สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-31 ธ.ค. 2559

 
กสร.ย้ำนายจ้างยื่นแบบรายงานสภาพการจ้างฯ ภายในเดือนม.ค. ฝ่าฝืนมีโทษอาญา
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างที่มีลูกจ้างร่วมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.๑๑) ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ มีโทษทางอาญาปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างร่วมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.๑๑) ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้พนักงานตรวจแรงงานจัดส่งแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.๑๑) ให้กับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างครบสิบคนภายในเดือนธันวาคมของทุกปี จึงขอเตือนให้นายจ้างที่ได้รับแบบฯ จัดเตรียมข้อมูลตามที่กำหนดและส่งให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต หรือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษอาญาปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างลดลงไม่ครบสิบคนและได้รับแบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.๑๑) ขอให้แจ้งข้อมูล ณ ปัจจุบันพร้อมหลักฐานเพื่อพนักงานตรวจแรงงานจะได้นำไปปรับฐานข้อมูลต่อไป สำหรับสถานประกอบกิจการที่เพิ่งมีลูกจ้างครบสิบคนและไม่ได้แบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.๑๑) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.protection.labour.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือที่สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ๑๕๔๖
 
 
สปส.ตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560
 
วันนี้ (22ธ.ค.59) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงเรื่องมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขว่า สปส.เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ควรได้รับ และจากมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขนั้น ล่าสุด สปส.ได้จัดทำข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนเสร็จแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการแพทย์ได้ลงนามแล้ว โดยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
นพ.สุรเดชกล่าวต่อว่า สิทธิประโยชน์การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคนเข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการตรวจสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนได้เลือกเอาไว้ ซึ่งเบื้องต้นในปีแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,500 - 1,800 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ เลขาธิการ สปส.กล่าวต่อว่า ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจสุขภาพนั้น จะสามารถตรวจสุขภาพพื้นฐานได้ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไตเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติหรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุและความจำเป็น เช่น การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30 - 39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่หากอายุ 40 - 54 ปีตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือดอายุ 35 - 54 ปี ตรวจทุก 3 ปี แต่หากอายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี หรือการเอ็กซเรย์ทรวงอก Chest x–ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป
 
 
เครือข่ายประกันสังคมฯ ยังไม่พอใจมาตรการตรวจสุขภาพฟรี
 
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่าในวันที่ 24 ธ.ค. ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ คปค. จะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข และสภาพัฒนาแรงงาน จัดประชุมหารือกรณีการตรวจสุขภาพมาตรา 63(2) ของพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4/2558 โดยจะหารือถึงเรื่องสิทธิการตรวจสุขภาพที่ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 ซึ่งมองว่ายังมีปัญหาในเรื่องสิทธิที่ด้อยกว่ากองทุนบัตรทอง
 
นายมนัส กล่าวว่าอย่างการตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก ทางบัตรทองไม่ได้กำหนดอายุ แต่ดูตามความจำเป็น ขณะที่ประกันสังคมกลับระบุอายุไว้ว่าต้อง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงนี้มองว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ไม่น่าจะต้องมาถูกจำกัดเช่นนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ในการประชุมหารือวันพรุ่งนี้จะมีการคุยกันว่า ควรมีสิทธิตรวจสุขภาพอย่างไร เพื่อให้เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง เพื่อนำเสนอต่อ เลขาธิการ สปส. ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้
 
นายมนัส กล่าวอีกว่าในมาตรา 63(2) อนุบัญญัติ 7 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ นั้น ยังมีกรณีเยียวยาผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งสิทธิบัตรทองมีเยียวยาช่วยเหลือ เบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท แต่ประกันสังคม ยังไม่ออกระเบียบมารองรับจุดนี้ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการเยียวยาผู้ประกันตนกรณีได้รับผลกระทบทางการแพทย์ด้วยหรือไม่ และนอกจากประเด็นตรวจสุขภาพแล้ว ในเรื่องผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 ล้านคนนั้น จะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิ อย่างค่าปลงศพได้ที่ 20,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 40,000 บาท เทียบเท่ากับผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33 และขอให้เพิ่มเงินขาดรายได้จากเดิม 200 บาทต่อวันเป็น 300 บาทต่อวัน โดยทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือกับเลขาธิการ สปส. เช่นกัน
 
สำหรับรายละเอียดการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ สปส. จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30-39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40-54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35-54 ปีตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจได้ 1 ครั้งต่อปีหรือการเอ็กซเรย์ทรวงอก Chest x-ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป
 
 
ก.แรงงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเด็กอาชีวะ เตรียมพร้อมก่อนทำงาน รับค่าจ้างกว่า 400 บาทต่อวัน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นให้คนทำงานได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น กระทรวงแรงงานโดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้กำหนดให้การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงานเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้มีมาตรฐานสากล พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ประการสำคัญจะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งขณะนี้ประกาศแล้ว 67 สาขา โดยอัตราค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 320 บาทต่อวัน และสูงสุด 815 บาทต่อวัน โดยเฉพาะมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ เพื่อมุ่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทัดเทียมระดับสากลได้อย่างมีคุณภาพ กพร.จึง.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกระบวนการพัฒนาทักษะเด็กอาชีวะ ทั้งการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมกันไปด้วยเพื่อมีความพร้อมก่อนทำงาน
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กพร.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งแต่ปี 2557 ใน 5 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกเป็นการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. ปวส. ปีสุดท้าย เพื่อฝึกอบรมภาคปฏิบัติในด้านทักษะฝีมือ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2559 มีผู้ผ่านการอรมแล้ว 1,822 คน ประเด็นที่ 2 การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. และปวส. ปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 มีผู้ผ่านการทดสอบ 12,681 คน ประเด็นที่ 3 หน่วยงานของ สอศ. ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 166 แห่ง จำนวน 48 สาขา เพื่อดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับ นักศึกษา ปวช. ปวส.และประชาชนทั่วไป
 
 
สถานทูตไทย ในโตเกียว เตือน! คนไทย ลักลอบทำงานในญี่ปุ่น
 
วันที่ 25 ธันวาคม 2559 มีรายงานเฟซบุ๊คของ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ข้อความ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีคนไทยที่ลักลอบทำงานภายหลังเดินทางเข้าญี่ปุ่น โดยการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว และถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นจับกุมในข้อหาหนีวีซ่าและลักลอบทำงาน ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ให้ข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่า
 
