ส่องสถานการณ์ ‘พุทธไทย’ 59-60 ใกล้ชิดรัฐ-เพิ่มอำนาจมหาเถรฯ-สิทธิมนุษยชนยังไม่มีที่ยืน

สำรวจทิศทางพุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน หวั่นรัฐธรรมนูญ 2559 จุดชนวนขัดแย้งศาสนา หนุนพุทธเถรวาท เป็นการเลือกปฏิบัติ ติดตามการดันกฎหมายอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา ทำรัฐ-พุทธจักรใกล้ชิดยิ่งขึ้น ยื่นอำนาจให้มหาเถรฯ ผูกขาดการตีความและลงโทษหรือไม่ แต่ไม่สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุล ขณะที่หลักการสิทธิมนุษยชนยังไม่มีที่ยืนในพุทธแบบไทยๆ

ภาพจากมติชนออนไลน์  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1452391112

ถ้าส่องดูวงการพุทธศาสนาไทยในรอบปีที่ผ่านมา ไม่นับกรณีความพยายามจับกุมพระเทพญาณมหามุนีหรือพระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ยังไม่คืบหน้าไปไหน ประเด็นใหญ่ๆ คงอยู่ที่ความขัดแย้งในการแต่งตั้งประมุขสงฆ์หรือสมเด็จพระสังฆราช ที่มีพระพุทธอิสระแห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน คัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง วรปุญโญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช นอกจากกรณีรถหรูแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลคงอยู่ที่สมเด็จช่วงฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย

นี้เป็นภาพตัวอย่างชัดเจนถึงผลพวงจากความแนบแน่นมาเนิ่นนานระหว่างอำนาจรัฐและสถาบันสงฆ์ ฝ่ายหนึ่งให้อำนาจ อีกฝ่ายตอบสนองโดยการผลิตซ้ำและตอกย้ำอุดมการณ์รัฐ อิงอาศัยกันมาจนยากที่จะแยกออกจากกัน ทำให้การแต่งตั้งประมุขฝ่ายสงฆ์เป็นเรื่องการเมืองเสมอมา มองสถานการณ์ปีหน้า เชื่อแน่ว่าการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จะยังหาจุดลงเอยไม่ได้ง่ายๆ

แต่เมื่อยกความขัดแย้งทางการเมืองในวงการสงฆ์เอาไว้ก่อน ประเด็นสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนาแบบไทยๆ ดูจะน่าห่วงกว่า

รัฐธรรมนูญชนวนความขัดแย้งทางศาสนา?

รัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มาตรา 67 ระบุว่า

‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

‘ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย’

เป็นเนื้อหาที่พยายามประนีประนอมกับแรงกดดันที่ต้องการให้บัญญัติให้ ‘พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลายเป็นว่าเนื้อหาลักษณะนี้กำลังนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและอาจก่อเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาในอนาคต

เมื่อเนื้อหาระบุเสมือนว่า รัฐจะต้องให้การสนับสนุนพุทธแบบเถรวาทเป็นหลัก ยิ่งไปกว่านั้นยังระบุว่าต้องมีมาตรการและกลในการป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใดๆ และยังให้ส่งเสริมพุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในมาตรการและกลไกดังกล่าว

คำถามก็คือที่ทางของพุทธศาสนานิกายอื่นๆ หรือแม้แต่นิกายเถรวาทเองที่อาจจะไม่ต้องตรงรสนิยมของฝ่ายกุมอำนาจจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง มิพักต้องกล่าวถึงศาสนาอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย แล้วคำว่า ‘บ่อนทำลาย’ มีนิยามกว้าง-แคบแค่ไหน การก่อสร้างมัสยิดหรือโรงงานอาหารฮาลาลจะถูกตีความเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนาหรือไม่ หรือการก่อสร้างพุทธมณฑลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะเรียกว่าเป็นการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาหรือไม่

การที่ระบุว่า ‘พึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย’ จะยิ่งเท่ากับเติมเชื้อความขัดแย้งหรือไม่ เมื่อกระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทยก็กำลังแพร่กระจายกว้างออกไปเรื่อยๆ

