Skip to main content
sharethis

27 ธ.ค. 2559 ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และโครงการสื่อสันติภาพ และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "19 ปีปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร"

สุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปสื่อถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ปีนี้เข้าปีที่ 19 แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า เราจะก้าวไปอย่างไรต่อ ทั้งนี้ นับแต่ปี 2540 มีเหตุการณ์ฝุ่นตลบทางการเมืองและวิบากกรรมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เส้นทางปฏิรปสื่อเป็นหนึ่งในความหวังและการมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ข้อ 1-6 พูดเรื่องการเยียวยากิจการทีวีดิจิตอล ส่วนข้อ 7-9 เป็นเรื่องการขยายการไม่เรียกคืนคลื่นวิทยุต่อไปอีก 5 ปี เวทีวันนี้จะหาคำถามว่า เมื่อมีแผนเช่นนี้ การปฏิรูปสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป


ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
- เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา และอดีตอนุกรรมการด้านพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นในกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์
- จักร์กฤษ เพิ่มพูล อนุกรรมาธิการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน สปท.
- วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
- สุเทพ วิไลเลิศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) 
- พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดีจุฬาฯ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

000000

พิรงรอง รามสูตร

การปฏิรูปสื่อมีมามากกว่า 19 ปี จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เท่ากับนับเป็น 25 ปีหรือหนึ่งไตรมาสของหนึ่งศตวรรษแล้ว

การปฏิรูปหรือ reform คือการทำให้เกิดรูปแบบใหม่ แสดงว่า การปฏิรูปต้องเกิดรูปแบบใหม่ ถ้าไม่เกิดรูปแบบเท่ากับไม่มีการปฏิรูป มูลเหตุของการปฏิรูปเกิดเมื่อ 25 ปีก่อนคือ มีการปิดกั้นสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เพราะโครงสร้างสื่ออยู่ในมือของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ ที่พยายามใช้เสรีภาพในการนำเสนอ ก็มี 3 ฉบับถูกปิด คือเนชั่น ผู้จัดการ และแนวหน้า

ดังนั้น "รูป" ที่ต้องการเปลี่ยน คือ โครงสร้างความเป็นเจ้าของ โครงสร้างในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรการสื่อสาร

ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อ
ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อสอดคล้องไปกับการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ 40 ที่คนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองด้วย

ผลจากรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อให้เกิดองค์การอิสระมากมาย ไม่ว่า สตง. ป.ป.ง. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่นอกเหนือโครงสร้างอำนาจรัฐ มีขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนองค์กรอิสระด้านการสื่อสาร ก็มี กสทช. ตามที่ระบุในมาตรา 40 ซึ่งมีขึ้นเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

ดังนั้น ถ้าประชาชนเข้าไม่ถึงทรัพยากรคลื่นความถี่หรือการสื่อสารที่เท่าเทียม ก็ไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำ ดูได้จากการที่คลื่นความถี่วิทยุ คลื่นหลัก 500 กว่าคลื่นเป็นของรัฐทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่กับ อสมท. และ กองทัพ ส่วนทีวี ก็เป็นของรัฐทั้งหมด โดยเป็นของ อสมท. กองทัพบก สำนักนายกฯ ประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อเหล่านี้ คนที่จะเข้าถึงคลื่นคือรัฐ และสัมปทานอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่มีความโปร่งใสในการเข้าถึง เห็นได้จากสัมปทานระยะยาวของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ได้ตั้งแต่ 2506-2563 เท่ากับช่วงชีวิตนี้เราจะเห็นแต่บริษัทนี้ครอบครองคลื่นนี้

กฎหมายและแนวทางควบคุม
ในช่วงวิกฤตไม่ว่าสื่อของรัฐหรือสื่อที่ได้สัมปทานจากรัฐ ก็ล้วนถูกรัฐเข้ามาควบคุม