1. ไม่คุ้มที่จะลักลอบทำงานในญี่ปุ่น คนไทยส่วนใหญ่คาดหวังว่า จะมาขุดทองได้เงินกลับประเทศ แม้จะต้องหลบซ่อนทำงานก็ตาม แต่พอมาถึงญี่ปุ่นจริง ๆ แล้ว กลับไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง ถูกนายหน้าที่โฆษณาว่า จะแนะนำงานรายได้ดีให้ ขูดรีดเงินค่าแนะนำงาน (ค่าโช) จนบางคนไม่เหลือแม้แต่เงินที่จะเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางกลับประเทศไทย
 
2. งานที่ได้ทำ ถ้ามีบ้างเป็นครั้งคราว ก็เป็นงานหนัก ลำบาก เช่น งานเกษตร (เฉพาะตอนเช้า) งานรื้อถอนบ้าน (ไคไต) งานก่อสร้าง (เก็มบะ) ซึ่งงานส่วนใหญ่ต้องเข้าใจภาษาญี่ปุ่นจึงจะสามารถทำงานได้
สถานทูตฯ จึงขอเตือนมายังคนไทยที่จะคาดหวังมาลักลอบทำงานในญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายญี่ปุ่น จะถูกฝ่ายญี่ปุ่นแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าญี่ปุ่นอีก และที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถหารายได้พอ ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงอีกต่อไป
 
หนึ่งในคนไทยที่ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมาย เปิดเผยว่า "การทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยไม่มีวีซ่าลำบากมาก งานก็หายาก ต้องหาที่อยู่อาศัยเอง กว่าจะหางานทำก็ยาก และค่าเรงก็น้อย สำหรับคนที่ไม่มีวีซ่าความเป็นอยู่ไม่ดี ขออย่าเชื่อนายหน้าว่าจะได้รับเงินเดือนมาก ไม่มีจริงหรอก เมื่อมาถึงญี่ปุ่นแล้ว ก็ปล่อยทิ้ง ไม่สนใจหรอก
 
 
ลูกจ้างนิปปอนสตีลถูกนายจ้างปิดงานก่อนปีใหม่
 
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะ แถลงนายจ้างนิปปอนสตีล ปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิก หลังเจรจามากว่า 2 เดือน ตกลงได้ 2 ข้อ คือโบนัส และเงินขึ้น จาก 4 ข้อเรียกร้อง
 
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์หลังนายจ้างบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัดได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เพื่อขอยุติการเจรจาและปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานฯโดยให้มีผลในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00 น. หลังจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทยสาขาอีสเทิร์น1,2ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้างบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559ได้มีการเจรจาตามขั้นตอนของตามกฎหมายแต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ทางสหภาพแรงงานฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งพิพาทต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยทั้งหมด 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ผลการเจรจาก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดไกล่เกลี่ยครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง แต่นายจ้างได้ยื่นเพื่อขอปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
นายไพฑรูย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวถึงกรณีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ลูกจ้างของบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ถูกนายปิดงานเฉพาะส่วน 160 กว่าคนโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เนื่องจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกเสียใจให้กับลูกจ้างมาก เพราะการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้แล้วในข้อหลักจำนวน 2 ข้อ คือนายจ้างตกลงจ่ายโบนัส และปรับเงินขึ้นให้ ซึ่งโบนัสที่ตกลงกันตามเกรดอายุงานต่ำสุดอยู่ที่ 3 เดือนบวกอีก 22,000 บาท เหลือแต่เรื่องการหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากบรัทนิปปอนสตีลฯ มี 2 โรงในพื้นที่เดียวกันแต่ว่าสวัสดิการมีความต่างกัน อย่างการคำนวณการทำงานล่วงเวลาหรือ OT เป็นต้น ข้อเรียกร้องอื่นๆได้ถอนกันไปแล้ว จึงเหลือที่เจรจาทั้งหมด 4 ข้อ ตกลงกันแล้ว 2 ข้อ การปิดงานจึงมองว่าไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าตัวแทนนายจ้างจะอ้างว่าเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียกร้องนั้นมีลูกจ้างบ้างส่วนไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะผู้แทนเจรจาฝ่ายสหภาพแรงงานก็ให้นายจ้างสอบถามความต้องการแล้วหักเฉพาะส่วนที่ลูกจ้างต้องการ
 
นายไพฑรูย์กล่าวอีกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินในอนาคตเป็นการสะสมเพื่อสร้างหลังประกันให้กับลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุซึ่งถือเป็นนโยบายที่กำหนดเป็นกฎหมายแม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้ต้องมีและให้เป็นความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในการสะสมเป็นกองทุน ล่าสุดพนักงานประนอมได้แจ้งว่าจะนัดไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ปัจจุบันสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้ชุมนุมอยู่ที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวินในเขตพื้นที่พันเสด็จใน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
“วันนี้สหภาพแรงงานยังหวังที่เจรจากับนายจ้างเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แม้ว่านายจ้างจะปฏิเสธในการเจรจาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมแล้วก็ตาม ลูกจ้างกับนายจ้างต้องอยู่ร่วมกันอย่างไรก็ต้องคุยกัน แม้ว่าลูกจ้างจะเสียใจกับการที่นายจ้างปิดงานก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการยื่นข้อเรียกร้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ต้องมีการปรับเรื่องสภาพการจ้างประจำปี และลูกจ้างเองก็หวังจะได้โบนัสกลับบ้านต่างจังหวัดไปให้ครอบครัว บางคนต้องเอาไปจ่ายค่าเกี่ยวข้าว ไปใช้หนี้กันอีก เราไม่ใช่แค่แรงงานแบบเพรียวๆคนเดียวเรายังมีครอบครัวที่รอเงินจากการขายแรงงานไปหล่อเลี้ยงชนบทด้วย ทำงานทั้งปี และทั้งชีวิตก็อยากเห็นสิ่งที่เรียกว่าหลักประกันอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่ออนาคตด้วย” นายไพฑรูย์กล่าว
 
ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย
 
เงินสะสมของลูกจ้าง เป็นเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักจากค่าจ้างสะสมเข้ากองทุนทุกเดือนในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
 
เงินสมทบของนายจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
 
อัตราการจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไข ระยะเวลาการทำงานหรือ ระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือ ตามตำแหน่งหรือ ตามอัตราเงินเดือนของลูกจ้างนั้นๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจหรือเป็นสวัสดิการส่วนเพิ่มให้กับลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานาน
 
เนื่องจากเงินกองทุนนี้เป็นสวัสดิการเพิ่มให้กับลูกจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินออกสำหรับเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกจ้างได้รับตามอายุงาน เช่นลูกจ้างออกจากงานและมีอายุการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ได้รับเงินส่วนของนายจ้าง 50% ถ้าครบ 5 ปี ขึ้นไปได้ 100% เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานเช่นกัน(ข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนจาก http://www.cimb-principal.co.th/)
 
 
ผู้ตรวจฯ รับร้องเรียนเพิ่มจากคนไทยใน ตปท.และ ต่างชาติในไทย จัดสัมมนา 29-30 ธ.ค.
 
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือการสร้างความเป็นธรรมไปสู่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในประชาคมอาเซียน ผ่านกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากการใช้อำนาจรัฐ ทั้งประชาชนไทยในต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนและเชื้อชาติ ดังนั้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่อาจมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายตามกรอบประชาคมอาเซียน ป้องปรามปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทั้งการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของรัฐ การตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารแสดงตนของชาวต่างชาติ รวมถึงปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้น จึงจะมีได้จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “การพัฒนากลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” ขึ้นในวันที่ 29 - 30 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงานเข้าร่วม
 
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า รวมทั้งมีการบรรยายเรื่อง “ประชาคมอาเซียน : ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย” โดย ดร.เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การเสวนาหัวข้อ “บทบาทหน่วยงานภาครัฐเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” โดย นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวุฒิโรตม์ รัตนะสิงห์ นักการทูตชำนาญการ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมการจัดหางาน และ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 มีการบรรยาย หัวข้อ “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ “ร่าง” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ....” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
“ปัญหาต่างๆ อาจเกิดขึ้นและมีความสลับซับซ้อนต่างกันไป ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ จะทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนขององค์กรตรวจสอบของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมอาเซียนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้บูรณาการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียนอีกด้วย” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
 
 
กสร.ตั้งมุมนมแม่ ในโรงงาน1พันแห่ง เพื่อลูกจ้างหญิงได้ ให้นม-กอดลูก ลดภูมิแพ้ในเด็ก
 
กิจการอย่างยั่งยืนว่า ปัจจุบันผู้หญิงทำงานนอกบ้านมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ออกมาทำงานได้ทำหน้าที่แม่ให้สมบูรณ์ เพื่อดูแลประชากรซึ่งเป็นอนาคตของประเทศให้เติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งที่กสร.ส่งเสริมให้นายจ้างและสังคมเห็นความสำคัญ การจัดสวัสดิการมุมนมแม่เป็นสวัสดิการให้โอกาสลูกจ้างหญิงได้เลี้ยงดูบุตร ด้วยนมตนเองตามระยะเวลาที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของบุตร
 
นายอภิญญา กล่าวอีกว่า กสร.ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ผลการดำเนินงานได้รับการตอบรับจากนายจ้าง ลูกจ้าง มีสถานประกอบกิจการที่จัดตั้งมุมนมแม่แล้ว 1098 แห่ง มีลูกจ้างหญิงใช้บริการมุมนมแม่ จำนวน 8,617 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 200 ล้านบาทต่อปี สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กรมจัดสรรเป้าหมายการจัดตั้งมุมนมแม่ จำนวน 80 แห่ง และขยายการจัดตั้งเพิ่มอีกตามนโยบายกรม จำนวน 328 แห่งรวมเป้าหมายการส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ ทั้งสิ้น 404 แห่ง
 
"ที่สำคัญกว่าตัวเงินคือเด็กที่ได้ดื่มนมแม่ พร้อมอยู่ในอ้อมกอดของแม่จะได้รับทั้งอาหารทางกายและอาหารอารมณ์ที่เหมาะสม ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง ฉลาด อารมณ์แจ่มใสอีกทั้งยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม"นายอภิญญากล่าว
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการเสริมสร้างองค์ความรู้และประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการอย่างยั่งยืนในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการแรงงานในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และบุคลากรของกรมอนามัย รวมจำนวน 200 คน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างและครอบครัว อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
 
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเตือนโรงงาน คุมเข้มมาตรการด้านความปลอดภัย ระวังเหตุเพลิงไหม้ช่วงเทศกาลปีใหม่
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า วันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ส่วนใหญ่สถานประกอบกิจการจะประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณี ซึ่งปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 4 วัน ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอัคคีภัยได้ ดังนั้น กสร. จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการทุกแห่งให้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบ ควบคุมดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของระบบไฟฟ้า การป้องกันการเกิดอัคคีภัย ตลอดจนช่วยกันเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบต่าง ๆ รวมไปถึงการดำเนินงานของผู้รับเหมาภายนอก หรือ การกระทำที่เป็นความเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรง และกำชับ ตรวจสอบให้ลูกจ้างปิดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรที่ไม่ได้ทำงานให้เรียบร้อยก่อนช่วงวันหยุดยาว เพื่อมิให้เกิดความไม่ปลอดภัย หรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้
 
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า นอกจากมาตรการด้านความปลอดภัยที่เคร่งครัดแล้ว กสร. ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการทุกแห่ง ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยและให้ความรู้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแก่ลูกจ้างของท่าน เช่น อบรมเทคนิคการขับขี่อย่างปลอดภัย การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสารเสพติด และตรวจสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ความพร้อมของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพ ที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันอันตราย คือระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2559 - 4 ม.ค. 2560
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดจุดบริการตรวจเช็คสภาพและซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ รถจักรยานยนต์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ฟรีแก่ประชาชน ตามจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทั่วประเทศหรือจุดที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อให้มีความพร้อมในการเดินทาง ความปลอดภัย มีความสุข สมหวังในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ร่วมกัน
 
