Skip to main content
sharethis

รบ.วางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย  2.5% บวกลบ 1.5% ‘สภาผู้ส่งออก’ คาดส่งออก 60 โต 1-2 % ตัวเลขประเมินจีดีพีหลายสำนักคาดโต 3.2 จนถึง 4% 'สภานายจ้าง' ห่วงเด็กจบใหม่สายสังคมฯ โอกาสตกงานสูง พร้อมเปิด 12 ข้อเสนอแนะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของ อนุสรณ์ ธรรมใจ

เศรษฐกิจปี 59 ที่ผ่านมา เผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อกำลังการบริโภคในภาคเกษตร รวมทั้งอัตราการว่างงาน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างเดือน ม.ค.-ต.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ว่างงาน จำนวน 3.86 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่มีอัตราการว่างงาน 0.9% นโยบายปราบทัวร์ศูนย์เหรียญทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปจำนวนมาก และเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ฐานเศรษฐกิจ รายงานด้วยว่า ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรพบว่าช่วง 10 เดือนของปี 59 จีนเป็นประเทศที่ไทยขาดดุลการค้ามากที่สุดถึง 5.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8.21 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม 30 ธ.ค. 59 จาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า รายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ธ.ค. 2559 ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในปี 59 และ 60 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 3.2% และ 3.2% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 59 และปี  60 อยู่ที่ 0.2% และ 1.5% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.7% และ 0.8% ตามลำดับ จากการคาดการณ์ของ กนง. แล้ว  ยังมีอีกหลายสำนักออกมาคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.2% จนถึง 4% ด้วยหลายหลายปัจจัย เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว ดังนี้

ครม.วางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2.5% บวกลบ 1.5%

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนออนุมัติเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 60 พร้อมข้อตกลงระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ รมว.การคลัง ในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ รมว.การคลัง และ กนง.เห็นชอบร่วมกัน โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% บวกลบ 1.5%

เวิลด์แบงก์ประเมินปี 60 จีดีพี ขยาย 3.2% ทีมเศรษฐกิจ รบ.คาด 3.5-4%

กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ถึงกรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประเมินอัตราการขยายตัวของจีดีพี ในปี 59 ว่าจะขยายตัวได้ 3.1% และในปี 60 จะขยายตัว 3.2% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับที่ทางทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ประมาณการไว้ว่าจีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ช่วง 3-3.5% ซึ่งจะต้องรอดูในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนในปี 60 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้สูงขึ้น 3.5-4% ต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดโต 3.3%

วันเดียวกัน (21 ธ.ค.59) ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า ปี 60 คาดหวังการลงทุนภาคเอกชนเริ่มขับเคลื่อน หนุนการเติบโตอย่างสมดุลมากขึ้น การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ต้องอาศัยแรงผลักดันเสริมจากการส่งออก (ไม่ติดลบ) และการลงทุนภาคเอกชน การจัดทำงบประมาณกลางปี 60 นับเป็นปัจจัยบวกใหม่ เบื้องต้น KResearch ยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 60 ไว้ที่ 3.3% และรอประเมินรายละเอียดและความคืบหน้าของงบกลางปี รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีกครั้ง

หอการค้า คาด ขยายตัวได้ 3.5-4%

20 ธ.ค.ที่ผ่านมา วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3-3.5% ซึ่งภาพรวมถือว่ามีอัตราการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ ไม่ได้ขยายตัวสูงอย่างที่คาดหวังไว้ โดยตั้งแต่ไตรมาส 1/59 เศรษฐกิจขยายตัวที่ 3.2% ไตรมาส 2/59 ขยายตัว 3.5% และ ไตรมาส 3/59 ขยายตัว 3.3% ขณะที่ปี 60 ขยายตัวได้ 3.5-4% ส่วนการส่งออกปี 59 คาดว่าจะขยายตัวติดลบติดลบ 1-0% และ ปี 60 คาดว่าขยายตัว 0-2%  โดยปัจจัยที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงการลงทุน และ การใช้จ่ายจากภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในปีหน้า ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนให้หันกลับมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากแนวนโยบายรัฐบาบทรัมป์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจีน

ธปท.ชี้โตกว่า 3.2%

24 ธ.ค.59 วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การขยายตัวของจีดีพี ไทยในระยะอีก 1-2 ปีข้างหน้า ตามที่รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะเห็นเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% นั้น มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเติบโตในระดับดังกล่าว หากมีการปฏิรูปการลงทุนเนื่องจากปัจจุบันยังมีบางภาคส่วนที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ เช่น การลงทุนภาคเอกชน โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าชะลอตัวลงกว่าอดีต หากมีการลงทุนมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น S Curve ก็จะช่วยตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้ ขณะที่ภาคเกษตรของไทยยังมีโอกาสที่จะยกระดับศักยภาพได้ และจะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ทั้งนี้ ในปี 60 มองว่าจีดีพีไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าที่ กนง. คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.2% โดยมีปัจจัยบวกสำคัญที่จะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโตได้มากขึ้นนั้น ประกอบด้วย หากเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ก็จะส่งผลดีมาถึงการค้าการลงทุนที่ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ด้วย รวมถึงโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหากในปีหน้าสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล และทำได้เร็วกว่าคาดก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คาดไว้