เงื่อนไขการปฏิรูปสื่อ ประกอบด้วย
- การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ทรัพยากรที่เคยขาดแคลน มีมากขึ้นและนำมาจัดสรรกันได้มากขึ้น
- การขาดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของสื่อ สื่อถูกเหมารวมว่าเป็นแบบนี้ ทั้งที่สื่อมีความหลากหลายสูงมาก
- วิกฤตการณ์ สิ่งที่เคยวางแผนไว้ พอเจอมาตรา 44 ก็จบ

สำหรับกระแสปฏิรูปสื่อในต่างประเทศนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปนโยบายหรือโครงสร้าง ปฏิรูปเนื้อหา การสร้างวิถีปฏิบัติที่ดี การทำให้เกิดสื่อที่เป็นอิสระ เช่น วิทยุชุมชน และการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง เพื่อภูมิทัศน์การบริโภคสื่อที่ดี

ถามว่าปฏิรูปสื่อกันไปทำไม โจทย์คือ ทำอย่างไรให้สื่อทุกประเภททำเพื่อสาธารณะ Damian Tambini อาจารย์ด้านสื่อมวลชนศึกษา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เคยกล่าวไว้ว่า สื่อไม่ว่าอยู่ในระบอบใดก็ต้องรับใช้ประชาชน เพราะการมีสื่อในมือเป็นอำนาจสำคัญ

ระลอกคลื่นแห่งการปฏิรูปสื่อไทย
1. หลัง พ.ค.2535 เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 มีมาตรา 40 วางพื้นฐานการปฏิรูปสื่อ ทั้งเชิงโครงสร้างและสารัตถะ

2. จากเหตุการณ์ปี 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้นประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ โดยบรรจุแผนปฏิรูปสื่อไว้ด้วย มีการดำเนินการศึกษาในบางแง่มุม แต่ไม่มีการดำเนินการ ไม่มีผลที่จับต้องได้

3. หลังรัฐประหาร 2557 การปฏิรูปสื่อถูกรวมไว้ใน 11 วาระของปฏิรูปของ คสช. ซึ่งย้อนแย้ง เพราะการใช้อำนาจของรัฐไม่เอื้อต่อการปฏิรูป แม้มีการตั้งกลไกและโครงสร้างต่างๆ เพื่อการปฏิรูปสื่อ

พิเคราะห์ปฏิรูปสื่อ
ดูรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ พบว่าจากรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ทิศทางโดยรวมเปลี่ยนจากเดิมที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร ไปเป็นการหวนคืนสู่การควบคุมโดยรัฐ

เช่น จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การันตีเสรีภาพสื่อของรัฐให้พึงได้เท่าเอกชน ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานที่สังกัด

หรือด้านเสรีภาพในการสื่อสาร ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุว่า การดักฟังทำไม่ได้ จะทำได้ต้องมีกฎหมายเฉพาะ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า ทำไม่ได้ เว้นแต่มีคำสั่ง หมายศาล หรือเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปูทางให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังกำหนดให้บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ตรงนี้มีการวิจารณ์ว่าอาจเกิดการตีความที่กระทบการใช้สิทธิเสรีภาพทั้งหมดได้

มีการย้ายคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ แปลว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดให้

เรื่องสิทธิในคลื่นความถี่ จากเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 บอกให้มีองค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่น ซึ่งมีศักดิ์เท่า สตง. ป.ป.ง. แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บอกว่า ให้มี "องค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่เคยมีมาก่อน



สุเทพ วิไลเลิศ

เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปสื่อ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เรากำลังพูดถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผูกพันกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

จากพฤษภาทมิฬ 2535 ไปถึงรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 มีการเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้างหลายอย่าง

ในปี 2540 เรามี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2540 มีการตั้ง กสช. (คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ) ขึ้น แต่ก็ถูกฟ้องร้อง ต่อมา เกิดรัฐประหาร 2549 มีการแก้รัฐธรรมนูญและแก้กฎหมาย จนปี 2553 จึงมี พ.ร.บ.กสทช. และมี กสทช.ขึ้น โดยมีสัดส่วนทหารตำรวจ 6 นายต่อพลเรือน 5 คน

5 ปีที่ผ่านมาของ กสทช. เราเห็นการเปลี่ยนผ่าน ของทีวี วิทยุ และโทรคมนาคม โดยปรากฏการณ์สำคัญคือ การมีทีวีดิจิตอล แต่ยังไม่เกิดทีวีชุมชน เพราะต้องรอการคืนคลื่น นี่เป็นสิ่งที่ทอดเวลาออกไป

ส่วนวิทยุ ซึ่งโดยหลักการ หน่วยงานรัฐทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่จะต้องคืน กสทช. เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ และแบ่งให้ประชาชนใช้ 20% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ในปี 2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ไม่ถึงสัปดาห์ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 มาอุ้มทีวีดิจิตอล ขยายเวลาชำระเงินประมูล และให้ขยายการคืนคลื่นไปอีก 5 ปี จากปี 2560 ไป 2565 เท่ากับวิทยุทดลองประกอบกิจการที่เกิดขึ้น 5,000 กว่าสถานี ต้องต่ออายุปีต่อปี ต้องทดลองออกอากาศต่อไปโดยไม่มีอนาคต ขณะที่หน่วยงานรัฐยังคงสิทธิประกอบกิจการตามกฎหมาย

ทั้งนี้ แม้เราจะมีสื่ออินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ เราเสียค่าบริการอินเทอร์เน็ตอาจจะมากกว่าค่าน้ำค่าไฟเสียอีก ย้ำว่า เราควรได้ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ

ตั้งคำถามว่า ถ้าจะมองการปฏิรูปใหม่ จะมองใหม่อย่างไรให้เป็นได้จริง, ในความต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแบบนี้ สื่อกระแสหลักที่รัฐถือครอง ออกข่าวเรื่องเหล่านี้ขนาดไหน วิทยุที่รัฐถือครองพูดเรื่องนี้หรือไม่ และภาคส่วนต่างๆ ที่เคยพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อ ทุกวันนี้ยังยืนหยัดและมีเจตนารมณ์แบบนั้นอยู่หรือไม่

 

 

วิชาญ อุ่นอก

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อสำหรับภาคประชาชน เพราะบอกว่าสื่อไม่ใช่ของรัฐอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จากคำสั่ง คสช. ที่ออกมา เราไม่รู้อนาคตเลยว่าการจัดสรรคลื่นจะเป็นอย่างไร

ถอยหลังดูสื่อชุมชน ที่ผ่านมา ภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2535 หลายภาคส่วนร่วมกันผลักดันเรื่องการปฏิรูปสื่อ โดยคาดหวังว่าถ้ามีองค์กรอิสระ น่าจะทำให้การสื่อสารในบ้านเรามีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพมากขึ้น จนมีการกำหนดเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และมี กสทช.

พอเกิดองค์กรอิสระอย่าง กสทช.ขึ้น เราฝากความหวังไว้เยอะ คิดว่าการมี กสทช. จะเป็นหน่วยงานจัดการปัญหาหมักหมมได้อย่างดี แต่เท่าที่ฟังวิทยากรสองท่านมา จะเห็นข้อจำกัดภายใน คือ แม้มีตัวแทนของภาคประชาชน แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อย ดันวาระสำคัญๆ ออกมาไม่ค่อยได้

นี่น่าจะเป็นบทเรียนว่าเรามัวแต่ฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ โดยตัดหัวใจสำคัญอย่างบทบาทของภาควิชาการ วิชาชีพและชุมชนไป

วิทยุชุมชนนั้นเกิดขึ้นในปี 2545 หลัง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2543 อย่างไรก็ตาม มองว่าที่ผ่านมา วิทยุชุมชนโดนแช่แข็งมาสิบกว่าปีไม่ให้โต

โดยในปี 2547 กรมประชาสัมพันธ์ออกมาบอกว่า วิทยุชุมชนโฆษณาได้ ทั้งที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ห้ามมีโฆษณา ทำให้เกิดวิทยุ 2,000-3,000 คลื่นตามมา ช่วงวิกฤตการเมือง มีกลุ่มสี ทหาร พระ อาชีวะ ตั้งวิทยุของตัวเองขึ้นมา รวมๆ เรียกเป็นวิทยุชุมชน กลายเป็น "โศกนาฏกรรมทางย่านคลื่น" วิทยุชุมชนถูกวิจารณ์ว่า เกิดแล้วสัญญาณรบกวนคลื่นกันเอง ขายยาผิดกฎหมาย ส่งเสริมคนตีกัน ตอนนั้นรัฐก็ไม่แยกประเภทให้ชัด ทำให้ภาพสื่อชุมชนที่ดูสวยงาม ลดลงไป