 
ก.แรงงาน คุมเข้มกฎหมายงานก่อสร้าง หลังพบปี 59 คนงานตาย-เจ็บ 9 พันคน
 
กระทรวงแรงงาน คุมเข้มกฎหมาย ข้อบังคับ งานก่อสร้าง หลังพบปี 2559 มีคนงานประสบอุบัติเหตุ เจ็บ–ตายกว่า 9 พันคน ส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท และทุกครั้งที่เกิดเหตุมักไม่พบวิศวกรผู้ควบคุมงานอยู่ในพื้นที่
 
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 59 พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการปั้นจั่นปลอดภัยร่วมใจรักษ์ชีวิตแรงงาน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดขึ้น เพื่อประกาศเจตนารมณ์ลดอุบัติเหตุรุนแรงในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นหรือเครนในงานก่อสร้าง หลังพบสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานในปี 2559 งานก่อสร้างมีลูกจ้างประสบเหตุอันตรายมากที่สุด 9,262 คน หรือร้อยละ 9.68 โดยพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท และทุกครั้งที่เกิดเหตุมักไม่พบวิศวกรผู้ควบคุมงานอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากต้องคุมงานหลายแห่งพร้อมกัน บางคนคุมถึง 10-30 ไซต์งาน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีอุบัติเหตุปั้นจั่นล้มบ่อยครั้ง เกิดความรุนแรง และส่งผลกระทบกับสาธารณชนที่อยู่ใกล้เคียง ล่าสุด เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ปั้นจั่นเครนก่อสร้างล้มที่บริเวณก่อสร้าง ถนนพระราม 9 ทำให้ลูกจ้างเสียชีวิต 5 คน ย้อนกลับไปในเดือน ก.ย. ก็เกิดเหตุรถปั้นจั่นล้มทับรถยนต์หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มีคนบาดเจ็บ 1 คน กสร.จึงนำมาเป็นปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ที่ต้องป้องกันแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือในรูปแบบกลไกประชารัฐ ระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อลดความสูญเสีย
 
"กสร. จะบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างเข้มงวด โดยจะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยใช้คำสั่งหยุดการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ อาคารสถานที่ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อลูกจ้าง สร้างความรับรู้การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และร่วมกับกรมโยธาธิการฯ ใช้กลไกและมาตรฐานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในกิจการก่อสร้างทั่วประเทศ" นายสุเมธ กล่าว
 
 
ดีเดย! 1 ม.ค.60 ตรวจสุขภาพผู้ประกันตน คปค.ขอเพิ่มตรวจช่องปาก ตรวจตั้งครรภ์
 
เครือข่ายผู้ประกันตน 17 องค์กร รวมตัวยื่นหนังสือ เลขาฯสปส. ขอเพิ่มตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจตั้งครรภ์ ด้าน ‘หมอสุรเดช’ รับลูก แต่กรณีตรวจตามกลุ่มวัย คงแก้ไขไม่ได้
 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน ภาคีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ประกอบด้วย องค์กรภาคีเครือข่าย 17 องค์กร อาทิ เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ นำโดย นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เข้าร่วมประชุมหารือและยื่นหนังสือต่อ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรณีติดตามความคืบหน้าการปฏิรูประบบประกันสังคม ทั้งนี้ ข้อเสนอในการหารือมีทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63(2) และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ มาตรา 63(7) (2) การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ ตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39 3.การเร่งรัดการออกอนุบัญญัติ ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 จำนวน 17 ฉบับ 4.สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน 5.กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพถูกตัดสิทธิการรักษาจากประกันสังคมไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
 
นายมนัสกล่าวว่า กรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมีการจัดตรวจสุขภาพฟรีนั้น มองว่ายังขาดการประสานงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้กิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต้องจัดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว และเมื่อพบว่าป่วยก็ต้องดูแลรักษาโดยใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีเพดานการเบิกอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งหากเกินเพดานจากนี้ก็ต้องประสานการรักษาจากกองทุนรักษาพยาบาลของประกันสังคม แต่ที่ผ่านมายังขาดการประสานข้อมูลกันในการดูแลความต่อเนื่องการรักษาของผู้ประกันตน สำหรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีนั้นยืนยันว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุ เพราะทุกคนมีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกันถือเป็นการจำกัดสิทธิ
 
"นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากและการฝากครรภ์ ให้อยู่ในสิทธิตรวจสุขภาพฟรีดังกล่าวด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของผู้ประกันตนนั้นมักไปใช้สิทธิรักษาทันตกรรมช่วงปลายปีก่อนที่จะหมดสิทธิ ทั้งที่อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปากจะช่วยให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสุขภาพช่องปากของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องรักษาในเรื่องใดบ้าง ขณะที่การฝากครรภ์นั้นมักพบว่า ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยมาฝากครรภ์เหมือนคนในสิทธิบัตรทอง เพราะต้องเสียเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงหลังคลอดมากกว่า การให้สิทธิตรวจสุขภาพครอบคลุมเรื่องการฝากครรภ์ด้วยก็จะช่วยเพิ่มอัตราการฝากครรภ์ได้" นายมนัสกล่าว
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆนั้น ทางสปส.ยินดีรับไว้พิจารณา เบื้องต้นข้อเสนอการตรวจสุขภาพผู้ประกันตนที่จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น ทางเครือข่ายเสนอขอให้มีการตรวจสุขภาพช่องปาก ในเรื่องทันตกรรม รวมทั้งเรื่องการตรวจการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ อยากให้อยู่ในการตรวจสุขภาพนั้น สปส.ก็จะรับไว้พิจารณา มองว่าน่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ แต่ในเรื่องผู้ประกันตนที่เกษียณอายุไปแล้ว และอยากให้ สปส.ดูแลการรักษาพยาบาลต่อนั้น เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป
 
เมื่อถามว่า ข้อเสนออยากให้การตรวจสุขภาพไม่ต้องแบ่งตามอายุ นพ.สุรเดชกล่าวว่า ขอย้ำว่าที่แบ่งอายุ กำหนดช่วงวัยเริ่มที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งกำหนดการทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไปและการตรวจสุขภาพตามกลุ่มวัยก็เป็นการจำแนกแล้วว่า กลุ่มวัยนั้นจำเป็นตรวจอะไรบ้าง เพราะบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ซึ่งตรงนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอิงข้อมูลวิชาการจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
 