TDRI มองโต 3.2% เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคในปท.ฟื้นตัว

9 ธ.คง 59 กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนาร่วมระหว่างธนาคารโลก และทีดีอาร์ไอถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่จะขยายตัวได้ 3% โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกในปี 60 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0-1% หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จากปีนี้ที่มองว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบเล็กน้อยหรือทรงตัวที่ 0%

ทั้งนี้ ในปี 60 การบริโภคในประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และสถานการณ์ความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจากการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 60 ได้ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจากการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 60 ได้ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะมีส่วนช่วยได้บ้าง เนื่องจากเงินลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยเศรษฐกิจเพียง 5-6%

ซีไอเอ็มบีคาดโต 3.2%

22 ธ.ค.59 อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจปีนี้น่าจะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพี ที่ 3.3% ส่วนปี 60 เศรษฐกิจน่าจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทาย เปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีทั้งด้านสดใสและด้านอึมครึม จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง โดยคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะโตได้ที่ 3.2% โดยสาเหตุที่มองปีหน้าโตได้น้อยกว่าปีนี้มาจากความเสี่ยงตลาดโลกเป็นหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภค แต่ก็ไม่อาจชดเชยแรงกดดันจากภายนอกได้ ซึ่งการทำมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของโภครัฐน่าจะช่วยได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ไม่สามารถกระตุ้นให้โตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็นเพียง 6% ของจีดีพี

อนุสรณ์ คาดเศรษฐกิจโลกปีหน้าโต 3.3-3.6%

25 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี 60 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 60 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 59 โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 3.3-3.6% ในปีหน้า  ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5% ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังประเมินด้วยว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยอยู่ที่ 2-3% การนำเข้าอยู่ที่ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง  อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะสาขาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนการทำงาน ขณะที่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านช่วงเทคนิคและแรงงานระดับล่างต่อไป

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่องยังไม่สามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดนวัตกรรม ระบบการศึกษา ระบบวิจัย คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ยังคงอ่อนแอ จึงมีเพดานจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐและนิติธรรมเข้มแข็งนัก ขาดยุทธศาสตร์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แม้นมียุทธศาสตร์ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นจริง ขณะที่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้อีกหากยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้นเพราะจะสร้างวัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

สภาผู้ส่งออก คาดส่งออก 60 โต 1 – 2 %

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่าได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกปี 60 ไว้ที่ 1 – 2% โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะ ได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่สำคัญในตลาดโลกต่อเนื่องจากปลายปี 59 และ 2. การปรับตัวของผู้ส่งออกไทยต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าระหว่าง ประเทศของโลกในปีหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงเปราะบางและยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว แต่ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภค ว่าจะดีขึ้นในทิศทางเดียวกันหรือไม่ 2. การออกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม ภายในประเทศซึ่งอาจนำโดยสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การตอบโต้ในลักษณะเดียวกันโดยประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การค้า ระหว่างประเทศ ในภาพรวมหดตัวลงในระยะยาว แต่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2560 เป็นต้นไป 3. สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งอาจ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าตามมาในวงกว้าง และ 4. ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในซัพพลายเชนของการค้าระหว่างประเทศ

'สภานายจ้าง' ห่วงเด็กจบใหม่สายสังคมฯ โอกาสตกงานมากสูง

20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มการจ้างงานในปี 2560 ว่า ภาพรวมการจ้างงานของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากอัตราว่างงานของไทยยังคงอยู่ระดับต่ำ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ นักศึกษาจบใหม่ที่จะมีเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคมกว่า 2 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจประสบภาวะตกงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ ดังนั้นหากภาครัฐกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำหนดแผนพัฒนาแรงงานเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงานสายอาชีพ เช่น ช่างกล ช่างฝีมือ เป็นต้น พร้อมกับแนะนำว่าสังคมไทยควรให้คุณค่าของการศึกษาภาคอาชีวะมากขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนกล้าตัดสินใจเข้าเรียนสายอาชีพ

"เราขาดช่าง พอเด็กเข้าไปเรียนแล้วก็ไม่มีระบบที่จะไปรองรับวิทยฐานะของเขาเหมือนในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี หรือประเทศยุโรปอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้ว การจบช่างกับจบปริญญาตรีไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน เราจะต้องไม่เอาเปรียบเขา เขาต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าคนจบปริญญาตรี" ธนิต กล่าว พร้อมแนะนำสำหรับนักศึกษา ที่กำลังจะจบใหม่ในปีการศึกษาหน้า ว่า ให้หาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะภาษาที่สองและทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกังวลเรื่องการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน มองว่า ภาคอุตสาหกรรมไทย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ จะไม่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด เราคงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบเหมือนที่หลายๆ คนฝันไว้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการใช้แรงงาน แต่แน่นอนว่าแรงงานก็จะลดลงในอนาคต เพราะคนมีอายุมากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่การใช้แรงงานจะไม่ได้น้อยลงอย่างฮวบฮาบ" ธนิต ระบุ

12 ข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล โดย อนุสรณ์

25 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ได้มีข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล ไว้ 12 ข้อ ดังนี้

ข้อแรก แรงกดดันจากลัทธิกีดกันทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระบบการค้าพหุภาคีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงในบางภูมิภาค พลวัตนี้เป็นความเสี่ยงต่อภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกันทำให้เกิดโอกาสของการเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีเพิ่มขึ้น รัฐควรเร่งกำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้ “ไทย” พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

ข้อสอง ต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็น ระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง

ข้อสาม เร่าดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและระบบวิจัย ตาม ยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี และ แผนยุทธศาสตร์ฉบับ 8 ของสภาวิจัยแห่งชาติ

ข้อสี่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณพร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และ ระบบบริหารจัดการน้ำ

ข้อห้า ใช้มาตรการภาษี มาตรการการเงิน มาตรการลงทุนทางด้านวิจัย มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคส่งออกไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกและสามารถแข่งขันได้

ข้อหก พัฒนาระบบนิติรัฐให้เข้มแข็งโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการแข่งขันที่เป็นธรรม มีความคงเส้นคงวาของการดำเนินนโยบาย สร้างระบบธรรมาภิบาล ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การติดสินบน ลดขั้นตอนในการทำงานและลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนของภาคธุรกิจอันเกิดจากความประสิทธิภาพและความล่าช้าของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ

ข้อเจ็ด ปรับขนาดของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจให้ลดลง (Smaller Government) และ เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น จ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นในระดับเดียวกับเอกชน ทำให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและบรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ข้อแปด ส่งเสริมให้มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านกลไกประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง และ เพิ่มอำนาจให้กับคนที่มีอำนาจน้อยเพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจของกลุ่มต่างๆในสังคม สิ่งนี้จะนำมาสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ

ข้อเก้า นโยบายต่อภาคเกษตรกรรม มีมาตรการเพิ่มผลิตภาพ มาตรการลดต้นทุน มาตรการทางการตลาด ควรมีการกำหนดการเพดานการถือครองที่ดินและจัดตั้ง ธนาคารที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ข้อสิบ ควรมีการทบทวนเพื่อให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำอย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยน “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็นองค์กรมหาชน จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานโดยให้กองทุนประกันสังคมถือหุ้น

ข้อสิบเอ็ด เร่งรัดการก่อหนี้เพื่อนำมาลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ศึกษาและพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยน หน่วยงานจัดเก็บภาษี จากหน่วยงานราชการ มาเป็น องค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาล 

ข้อสิบสอง ดำเนินการเพื่อให้ “ประเทศไทย” กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งตามโรดแมป หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผลเพื่อไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น หากทำไม่ได้จะกระทบภาคการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ

 

เรียบเรียงจาก :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 ธ.ค. 2559, หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัว3.5-4% http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/732691

ไทยโพสต์, 21 ธ.ค. 2559, เคาะกรอบเงินเฟ้อ2.5% เมินเวิลด์แบงก์กดจีดีพี หอการค้ามั่นใจศก.โต http://www.thaipost.net/?q=เคาะกรอบเงินเฟ้อ25-เมินเวิลด์แบงก์กดจีดีพี-หอการค้ามั่นใจศกโต

ศูนย์วิจัยกสิกร, 21 ธ.ค.2559 http://m.kasikornbank.com/TH/WhatHot/Documents/KR-21Dec16.pdf

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์,  30 ธ.ค. 2559, กนง.ชี้สัญญาณเงินเฟ้อต่ำ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ-คงเศรษฐกิจไทยปี59 โต 3.2%  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1483100415

ประชาไท, 8 ธ.ค. 2559, ว่างงานเพิ่มจากปีก่อน 'จัดหางาน' พบ 10 เดือนที่ผ่านมายอด 3.86 แสนคน แต่อยู่ในสภาวะปกติ http://prachatai.com/journal/2016/12/69167

ไทยโพสต์, 24 ธ.ค. 2559, ธปท.ชี้ปี60จีดีพีโตกว่า3.2% แนะรัฐยกระดับเกษตร ลั่นพร้อมดูแลเงินบาท http://www.thaipost.net/?q=ธปทชี้ปี60จีดีพีโตกว่า32-แนะรัฐยกระดับเกษตร-ลั่นพร้อมดูแลเงินบาท

ไทยรัฐออนไลน์, 9 ธ.ค. 2559, TDRI มองศก.ไทยปี60 โต 3.2% จากส่งออก-บริโภคภายใน ห่วงปัจจัยเสี่ยง ตปท. http://www.thairath.co.th/content/806712

สำนักข่าวไทย, 28 ธ.ค.2559, สภาผู้ส่งออก คาดส่งออกปี 2560 โตร้อยละ 1 – 2 http://www.tnamcot.com/content/623496

ไทยพีบีเอส, 20 ธ.ค.2559, เด็กจบใหม่สายสังคมศาสตร์น่าห่วง ปี 60 เสี่ยงตกงานสูง https://news.thaipbs.or.th/content/258875

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net