ปุ่น

ฮ่องกง

สิงค์โปร์

หลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาความไม่ยุติธรรมอย่างกว้างขวาง อันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลก มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับความจำเป็นของการประกันการเติบโตที่ควรจะปรับเปลี่ยนเป็นการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ในทางปฏิบัติ มีแนวทางที่จำกัดที่จะทำให้แต่ละประเทศสามารถเติบโต (growth) และเท่าเทียม (equity) ไปพร้อมกันได้  เพื่อลดช่องว่างนี้ WEF จึงได้รายงานการพัฒนาเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึง (The Inclusive Growth and Development Report) โดยบ่งชี้ลักษณะเชิงโครงสร้างและเชิงสถาบันของประเทศต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเติบโตที่พัฒนามาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน จึงนำเสนอกรอบการพัฒนาและชุดตัวชี้วัด 7 ตัวหลัก (หรือเสาหลัก) และตัวชี้วัดย่อย 15 ตัว (หรือเสารอง) ที่จะช่วยสนับสนุนแนวคิดการสร้างความเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึงนี้ได้ ดังตารางด้านล่างนี้

ตารางแสดงกรอบการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้าน

 

เสาหลักที่ 1:

การพัฒนาทักษะและการศึกษา

 

เสาหลักที่ 2:

การจ้างงานและการชดเชย

 

เสาหลักที่ 3:

การสร้างสินทรัพย์และการเป็นเจ้าของ

 

เสาหลักที่ 4:

ตัวกลางทางการเงินของการลงทุนเศรษฐกิจจริง

เสาหลักที่ 5:

การทุจริตและค่าเช่า

เสาหลักที่ 6:

การบริการและโครงสร้างพื้นฐาน

เสาหลักที่ 7:

การโอนเงิน

การเข้าถึง

 

การจ้างงานที่มีผลิตภาพ

 

การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม

 

ความครอบคลุมของระบบการเงิน

จริยธรรมทางการเมืองและธุรกิจ

โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิตัล

มาตรการภาษี

 

คุณภาพ

 

ค่าจ้างและการชดเชยที่ไม่ใช่ค่าจ้าง

การเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางการเงินและบ้าน

การเป็นตัวกลางของการลงทุนธุรกิจ

ความเข้มข้นของค่าเช่า

โครงสร้างและการบริการด้านสุขภาพ

การปกป้องทางสังคม

 

ความเท่าเทียม

 

 

 

 

 

 

ด้านที่เป็นเรื่องการศึกษา คือ เสาหลักที่ 1 ที่วัดจากอัตราการเข้าถึงระบบการศึกษา คุณภาพของเรียนการสอนและความเท่าเทียมในการได้รับการศึกษาของประชากรในวัยเรียน กรอบคิดการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึงนี้พยายามประกันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องรวมไปถึงการสร้างความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำหลังจากเกิดปัญหาวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551

เสาหลัก 6 ตัวจากจำนวนทั้งหมด 7 เสาหลักภายในกรอบการพัฒนานี้ เน้นว่า ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ครอบคลุมควรมาจากปัจจัยกิจกรรมการตลาดมากกว่าการใช้มาตรการทางการคลัง (fiscal transfer) เนื่องจากข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นครัวเรือนส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากค่าจ้าง การจ้างงานตัวเองและธุรกิจขนาดย่อม ดังนั้น ยุทธศาสตร์การเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึงจำเป็นต้องเสริมแรง และไม่บั่นทอนแรงจูงใจที่จะทำงาน ออมเงินและลงทุน พร้อมกับต้องมีการกระจายงบประมาณการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รายงานการพัฒนาการเติบโตอย่างครอบคลุมนี้นำเสนอฐานข้อมูลตัวชี้วัดทางสถิติที่สะท้อนฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจเชิงเปรียบเทียบ ในทางปฏิบัติคือ การวิเคราะห์วินิจฉัยสภาพแวดล้อมเชิงโครงสร้างและสถาบันที่เอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ดังนี้

1. ทุกประเทศมีช่องทางในการปรับปรุงพัฒนาที่หลากหลาย

2. มีความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมและการเติบโตไปพร้อมกัน

3. มาตรการทางการคลังสามารถช่วยได้ หลายประเทศใช้ระดับการจัดเก็บภาษีที่สูงและกระจายความมั่งคั่ง

4. สถานะด้านรายได้ที่ต่ำลงสามารถแก้ไขได้ จากตัวชี้วัดย่อย เช่น จริยธรรมทางการเมืองและการทำธุรกิจ ระบบการคลัง และคุณภาพการศึกษา

5. ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคของโลกมีความคล้ายคลึงกัน สะท้อนถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจการเมือง เช่น ระบบภาษีในยุโรปตะวันออก ความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษาในลาตินอเมริกา

6. การถกเถียงอภิปรายเรื่องความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันจำเป็นต้องถกเถียงมากขึ้นในเรื่องการกระจายรายได้ และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน แต่ทางเลือกเชิงนโยบายของแต่ละประเทศที่จะปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึงยังมีน้อย

ในการกำหนดกรอบคิดนี้ต้องการที่จะกระตุ้นประเทศต่างๆ ให้ถกเถียงอภิปรายในเชิงนโยบายของแต่ละประเทศ และหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะประเมินสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ (enabling environment) ต่อการสร้างความเติบโตอย่างครอบคลุมทั่วถึง รายงานนี้ได้วิเคราะห์กลั่นกรองความเชื่อมโยงทางแนวคิดและวิธีวิทยา รวมถึงการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างเสาหลัก เสารอง และตัวชี้วัดทั้งหมด และระบุข้อมูลที่เหมาะสมที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึงนี้ด้วย

ข้อสังเกตที่พบ คือ

1. การอ้างอิงตัวชี้วัดที่สะท้อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เพื่อมากำหนดยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารนั้น ในการนำไปใช้จริงอาจมีการเลือกใช้บางตัวชี้วัดเป็นหลัก-รอง การให้ค่าน้ำหนักไม่เท่ากันและการลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน เช่น การขจัดปัญหาการทุจริตอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าการมุ่งสร้างผลิตภาพแรงงาน ความมั่งคั่ง ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นถกเถียงในอนาคต

2. ตัวชี้วัดคุณภาพด้านเศรษฐกิจของเวทีเศรษฐกิจโลกอาจเข้ากันได้กับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของไทย แต่สังคมไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้นโยบายความมั่นคงของรัฐ นั่นคือ รัฐไทยปรับใช้ ให้ความสำคัญตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ทั้งไม่สอดรับกัน หรืออาจขัดกันเอง เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างกังวลปัญหาความมั่นคงกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่คิดต่าง และมีการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้สามารถตั้งคำถามต่อไปว่า ตัวชี้วัดมีสัดส่วนในเรื่องการพัฒนาความเจริญทางวัตถุ ผลิตภาพ ความมั่งคั่งมากกว่าความยุติธรรมทางสังคม สิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะมีเรื่องสิทธิด้านการศึกษาและจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน แต่ไม่เพียงพอที่จะประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตามแนวคิดการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึงและเท่าเทียม (Inclusive growth) ของสากล

3. ตัวชี้วัดของระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในและการประเมินคุณภาพภายนอกที่พยายามสอดรับกับกรอบคิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการศึกษาของรัฐบาล ที่มองผู้เรียนในลักษณะกลไกทางเศรษฐกิจนั้น ได้ครอบคลุมถึงคุณภาพของความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเพียงใด เช่น มีตัวชี้วัดเชิงสังคม เช่น การเตรียมตัวเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การเตรียมตัวเป็นพ่อแม่ การสร้างพันธทางสังคม การสร้างความยุติธรรมทางสังคม