นพ.สุรเดชกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว คาดว่าจะได้รับพร้อมกันทั้งหมดไม่เกิน 2 วันนับจากนี้ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพได้ตามกลุ่มวัย โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ สปส.http://www.sso.go.th เมื่อถามว่า การบริหารจัดการงบ 1,500-1,800 ล้านบาทสำหรับการตรวจสุขภาพนั้น นำมาจากส่วนไหน นพ.สุรเดช กล่าวว่า เป็นงบจากกองทุนฯ แต่ผ่านการคำนวณตามหลักทางคณิตศาสตร์แล้ว ซึ่งไม่ใช่การเหมาจ่าย แต่จะจ่ายตามจริงที่ทางรพ.เสนอมาว่า มีผู้ประกันตนตรวจสุขภาพกี่คน และอะไรบ้าง ตรงนี้จะป้องกันไม่ให้ รพ.นำเงินไปใช้ โดยไม่มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ
 
รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีให้แก่ผู้ประกันตนนั้น ก่อนอื่น สปส.ต้องคุยเรื่องค่าใช้จ่ายรายการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่รับผู้ประกันตนก่อน ว่าค่าใช้จ่ายรายการตรวจแต่ละอย่างให้เท่าไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เพราะอย่างโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ทุกรายการตามที่ สปส.กำหนด บางแห่งที่ทำไม่ได้ อาจต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการภายนอก ซึ่งราคาจะสูงเกินกว่าที่ราคาที่ สปส.ให้หรือไม่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นภาระแก่โรงพยาบาลอีก ที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนจำนวนมากหลักเรือนแสนคน จะมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับจำนวนคนที่ตรวจหรือไม่
 
"อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เรามีการตรวจสุขภาพอยู่แล้ว รวมถึงมีการออกตรวจสุขภาพนอกพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการให้บริการตรวจสุขภาพ เพราะจำนวนผู้ประกันตนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เองก็อยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละรายการตรวจที่ต้องชัดเจนแล้ว มองว่าหากตรวจสุขภาพแล้วเจอความผิดปกติ แล้วต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่ม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตรงนี้ สปส.รองรับด้วยหรือไม่ เช่น ตรวจพบความผิดปกติของตับ หรือตรวจเจอนิ่ว ที่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์เพิ่ม ค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปส.ครอบคลุมหรือไม่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน หรือถือว่าเป็นค่ารักษารายหัวที่ สปส.ให้แต่ละโรงพยาบาลก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล" รศ.นพ.จิตตินัดด์กล่าว
 
พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ทางสถาบันรับดูแลคนไข้ในสิทธิประกันสังคม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกยอดแน่นอนได้ คาดว่ามีประมาณ 10,000 คน สาเหตุที่ยังบอกไม่ได้เพราะยอดยังไม่นิ่งต้องรอทางสำนักงานประกันสังคมโอนผู้ประกันตนส่วนหนึ่งจากโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ที่จะหยุดรับผู้รับบริการในสิทธิประกันสังคม ซึ่งในเรื่องการตรวจสุขภาพนั้น ทางสถาบันมีความพร้อมให้บริการ
 
 
"สภาการพยาบาล" จี้บริษัทประกันขอโทษโฆษณาก้มกราบพยาบาล ชี้กระทบระบบสุขภาพรัฐ
 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ดร.กฤษฎา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตัวโฆษณาดังกล่าวนับว่ามีผลกระทบมาก ไม่เฉพาะกับวิชาชีพพยาบาลอย่างเดียว แต่ประการสำคัญคือกระทบกับระบบสุขภาพภาครัฐทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมคนไทยทุกคนอยู่แล้วทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม ข้าราชการ และนโยบายล่าสุดคือเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตก็ยังสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่ไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลเอกชนเองก็ให้ความร่วมมือ แต่โฆษณาชุดนี้ทำเหมือนกับว่าประเทศไทย คนไทยไม่มีหลักประกันสุขภาพอะไรเลย และจะไม่ได้รับการดูแลต้องซื้อประกันเอกชนของเขาแล้วจะมีตัวแทนขายรีบวิ่งมาดูแลให้ นี่เป็นการสื่อสารผิด
 
ส่วนที่พยาบาลไม่พอใจมากคือ ตัวแสดงที่เป็นพยาบาลในโฆษณานั้นแสดงสีหน้าร้ายกาจ ไม่เห็นใจคนไข้จนเป็นเหตุให้มีการกดไม่ชอบใจวิดีโอ และแสดงความเห็นไม่พอใจต่อโฆษณาดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมาก
 
ต่อมาสภาการพยาบาลได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีโฆษณาดังกล่าวที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่วิชาชีพระบุว่า สภาการพยาบาลในนามผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รู้สึกเสียใจที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จัดทำและเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาประกันชีวิตเรื่อง "โอกาส" ทางสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ยูทูป ซึ่งมีภาพตัวแทนประกันชีวิตก้มลงกราบพยาบาล สื่อให้เข้าใจประหนึ่งว่า เป็นการอ้อนวอนพยาบาลให้ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่ซื้อประกันสุขภาพจากบริษัท ภาพดังกล่าวทำให้ผู้ชมและสังคมทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด เป็นการบิดเบือนความจริงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบวิชาชีพนี้ เป็นภาพที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างที่บริษัทฯ จะมุ่งโฆษณาเฉพาะผลประโยชน์ของบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว โดยขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม
 
สภาการพยาบาล ขอเรียนว่าผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน ในปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพนี้มีจำนวนกว่า 200,000 คน ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ให้การดูแลสุขภาพผู้ป่วยและประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกสภาวะของการเจ็บป่วย โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ป่วยผู้รับบริการจะมีเศรษฐานะ ภาวะสุขภาพ มีหรือไม่มีประกันสุขภาพใดก็ตาม เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมและประชาชนทั่วไป สภาการพยาบาลจึงขอให้บริษัทฯ ดำเนินการดังนี้ 1.ประกาศขอโทษผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลมีเดีย และ 2.งดการเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง "โอกาส" ทันที
 
 
กกจ. เตือน 30 ธ.ค. วันสุดท้าย จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวกิจการประมงทะเล และแปรรูปสัตว์น้ำ
 
วันที่ 29 ธ.ค. 59 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า การจดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ในกิจการประมงทะเล และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในปี 2559 ได้เปิดให้จดทะเบียนตามมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-30 ธ.ค. 59 มีนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดในจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลและกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน จนถึงวันที่ 26 ธ.ค. มีจำนวน 30,612 คน เป็นกิจการประมงทะเล 9,702 คน แยกเป็นกัมพูชา 3,878 คน ลาว 247 คน เมียนมา 5,577 คน นายจ้าง 2,358 ราย ส่วนกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 20,910 คน เป็นกัมพูชา 2,209 คน ลาว 277 คน เมียนมา 18,424 คน นายจ้าง 1,706 ราย
 
นายสิงหเดช กล่าวว่า ขอให้นายจ้างและสถานประกอบการที่ยังไม่นำแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค. หากพ้นกำหนด นายจ้างจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
 
ส่วนแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบทำงานจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากพ้นกำหนดแล้ว จะไม่มีการขยายเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 2 ประเภทกิจการอีกต่อไป ซึ่งกรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันตรวจสอบ หากพบผู้กระทำผิดจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ซึ่งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
เหมืองทองอัคราฯ เตรียมจ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง 441 คน เป็นเงิน 45,881,700 บาท พร้อมนัดจ่ายเงิน 3 มกราคม 2560 นี้
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นายสุเมธ มโหสถ เปิดเผยว่า กรณีบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศโดยมีผลตั้งแต่ธันวาคม 2559 ว่า บริษัท อัคราฯ มีลูกจ้างของบริษัท 364 คน และลูกจ้างจากบริษัทรับช่วงเหมา 10 บริษัท ซึ่งเจ้าของกิจการ ยืนยันว่า บริษัทยินดีที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ บริษัทรับช่วงเหมาได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างทุกตำแหน่ง 441 คน โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นเงินชดเชยรวม 45,881,700 บาท มีกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 3 มกราคม 2560 นี้ ส่วนการเลิกจ้างก่อนหน้านี้ พบว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
 
 
รมว.ศึกษาฯ เร่งคุ้มครองอาจารย์ถูกเลิกจ้าง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เตรียมแก้ไขปัญหากรณีมหาวิทยาลัยหลายแห่งปลดหรือเลิกจ้างอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนเรื่องทุจริตภายในสถาบันอุดมศึกษา จนบานปลายกลายเป็นปัญหาธรรมาภิบาลที่สร้างความเดือดร้อนให้กับอาจารย์จำนวนมาก ตามการเสนอข่าวของทีมล่าความจริง NOW26
 
นายธีระเกียรติ เดินทางมาเยือนสตูดิโอ นาว แอด สยาม เมื่อค่ำวานนี้ เพื่อตอบทุกคำถามเรื่องของการศึกษากับ นายสุทธิชัย หยุ่น อดีตบรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ที่ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายธีระเกียรยติ ในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ พร้อมเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาหลายท่าน โดยทั้งหมดถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ด้วย
นายธีระเกียรติ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า รับทราบปัญหาธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะกรณีอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนทุจริต ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยปลดออกหรือเลิกจ้างจำนวนมาก โดยทีมงานได้นำข้อมูลมารายงานหลังจากทีมล่าความจริง พิกัดข่าว NOW26 ได้นำเสนอข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ บอกว่า ได้ให้ทีมกฎหมายศึกษาปัญหานี้ เพื่อหาช่องทางคุ้มครองอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียน แต่ก็ต้องสร้างสมดุลเพื่อให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาด้วย
 
 
โชเฟอร์ทิ้งผู้โดยสาร ประท้วง บ.ขับทำยอด-ไม่ได้พัก
 
กรณีเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. โชเฟอร์รถทัวร์สีฟ้า-ขาว ทะเบียน 15-9952 กรุงเทพมหานคร ข้างรถหมายเลข 18-10 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระบุชื่อคนขับ นายศักย์วริษฐ์ ปะวัณเทา อายุ 40 ปี จอดรถทิ้งผู้โดยสาร 48 ชีวิต ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ริมถนนพหลโยธินขาขึ้นภาคเหนือ บ้านทรงธรรม หมู่ 3 ต.ทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร แล้วหายตัวไป ทำให้ทั้งผู้โดยสารและคนที่ทราบข่าวต่างตั้งข้อสงสัยว่าโชเฟอร์คนนี้หายตัวไปไหน และทำไมถึงทิ้งรถและผู้โดยสารไว้กลางทางเช่นนี้
 
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คนขับรถคันดังกล่าว ไม่พอใจนายจ้างก็คือเจ้าของบริษัทรถทัวร์ เนื่องจากให้ขับรถหลายวันติดต่อกันไม่ได้หยุดพัก จึงจอดรถทิ้งผู้โดยสารไว้ข้างทางแล้วเดินข้ามถนนหายตัวไป ต้องให้เด็กรถไปตามตัวอยู่นาน จนกระทั่งผู้โดยสารต้องโทร.แจ้งตำรวจ สภ.ทรงธรรม อ.เมืองกำแพงเพชร ให้ช่วยประสานบริษัทรถทัวร์ให้ส่งรถมารับ เพื่อนำผู้โดยสารไปส่งถึงที่หมาย แม้ต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงแล้วก็ตาม ก่อนที่เด็กรถจะตามตัวคนขับเจอแล้วขับรถคันดังกล่าวกลับกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ กับโชเฟอร์ เป็นเรื่องของบริษัทต้องจัดการต่อไป
 
 
ช่วยด่วน ! ลูกเรือขนส่งน้ำมัน ลอยลำน่านน้ำสิงคโปร์
 
ลูกเรือ 13 ชีวิตของเรือดนัย 8 ส่งหนังสือร้องสำนักงานแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ให้ช่วยเหลือส่งกลับประเทศไทยและเรียกค่าจ้างค้างจ่ายกว่า 4 เดือนจากนายจ้าง
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ (สนร.สิงคโปร์) ได้รายงานกระทรวงแรงงานทราบว่า ลูกเรือรวม 13 คน ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างของเรือชื่อ ‘ดนัย 8’ ได้ยื่นหนังสือถึง สนร.สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย และส่งกลับประเทศไทย เนื่องจากนายจ้างปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ‘คนประจำเรือ’ โดยค้างจ่ายค่าจ้าง เป็นเวลา 4 เดือน 12 วัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ทำให้ไม่มีรายได้ส่งกลับไปเลี้ยงดูครอบครัว รวมทั้ง ไม่ใส่ใจดูแลสภาพความเป็นอยู่ระหว่างทำงานบนเรือ ลูกเรือทั้งหมดจึงยื่นจดหมายลาออกต่อนายจ้าง แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากนายจ้างว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงขอความช่วยเหลือจาก สนร.สิงคโปร์
 
