Skip to main content
sharethis

สกว.เปิดตัวศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย-หนังสือคู่มือวิศวกรและช่างเทคนิค หวังเป็นแหล่งข้อมูลที่อ่านเข้าใจง่ายและใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมสรุปผลงานจากหิ้งสู่ห้างเผยแพร่ความรู้สู่แก่วิศวกรและช่างท้องถิ่น รวมถึงการเสริมกำลังบ้านที่ตกสำรวจจากจากแผ่นดินไหวเชียงราย

19 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวเปิดตัวการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลทางด้านแผ่นดินไหวแห่งประเทศไทย  (TEIC) และสรุปผลการดำเนินงานในโครงการเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่อง “การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหวสู่วิศวกรและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว” ซึ่งมี ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของงานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ สกว.

ศ. ดร.อมร เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แม้อดีตที่ผ่านมาแผ่นดินไหวจะไม่ได้ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหายจนถึงขั้นพังถล่มลงมาจนเกิดเป็นความสูญเสียดังเช่นโศกนาฏกรรมในต่างประเทศ แต่หากมีการเตรียมความพร้อมให้กับอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว รวมถึงการเสริมความแข็งแรงอาคารเก่า ก็จะช่วยลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้มาก ซึ่งการเตรียมพร้อมนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนมาเป็นระยะ ๆ หากเรายังคงประมาทและไม่ใส่ใจต่อเสียงเตือนนี้ ประเทศไทยอาจจะพบกับความสูญเสียในแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน จึงยังไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้

ผลการดำเนินงานในโครงการที่ผ่านมา คณะวิจัยได้การสัมมนาเรื่อง “การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว” และเปิดตัวผังภาพกราฟิกแสดงข้อมูล (Infographic) ที่แสดงถึงขั้นตอนการเสริมกำลังโครงสร้างทั้ง 8 วิธี แก่วิศวกรซึ่งเป็นสมาชิกสภาวิศวกรและวิศวกรทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการจัดกิจกรรมโครงการสื่อมวลชนสัญจรและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ย้อนรอย 2 ปี แผ่นดินไหวเชียงราย: การก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว” ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อเผยแพร่และขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์แก่สาธารณะ ผ่านการสำรวจพื้นที่ รวมถึงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาคปฏิบัติแก่หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่างท้องถิ่น ให้มีความพร้อมในการออกแบบ ก่อสร้าง และเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีผู้สนใจและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้ลงพื้นที่สำรวจอาคารบ้านเรือนที่ตกสำรวจ ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมอย่างถูกวิธีจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายเมื่อปี 2557 รวมถึงสังเกตการก่อสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.แม่ลาว อ.พาน และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อให้คำแนะนำในการก่อสร้างและเสริมกำลังรับมือแผ่นดินไหวอย่างถูกวิธีตามหลักวิศวกรรม ข้อสรุปโดยทั่วไปพบว่าอาคารที่ต้องออกแบบตามข้อกำหนดของ มยผ.1302 สามารถควบคุมการก่อสร้างเป็นอย่างดี ช่างก่อสร้างสามารถดัดเหล็กปลอกให้มีการดัดงอเป็นลักษณะ 135 องศาตามข้อกำหนดได้ไม่ยากมาก และพบว่ามูลค่าการก่อสร้างอาคารที่พิจารณารายละเอียดเหล็กเสริมเพื่อต้านแผ่นดินไหวไม่ได้กระทบต่องบประมาณโดยรวมของโครงการเท่าใดนัก ซึ่งผลลัพธ์จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำคู่มือสำหรับวิศวกร และช่างเทคนิค ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญของโครงการ

ในโอกาสนี้คณะวิจัยได้สำรวจบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2557 ที่ ต.ธารทอง อ.พาน ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักแต่ไม่มีงบประมาณซ่อมแซมเนื่องจากตกสำรวจ และมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายถึงชีวิตหากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก โดยคณะวิจัยได้ช่วยเหลือซ่อมและเสริมกำลังให้กับโครงสร้างชั้นล่างและคานทั้งหลังด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคนิคการซ่อมแซมที่เลือกมาใช้นี้สามารถทำงานได้ไม่ยาก วัสดุสามารถหาได้ตามท้องถิ่น ช่างไม่ต้องมีความชำนาญสูงมากนักก็สามารถทำการซ่อมเสริมกำลังด้วยวิธีการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ระหว่างการซ่อมแซมโครงสร้างคณะวิจัยได้บันทึกภาพเพื่อจัดทำเป็นวีดีโอสำหรับใช้ศึกษาด้วยตนเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับวิศวกร ผู้รับเหมา องค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีความสนใจ และจะขยายผลให้บ้านหลังนี้เป็นต้นแบบการเสริมกำลังบ้านเก่าในพื้นที่เสี่ยงต่อไป

ศ. ดร.อมร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประมวลความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยนกับประชาชน วิศวกร และช่างเทคนิคในพื้นที่เสี่ยงภัย ผู้วิจัยได้สังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อเรียบเรียง “คู่มือวิศวกรและช่างเทคนิค สำหรับการก่อสร้าง รายละเอียดการเสริมเหล็ก และการเสริมกำลังโครงสร้างบนพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้แก่วิศวกรทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้พื้นฐานในการก่อสร้างและเสริมกำลังโครงสร้างต้านแผ่นดินไหวในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย 7 บท แบ่งการพิจารณาตามแต่ละประเภทขององค์อาคาร เช่น เสาเข็ม เสา คาน แผ่นพื้น เป็นตัน โดยหวังว่าผู้อ่านจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างอาคารและบ้านเรือนเพื่อให้ต้านแผ่นดินไหวได้  ซึ่งจะนำไปสู่การลดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไป

เว็บไซต์ www.thaiseismic.com 

ศ. ดร.อมร กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวทั้งหมด ถ่ายทอดสู่ประชาชนผ่านกลไกของตัวกลางในการสื่อสารสังคม คณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาเว็บไซต์ www.thaiseismic.com ซึ่งมีเนื้อหาและภาพเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูล งานวิจัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประเทศไทยทั้งที่กำลังดำเนินการอยู่และดำเนินการเสร็จสิ้น เพื่อเป็นช่องทางกระจายความรู้สู่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสำหรับวิศวกรรวบรวม บทความ องค์ความรู้ด้านการออกแบบ เสริมกำลัง และประเมินกำลังโครงสร้างไว้อย่างครบถ้วน ขณะที่ข้อมูลสำหรับประชาชนได้ปรับปรุงเกี่ยวกับงานวิจัยแผ่นดินไหวและการเตรียมตัวรับมือ ซึ่งเนื้อหาที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับคนทั่วไป พร้อมกันนี้ได้จัดทำช่องทางดาวน์โหลดเนื้อหาบางส่วนในคู่มือสำหรับวิศวกรและช่างเทคนิคอีกด้วย

 facebook ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย” (https://www.facebook.com/thaiseismic/

ศ. ดร.อมรกล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันยังได้จัดทำการสื่อสารสังคมในรูปแบบ facebook ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย” (https://www.facebook.com/thaiseismic/) ซึ่งหากเปรียบเว็บไซต์เป็นเสมือนหนังสือที่มักจะเป็นการสื่อสารทางเดียว อาจกล่าวได้ว่า facebook fanpage เปรียบเสมือนการใช้กระดานถาม-ตอบในที่สาธารณะซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถคุยโต้ตอบกันได้ นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการกระจายข่าวสารให้บุคคลทั่วไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net