ต่อมา หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 วิทยุชุมชนถูกปิดหมด การจะกลับมาเปิดรอบสอง เงื่อนไขยากมาก ต้องเอาเครื่องไปตรวจ ทำ MoU กับทหาร แค่งบก็ต้องใช้ไม่ต่ำว่า 50,000 บาท เป็นค่าตรวจ ค่าซ่อมบำรุง ฯลฯ

ขณะนี้วิทยุประเภททดลองออกอากาศที่ได้ยินหลังรัฐประหาร จากก่อนรัฐประหาร มี 7,000-8,000 คลื่น ตอนนี้เหลือ 4,000 กว่าคลื่น เป็นวิทยุธุรกิจเกือบ 3,000 คลื่น ประเภทสาธารณะ เช่น อาชีวะ วัด อบต. 1,000 คลื่น ที่เป็นชุมชน จากที่ 500 คลื่น ติดเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายและ MoU ทำให้ออกอากาศได้ 200 คลื่น 

แล้ววิทยุที่ออกอากาศตอนนี้ ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะเป็นคลื่นทดลอง ถูกกำหนดรัศมีออกอากาศห้ามเกิน 20 กม. กำลังส่งห้ามเกิน 500 วัตต์ โตไม่ได้ พัฒนาไม่ได้ แม้แต่คลื่นธุรกิจก็ไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้จะได้คลื่นเดิมไหม

สิบกว่าปีที่ผ่านมา เฉพาะการปฏิรูปสื่อชุมชน จะเห็นว่า ไม่ได้ก้าวหน้าเลย ซ้ำภาพลักษณ์ยังตกต่ำ 

ที่ผ่านมา ชุมชนตั้งใจมากในการลุกมาจัดการการสื่อสารของชุมชนเอง แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีการส่งเสริมและยังโดนขัง วิทยุชุมชนอีก 200 คลื่นจะเริ่มตาย เพราะทำอะไรไม่ได้เลย แล้วในช่วงห้าปีต่อไปจะเหลือสักเท่าใด

 

จักร์กฤษ เพิ่มพูล

สิ่งที่จะพูดวันนี้มี 3 เรื่อง
1. การปฏิรูปสื่อที่พูดถึงกันทุกวันนี้คือการพยายามบริหารจัดการสื่อด้วยอำนาจบางอย่าง ทั้งนี้ เนื้อหาที่จะพูดวันนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นรัฐบาลไหน หรือผู้มีอำนาจคนไหน

2. สิ่งที่เราสมมติว่าเป็นการปฏิรูปสื่อวันนี้ เริ่มมาอย่างไร และขณะนี้ทำอะไรกันอยู่

3. คำสั่งตามมาตรา 44  มีลักษณะสำคัญคือ มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน และผลประโยชน์ทับซ้อน

////

1. สิ่งที่เราพูดกันทุกวันนี้ ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปสื่อในสังคมไทยเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และคลื่นโทรคมนาคม ปี 2540 ซึ่งเป็นผลพวงจากพฤษภา 2535 ต้องให้เครดิต อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ริเริ่มให้แนวคิดนี้ และเขียนในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40

แต่เมื่อมี กสทช.แล้ว ผิดหวัง เพราะไม่เคยพบเลยว่า เสียงส่วนใหญ่ของ กสทช. มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อในความหมายที่ควรจะเป็น

2. ยุค 'ปฏิรูปสื่อสมมติ' เริ่มหลังรัฐประหาร 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำหนดการปฏิรูปเร่งด่วน 11 ด้าน ด้านหนึ่งคือการปฏิรูปสื่อเพราะเชื่อว่าสื่อทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม

คณะรัฐประหารมีความรู้เรื่องสื่อสารมวลชนเป็นศูนย์ ตอนนั้นมีการตั้งคณะทำงานเตรียมการเพื่อการปฏิรูปขึ้นคณะหนึ่งขึ้น และมีการเชิญตัวแทนองค์กรสื่อไปให้ข้อมูล ซึ่งตนเองได้เข้าไปให้ข้อมูล เริ่มต้นจากศูนย์เลยว่า สื่อสารมวลชนคืออะไร การส่งสารคืออะไร ท้ายที่สุด มีการเอาข้อมูลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาต่อ แต่ไม่พบว่า สปช. เอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไร มีการดำเนินการใหม่ทุกอย่าง โดยนอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ มีการกำหนดวาระเรื่องการกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา การกำกับดูแลสื่อไปไม่ถึงไหน เมื่อสื่อละเมิด ก็ไม่มีกลไกบังคับให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้จริง ดังนั้น เพื่อให้เกิดสภาพบังคับขึ้น กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.ซึ่งมี อ.จุมพล รอดคำดี เป็นประธาน มีตนเองและ อ.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ไปนั่งร่างกฎหมาย

ร่างกฎหมายนี้ มีหลักการบังคับให้กระบวนการกำกับดูแลกันเองทำงาน หมายความว่า อำนาจหน้าที่สภาวิชาชีพเดิมยังมีอยู่ครบถ้วน ยังตรวจสอบ สอบสวนได้ แต่กฎหมายนี้ จะทำหน้าที่เป็นศาลสูง ถ้าไม่จบ จะเดินต่อได้ด้วยกระบวนการนี้

มาถึงตอนนี้ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรายังเอาร่างกฎหมายนี้ไปทำต่อ ปรับปรุง จัดโครงสร้างเล็กน้อย และเสร็จไปเมื่อไม่นานนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการสอดไส้ในสาระสำคัญสองเรื่อง คือ เรื่องการให้มีใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพและให้อำนาจเพิกถอน และการมีตัวแทนรัฐเข้าไปนั่งในองค์กรสภาวิชาชีพซึ่งมีอำนาจวินิจฉัย อันขัดกับหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540

3. ทีวีดิจิตอลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ 22 ช่อง ถ้าไม่มีการเอื้อมมือไปช่วย ตายแน่นอน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ที่ออกมานั้นมีเนื้อหาเกื้อกันอยู่ในที โดยบอกว่า กสทช.อาจผ่อนปรนให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลผ่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ได้

ที่บอกว่าต่างตอบแทนเพราะไม่เห็นว่าสื่อทีวีดิจิตอล ซึ่งได้ประโยชน์จากการยื้อเวลา จะนำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์เรื่องนี้เลย นี่คือการไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน ไม่เสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ถามว่ามันมีอะไรที่ปิดปากไว้

นอกจากนี้คำสั่ง คสช. ยังบอกว่า เมื่อครบวาระคืนคลื่นวิทยุใน เม.ย. 60 ให้ต่ออีก 5 ปี สำหรับหน่วยงานราชการ กองทัพ ตั้งคำถามว่า คนออกคำสั่งนี้ได้รับประโยชน์ด้วยหรือไม่

 


เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ 

ก่อนหน้านี้ ได้ขอลาออกจากอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของ กสทช. เมื่อ 14 พ.ย. แต่เนื่องจากยังไม่มีคนใหม่มาแทน เลยยังถือว่าดำรงตำแหน่งอยู่

อนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 เพื่อทำหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ถือครองคลื่น แจ้งความจำเป็นไปในการใช้ ทำงานกันอย่างระมัดระวังมาก หากมองในแง่ดี ตั้งแต่ตนเองเป็นนักวิชาชีพ ไม่มีครั้งไหนที่มีข้อมูลกิจการกระจายเสียงมากเท่านี้มาก่อน โดยนอกจากพิจารณาจากเอกสารแล้ว ยังมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบางหน่วยงาน รวมถึงสุ่มถอดผังรายการที่ออกอากาศอยู่มาตรวจสอบด้วย

ผลการศึกษาของคณะอนุฯ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ให้กำหนดระยะเวลาแน่นอนในการคืนคลื่น 2.เพื่อการใช้คลื่นให้มีประสิทธิภาพ ให้มีหน่วยงานกำกับดูแล 3.ให้ กสทช. เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) ถือครองคลื่นในปริมาณที่มาก 2) ถือครองคลื่นที่ให้บริการในพื้นที่ที่ซ้ำซ้อน 3) ใช้คลื่นไม่สอดคล้องกับภารกิจ ให้เรียกมาเจรจาเพื่อให้เกิดการคืนคลื่น ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นก่อนแผนแม่บทสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ นี้เป็นความลับ ตนเองเคยเสนอให้จัดแถลงข่าวผลการศึกษาให้สาธารณะทราบ เพราะการทำงานล่าช้าไปมากแล้ว แต่ประธานอนุกรรมการสั่งห้ามเผยแพร่

ทั้งนี้ รู้สึกแปลกใจกับมติของ กสท. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่เสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 4 (อีกคนงดออกเสียง) กลับมีมติว่า 1.กำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้สิ้นสุดตามแผนแม่บท คือ เม.ย. 2560 2.การคืนคลื่นก่อน เม.ย.2560 ให้เป็นภาคสมัครใจ  ซึ่งต่อมา กสทช. ก็เห็นชอบมตินี้เมื่อ 14 ธ.ค. ประกอบกับการมีคำสั่ง คสช. ยิ่งเป็นการตอกหมุดการปฏิรูปสื่อ หากเอาคลื่นอนาล็อกคืนมาไม่ได้ การปฏิรูปสื่อล้มเหลวสิ้นเชิง

จากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นห่วง คสช. ว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ โดยจากการศึกษาของอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานความมั่นคงของรัฐ 6 หน่วยงาน ปัจจุบันถือครองคลื่น 47.58% หรือ 256 คลื่น อีกกลุ่มซึ่งยอดสูงไม่แพ้กัน เพราะกรมประชาสัมพันธ์ไปอยู่ที่นั่นคือกลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม 32.34% หรือ 174 คลื่น รัฐวิสาหกิจ มี อสมท. เจ้าเดียว

ผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานภาครัฐ 28 หน่วยงาน ใช้คลื่นสอดคล้อง 21% ไม่สอดคล้อง 79% แต่มีอนุกรรมการฯ ปรับถ้อยคำเป็น "ไม่สอดคล้องกันบางส่วน" โดยกรณีกองทัพบก 138 คลื่น เป็นหน่วยงานที่อยู่ในทั้งกลุ่มที่สอดคล้องและไม่สอดคล้อง เพราะจาก 138 คลื่น กองทัพบกใช้คลื่นสอดคล้องกับภารกิจ 11 คลื่น โดยเป็นคลื่นเฉพาะกิจ เช่น คลื่นเคลื่อนที่ตามแนวชายแดน

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ สู่สาธารณะ รวมถึงใน 5 ปีต่อไปนี้ ขอให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะได้ประโยชน์จากการขยายเวลาการคืนคลื่น แจ้งต่อสาธารณะทุกปีว่าได้ประโยชน์จากการประกอบการเท่าไหร่

 

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผอ.วิทยุจุฬา

การปฏิรูปสื่อจะดูบริบทแค่คำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ไม่ได้ ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน
-กำลังจะมีการแก้ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งจะมุ่งสู่การชดใช้ราคาค่าคลื่นความถี่ เมื่อเกิดความจำเป็นต้องเรียกคืน และแก้ไขคุณสมบัติของกรรมการ กสทช.
-วิชาชีพสื่อจะถูกปฏิรูปด้วย เพราะกำลังจะมีการบิดเบือนแนวคิดสภาวิชาชีพสื่อ โดยให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง เข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่เคยมีกฎหมายสภาวิชาชีพที่ไหนกำหนดแบบนี้มาก่อน
-การผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ซึ่งจะเข้ามากำกับดูแลเนื้อหาสื่อออนไลน์

เราทิ้งบริบทที่เชื่อมโยงมาสู่การรัดรึง ครอบงำ เกาะกุม ควบคุมทั้งหมดนี้ไม่ได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net