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) สนร.สิงคโปร์ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือทั้งหมดในเบื้องต้นแล้ว โดยในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เชิญผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของเรือมาเจรจาดำเนินการเรื่องการจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากลูกเรือทั้งหมดยังยืนยันประสงค์จะลาออก กระทรวงแรงงาน พร้อมให้บริการด้านการจัดหางานทดแทน รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ให้ด้วย หากลูกเรือมีความสนใจ
 
“การให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน เป็นเรื่องที่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญโดยให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือให้เป็นไปตามกฎหมายโดยไม่ชักช้า ส่วนความคืบหน้าของการเจรจากับเจ้าของเรือลำดังกล่าวนี้ กระทรวงแรงงานจะเสนอข่าวให้ทราบต่อไป” โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด
 
ที่มา: กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน, 29/12/2559
 
กระทรวงแรงงาน ยันไม่เลือกปฏิบัติ คุ้มครองต่างด้าว ชี้เท่าเทียมลูกจ้างไทย
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือ กสร.เปิดเผยว่า กสร.มีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานให้มีสภาพการจ้างการทำงานที่เป็นธรรม ได้ยึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานไทยโดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับเมื่อทำงาน กล่าวคือ มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมีสวัสดิการที่ดี ไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ กสร.ได้จัดทำสื่อเรื่องสิทธิหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุเป็นภาษา พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงได้จัดสื่อวีดิทัศน์ช่วยสอนหรือสื่อมัลติมีเดียด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับงานก่อสร้าง 6 ภาษา อาทิ ไทย อังกฤษ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถรับทราบสิทธิและเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
 
นอกจากนี้กสร.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน เช่น มูลนิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือชี้เบาะแสเกี่ยวกับการใช้แรงงานไม่เป็นธรรมเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างทั่วถึง
 
 
กสร.วอนนายจ้าง จัดวันหยุด 31 ธ.ค.-3 ม.ค.60 ให้ลูกจ้าง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ ได้ให้วันที่ 3 มกราคม 2560 เป็นวันหยุดราชการช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นกรณีพิเศษ กสร. จึงได้ออกประกาศขอให้นายจ้างพิจารณาจัดให้วันที่ 31 ธันวาคม 2559 - 3 มกราคม 2560 เป็นวันหยุดตามประเพณีในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวและร่วมกิจกรรมตามประเพณี
 
สำหรับ ลูกจ้างที่ต้องทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ส่วนงานขนส่งทางบก นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง แต่หากจะต้องทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และห้ามเริ่มต้นทำงานในวันถัดไปก่อนครบ 10 ชั่วโมง พร้อมขอให้ลูกจ้างทุกคนใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะเดินทาง และขอให้วางแผนการเดินทางไปกลับเพื่อความสะดวกและปลอดภัย พร้อมกลับมาทำงานโดยสวัสดิภาพ
 
อย่างไรก็ตาม กสร. ขอเตือนไปยังลูกจ้างทุกท่านให้กลับมาทำงานตามวันเวลาที่กำหนด โดยไม่ขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้นายจ้างบอกเลิกจ้างได้
 
 
ทัพเรือภาค 3 ให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงโบลิเวีย หลังนายจ้างชาวไต้หวันลอยแพ
 
พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศรชล.เขต 3) พร้อมด้วย พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงต่างชาติ จำนวน 10 คน ที่เป็นชาวอินโดนีเซีย 9 คน และชาวฟิลิปปินส์อีก 1 คน โดยลูกเรือทั้งหมดนี้เป็นลูกเรือของเรือประมงสัญเบ็ดราวทูน่าสัญชาติโบลิเวีย ที่ถูกศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 ควบคุม และดำเนินคดีไว้ที่ภูเก็ตจำนวน 7 ลำ เนื่องจากสวมทะเบียนเรือเป็นสัญชาติโบลิเวีย และเข้ามาโดยผิดกฎหมาย โดยได้มอบผ้าปูละหมาด ให้ชาวอินโดนีเซีย น้ำ อาหารแห้ง และเงินสดคนละ 500 บาท พร้อมทั้งตรวจสุขภาพ และให้ลูกเรือทั้ง 10 คน พักอาศัยอยู่ภายในบ้านรับรองของทัพเรือภาคที่ 3 จนกว่าพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนลูกเรือทั้ง 10 คน แล้วเสร็จในฐานะพยานในคดี
 
โดยหลังจากที่เรือประมงสัญชาติโบลิเวียได้ถูกควบคุมไว้ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา ทำให้ลูกเรือทั้ง 10 คน ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากทางนายจ้างคือ เจ้าของเรือยังไม่จ่ายเงินเดือน ทำให้ลูกเรือไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศได้ ประกอบกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จึงให้ลูกเรือพักอยู่ในเรือประมง แต่สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างที่จะลำบาก ขาดอาหาร จึงได้ย้ายไปอยู่ยังบ้านมิตรไมตรี ในฐานะพยานของคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางกองทัพเรือเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือลูกเรือทั้ง 10 คน ตามหลักมนุษยธรรม เพราะลูกเรือทั้ง 10 คน เข้ามาทำงานในเรือประมงดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีการลักลอบเข้ามาทำประมงแต่อย่างใด จึงได้ย้ายลูกเรือทั้ง 10 คน เข้ามาพักในบ้านรับรองของทัพเรือภาคที่ 3 จนกว่าจะสอบสวนแล้วเสร็จ และนายจ้างจ่ายเงินเดือนที่ยังค้างอยู่ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของอาหารทั้ง 3 มื้อ
 
พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ กล่าวว่า ลูกเรือทั้ง 10 คน เป็นลูกเรือที่ตกค้างจากเรือประมงสัญชาติโบลิเวีย หลังจากที่ทางราชการได้ควบคุมเรือประมงสัญชาติโบลิเวียทั้ง 7 ลำมาทำการตรวจสอบ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งลูกเรือทั้ง 10 คนนี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด เพราะเข้ามาทำงานในเรือประมงถูกต้องผ่านทางนายหน้าจัดหาคนงาน โดยก่อนหน้านี้ ทางเจ้าของเรือประมงดังกล่าวได้จัดซื้อตั๋วเครื่องบิน และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกเรือเพื่อเดินทางกลับประเทศไปแล้วบางส่วน ยังเหลืออีก 10 คน ที่นายจ้า งหรือเจ้าของเรือยังไม่จ่ายค่าจ้างและขณะนี้เจ้าของเรือซึ่งเป็นชาวไต้หวันได้หายตัวไปแล้ว เหลือแต่เพียงพนักงานที่เป็นคนไทยซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นเพียงพนักงานของบริษัท หรือเป็นหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าว
 
“ลูกเรือเป็นผู้เสียหาย ในช่วงที่ผ่านมา มีการติดต่อประสานงานกับกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการร้องขอว่าให้ช่วยสนับสนุน ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ เพื่อคลี่คลายคดีเกี่ยวกับเรือประมงเบ็ดราวทูน่า น้ำลึก เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เนื่องจากลูกเรือทั้งหมดถือว่าเป็นพยานในคดี และเป็นผู้เสียหายในคราวเดียวกัน เพราะเหมือนกับถูกลอยแพ คือ นายจ้างไม่ได้ดูแลอีกต่อไป ดังนั้น ทัพเรือภาคที่ 3 จึงพยายามช่วยเหลือตามศักยภาพที่มีอยู่โดยจัดห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร ให้พักในระหว่างการสอบปากคำเพิ่มเติม และรอทางการอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์มารับตัวกลับประเทศต่อไป เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่พิธีการเข้าเมืองตามขั้นตอนของชาวเรือต่างประเทศเข้ามาในน่านน้ำไทย หรือตรวจคนเข้าเมือง หมดอายุตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา”
 
ด้าน พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพเรือสนับสนุนช่วยเหลือลูกเรือต่างประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการประมงระหว่างประเทศ และหรือถูกควบคุมเอาไว้เพื่อตรวจสอบแล้วดำเนินการในคดีเนื่องจากเป็นเรือที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทยอย่างชัดเจนและทราบว่าในขณะนี้เจ้าของเรือหลบหนีไปแล้ว ทางกองทัพเรือ และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวิชิต กำลังหารือกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลตามความจำเป็นต่อไป
 
ในขณะเดียวกัน ในแนวทางการสืบสวนของพนักงานสอบสวน พบว่า บริษัทที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 3 บริษัท มีนักธุรกิจ หรือนายทุนทั้งที่เป็นชาวไต้หวัน และชาวไทย ภูมิลำเนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมหุ้นอยู่ด้วย กำลังอยู่ระหว่างการสอบปากคำลูกเรือทั้งหมด 10 คน จึงทราบข้อมูลที่ชัดเจนที่จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไป
 
ทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐาน ระบุว่า เรือประมงเบ็ดราวทูน่าน้ำลึกบางส่วนเจ้าของเดิมเป็นชาวมาเลเซีย แต่มีการซื้อขายให้แก่ชาวไต้หวัน และได้เข้ามาทำการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายบริเวณ 200 ไมล์ทะเลห่างจากฝั่งประเทศพม่า แต่เมื่อได้สัตว์น้ำแล้วจะต้องนำไปขึ้นที่ประเทศพม่า แต่เลือกที่จะเดินทางเข้ามาในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตแทน และก่อนที่จะถูกควบคุมไว้เรือเหล่านี้ได้เข้าออกภูเก็ตอย่างน้อย 3 ครั้ง จนกระทั่งถูกตรวจสอบ และถูกควบคุมในที่สุด ในเบื้องต้นถือว่าเป็นเรือไร้สัญชาติ เพราะมีการตรวจสอบไปยังประเทศโบลิเวียแล้วแต่ไม่พบว่าเรือทั้งหมดมีการจดทะเบียนที่ประเทศโบลิเวียแต่อย่างใด
 
พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ เพราะประเทศไทยต้องการที่จะปลดล็อกปัญหาความถูกต้องของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไม่ผิด IUU จึงจำเป็นที่จะต้องระบุที่มาของสัตว์น้ำอย่างถูกต้อง การดำเนินการของเรือดังกล่าวเสมือนเป็นการนำสัตว์น้ำเข้ามาไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทย
 
 
ด่านพรมแดนหนองคายคึกคัก! แรงงานไทยลาวแห่กลับบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดหนองคาย วันนี้ (31 ธ.ค. 59) ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ที่จังหวัดหนองคาย เริ่มคึกคักตั้งแต่เช้า เนื่องจากมีนักท่องเที่ยว และชาวลาวพร้อมครอบครัวที่ไปอยู่ต่างประเทศ รวมไปถึงแรงงานชาวลาวที่เข้ามาทำงานในจังหวัดหนองคาย และตามจังหวัดใหญ่ ๆ ในประเทศไทย เดินทางเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านและฉลองปีใหม่ในช่วงวันหยุดยาวที่บ้านของตนเองเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยที่ไปทำงานใน สปป.ลาว รวมไปถึงนักธุรกิจไทยที่ไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว ได้เริ่มเดินทางกลับไทยเพื่อฉลองปีใหม่ที่บ้านของตนเองเช่นกัน
 
จากการที่มีผู้ที่เดินทางเข้า-ออกด่านฯเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และด่านศุลกากรหนองคาย ได้มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการ อำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดตู้ให้บริการทุกตู้ ในขณะที่ ผกก.ตม.จว.หนองคาย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าอำนวยความสะดวกและเข้มงวดให้การตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลอย่างละเอียด พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนแฝงตัวหาข่าวเพื่อป้องกันผู้ต้องหาคดีต่าง ๆ ตามหมายจับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่อาจจะฉวยโอกาสที่มีคนผ่านเข้า-ออกด่านฯจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท