Skip to main content
sharethis
ประชาชนจุดเทียนหน้าศาลอาญา เรียกร้องสิทธิประกันตัว 'ไผ่ ดาวดิน' หวังกระแสกระจายต่อ ด้านโฆษกศาลระบุแม้การแสดงข้อเรียกร้องเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะการกระทำนอกบริเวณศาลแต่หากมีความมุ่งหมายให้เกิดผลในบริเวณศาลและการกระทำนั้นก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยก็อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้
 
 
 
 
 
 
ภาพกิจกรรมจุดเทียน อ่านบทกวี (โดย กิตติกานต์ บุญเหลี่ยม)
 
8 ม.ค. 2560 เวลาประมาณ 18.10 น. บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ประชาชนในนามกลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ประมาณ 15 คน ได้รวมตัวกันจุดเทียนเป็นรูป FREE PAI เพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมที่ถูกถอนประกันในคดีแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จาก BBC Thai และถูกคุมขังที่เรือนจำขอนแก่นมาแล้ว 4 ผัด
 
ผู้จัดกิจกรรมกล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุที่มารวมตัวกันวันนี้เพื่อเป็นกำลังให้ไผ่และเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย อีกทั้งขณะนี้ไผ่มีสอบตัวสุดท้ายในการจบการศึกษาและไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนีแต่อย่างใด
 
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรายหนึ่งซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า มาจุดเทียนวันนี้เพื่อแสดงสัญลักษณ์และอยากให้ไผ่ได้มีโอกาสประกันตัวและได้ต่อสู้คดีความอย่างเป็นธรรม ตอนนี้ มีนักโทษการเมืองในคุกมากพอแล้ว ทั้งสมยศ พฤกษาเกษมสุขและคนที่ไม่ได้รับประกันตัวรวมถึงคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ อยากให้การจุดเทียนครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้คนอื่นๆ ไปจุดกันเองในสถานที่ต่างๆ ด้วย และสำหรับชื่อกลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมนั้นแสดงถึงประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถนำชื่อนี้ไปใช้ได้
 
นอกจากนี้กลุ่มดังกล่าวยังมีการออกแถลงการณ์แสดงความเห็นว่า คำสั่งศาลในการถอนประกันและให้คุมขังไผ่นั้นขัดต่อกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประกันตัว ทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
 
"พวกเรากลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมขอยืนยันในสิทธิในการได้รับการประกันตัว และขอเรียกร้องให้องค์กรตุลาการไทยคืนสิทธิดังกล่าวให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพื่อให้นายจตุภัทร์ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม และดำเนินชีวิตอย่างที่เขาสมควรจะกระทำได้ต่อไป"
 
โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรม
เรื่อง คืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวแก่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
 
ตามที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้สั่งเพิกถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาในคดีเผยแพร่บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ซึ่งเคยได้รับการประกันตัวในช่วงเวลาก่อนหน้า โดยอ้างเหตุผลว่านายจตุภัทร์มิได้นำบทความที่ตกเผยแพร่ออกจากบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตน และมีพฤติกรรมแสดงออกเย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีกนับแต่นั้นเป็นต้นมา อีกทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็มีคำสั่งยืนตามศาลจังหวัดขอนแก่น ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายจตุภัทรชั่วคราวด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น
พวกเรากลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมมีความเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการได้รับการประกันตัว ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภายของประเทศไทยเอง
 
โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ กำหนดหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย”
 
ในขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กำหนดหลักเกณฑ์ในการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้ว่าจะต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือการปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดีเท่านั้น และมาตรา 108 วรรค 3 กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวปฏิบัติได้ แต่จะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น
 
จากข้อเท็จจริง ในการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรก ศาลจังหวัดขอนแก่นมิได้กำหนดเงื่อนไขให้นายจตุภัทร์นำบทความที่เผยแพร่ออกจากบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ศาลจึงไม่สามารถอ้างเหตุดังกล่าวในการเพิกถอนประกันได้ ในขณะที่การแสดงออกของนายจตุภัทร์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐนั้นก็เป็นเพียงการแสดงออกโดยทั่วไป อันเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองจากทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งความเสียหายต่อประเทศชาติที่กล่าวอ้างมานั้นก็ไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ได้จริง ยิ่งไปกว่านั้น การแสดงออกแม้จะเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐก็มิได้อยู่ในหลักเกณฑ์ในการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
และนอกเหนือจากเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่านายจตุภัทร์มีพฤติกรรมที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108/1 อันเป็นเหตุสมควรไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้เป็นอย่างดีก็ได้แก่คำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นเอง ที่เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ด้วยเหตุว่านายจตุภัทร์มีคดีติดตัวจำนวนมากจากการจัดกิจกรรมทางการเมือง แต่ก็ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเลย
 
การไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายจตุภัทร์โดยขัดต่อกฎหมายและปราศจากเหตุอันสมควรนี้ยังส่งผลกระทบให้นายจตุภัทร์อาจต้องขาดการสอบที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้นายจตุภัทร์ต้องพ้นสถานภาพนักศึกษาได้
 
พวกเรากลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมขอยืนยันในสิทธิในการได้รับการประกันตัว และขอเรียกร้องให้องค์กรตุลาการไทยคืนสิทธิดังกล่าวให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพื่อให้นายจตุภัทร์ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม และดำเนินชีวิตอย่างที่เขาสมควรจะกระทำได้ต่อไป
 
กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรม
8 มกราคม 2560
 

โฆษกศาลติงเสี่ยงละเมิดอำนาจศาล

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มมวลชนนำเทียนมาเรียงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ FREE PAI หมายถึงการเรียกร้องให้มีการปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่หน้าบริเวณทางเท้า หน้าป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมเเละป้ายศาลอาญาว่า แม้การแสดงข้อเรียกร้องเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย แต่ก็พึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเพราะการกระทำนอกบริเวณศาลแต่หากมีความมุ่งหมายให้เกิดผลในบริเวณศาลและการกระทำนั้นก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยก็อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ในระหว่างนี้เมื่อผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในอำนาจศาลระหว่างการสอบสวน ผู้ต้องหาหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องก็น่าจะใช้วิธีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะเหมาะสมกว่า
 
เมื่อถามว่าทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป นายสืบพงษ์กล่าวว่า รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ศาลอาญาทราบ ส่วนศาลอาญาจะใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมไม่อาจก้าวล่วงได้ อำนาจในการพิจารณาเป็นของศาลยุติธรรม มิใช่เป็นส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม
 
นายสุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ รปภ.ศาล ได้แจ้งข้อมูลผ่านสายบังคับบัญชาให้ทราบแล้วในเบื้องต้น หากไม่ได้มีการจัดกิจกรรมที่เข้ามาวุ่นวายในบริเวณศาลอาญา หรือกระทำการใดๆ ต่อป้ายศาลอาญาและสำนักงานศาลยุติธรรม ก็ยังไม่ดำเนินการใด แต่ถ้าเข้ามาในบริเวณศาลและกระทำการต่อป้ายศาล ก็สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่จะผิดกฎหมาย เช่นนั้นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
 
 

ภาพกิจกรรมจุดเทียน อ่านบทกวี (ถ่ายภาพโดย กิตติกานต์ บุญเหลี่ยม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net