 

4. บทสรุป: การเสริมสร้างปัจจัยด้านผู้เรียน/แรงงาน ในกระบวนการผลิตนโยบายกับตัวชี้วัดทางสังคม

โดยสรุป นโยบายของรัฐมีฐานคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงระหว่าง 1) นโยบายทางเศรษฐกิจ การผลิต ตลาดแรงงาน กับ 2) การจัดการเรียนสายอาชีพและการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเสริมสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการผลิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  แต่ผลที่ออกมา คือ โครงสร้างระบบการศึกษาไทยดูแลประชากรในวัยเรียนในระบบการศึกษามากกว่าประชากรนอกระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อทำอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ผู้ใช้แรงงานภาคส่วนต่างๆ และนำไปสู่การมีกำลังแรงงานที่อ่อนแอ  สองส่วนนี้ จึงมีแนวโน้มของนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูง มีองค์ความรู้ที่สามารถผลิตสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และงานวิจัยเพิ่มเติม กับการกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพมาตรฐานของระบบการจัดการศึกษาและผลลัพธ์ด้านผู้เรียนให้ตอบสนองต่อของนโยบายการพัฒนาของรัฐ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาตามคติพจน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ ได้นำแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลกและตัวชี้วัดคุณภาพมาตรฐานสากลมาใช้ในการประเมินคุณภาพขององค์กรรัฐและการจัดการศึกษา ในขณะที่รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดยเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้ปรับปรุงกรอบคิดและตัวชี้วัดเพื่อเยียวยาและป้องกันปัญหาวิกฤตการเงินโลก โดยเพิ่มตัวชี้วัดที่จะสร้างความเท่าเทียมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน หรือเรียกว่า กรอบการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึง

ในขณะที่บริบทสังคมไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ รัฐไทยมีนโยบายปฏิรูป แต่ยังไม่สามารถเรียกว่าครอบคลุมทั่วถึง เนื่องจากขาดปัจจัยด้านประชาชน ให้มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย แก้ไขกฎหมาย อีกทั้ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมมีความผันผวนเรื่อยมา เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงาน ว่างงาน ที่มีปัจจัยมาจากนายจ้าง ซึ่งไม่สามารถสร้างหลักประกันที่มั่นคงแก่ประชากรวัยทำงานได้จริง ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงมีหน้าที่ดูแล แก้ไขปัญหาจากการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำ ดังเช่น นโยบายประชารัฐ การสร้างกำลังแรงงานอาชีวะรุ่นใหม่ แต่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างกำลังแรงงานที่เป็นอยู่ยังไม่เพียงพอ

ผู้เขียนมองว่า รัฐต้องลงทุนสร้างงานแก่ประชาชนมากขึ้น ไม่พึ่งพาการลงทุนของภาคเอกชนจนเกินไป ที่ก่อให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด วิกฤตยังคงวนซ้ำ รัฐจึงควรมีฐานคิดที่ก้าวหน้าที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงาน การลงทุนด้านรายได้และสวัสดิการ ให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง และให้ผู้เรียนกับแรงงานมีส่วนในการกำหนดนโยบาย อีกทั้ง นายจ้างต้องรับผิดชอบต่อผู้ใช้แรงงานด้วยการลงทุนฝึกทักษะฝีมือให้แก่ลูกจ้างและเพิ่มรายได้ ค่าวิชาชีพและสวัสดิการ

อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้วรัฐและทุนไม่เคยคิดนอกกรอบเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะด้วยนโยบายด้านความมั่นคง การใช้มาตรา 44 ปกครองประชาชน ใช้กำลังปราบปรามผู้ที่คิดต่าง เราจึงกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้เรียน ผู้ใช้แรงงานต้องเป็นฝ่ายกำหนดอนาคตของตัวเองดีกว่ารอคอยความหวังจากรัฐและทุน ที่คอยแต่จะขึ้นเงินเดือนให้แก่พวกพ้องของตัวเองมากกว่าผู้ใช้แรงงาน ความยุติธรรมทางสังคมในที่สุดแล้วมาจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนผู้ถูกกระทำ

 

ข้อเสนอต่อฝ่ายแรงงาน/นักศึกษาอาชีวะ มีดังนี้

1. ต้องเรียกร้องให้รัฐปรับโครงสร้างกำลังแรงงาน ด้วยการยกระดับกำลังแรงงานนอกระบบจำนวน 21 ล้านคนให้มีการศึกษา มีทักษะฝีมือ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. แรงงานในระบบต้องได้รับการฝึกอบรม รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการยกระดับฝีมือแรงงานให้ลูกจ้าง เช่น ส่งเสริมให้มีใบประกอบวิชาชีพ ค่าวิชาชีพจากการเข้ารับการฝึกอาชีพ การฝึกงานหรือศึกษาต่อเพิ่มขึ้น

3. เรียกร้องเพิ่มค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการเท่าตัว ปฏิเสธประกาศการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2560 ของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ไม่ขึ้นค่าจ้างจนถึงขึ้นสูงสุด 10 บาท

4. เป้าหมายของการศึกษา นอกจากจะต้องมุ่งสร้างคนที่มีความสามารถในการผลิตสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศ จะต้องคำนึงถึงการกระจายความเป็นธรรมในสังคมด้วย ซึ่งยังมีตัวชี้วัดด้านสังคมในสัดส่วนที่น้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ ทักษะความรู้ เช่น สิทธิในการได้รับการศึกษา สุขภาพ สถาบันที่โปร่งใส เสรีภาพสื่อของเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) ก็ยังไม่เพียงพอ  จึงควรมีการกำหนดตัวชี้วัดทางสังคมเพิ่มเติมเข้าไปในการสร้างคุณภาพมาตรฐานแรงงานอาชีวะกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างหลักประกันความมั่นคง ให้มีความสมดุลกันระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยุติธรรมทางสังคมด้วย

5. ต้องมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย เพื่อเป็นหลักประกันว่านโยบายนั้นจะตอบสนองความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง

 

เชิงอรรถ

[1] สอศ.จ่อชง ศธ.แก้ปม ขาดครู-ยกอาชีวะไทยเป็นฮับอาเซ๊ยน.  (8 กันยายน 2557).  ไทยรัฐออนไลน์.  สืบค้นจาก http://www.thairath.co.th/content/448906

[2] 14 สาขายังขาดหนัก จบสายอาชีวะ งานรอ-เงินดี มีลุ้นรุ่ง.  (5 สิงหาคม 2558).  เดลินิวส์ออนไลน์.  สืบค้นจาก http://www.dailynews.co.th/article/339399

[3] สายอาชีวะขาดบุคลากรนับแสน รัฐ-เอกชนเล็งปรับภาพลักษณ์ “ตีกัน-รายได้ต่ำ”.  (29 ก.ย. 58).  มติชนออนไลน์.  สืบค้นจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443503168

[4] ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน. http://nlic.mol.go.th/th/index

[5] สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 มิ.ย. 2559. (29 มิ.ย. 59).  เว็บไซด์ข่าวประชาไท, http://www.prachatai.com/journal/2016/06/66591.

[6] สำนักงานสถิติแห่งชาติ.  (2559).  สรุปผลการสํารวจ ภาวะการทํางานของประชากร (เดือนเมษายน พ.ศ. 2559), http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/lfs59/reportApril.pdf .

[7] กระทรวงแรงงาน.  (ก.พ.59).  รายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงาน.

[8] ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 34/2559.  สานพลังประชารัฐ "รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม" ร่วมยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา, http://www.moe.go.th/websm/2016/jan/034.html )

[9] Klaus Schwab, World Economic Forum.  (2015).  The Global Competitiveness Report 2015-2016.  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท