สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ประวัติศาสตร์จำนำข้าว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในภาวะที่สินค้าข้าวกำลังเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ โครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึงอยู่เสมอ ในที่จะขอลองกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์กรณีนี้

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 พรรคเพื่อไทยได้ใช้นโยบายหาเสียงที่จะยกระดับราคาข้าวเปลือกให้ขึ้นไปถึงตันละ 15,000 บาท ดังนั้น เมื่อได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคม ที่จะใช้นโยบายที่เรียกว่า “จำนำข้าว” โดยอธิบายว่า โครงการนี้เป้าหมายที่จะแก้ปัญหาความยากจนซ้ำซาก เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางสังคมของชาวนา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเจริญเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้กับข้าวไทย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า นโยบายลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันคือลักษณะหนึ่งนโยบายอุดหนุนการเกษตร ที่เป็นที่ใช้กันทั่วโลก เช่นในญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน ฯลฯ ก็มีนโยบายในลักษณะนี้ แม้กระทั่งประเทศไทยในอดีต รัฐบาลหลายชุดก็ต้องมีนโยบายช่วยเหลือชาวนาโดยใช้การอุดหนุนภาคเกษตรในลักษณะใดลักษณะหนึ่งมาแล้วทั้งสิ้น เช่นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์สมัยที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีนโยบายที่เรียกว่า “ประกันราคาข้าว” เพื่อช่วยเหลือชาวนาเช่นกัน

แต่ความแตกต่างอยู่ที่ว่า พรรคเพื่อไทยได้วิเคราะห์ว่า นโยบายรับซื้อข้าวชาวนาในอดีต รับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และมักจะรับโดยจำกัดจำนวนเช่น 10 % ของผลผลิต ทำให้ไม่เกิดแรงผลักดันที่จะให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดจากปัญหาที่ว่า ชาวนาที่เป็นผู้ผลิตไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้ราคาข้าวถูกกำหนดโดย “กลไกตลาด” ซึ่งที่แท้จริงแล้วก็คือฝ่ายพ่อค้า พรรคเพื่อไทยเห็นว่า นโยบายในลักษณะประกันราคาเช่นนั้นช่วยเหลือชาวนาได้น้อย และเปิดทางแก่การทุจริตได้ง่าย เพราะรัฐไม่ได้เห็นเมล็ดข้าว แต่จ่ายเงินตามเอกสารที่อ้าง หรือถ้าใช้นโยบายจ่ายเงินให้เปล่ากับชาวนาหรือชดเชยปัจจัยการผลิต ก็เป็นแบบเดียวกันเพราะไม่ได้แก้เรื่องราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงใช้วิธีให้ชาวนาเอาข้าวมาจำนำกับรัฐในราคาที่สูงกว่าตลาด และรับจำนำข้าวทุกเม็ดเพื่อให้การรับจำนำมีปริมาณมากและทั่วถึงทั่วประเทศ

สำหรับโครงการขั้นแรก รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอช่วงเวลา 3 ปี เพื่อให้ชาวนาพ้นจากหนี้สิน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเมินว่า ใน พ.ศ.2534 ชาวนาไทยมีทั้งหมด 3.7 ล้านครัวเรือน เป็นประชากร 15.3 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ ถ้าคนกลุ่มนี้มีรายได้สูงขึ้น จะเป็นการผลักดันตลาดสินค้าภายในประเทศให้เติบโต ซึ่งจะมีส่วนช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ในการดำเนินงาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กบช.)เป็นผู้รับผิดชอบ กรรมการชุดนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีหลายกระทรวง และให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นกรรมการและเลขานุการ วันที่ 7 ตุลาคม ก็เปิดโครงการอย่างเป็นทางการ และต่อมาภายใน 2 ปี ถือได้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เช่นใน พ.ศ.2555 รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกได้ 21.7 ล้านตัน ทำให้เงินถึงชาวนา 3.3 แสนล้านบาท ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เท่ากับ 1.23 แสนล้านบาท ต่อมา ใน พ.ศ.2556 รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือก 22.5 ล้านตัน เงินถึงมือชาวนา 3.5 แสนล้านบาท ชาวนามีรายได้เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 1.28 แสนล้านบาท ทำให้ชาวนามียอกเงินฝากในธนาคารเพิ่มอย่างมาก และการใช้จ่ายในด้านการศึกษาของชาวนาก็สูงขึ้น และเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็เพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี.)สูงขึ้นถึง 8.87 % ใน พ.ศ.2555 ปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ซึ่งเป็นตัวเลขเกินฝันสำหรับสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

แต่กระนั้น นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ถูกต่อต้านและโจมตีอย่างหนักตั้งแต่แรก ปัญหาสำคัญของเรื่องคือการที่รัฐรับจำนำเมล็ดข้าวจากชาวนา ทำให้รัฐต้องจัดหายุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวเปลือก และจะนำมาซึ่งกรณีข้าวเสีย ข้าวเนา ข้าวเสื่อมคุณภาพ และการรับซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด หมายถึงว่า รัฐมีแนวโน้มต้องขายข้าวในราคาขาดทุน แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้อธิบายว่า ชาวนาก็ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกจึงทำให้ต้องขายข้าวในราคาที่เสียเปรียบ แต่พ่อค้าข้าวมียุ้งฉางจึงรอเวลาขายที่ตนเองได้เปรียบ โครงการนี้จึงเท่ากับรัฐช่วยสร้างยุ้งฉางให้ชาวนา และรัฐก็มีโครงการระบายข้าวโดยการเจรจาขายกับรัฐบาลต่างประเทศในลักษณะรัฐต่อรัฐ การนำเข้าตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือขายให้องค์การสาธารณประโยชน์และองค์การบรรเทาทุกข์ เป็นต้น กรณีข้าวเน่าข้าวเสื่อมคุณภาพ รัฐบาลก็ได้มีการทำสัญญาสร้างหลักประกันให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ที่จะให้ข้าวที่เก็บสามารถรักษาคุณภาพเช่นยุ้งฉางเอกชน และยังมีการประกันภัยรองรับไว้กรณีเกิดความเสียหาย ส่วนในแง่ของการขายข้าวขาดทุน ต้องถือว่าโครงการนี้เป็นการลงทุนของรัฐเพื่อช่วยเหลือชาวนา จึงไม่อาจพิจารณาว่าจะต้องมีกำไร เพราะโครงการช่วยเหลือประชาชนของรัฐจำนวนมากในระยะก่อนหน้านี้ โครงการสร้างสาธารณูปโภค รวมทั้งการประกันราคาข้าว ก็เป็นโครงการขาดทุนทั้งนั้น

ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 ก่อนหน้าที่จะมีการดำเนินนโยบายเสียด้วยซ้ำ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ได้ส่งข้อเสนอการแก้ปัญหาทุจริตและยุติโครงการจำนำข้าว โดยอ้างว่าโครงการจะนำมาซึ่งการทุจริต แต่รัฐบาลไม่สามารถจะดำเนินการเช่นนั้นได้ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาและสัญญาต่อประชาชน ไม่ใช่หน้าที่จะต้องให้ ปปช.มารับรองนโยบาย และรัฐบาลก็ได้มีมาตรการเป็นขั้นตอนที่จะป้องกันการทุจริตอยู่แล้ว และต่อมา เมื่อมีการดำเนินการทุจริต รัฐบาลยิ่งลักษณ์เองก็จัดการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว มีตัวเลขราว 276 คดี

นี่เป็นเรื่องเล่าอย่างย่อสำหรับโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งขณะนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ยังเป็นข้อโจมตีตกค้างของ "สลิ่ม" ความจริงแล้วต่อให้นโยบายนี้ผิดก็ต่อสู้คัดค้านกันตามระบบ ไม่ต้องเป็นเหตุให้นำเอากองทัพมาทำรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตย แต่หลังรัฐประหาร ฝ่ายเผด็จการทหารยกเลิกนโยบาย และกำลังใช้คำสั่งในทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดเลยที่จะโยงให้เห็นเรื่องการทุจริต หรือการดำเนินงานที่ผิดไปจากแบบแผนที่กำหนด

นี่เป็นการย้อนทวนประวัติศาสตร์ร่วมสมัย!

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 590 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2559
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท