Skip to main content
sharethis

'วิษณุ' เผยเล็งใช้ ม.44 แก้ปัญหารถตู้ ชงเข้า ครม. พร้อมงดออกใบอนุญาตรถตู้เป็นรถขนส่งสาธารณะปี 62 ขณะที่ 'คมนาคม' ชี้ 6 เดือนโละรถตู้ 'กทม.-ตจว.' 5 พันคัน เปลี่ยนใช้ไมโครบัสแทน

6 ม.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงคมนาคมเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหารถตู้สาธารณะที่มักเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาว่า การแก้ปัญหานี้เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เกิดจากกรณีอุบัติเหตุรถกระบะชนกับรถตู้จนมีผู้เสียชีวิต 25 คนเพียงอย่างเดียว ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ได้เสนอร่างพ.ร.บ.การจราจรทางบก ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาแล้ว อีกทั้งมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการจราจรทางบกที่มี 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้เสนอมาตรการต่างๆเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ต.ค. 2559 หลายอย่างต้องออกกฎหมายอาจล่าช้า เมื่อเกิดเหตุรถตู้ชนรถกระบะขึ้น นายกฯจึงสั่งการว่ามาตรการต่างๆต้องใช้เวลาอาจมีอุบัติเหตุขึ้นได้อีกในช่วงวันหยุดยาว จึงให้ดึงเอาบางเรื่องออกมาใช้ไปพรางก่อนด้วยมาตรา 44 ส่วนที่เหลือก็แก้กันไป เสร็จเมื่อไหร่ มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็หมดไป

"เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ผมได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก สตช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยยกกรณีอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นข้อบกพร่องซึ่งเคยพิจารณากันมาแล้ว เช่นการใช้รถ สภาพรถความเร็ว คุณภาพผู้ขับขี่ ผมจึงให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาข้อเร่งด่วนแล้วให้เสนอมาที่ผมเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนอะไรที่ต้องเสนอต่อสภาฯก็ให้ดำเนินการไป สำหรับรถตู้ที่เกิดเหตุนั้นถือเป็นรถที่มีสภาพไม่เหมาะเป็นรถโดยสารสาธารณะซึ่งมีใช้อยู่ในประเทศไทยจำนวนมากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำข้อมูลมาแสดงให้ดูในที่ประชุม ซึ่งเห็นว่า มีปัญหาที่ตัวรถ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่าอะไรที่ใช้กฎหมายปกติได้ก็ทำไป อะไรที่เร่งด่วนก็จะใช้มาตรา 44 ไปพลางก่อน" วิษณุ กล่าว 

วิษณุ กล่าวด้วยว่า การออกมาตรา 44 เพื่อควบคุมการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น มีเหตุผลสำคัญมาจากสภาพการใช้รถ สภาพของรถยนต์ที่ไม่เหมาะสม อาทิ ประตูขึ้นลงมีเพียงประตูเดียว มีการติดตั้งถังแก๊สจำนวนมาก รวมถึงจำนวนเก้าอี้โดยสารที่มีจำนวนมากถึง 14 หรือ 15 ที่นั่ง ซึ่งในอนาคตจะไม่อนุญาตให้นำรถตู้มาเป็นรถยนต์สาธารณะ
 
“โดยนับจากนี้เป็นต้นไป กรมขนส่งทางบกจะไม่ออกใบอนุญาตให้รถตู้ใหม่มาจดทะเบียนเป็นรถบริการสาธารณะ ส่วนรถเก่าที่เคยจดทะเบียนจะหมดอายุภายในปี 2562 แต่รถเก่าที่ยังใช้บริการ รถทุกคันจะต้องมีการติดกล้องซีซีทีวี และ GPS เพื่อความปลอดภัยด้วย” วิษณุ กล่าว
 
เมื่อถามว่าในอนาคตจะไม่มีการใช้รถตู้เพื่อให้บริการขนส่งสาธารณะใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า แต่ละหน่วยงานมีมาตรการของเขาอยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น เรื่องนีได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีไปแล้วด้วยซ้ำว่ารถตู้ขนส่งสาธารณะจะหมดไปในปี 2562 เพราะสภาพไม่เหมาะกับการขนส่งสาธารณะ

6 เดือนโละรถตู้ 'กทม.-ตจว.' 5 พันคัน เปลี่ยนใช้ไมโครบัสแทน

ขณะที่วานนี้ (5 ม.ค.60) เชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ) เปิดเผยว่า พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เชิญ ขบ.ไปหารือเกี่ยวกับแผนการพัฒนาความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ โดย พิชิต  ต้องการให้ ขบ.เร่งรัดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่ง ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ หรือเริ่มตั้งแต่กลางปี 2560 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมของ ขบ.ที่ตั้งเป้าให้ทยอยเริ่มปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยระยะแรกจะเร่งรัดให้ปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารหมวด 2 ที่วิ่งระหว่าง กทม.- ต่างจังหวัดก่อน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 5 พันคัน จากนั้นในระยะที่ 2 จึงจะปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัด – จังหวัด

“พิชิต ต้องการเร่งรัดให้เปลี่ยนเป็นไมโครบัสให้เร็วขึ้น เพราะเห็นว่ารถตู้ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยในการนำมาเป็นรถโดยสาร แต่ขณะนี้มีข้อจำกัดว่าไทยยังไม่สามารถผลิตรถชนิดนี้ได้ หากต้องการก็ต้องนำเข้า และยังมีราคาแพง ซึ่งนายพิชิต จะนำเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และแนวทางที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร” เชิดชัย กล่าว
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net