คาดว่ากฎหมายนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแนบแน่นยิ่งขึ้น เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนาพุทธที่อาจจะมีความเชื่อไม่ต้องตรงกับพุทธศาสนาแบบที่รัฐกำหนด คำถามคือเมื่อศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ รัฐมีอำนาจอย่างไรที่จะชี้ว่าคำสอนใดถูกและคำสอนใดผิด ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับเสรีภาพในการเชื่อของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้

มาตราข้างต้นถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จับสัญญาณและกระแสอันร้อนแรงนี้ได้ 22 สิงหาคม คสช. จึงออกคำสั่งที่ 49/2559 เรื่อง ‘มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย’ เพื่อลดกระแส เนื้อหาโดยรวมคือการสื่อสารกับสังคมว่า รัฐไทยยังคงให้การอุปถัมภ์ทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งกำหนดให้หน่วยงานรัฐและองค์กรทางศาสนาต่างๆ ที่ทางราชการรับรอง ‘ร่วมกันกําหนดมาตรการและกลไกในการส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ของศาสนิกชนของทุกศาสนา การนําหลักธรรม คําสอนทางศาสนามาปรับใช้ในชีวิตประจําวันในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ...และกําหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น...แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีภายในสามเดือน’

แต่ดูเหมือนจะเป็นการผัดผ่อนปัญหาด้วยการออกคำสั่งและประชุม มากกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ

กม.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพิ่มอำนาจมหาเถรฯ ไร้การตรวจสอบ?

ไม่ใช่เพียงรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาส่อไปในทางเลือกปฏิบัติ กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความพยายามผลักดันกันมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร ปี 2549 คือ ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ.... ซึ่งสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือ พศ. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวจะเสร็จทันภายในรัฐบาลนี้

ดูตามปฏิทินการเมืองที่ คสช. วางไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ถ้าความตั้งใจของสุวพันธุ์เป็นจริง กฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาก็มีโอกาสจะประกาศใช้ในปีหน้า

คาดว่ากฎหมายนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแนบแน่นยิ่งขึ้น เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนาพุทธที่อาจจะมีความเชื่อไม่ต้องตรงกับพุทธศาสนาแบบที่รัฐกำหนด คำถามคือเมื่อศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ รัฐมีอำนาจอย่างไรที่จะชี้ว่าคำสอนใดถูกและคำสอนใดผิด ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับเสรีภาพในการเชื่อของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในด้านหนึ่งจะทำให้ธุรกิจพุทธพาณิชย์มีสภาพเป็นอย่างไร มิเท่ากับว่าบรรดาผู้เล่นในธุรกิจนี้ นับรวมไปถึงพระเกจิต่างๆ ต้องวิ่งเข้าหาศูนย์กลางอำนาจ เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ตนสอนไม่นอกรอยนอกแถวหรอกหรือ? มหาเถรสมาคมเป็นผู้กำหนดความถูก-ผิดของธรรมวินัย ซึ่งปัจจุบันก็เป็นอยู่แล้ว แต่ได้รับอำนาจเพิ่มเติมจากกฎหมายนี้ มิเท่ากับยิ่งผูกขาดการตีความคำสอนหนักขึ้นหรอกหรือ? มหาเถรสมาคมและพระจำนวนหนึ่งจะมิยิ่งกลายสภาพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจพระที่คอยสอดส่องและพิพากษาหรอกหรือ? เดิมทีคำสั่งของมหาเถรสมาคมและตำรวจพระมีอำนาจบังคับให้พระรูปอื่นต้องปฏิบัติตามไม่ต่างกับคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบจากศาลปกครอง กฎหมายนี้จะมิเท่ากับขยับขยายพื้นที่ของมหาเถรสมาคมและตำรวจพระให้กว้างขึ้นหรอกหรือ? จะการันตีได้อย่างไรว่าคำสอนที่ไม่สอดคล้องกับมหาเถรสมาคมจะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกลงโทษ เมื่อไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของมหาเถรสมาคม

พระพรหมคุณาภรณ์และความคาดหวังที่ไม่อาจเป็นจริง

การแต่งตั้งพระพรหมคุณาภรณ์หรือ ป.อ.ประยุตโต เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ มีราชทินามว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นอีกข่าวหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงปลายปี เนื่องจากพระพรหมคุณาภรณ์เป็นพระที่ได้รับการยอมรับในหมู่ชาวพุทธอย่างกว้างขวาง เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education) ถือเป็นพระปัญญาชนรูปหนึ่งที่ประยุกต์คำสอนพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์ต่างๆ และบริบทโลกปัจจุบัน โดยงานเขียนทางพุทธศาสนาชิ้นสำคัญที่ถูกยกย่องว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎคือ พุทธธรรม

การเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะทำให้พระพรหมคุณาภรณ์ได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยสมณศักดิ์ เกิดการคาดหวังว่าพระพรหมคุณาภรณ์จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมหาเถรสมาคม ดึงความน่าเชื่อถือกลับมาสู่สถาบันสงฆ์อีกครั้ง โดยเฉพาะกรณีธรรมกาย เนื่องจากพระพรหมคุณาภรณ์เป็นพระรูปหนึ่งที่ผลิตงานออกมาตอบโต้คำสอนของวัดพระธรรมกายที่สอนว่านิพพานเป็นอัตตา โดยบอกว่าคำสอนนี้เป็นการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต

อย่างไรก็ตาม การลงมติของมหาเถรสมาคมแต่ละครั้งวางอยู่บนฐานว่าต้องได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระพรหมคุณาภรณ์อาจไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ตามที่คาดหวัง อีกทั้งรากฐานความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์เองก็แอบอิงกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น จนอาจทำให้ไม่สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไปก็เป็นได้

พุทธแบบไทยยังไม่มีที่ทางให้หลักการสิทธิมนุษยชน

ขณะที่พุทธจักรมีแนวโน้มว่าจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นจากกฎหมายและอำนาจที่รัฐหยิบยื่นให้ สิทธิเสรีภาพในการนับถือ แสดงออก และปฏิบัติตามหลักศาสนาที่เชื่อ ยังคงถูกริบคืนไป พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาที่แม้แต่ความเท่าเทียมระหว่างเพศก็เอื้อมเข้าไปไม่ถึง โดยในมาตรา 17 กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทํามิได้ ยกเว้น ‘เป็นการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา’

เหตุการณ์ล่าสุดที่ถูกพูดถึงคือกรณีที่ภิกษุณีธัมมนันทาและคณะจากวัดทรงธรรมกัลยาณี ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้าสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะเห็นว่าแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ กล่าวคือไม่ใช่นักบวชในพุทธศาสนาแบบไทย

มหาเถรสมาคมยังคงกีดกันมิให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ด้วยการอ้างประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.2471 โดยห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรทุกนิกายบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา เป็นสามเณรี ด้วยเหตุผลที่ว่านางภิกษุณีสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ทางสำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสามพระยาเขตพระนคร ได้ทำหนังสือเรื่อง ‘พระภิกษุสามเณรมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ’ แจ้งไปยังเจ้าคณะเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ระบุว่ามีพระภิกษุและสามเณรบางกลุ่มมีพฤติกรรม ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป ทั้งยังโพสต์ภาพลงในโซเชียล มีเดียต่างๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความเสื่อมเสีย และได้กำชับให้เจ้าอาวาสต้องดูแลพระภิกษุ-สามเณรในสังกัด หากพระภิกษุ-สามเณรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศไม่เชื่อฟัง ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎของมหาเถรสมาคม

ปัจจุบันมีคนหลากหลายทางเพศที่บวชเป็นภิกษุประมาณ 3.4 หมื่นรูป ซึ่งย่อมมีปะปนทั้งที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดและที่ประพฤตินอกลู่ทางธรรมวินัย ไม่ผิดแผกกับภิกษุเพศชาย แต่คนหลากหลายทางเพศเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ถูกเหมารวมว่าไม่ควรบวช แต่ผู้ชายกลับไม่ถูกเหมารวม

แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือการที่รัฐและพุทธจักรแนบแน่นกันยิ่งขึ้น พุทธศาสนาแบบไทยๆ กับการปะทะกับหลักการสิทธิมนุษยชน จึงยังเป็นเรื่องท้าทายและต้องติดตามต่อในปีหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท